คนใต้…กิน (แมงพรัด) กิโลละ 250 บาท ราคาแพงกว่าเนื้อหมู

ใช่ว่าแต่คนอีสานเท่านั้นที่กินอาหารประเภทแมลง ทุกวันนี้คนใต้ก็ไม่ยอมแพ้ โอ้ว! คนใต้กินแมงพลัดกิโลละ 250 บาท แพงกว่าเนื้อหมูอีก เพราะอะไรคนใต้จึงหลงใหลในรสชาติของอาหารประเภทแมลงกันมากมายขนาดนี้

พอย่างเข้าหน้าฝนริมถนนสายเซาท์เทิร์นซีบอร์ด สายกระบี่-ขนอม บริเวณแถวๆ หน้าหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 46 สุราษฎร์ธานี จะพบเห็นชาวบ้านมาตั้งเพิงพักขายแมลงชนิดหนึ่ง พร้อมทั้งมีป้ายโฆษณาสินค้าของตัวเองเป็นระยะๆ ขาย แมลงพลัด ขาย แมงพลัด ซึ่งบริเวณนั้นเป็นพื้นที่ที่เป็นป่าไม้ สวนป่า มีต้นกระถินเทพาขึ้นหนาแน่น จึงทำให้มีแมลงชนิดนี้ชุกชุม และจะมีมากในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม และประมาณกลางๆ เดือนมิถุนายนเท่านั้น ซึ่งในช่วงนี้ชาวบ้านจะแห่กันออกมาจับ แมงพลัด (แมลงพลัด คนใต้พูดเร็ว คำว่า มะ-แลง เลยหาย) บางคนก็เอามากิน แต่คงไม่มากกว่าจับมาขาย เพราะยิ่งมีคนนิยมกินกันมากเท่าไหร่ แมงพลัดก็มีราคาแพงจนไม่อยากเอามากินว่างั้น

เพราะเหตุใด คนใต้จึงชอบกินแมงพลัด

หากพูดถึงอาหารใต้รสเด็ดๆ หลายคนคงต้องนึกถึงแกงใต้รสเผ็ดสะใจ หรืออาหารทะเลที่สดๆ ใหม่ๆ และคงไม่มีใครคิดว่าคนใต้ก็นิยมกินอาหารประเภทแมลงเหมือนกัน

วัฒนธรรมการกินอาหารแมลงของคนใต้ได้ซึมซับเข้ามาในวิถีชีวิตการกินตั้งแต่เมื่อไหร่ ไม่มีใครสามารถตอบได้อย่างชัดเจน จากข้อมูลการสอบถามชาวบ้านโดยทั่วๆ ไปทั้งที่กินแมงพลัดและไม่กิน ต่างก็ให้คำตอบที่แตกต่างกันออกไป

คนอีสานเรียกว่า แมงจินูนใหญ่ ส่วนคนใต้เรียกว่า แมงพลัด

บางคนบอกว่า เมื่อก่อน แมงพลัด มีเยอะมาก ไม่รู้มาจากไหน ส่วนมากจะมากัดกินยอดไม้ เช่น ยอดมะขาม ยอดมะม่วงหิมพานต์ ยอดมันปู ยอดสะตอ เป็นต้น แต่ก็ไม่มีใครสนใจเอามากิน เพราะเขาบอกว่ากินไม่เป็น

บางคนให้ข้อมูลว่า แมงพลัด พ่อแม่เขาพากินกันมาแต่เด็กๆ แล้ว หรือบางคนก็บอกว่าไม่กล้ากิน ไม่รู้จักและไม่เคยเห็นแมลงชนิดนี้

แล้วทำไมคนใต้จึงนิยมกินแมงพลัดกันมากขนาดนี้

การกินแมลงเป็นอาหารของคนใต้ อาจจะมาจากวัฒนธรรมการกินและภูมิปัญญาชาวบ้านที่สืบทอดต่อกันมาเหมือนๆ กับคนอีสานที่มักชอบกินแมลง ซึ่งคงเป็นเพราะแมลงหากินได้ง่ายหรือไม่ และบางครั้งเกิดติดใจในรสชาติของแมลงขึ้นมาหรือไม่

หรือบางคนติดใจในรสชาติความอร่อยของแมลงขึ้นมา อาจเป็นเพราะวิธีการปรุงอาหารแมลงแบบพื้นบ้านที่ทำให้แมลงมีรสชาติที่อร่อยยิ่งขึ้น จนเป็นที่ยอมรับกันหรือไม่

แมงพลัดคั่วหัวทิ คนใต้บอกว่า หร่อยได้แรง ถูกปากเป็นที่สุด

และอาจเป็นเพราะ มีคนที่มีพื้นเพเดิมมาจากภาคอื่นๆ (คนเหนือ และอีสาน ทั้งที่อาศัยอยู่เดิม หรือย้ายถิ่นฐานไปอยู่จังหวัดอื่นๆ นิยมกินอาหารประเภทแมลง) ที่เคยกินแมลงมาก่อนชักชวนให้กิน เมื่อได้ลิ้มรสแมลงแล้วติดใจในรสชาติ แล้วหันมายอมรับอาหารแมลงได้ในที่สุด (เพราะพื้นเพเดิมของคนใต้ไม่นิยมกินแมลง) หรือบางคนพบเห็นอาหารแมลงที่มีขายอยู่ทั่วไปจนชินตา ชอบทดลอง พอได้ลองชิมแล้วติดใจรสชาติ แล้วก็เกิดการยอมรับอาหารแมลงในที่สุด

แมงพลัด มาจากไหน

แมลงปีกแข็งชนิดหนึ่ง มีขา 6 ขา มีลักษณะคล้ายๆ กับด้วงกว่างตัวเมีย แต่ตัวมีขนาดเล็กกว่า สีเทาๆ หม่นๆ รูปร่างป้อม มีขนปกคลุม ขุดรูอยู่ใต้ดินหรือรากไม้ กลางวันจะหลบแดดอยู่ในรู กลางคืนจะบินออกมาหากินใบอ่อนของต้นไม้ คนอีสานเอิ้น แมงจินูนใหญ่ สำหรับคนใต้เขาเรียกว่า แมงพลัด

เมื่อย่างเข้าสู่หน้าฝน ช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม ของทุกปี ตัวอ่อนที่อาศัยอยู่ใต้ผิวดินเมื่อแก่เต็มที่มีปีกแข็ง พอได้รับน้ำฝน ดินชื้น ซึ่งตรงกับช่วงฤดูฝน ใบไม้เริ่มผลิใบ ตัวเต็มวัยที่อยู่ในดินจะบินขึ้นมากินยอดใบไม้ที่ชอบกิน ช่วงแรกๆ ที่บินขึ้นมาจากดินใหม่ๆ ชาวบ้านไม่จับกันเพราะยังไม่มีไข่  ต้องรอให้แมงพลัดผสมพันธุ์และมีไข่เต็มท้องเสียก่อน ซึ่งชาวบ้านบอกว่าช่วงนี้แหละ แมงพลัดจะอร่อยที่สุด

แม่ค้าใจดี เปิดตะกร้าแมงพลัดให้ดู

แมงพลัด ได้กลายเป็นเมนูหน้าฝนของคนใต้ในหลายๆ จังหวัด ซึ่งเราจะพบเห็นมากในช่วงต้นฝนของทุกๆ ปี ส่วนปริมาณมากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับสภาพดินฟ้าอากาศในแต่ละปี และมีให้จับกันตั้งแต่เดือนเมษายน ไปจนถึงปลายเดือนพฤษภาคมเท่านั้นก็จะหมดฤดูกาล สำหรับนักชิมที่พลาดโอกาสในช่วงนั้นก็ต้องรอในปีหน้าต่อไป

ตามหา แมงพลัด

หากใครได้ผ่านไปแถวๆ ถนนแมงพลัด (ชาวบ้านเขาเรียกเส้นทางบริเวณนั้น) ในช่วงเวลากลางวันจะมีความคึกคักเป็นอย่างมาก และถ้าผ่านไปในช่วงเวลากลางคืน (ช่วงประมาณ 18.00-20.00 น. จะเห็นแสงไฟระยิบระยับเป็นระยะๆ

สำหรับเครื่องมือเก็บแมงพลัดของชาวบ้านนั้นก็หาได้ง่ายๆ เช่น สวิงตาข่ายล้อม หรือใช้ไฟล่อ (ส่วนมากมักจะใช้ไฟล่อตามต้นไม้ คนที่ร่างกายแข็งแรงต้องปีนขึ้นไปเขย่าให้แมงพลัดตกลงมาบนผ้ายางพลาสติกสีขาวที่ปูไว้ใต้ต้นไม้ ส่วนคนที่รออยู่ด้านล่างก็จะเก็บแมงพลัดใส่ลงในถุงปุ๋ยและรีบมัดปากถุงทันที

ชาวบ้านตามถนนแมงพลัด ได้บอกกับผู้เขียนว่า ปีนี้แมงพลัดมีปริมาณน้อยกว่าปีที่แล้วมากเลย ซึ่งสาเหตุน่าจะมาจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง เพราะเมื่อช่วงต้นปีทางภาคใต้มีฝนตกหนัก จนเกิดปัญหาน้ำท่วม และกระทบไปถึงพื้นที่อาศัยของแมงพลัดด้วย และเป็นไปได้ว่า แมงพลัดในดินตายมาก จำนวนแมงพลัดจึงลดลงกว่าปีที่แล้ว ทำให้ไม่เพียงพอกับความต้องการของนักกินแมลงทั้งหลาย ส่งผลให้เกิดอาชีพใหม่ ในช่วง 1-2 เดือน โดยแต่ละวันจะมีลูกค้าที่ผ่านไปมาบนถนนเส้นนี้ จอดรถแวะซื้อไม่ขาดสาย ทำให้ชาวบ้านมีรายได้เสริมจากการขายแมงพลัด สร้างรายได้ให้กับครอบครัวได้อย่างเป็นกอบเป็นกำเลยทีเดียว

เมื่อปีที่แล้วแมงพลัดราคากิโลละประมาณ 130-150 บาท แต่พอมาปีนี้ราคาสูงขึ้นกว่าปีที่แล้วมาก โดยแมงพลัดตัวสดๆ กิโลละ 250 บาท หากซื้อเป็นตัว ตัวละ 2.50  บาท ส่วนที่ปรุงเสร็จพร้อมกินได้เลย เขาจะบรรจุใส่ถุง ถุงละ 50 บาท เฉลี่ยถุงหนึ่งประมาณ 25 ตัว มีให้เลือกกินได้หลากหลายรูปแบบ เช่น แมงพลัดทอดใบมะกรูด ทอดกระเทียม คั่วเกลือ แต่รสชาติถูกปากของคนใต้ที่กินแมลงมากที่สุดคือ แมงพลัดผัดหัวทิ (แมลงพลัดเอามาผัดกับหัวกะทิสดๆ ใส่กระเทียม พริกไทยตำละเอียดลงไปเพื่อเพิ่มรสชาติและความหอมสักนิดหน่อย และมีบางร้านเขาจะใส่ใบมะกรูดฉีกลงไปด้วย ซึ่งก็แล้วแต่กลเม็ดเคล็ด (ไม่) ลับ ของแม่ค้าแต่ละท่านว่ากันไป

แมลงกินได้ อร่อย มีคุณค่า

วัฒนธรรมการกินอาหารแมลงเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นในอดีต เกิดจากการสั่งสมเรียนรู้ และผ่านการสังเกต ลองผิดลองถูก จนสามารถนำมาใช้ในการดำรงชีวิตให้อยู่รอดได้ การกินอาหารประเภทแมลงนั้นพบว่ามีมานานแล้วโดยเฉพาะในภาคเหนือและภาคอีสาน ซึ่งแมลงบางชนิดหน้าตาอาจไม่น่ากินสักเท่าไหร่ แต่กลับมีราคาแพง ซื้อขายกันกิโลกรัมละหลายร้อยจนถึงหลายพันบาท

หลายคนคิดว่าแมลงไม่น่าจะเป็นอาหารได้ แต่บางคนบอกว่า แมลงนอกจากมีรสชาติอร่อยแล้วยังเป็นแหล่งอาหารโปรตีนที่มีคุณค่า (เมื่อวิเคราะห์คุณค่าทางโภชนาการแล้ว พบว่าแมลงบางชนิดมีโปรตีนเทียบเท่าหรือมากกว่าเนื้อหมู เนื้อไก่ และเนื้อวัว เลยทีเดียว : จากข้อมูลของสำนักโภชนาการ กระทรวงสาธารณสุข)

จากการประชุมความมั่นคงอาหารและป่าไม้ในปี 2556 ณ กรุงโรม ประเทศอิตาลี สรุปผลการประชุมจาก 100 ประเทศ ให้ แมลง เป็นแหล่งอาหารโปรตีนชนิดใหม่ที่องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ เอฟเอโอ (FAO) ยอมรับในการใช้ แมลงกินได้ เป็นเสบียงอาหารโปรตีนสำรองสำหรับประชากรของโลกที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต เพราะแมลงเป็นอาหารโปรตีนที่มีราคาถูกและสามารถหาได้ง่ายๆ ในท้องถิ่นนั้นๆ จึงทำให้ แมลง เป็นทางเลือกใหม่ในอนาคตต่อไป

ที่ผ่านมา อาหารแมลงเป็นแหล่งสารอาหารตามธรรมชาติที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง และเป็นอาหารของกลุ่มคนที่มีรายได้น้อยที่อาศัยอยู่ตามชนบท มีกำลังซื้อหาอาหารอย่างจำกัดเท่านั้น จากเรื่องราวของคนใต้กิน (แมงพลัด) นั้นคงไม่ใช่แน่นอน เพราะว่า แมงพลัด ของคนใต้มันมีราคาแพงยิ่งกว่าเนื้อหมู เนื้อไก่ เลยนะคะ จะบอกให้