หมาก ผลไม้คนไทย (โบราณ) พืชเศรษฐกิจที่น่าสนใจ ส่งออกต่างประเทศนับเป็นมูลค่าหลายร้อยล้านบาทต่อปี

ถ้าเราเป็นคนช่างสังเกตสักหน่อยจะเห็นคำว่า มะ ที่ส่วนมากคนไทยมักนำมาใช้หน้าชื่อผลไม้ไทยๆ เช่น มะม่วง มะไฟ มะยม เป็นต้น มีคนบอกว่า มะ แปลว่าผลไม้ที่กลายมาจากคำว่า หมาก

ในศิลาจารึกสุโขทัย หลักที่ 1 เรียกผลไม้ว่า หมาก ทั้งสิ้น เช่น หมากขาม (มะขาม) หมากม่วง (มะม่วง) หมากพร้าว (มะพร้าว) หมากกลาง (ขนุน) หมากสั้น หมากหวาน และในศิลาจารึกหลักเดียวกัน ยังแปลความว่า ผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว รสหวาน

จากความหมายของคำว่า หมาก ที่หมายถึง ผลไม้ ทำให้สันนิษฐานว่า คนไทยในอดีตคงจะรู้จักคุ้นเคยกับหมากเป็นอย่างดีมาก่อนผลไม้ชนิดอื่น จึงใช้หมากเป็นสัญลักษณ์แทนผลไม้และนำไปประกอบที่หน้าชื่อผลไม้อื่นๆ

หมาก เป็นพืชวงศ์เดียวกับ ตาล มะพร้าว  จาก และลาน คือ เป็นพวกปาล์ม มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมอยู่แถบเอเชียใต้ ไปจนถึงหมู่เกาะอินเดียตะวันออก รวมทั้งพื้นที่ประเทศไทยด้วย รูปร่างทั่วไปคล้ายมะพร้าว แต่มีขนาดเล็กกว่า คือ สูงเต็มที่ราวๆ 12-15 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลางลำต้นไม่เกิน 45 เซนติเมตร ลำต้นเขียวเป็นมัน ออกผลเป็นทะลายคล้ายมะพร้าว และออกผลช่วงเดือนสิงหาคม ถึงเดือนพฤศจิกายน ผลเล็กขนาดไข่ไก่ ในหนึ่งทะลายมีหลายสิบถึงร้อยผล

หมาก เป็นพืชวงศ์เดียวกับ ตาล มะพร้าว จาก

ส่วนของหมากมีคนนำไปใช้ประโยชน์มากที่สุด คือ เนื้อในผล โดยนำไปเคี้ยวร่วมกับใบพลูและปูนขาว (คนไทยใช้ปูนแดงซึ่งทำมาจากปูนขาวผสมน้ำขมิ้น) การเคี้ยวหมาก (กินหมาก) เป็นกิจกรรมเก่าแก่ที่สุดอย่างหนึ่งของมนุษย์ โดยเฉพาะมนุษย์ที่อาศัยอยู่แถบที่มีหมากขึ้นอยู่ตามธรรมชาติ

ประเทศไทย มีการขุดค้นพบซากหมากและพลูในถ้ำผีแมน เขตจังหวัดแม่ฮ่องสอน มีอายุเก่าแก่ประมาณ 8,000-10,000 ปี มาแล้ว แสดงว่าคนไทยรู้จักหมากพลูมานานแล้ว

วัฒนธรรมหมาก

หมากนับเป็นพืชสำคัญในหลายวัฒนธรรม สำหรับในวัฒนธรรมไทยนั้น การกินหมาก กลายเป็นส่วนหนึ่งของหลายๆ ประเพณีที่สำคัญ ซึ่งการกินหมากของคนไทยนั้นไม่ได้เคี้ยวหมากแล้วกลืนเหมือนกับกินอาหาร แต่เคี้ยวแล้วบ้วนเอาน้ำลายสีแดงๆ (น้ำหมาก) ทิ้งแล้วคายกาก (ชานหมาก) ทิ้งด้วย (การเคี้ยวหมากและใบพลู นับว่าเป็นสารเสพติดอย่างอ่อนๆ เหมือนกัน)

ดังนั้น การกินหมากของคนไทยจึงไม่หวังในด้านเป็นอาหาร แต่กินเพื่อความเพลิดเพลินเหมือนๆ กับการอมลูกอมหรือเคี้ยวหมากฝรั่งมากกว่า

ผู้ที่มีฐานะดีๆ จะมีอุปกรณ์เกี่ยวกับการกินหมากที่สวยงาม

การกินหมากของคนไทยมีหลักฐานแน่ชัดมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย ในศิลาจารึกกล่าวถึงการสร้างป่าหมากป่าพลูทั่วเมืองนี้ทุกแห่ง แสดงว่าชาวสุโขทัยคงจะกินหมากกันทั่วทั้งเมืองนั่นเอง!

มาถึงสมัยกรุงศรีอยุธยายิ่งปรากฏชัดเจนว่า หมากเข้ามาเกี่ยวข้องกับชีวิตคนไทยในด้านต่างๆ มากขึ้นกว่าเดิม เช่น พานหมากกลายเป็นเครื่องหมายแสดงตำแหน่งยศและบรรดาศักดิ์ ดังปรากฏในกฏมณเฑียรบาล ซึ่งตราไว้ในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ได้กำหนดโทษผู้ลักขโมยผลหมากเอาไว้สูงกว่าการลักขโมยมะพร้าว กล้วย อ้อย เสียอีก

วัฒนธรรมการกินหมากมีมาแต่อดีต

ต่อมาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีหลักฐานของชาวต่างชาติบันทึกเอาไว้ว่า ประเทศไทยส่งหมากไปขายอินเดีย เป็นมูลค่าปีละ 70,000 เหรียญ รวมทั้งส่งพลูหนาบ (แห้ง) ไปขายอีก ปีละ 50,000 เหรียญ จึงทำให้หมากกลายเป็นพืชเศรษฐกิจอย่างหนึ่งของไทยในสมัยนั้น

สมัยก่อนประเทศไทยมีการเก็บภาษีอากร เพื่อเป็นรายได้หลักของหลวงซึ่งส่วนใหญ่จะเก็บจากพืช 8 ชนิด คือ ทุเรียน มะพร้าว หมาก พลู มะม่วง ลางสาด มะปราง และมังคุด สำหรับอัตราที่เก็บจากต้นหมากก็คือ ต้นละ 30 เบี้ย (หมากตรี) ถึงต้นละ 50 เบี้ย (หมากเอก) สำหรับต้นหมากที่ให้ผลผลิตแล้ว โดยใช้ความสูงเป็นเกณฑ์

ในอดีต หมาก เป็นเครื่องต้อนรับแขก

หมากเอก คือ ต้นหมากที่สูงตั้งแต่ 3-5 วา (1.5-2.5 เมตร) หมากตรี คือ ต้นหมากที่สูงตั้งแต่ 7 วา ขึ้นไป (3-5 เมตร) เหตุที่หมากต้นสูงเก็บค่าอากรต่ำกว่าต้นเตี้ยเพราะว่ามีการลงทุนในการใช้คนปีนขึ้นเก็บผลหมาก และหมากต้นสูงค่อนข้างจะมีอันตรายมาก เพราะหมากมีลำต้นเล็กยิ่งสูงก็ยิ่งหักง่าย (เคยมีการบันทึกเรื่องคนตกหมากตาย เนื่องจากต้นหมากหัก และหากต้นหมากหักส่วนมากมักจะหักตรงกลางต้น)

หมากสุก ภาคใต้นิยมมาก

ในประวัติศาสตร์ชาติไทย มีเกาะๆ หนึ่งทางภาคใต้ที่มีอาณาเขตติดต่อกับมาเลเซีย คือ เกาะหมาก (ปัจจุบัน คือ เกาะปีนัง) เดิมทีในอดีตเคยเป็นของไทย ซึ่งเกาะนี้จะเต็มไปด้วยต้นหมาก จึงมีชื่อเรียกว่า เกาะหมาก (เกาะนี้ถูกอังกฤษยึดครองในนามบริษัทอินเดียตะวันออก ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2329 จนกลายเป็นดินแดนของประเทศมาเลเซีย คือ ปีนัง : แปลว่า หมาก)

การกินหมากของคนไทยเฟื่องฟูมาจนถึงยุค เชื่อผู้นำชาติพ้นภัย คือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ออกคำสั่งให้คนไทยเลิกกินหมากและมีการตัดทำลายต้นหมากต้นพลูในสมัยนั้น เพื่อสร้างวัฒนธรรมใหม่ให้คนไทยได้ทัดเทียมอารยประเทศ

หมากอ่อนที่เปลือกยังเขียว คนทางอีสานนิยมกินมากกว่าหมากสุก

เนื่องจากคนไทยใกล้ชิดกับหมากมาเป็นระยะเวลายาวนาน จึงมีพิธีกรรมและถ้อยคำสำนวนเกี่ยวกับหมากอยู่มากมาย และไม่แน่ว่าอนาคตถ้อยคำเหล่านี้คงถูกลืม หรืออาจไม่เข้าใจที่มาของคำเหล่านั้น เช่น คำว่าขันหมาก ชั่วเคี้ยวหมากแหลก แจกหมาก ข้าวยากหมากแพง วางหมาก หมากสง สีหมากสุก เป็นต้น หรือจากเสภาขุนช้าง-ขุนแผน ตอน เณรแก้วพบนางพิมพ์ที่ไร่ฝ้าย ว่า เจ้าเคยนอนซ้อนพุ่มกระทุ่มต่ำ เก็บใบบอนช้อนน้ำในไร่ฝ้าย พี่เคี้ยวหมากเจ้าอยากพี่ยังคาย แขนซ้ายคอดแล้วเพราะหนุนนอน (จากเสภาขุนช้าง-ขุนแผน ตอน เณรแก้วพบนางพิมพ์ที่ไร่ฝ้าย)

วิธีทำหมากแห้งของคนเหนือ สวยงามมาก

การกินหมากจนเป็นธรรมเนียมในสมัยก่อน ทำให้เกิดการพัฒนาไปสู่วัฒนธรรมการกินหมากอย่างจริงจัง นั่นคือ ใช้หมากเป็นเครื่องต้อนรับแขก การเตรียมหมากพลูเพื่อต้อนรับแขก ซึ่งนับเป็นการต้อนรับที่ดี สำหรับผู้ที่มีฐานะดีๆ หน่อยจะมีอุปกรณ์เกี่ยวกับการกินหมากที่สวยงาม ในปัจจุบันนี้คนไทยกินหมากน้อยลง แต่ยังมีหมากพลูจัดเป็นชุดขาย โดยมากนิยมนำไปเป็นเครื่องบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์

ภาคเหนือ ผ่าซีกหมากอ่อนแล้วเสียบร้อยด้วยปอ หรือด้ายผูกไว้เป็นพวง

หมาก เป็นพืชที่มีความเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมประเพณีพื้นบ้าน และความเป็นอยู่ของคนไทยในอดีตมาอย่างช้านาน  เพราะคนไทยนิยมกินหมากตั้งแต่เจ้านายถึงชาวบ้านคนธรรมดา ซึ่งพบว่ามักมีเชี่ยนหมากไว้รับแขกผู้มาเยี่ยมเยือนกันแทบทุกบ้าน แต่ในปัจจุบันคนนิยมกินหมากลดน้อยลงมา

ราคาหมากแห้ง แพงกว่าราคายางพาราอีก

ดังนั้น หมาก จึงมีบทบาทในแง่ทางอุตสาหกรรม เป็นพืชเศรษฐกิจที่น่าสนใจอย่างหนึ่ง มีการส่งออกเพื่อจำหน่ายต่างประเทศคิดเป็นมูลค่าหลายร้อยล้านบาทต่อปี หมากเป็นพืชที่เพาะปลูกง่าย ดูแลรักษาไม่ยุ่งยาก โรคและแมลงรบกวนน้อย การลงทุนไม่สูงนัก สามารถทำรายได้อย่างสม่ำเสมอเป็นเวลานานนับสิบปี และหมากปลูกร่วมกับพืชเศรษฐกิจอื่นๆ ได้ อีกทั้งยังสามารถปลูกไว้ทำเป็นแนวเขตรั้ว หรือพืชกันลมได้ดีเช่นกัน