ตะกร้ายาว

ตะกร้า มีหลายชนิด ชนิดที่ไม่ค่อยพบเห็นคือ ตะกร้ายาว ลักษณะของตะกร้ายาวคือ มีรูปทรงกลม เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 15 เซนติเมตร สูงประมาณ 50 เซนติเมตร สานด้วยตอกไม้ไผ่ ตาถี่ ปากเป็นรูปทรงกลม ก้นเป็นรูปทรงกลมเช่นกัน สามารถตั้งกับพื้นราบได้ และมีสายข้างๆ ทำไว้สำหรับแขวน

ตะกร้ายาว นับเป็นตะกร้าที่แปลกกว่าตะกร้าอื่นๆ เพราะตะกร้าอื่นๆ มักไม่สูง ปากบานกว้าง ก้นสอบลงแต่ก็มีขนาดใหญ่ เหมาะสำหรับใส่พืชผักต่างๆ เวลาล้างผักคนสมัยก่อนมักใส่ตะกร้า นำตะกร้าลงไปท่าน้ำแล้วเขย่าเบาๆ น้ำใสสะอาดก็จะช่วยให้ผักที่ล้างสะอาด นำมาปรุงอาหารหรือกินได้ จึงมีสำนวนไทยว่า “ใส่ตะกร้าล้างน้ำ”

ขนาดของตะกร้ายาว แท้จริงก็แล้วแต่คนสานหรือความต้องการใช้ประโยชน์ ไม่มีขนาดแน่นอนตายตัว การสานตะกร้ายาว เราชาวบ้านมักใช้ตอกชนิดที่มีผิว เนื่องจากต้องการความทนทาน ทำครั้งหนึ่งสามารถใช้งานได้นาน การสานตะกร้ายาวคล้ายๆ กับตะกร้าทั่วไป ผิดกันแต่เพียงว่า รูปแบบเป็นทรงกลมและสูงเท่านั้น

ตะกร้ายาว มีไว้สำหรับใส่อะไร

คำตอบคือ มีไว้สำหรับใส่หอม กระเทียม คนไทยสมัยก่อนมักปลูกพืชผักสวนครัวไว้กินเอง เมื่อเก็บหอม กระเทียม หลังจากแลกเปลี่ยนขาย หรือแจกจ่ายให้เพื่อนบ้านแล้ว เราชาวบ้านก็นำหอม กระเทียม เก็บไว้ปรุงอาหาร การเก็บหอม กระเทียม เราชาวบ้านมักแขวนไว้กับราวไม้เรียงไปบนราวยาว และมักอยู่ใกล้ๆ กับครัว แต่ส่วนหนึ่งเราชาวบ้านนำมาใส่ไว้ในตะกร้ายาว เมื่อต้องการปรุงอาหารเราก็หยิบออกจากตะกร้าได้ง่ายดาย

เรียกว่าหยิบก็ง่าย หมดก็รู้ ดูก็งามตา

เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2559 ที่ผ่านมา ผู้เขียนมีโอกาสได้เดินทางไปหมู่บ้านไทผาเก อยู่ที่แคว้นอัสสัม ประเทศอินเดีย ครัวของบ้านคนไทที่นั่นผู้เขียนเห็นแล้วตกใจมาก เพราะคล้ายๆ กับครัวของคนไทยบ้านนอกในประเทศไทยสมัยผู้เขียนยังเด็กๆ

ครัวของชาวไทผาเกอยู่บนบ้าน แต่แยกพื้นที่ครัวชัดเจน พื้นส่วนใหญ่ทำจากฟากไม้ไผ่ บริเวณที่ตั้งของเตา ชาวไทผาเกนำโลหะทนไฟ อย่าง แผ่นสังกะสีมาปูไว้ ป้องกันไม่ให้ฟืนที่จุดไฟหล่นลงมาไหม้บ้านนั่นเอง เหนือเตาขึ้นไปมีร้านสี่เหลี่ยมผืนผ้าอยู่ 1 ร้าน ทั้งสี่มุมของร้านนั้นใช้เชือกผูกโยงไว้ห้อยลงมาจากหลังคา บนนั้นเต็มไปด้วยของแห้งต่างๆ ที่ใช้ปรุงอาหารในครัว เป็นต้นว่า หอม กระเทียม พริก และอื่นๆ

สาเหตุที่นำไปวางไว้บนร้านก็เพราะว่า เป็นการป้องกันมด มอด เข้าไปกัดกิน เนื่องจากต้องจุดไฟทุกวัน ควันไฟมีประโยชน์ช่วยไล่มด แมลง ออกไปหมด นับเป็นภูมิปัญญาเดิมๆ ของคนไทยเรา

ตะกร้ายาว ไม่เห็นชาวไทผาเกมีใช้ แต่คนไทยในประเทศไทยมีใช้แน่นอน

เราใช้ตะกร้ายาวสำหรับใส่หอม กระเทียม คนไทยใช้หอมสำหรับต้ม แกง กระเทียมก็ใช้แกง และตำน้ำพริก เล่าลือกันว่ากระเทียมเป็นอาหารเพิ่มพลังทางเพศได้ดี อาจเพราะสาเหตุนี้เอง นักบวชส่วนใหญ่จึงเลี่ยงการกินกระเทียม

เอาเข้าจริงเลี่ยงได้มากน้อยเพียงใดก็ไม่รู้ เพราะพระภิกษุต้องพึ่งพาอาหารจากญาติโยม เวลาใส่บาตรคงไม่มีพระรูปใดถามว่า โยมใส่กระเทียมในแกงหรือในน้ำพริกมาหรือเปล่าเป็นแน่

ตะกร้ายาว แต่ละถิ่นแถวของเมืองไทยอาจจะเรียกขานต่างกัน แต่ด้วยรูปลักษณ์ตัวตะกร้าที่ยาว เห็นที่ไหนก็รู้จักได้ บ้านผู้เขียนแม้จะไม่เคยได้ใช้ แต่ก็เคยเห็นเพื่อนบ้านใช้กันอยู่ บ้านหรือโรงเรือนคนไทยสมัยก่อน นิยมปลูกใต้ถุนสูงเพื่อป้องกันสัตว์ร้าย หรือไม่ก็น้ำท่วม แต่ละบ้านมีครัวอยู่บนบ้านหรือโรงเรือน ลักษณะนี้คล้ายกันทั้งไทยในประเทศไทย และไทผาเกที่อยู่ในแคว้นอัสสัม ประเทศอินเดีย

รุ่งเช้าแม่บ้านตื่นขึ้นมาก็ตรงเข้าไปครัวหุงหาอาหารได้ทันที

เมื่อแม่บ้าน หรือลูกสาวของบ้านตั้งหม้อหุงข้าวแล้ว ระหว่างหม้อข้าวเดือดคลั่กๆ อยู่ แม่บ้านก็จะประกอบอาหาร หรือไม่ก็เตรียมเครื่องปรุงเอาไว้ให้เสร็จสรรพ เมื่อข้าวสุกแล้วจะต้ม ยำ ทำ แกง อะไรก็รวดเร็ว

แน่นอนว่า…หอม กระเทียม ที่อยู่ในตะกร้ายาวต้องได้ใช้ประโยชน์