เผยแพร่ |
---|
“พริก” ถือได้ว่าเป็นพืชยอดนิยมที่คนไทยนิยมนำไปปรุงอาหารเป็นอันดับต้นๆ เมื่อดูจากสถิติแล้ว คนไทยจะบริโภคพริกประมาณ 1 กิโลกรัมต่อคนต่อปี คิดเป็นมูลค่าโดยรวมทั้งประเทศกว่า 30,000 ล้านบาท และมีการปลูกเพื่อส่งออกคิดเป็นมูลค่ามากกว่า 1,000 ล้านบาทต่อปี ด้วยเหตุนี้ พริกจึงเป็นพืชเศรษฐกิจของคนไทยที่สร้างรายได้ให้กับท้องถิ่นทั่วประเทศ เนื่องจากพริกสามารถปลูกได้ในทุกพื้นที่ของประเทศไทย
โดยในประเทศไทยนั้นมีพริกอยู่หลายชนิด ไม่ว่าจะเป็น พริกขี้หนู พริกชี้ฟ้า พริกเหลือง พริกหนุ่ม และอื่นอีกมากมาย ซึ่งนอกจากการให้รสเผ็ดที่เป็นเอกลักษณ์ของพืชชนิดนี้แล้ว พริกยังมีสรรพคุณเป็นยา อาทิ ช่วยลดอาการบวม แก้ปวดเมื่อย และขับปัสสาวะ วันนี้เทคโนโลยีชาวบ้านจึงชวนมาดู 6 เคล็ดลับในการปลูกพริกเพื่อให้ได้ผลิตผลที่คุ้มค่าและมีคุณภาพ
การเลือกสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม
การเลือกสภาพแวดล้อมในการปลูกพริกนั้นถือได้ว่าเป็นข้อควรระวังลำดับแรกๆ ของการเพาะปลูก โดยพริกจะเติบโตได้ดีในพื้นที่ที่มีสภาพอากาศร้อนชื้น และแสงแดดที่ไม่จัดจนเกินไป ซึ่งพริกทั่วๆ ไปจะเติบโตได้ดีภายใต้อุณหภูมิ 20-30 องศาเซสเซียล แต่หากเป็นพริกหวานจะอยู่ที่อุณหภูมิ 18-27 องศาเซลเซียสแทน ทั้งนี้ หากอุณหภูมิในพื้นที่นั้นสูงถึง 33-35 องศาจะทำให้ดอกและผลอ่อนร่วงได้ แต่อากาศโดยรอบไม่ใช่สิ่งเดียวที่ควรคำนึงเท่านั้น ค่าความเป็นกรด-ด่างของดิน เองก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่จำเป็นต้องคำนึงให้ถี่ถ้วนก่อนทำการเพาะปลูก โดยต้นพริกนั้นจะเติบโตได้ดีในดินร่วนที่มีค่าความเป็นกรด-ด่างที่ราวๆ 6.0-6.5 และต้องไม่เป็นพื้นที่ลุ่มน้ำขัง
การเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์
การจะเก็บเมล็ดพันธุ์ด้วยตัวเองนั้นสามารถทำได้เอง หากแต่ต้องแกะเมล็ดออกจากผลที่สุกแล้วอย่างเร็วที่สุด โดยไม่ควรปล่อยให้ผลแห้งนานเกินระยะเวลา 30 วัน เพราะเมล็ดนั้นๆ จะไม่สามารถเจริญเติบโตได้ดีเมื่อนำมาเพาะปลูก และภายหลังการแกะเมล็ดพันธุ์ออกแล้วควรผึ่งในที่ร่มให้แห้ง จากนั้นจึงนำเมล็ดที่แห้งเก็บไว้ในบรรจุภัณฑ์ที่ปิดฝาแน่นสนิท และเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ในตู้เย็น เพียงเท่านี้เมล็ดพันธุ์ก็จะสามารถเก็บไว้เพาะได้นานถึง 1 ปี
การให้น้ำ
ในการปลูกพริกนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้น้ำอย่างเพียงพอและมีความสม่ำเสมอในการให้น้ำในช่วงระยะแรกของการเจริญเติบโต แต่ในขณะเดียวกันน้ำก็ไม่ควรมากเกินไปจนทำให้ดินแฉะ เนื่องจากจะความชื้นนั้นอาจทำให้ต้นพริกเหี่ยวได้ โดยการให้น้ำเพื่อให้ได้มาซึ่งผลผลิตที่สวยงามและทำเงินได้ดี มีอยู่ 2 วิธีที่นิยมใช้ คือ การใชน้ำระบบสปริงเกลอร์และสปริงเกลอร์แบบหัวฉีดฝอย ซึ่งทั้งสองวิธีนั้นต่างมีข้อดีและข้อเสียที่แตกต่างกัน โดยระบบสปริงเกลอร์นั้นมีข้อเสีย คือ ต้นพริกที่ทำการเพาะจะเกิดโรคพืชได้ง่ายกว่าปกติ เนื่องจากมีความชื้นมาก ในขณะที่ข้อเสียของระบบสปริงเกลอร์แบบหัวฉีดฝอย คือ หัวฉีดนั้นสามารถอุดตันได้และใช้เวลานานในการให้น้ำ
การใส่ปุ๋ย
การใส่ปุ๋ยในการบำรุงต้นพริกนั้น มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้ปุ๋ยที่มีแร่ธาตุที่สูงและมีสารอาหารครบถ้วน อาทิ ปุ๋ย 15-15-15 หรือ 13-13-21 และสามารถใส่ได้ทั้งปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยเคมี หากแต่ในการใส่ปุ๋ยเคมีนั้นไม่ควรให้ต้นพริกกระทบกับปุ๋ยเคมีโดยตรง โดยควรใส่ปุ๋ยทั้งสิ้น 5 ช่วงด้วยกัน คือ ครั้งที่ 1 เมื่อต้นพริกมีอายุ 15 วัน ครั้งที่ 2 เมื่อครบ 25 วัน ครั้งที่ 3 เมื่อปลูกได้ 40 วัน และครั้งที่ 4 เมื่อต้นพริกมีอายุ 55 วัน
การป้องกันโรคและศัตรูพืช
โรคและศัตรูพืชถือได้ว่าเป็นปัญหาใหญ่ๆ ที่ผู้ปลูกพริกนั้นต้องพบเจอ โดยการป้องกันโรคและศัตรูพืชนั้นสามารถทำได้อย่างง่ายดาย คือ ไถพรวนดินตากแดดอย่างน้อย 14 วันก่อนทำการเพาะปลูก จัดแนวการปลูกต้นพริกให้ไม่ขวางทิศทางลม เก็บซากพืชและใบหรือผลที่เป็นโรคออกจากพื้นที่เพาะปลูกเสมอๆ เพื่อไม่ให้แหล่งเชื้อโรคจากซากพืชและใบเหล่านั้นแพร่กระจาย และประการสุดท้าย คือ เมื่อพบเจอใบพริกที่มีอาการใบหงิกเหลืองแกมเขียว ใบผิดรูปร่าง หรือแคระแกร็น ให้รีบทำการกำจัดทิ้งในทันที เนื่องจากต้นพริกที่มีลักษณะดังกล่าวจะไม่สามารถเจริญเติบโตและให้ผลผลิตที่ดีได้ อีกทั้งยังเป็นแหล่งเชื้อที่จะแพร่กระจายสู่ต้นอื่นๆ ในแปลงอีกด้วย
การแปรรูปและการตลาด
และเมื่อได้ผลผลิตที่ออกมาแล้ว บรรดาพริกเหล่านี้ยังสามารถเพิ่มมูลค่าด้วยการนำไปแปรรูป อาทิ พริกแห้ง พริกป่น พริกแกง ซอสพริก พริกดอง หรือน้ำพริกเผา เพื่อทำให้สามารถขายผลผลิตในตลาดได้หลากหลายยิ่งขึ้น แต่หากไม่ต้องการแปรรูปผลผลิต ก็ยังสามารถที่จะขายพริกในรูปแบบของพริกสดที่มีคุณภาพได้เช่นกัน ซึ่งสามารถเพิ่มความน่าสนใจให้กับตัวสินค้าได้ด้วยการทำการตลาด เช่น การเล่าเรื่องราวขั้นตอนการปลูกและการเก็บผลผลิต ตลอดจนการใส่เรื่องเล่าอื่นๆ ให้กับสินค้า และไม่ว่าจะเป็นพริกสดหรือสินค้าแปรรูปจากพริกก็สามารถที่จะเปิดขายได้หลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นการขายปลีก ขายส่ง ขายออนไลน์ หรือการขายผ่านพ่อค้าคนกลาง เพราะนอกจากการทำผลผลิตให้มีคุณภาพดีแล้ว การทำการตลาดและการหาช่องทางขายสินค้าใหม่ๆ ก็เป็นส่วนที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
https://pharmacy.su.ac.th/herbmed/herb/text/herb_detail.php?herbID=151
https://www.baanlaesuan.com/76304/plant-scoop/chilli_garden
https://www.baanlaesuan.com/111024/dontmiss/hot-spicy
ศูนย์วิจัยและพัฒนาพืชผักเขตร้อน 2556. คู่มือการปลูกพริก มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกําแพงแสน จ.นครปฐม