แบบแกะไม้ ใช้เป็นแบบแกะหินก็ได้

วิชาช่าง เป็นเรื่องของคนใจรัก

งานแกะสลักไม้ต่างๆ หากไปเมืองเหนือจะพบว่า ไม่ว่าหญิงหรือชาย สามารถหยิบค้อน สิ่ว แกะสลักไม้ได้อย่างคล่องแคล่ว ว่องไว

การแกะสลักไม้มีอุปกรณ์สำคัญนอกจากสิ่วและค้อนที่ตีโป้กๆ แล้ว ยังมี “แบบ” อีกชิ้นหนึ่ง ชาวบ้านเรียกว่า “แบบแกะไม้”

โบราณว่า คนรูปร่างหน้าตาอย่างไร ก็ปั้นพระได้อย่างนั้น เรื่องนี้ถือว่าเป็นเรื่องจริงอันชัดเจน เห็นได้จากพระพุทธรูปยุคสมัยต่างๆ พุทธลักษณะจะแตกต่างกันไป ทั้งนี้ นอกจากสะท้อนรูปร่างหน้าตาของคนสมัยที่สร้างพระแล้ว ยังสะท้อนภาพเศรษฐกิจอีกด้วย

เป็นต้นว่า สมัยสุโขทัย พระพุทธรูปอ่อนช้อย สวยงาม เพราะว่าสภาพบ้านเมืองในน้ำมีปลา ในนามีข้าว ชาวบ้านทำบุญฟังธรรมในวันพระ มีการนิมนต์พระจากนครศรีธรรมราชมาเผยแผ่พระพุทธศาสนาด้วย ดังปรากฏอยู่ในจารึกของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช

ต่อมาสมัยกรุงศรีอยุธยา พระพุทธรูปจะใหญ่โต พระพักตร์ขึงขัง สะท้อนความแข็งแกร่ง เพราะต้องต่อสู้กับศัตรู เหล่านี้เป็นต้น

การปั้นพระพุทธรูป ช่างแต่ละยุคมักยึดเอารูปร่างและอารมณ์ของผู้คนในยุคที่สร้างสรรค์มาเป็นต้นแบบ แต่การสลักรูปภาพต่างๆ เราชาวบ้านใช้ “ต้นแบบ” ที่ผ่านการสลักเสลามาอย่างบรรจง แล้วนำมาใช้สร้างสรรค์ผลงานของตนเอง

ตัวอย่างเช่น ต้นแบบลวดลายต่างๆ แทนที่จะเสียเวลาวาดลวดลายทุกๆ เส้น ช่างที่ต้องการความรวดเร็วและต้องการใช้ลายเดียวกันต่อรูปก่อร่างเป็นรูปขนาดยาวๆ ช่างก็นิยมทำแบบขึ้นมาก่อน แล้วนำต้นแบบนั้นทาบลงไปบนวัสดุที่ต้องการแกะสลัก ใช้ปากกา ดินสอ หรือเครื่องมืออื่นๆ ขีดเส้นร่างเอาไว้ เสร็จแล้วก็ค่อยๆ ลงมือแกะสลักไป

ต้นแบบลวดลายต่างๆ ปัจจุบันมีขายอยู่ตามท้องตลาดบ้าง เหมาะสำหรับช่างมือใหม่ ส่วนช่างที่เชี่ยวชาญแล้ว บางคนไม่ต้องการใช้แบบเลย แต่บางคนก็สร้างแบบขึ้นมาเอง เพื่อให้ลูกมือได้ช่วย เป็นต้น

การสร้างแบบ ช่างผู้เชี่ยวชาญบอกว่า วัสดุที่ใช้ทำแบบขึ้นอยู่กับว่า เราต้องการให้มีความคงทนมากน้อยเพียงใด ถ้าไม่ต้องการให้คงทนมาก เราก็ใช้กระดาษแข็งเป็นวัสดุได้ เมื่อได้กระดาษแข็งมาแล้วก็วาดลวดลายตามที่ต้องการลงไป ลวดลายเหล่านี้ ส่วนใหญ่เป็นลวดลายดอกไม้ เหมาะสำหรับใช้ประดับกรอบภาพ และงานอื่นๆ ที่ไม่ต้องการความพิถีพิถันมากนัก

เมื่อวาดภาพแบบตามที่ต้องการแล้ว ช่างจะตัดแบบนั้นออกมา ระหว่างตัดต้องดูให้ดีว่า ส่วนไหนควรตัดออก ส่วนไหนควรเก็บไว้ เมื่อตัดเสร็จแล้วก็นำออกไปใช้งานได้

ตัวอย่างงานที่นำ “ต้นแบบ” ไปใช้ เช่น งานแกะสลักไม้ที่ต้องการรูปเดียวกันมากๆ หรือไม่ก็นำไปใช้เป็นลายประดับกรอบรูป เช่น เมื่อต้องการลายดอกไม้ประดับกรอบรูปขนาดใหญ่ ช่างก็จะวัดสัดส่วนของภาพให้เรียบร้อย จากนั้นก็เอาแบบดอกไม้หรือลายนั้นวางลงบนกรอบ ค่อยๆ เลื่อนวาดตามแบบต่อไปเรื่อยๆ จนรอบกรอบที่ทำไว้ จากนั้นก็ให้ลูกมือแกะสลักตามเส้นที่ลากไว้

แกะเสร็จแล้ว เป็นหน้าที่ของลูกมืออีกเหมือนกัน ที่ต้องใช้กระดาษทรายขัดถูให้เรียบร้อย สวยงาม

“แบบแกะไม้” ใช้ในกลุ่มอาชีพช่างแกะสลัก แน่นอนว่าเป็นช่างแกะสลักที่รับทำตามสั่งคราวละมากๆ ไม่ใช่ช่างที่สร้างสรรค์อย่างประณีต บรรจง ชนิดสร้างงาน 1 ชิ้น ต้องใช้เวลาเป็นเดือนๆ อย่างแน่นอน

ถ้าจะบอกว่า ใช้กับงาน “โหล” ก็ออกจะรุนแรงไป

ผู้เขียนเคยไปจังหวัดตาก ระหว่างเดินอยู่ริมแม่น้ำเมย มีร้านขายไม้แกะสลักรูปกระรอกในท่าวิ่ง นกในท่าบิน เห็นแล้วก็สวยงามดี แถมราคาไม่แพงนัก เมื่อถามว่าทำไมจึงขายถูกนัก ก็ได้คำตอบว่า วัสดุไม้หาได้ง่าย และค่าแรงก็ไม่แพง เพราะจ้างแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาทำ

เมื่อต้นทุนถูก ราคาสินค้าก็ถูกไปด้วย

แบบแกะไม้ แท้จริงแล้วไม่ได้ใช้เป็นแบบแกะไม้ได้อย่างเดียว อาจใช้วัสดุอื่นๆ ก็ได้ เช่น โฟม ดิน หิน หรือแม้กระทั่งปูน ขึ้นอยู่กับว่าเราต้องการวัสดุอะไร และต้องการให้ผลงานแกะสลักอยู่นานแค่ไหน

การเลือกวัสดุใดมาแกะ เท่ากับได้เลือกอายุของผลงานโดยแท้