เผยแพร่ |
---|
“น้ำหมัก” หรือ น้ำหมักชีวภาพ คือ น้ำหมักอินทรีย์รูปแบบหนึ่งที่ได้จากวัสดุธรรมชาติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเศษพืชผัก เศษอาหาร ผลไม้หรือสมุนไพรด้วยวิธีการทางธรรมชาติ และมีลักษณะเป็นของเหลวสีน้ำตาลโดยอาศัยการทำปฏิกิริยาระหว่างน้ำตาล แบคทีเรีย และกรดแลกติก (Lactic acid) ซึ่งน้ำหมักแต่ละสูตรนั้นจะให้การบำรุงที่แตกต่างกันออกไป ไม่ว่าจะเป็นการใช้เศษผักหรือเศษผลไม้ ซึ่งนอกจากจะเป็นการประหยัดต้นทุนและเพิ่มสารอาหารแก่พืชแล้ว ยังเป็นลดขยะจากการทำการเกษตรและการลดต้นทุนค่าบำรุงพันธุ์พืชอีกด้วย วันนี้เทคโนโลยีชาวบ้านชวนมาดูน้ำหมัก 7 รส ที่สามารถทำเองได้ง่ายๆ ด้วยของที่มีอยู่ที่บ้าน บำรุงได้จริงภายในไม่กี่ขั้นตอน!
- น้ำหมักรสจืด ได้จากการหมักพืชสมุนไพรและผลไม้ เช่น ข้าว ใบย่านาง รวงข้าว ผักตบชวา หน่อกล้วย และผักบุ้งไทย มีคุณสมบัติในการบำรุงดิน บำบัดน้ำเสียและขยะ และล้างสารพิษในพืช
- น้ำหมักรสเปรี้ยว ได้จาก เปลือกส้ม มะกรูด มะขาม มะนาว มะเฟือง ตะลิงปลิง มะนาว หรือผลไม้ที่ให้รสเปรี้ยวอื่นๆ สามารถใช้ในการป้องกันแมลง ฆ่าเชื้อรา และบำรุงพืช
- น้ำหมักรสฝาด ได้จาก ปลีกล้วย เปลือกมังคุด มะยมหวาน เปลือกฝรั่ง และสมุนไพรรสฝาดอีกมากมาย โดยมีสรรพคุณช่วยในเรื่องการฆ่าเชื้อราในพืช เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคและสร้างความเสียหายแก่พืช
- น้ำหมักรสเบื่อเมา ได้จากการหมักสมุนไพรกลุ่มที่ให้ฤทธิ์เมา เช่น หัวกลอย ใบเมล็ดสบู่ดำ ใบน้อยหน่า โดยสามารถใช้ในการฆ่าเพลี้ย หนอน และแมลงในพืชผัก
- น้ำหมักรสเผ็ดร้อน เช่น พริก ขิง ข่า หรือสมุนไพรอื่นๆ ที่ให้รสเผ็ด สามารถใช้เพื่อไล่แมลงและแมลงแสบร้อนในแปลงเกษตร
- น้ำหมักหอมระเหย เป็นน้ำหมักที่ได้จากพืชและสมุนไพรหอมระเหย เช่น ตะไคร้หอม ใบกะเพรา ใบเตย และพืช ที่มีคุณประโยชน์ในการฆ่าเชื้อราในโรคพืชทุกชนิด
- น้ำหมักรสขม ได้จากการหมักใบสะเดา บอระเพ็ด และใบขี้เหล็ก สามารถใช้เพื่อฆ่าแบคทีเรียและสร้างภูมิคุ้มกันให้กับพืช
และกรรมวิธีในการทำน้ำหมักทั้ง 7 สูตรนั้นสามารถทำได้อย่างง่ายๆ ด้วยวัตถุดิบเพียง 3 อย่าง คือ กากน้ำตาล น้ำเปล่า และสมุนไพรตามที่ต้องการ โดยทั้ง 7 สูตรนั้นสามารถใช้วิธีเดียวกันในการทำได้ทุกสูตร เพียงแค่เปลี่ยนชนิดของพืชผักสมุนไพรเท่านั้น ซึ่งขั้นตอนในการทำนั้นมีเพียง 2 ขั้นตอนหลักๆ คือ การละลายกากน้ำตาลในน้ำเปล่าในภาชนะที่เตรียมไว้ จากนั้นจึงค่อยนำสมุนไพรสับละเอียดใส่ลงไป คนให้เข้ากัน โดยแนะนำว่าให้กวนไปในทิศทางเดียวเท่านั้น เมื่อกวนจนได้ที่แล้วจึงค่อยทำการปิดฝาทิ้ง และไว้ทั้งสิ้น 3 เดือนในที่ทึบแสง เมื่อครบระยะเวลาที่กำหนดก็จะสามารถนำน้ำหมักรสต่างๆ มาใช้ประโยชน์ได้แล้ว ทั้งนี้ ระหว่างการหมักควรสังเกต สี ความขุ่น กลิ่น และฟองแก๊สร่วมด้วย เพื่อให้แน่ใจว่าในกระบวนการหมักนั้นมีขั้นตอนที่สมบูรณ์ดี โดยมีรายละเอียด ดังนี้
- สีของน้ำหม้กต้องเข้มกว่าวันแรกที่ทำการหมัก
- ช่วงแรกน้ำหมักจะมีความขุ่น แต่เมื่อน้ำหมักเริ่มได้ที่แล้วจะพืชที่ใช้ในการหมักจะตกตะกอนทำให้น้ำหมักมีความใสขึ้น
- แรกเริ่มเมื่อเกิดกระบวนการหมัก กลิ่นของน้ำหมักจะมีกลิ่นน้ำตาล แต่เมื่อการหมักดำเนินไปกลิ่นของน้ำหมักจะเริ่มเปลี่ยนเป็นกลิ่นเปรี้ยว
- ในช่วงแรกในน้ำหมักจะเกิดฟองแก๊สขึ้นเนื่องจากกระบวนการหมักเริ่มทำงาน หลังจากนั้นฟองแก๊สเหล่านี้จะค่อยๆ หายไปหลังกระบวนการหมักได้ที่
และนอกจากการบำรุงพืชแล้ว น้ำหมักรสต่างๆ นี้ไม่เพียงแต่สามารถทำเพื่อการใช้สอยในครัวเรือนเท่านั้น แต่ยังสามารถที่จะทำขายและประกอบเป็นอาชีพได้อีกด้วย เนื่องจากมีต้นทุนที่ค่อนข้างต่ำ และเป็นที่ต้องการในกลุ่มผู้สนใจทำเกษตรอินทรีย์ที่อาจไม่มีเวลาในการปรุงน้ำหมักด้วยตัวเอง เรียกได้ว่านอกจากที่จะสร้างประโยชน์ให้กับพืชและสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังสามารถต่อยอดและเป็นรายได้เสริมอีกช่องทางหนึ่งได้อีกด้วย
ขอบคุณข้อมูลจาก