เผยแพร่ |
---|
“ทุเรียน” เป็นหนึ่งในผลไม้และพืชเศรษฐกิจที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศไทย ด้วยรสชาติและกลิ่นอันเป็นเอกลักษณ์ ส่งผลให้ทุเรียนไม่เพียงแต่เป็นที่นิยมในหมู่คนไทยผู้หลงใหลและชื่นชอบในทุเรียนเท่านั้น แต่ยังได้รับความนิยมในต่างประเทศอีกด้วย ด้วยเหตุนี้จึงทำให้มูลค่าในการส่งออกและราคาขายของทุเรียนนั้นมีราคาสูง แต่ก่อนจะคิดเริ่มทำสวนทุเรียน เทคโนโลยีชาวบ้านชวนมาดู 7 โรคพืชที่อาจทำให้สวนทุเรียนของคุณพังได้ทั้งสวน!
- โรครากเน่าโคนเน่า
โรคยอดฮิตในทุเรียน ที่มีสาเหตุจากเชื้อ Phytpphthora Palmivora ซึ่งเป็นโรคที่เกิดขึ้นได้กับทุเรียนในทุกช่วงระยะการเจริญเติบโต โดยมักมักทำลายทุเรียนทั้งรากบริเวณคอดิน กิ่ง ลำต้น ใบ ปลายยอด และสร้างความเสียหายให้ผลทุเรียน เมื่อเชื้อเข้าไปทำลายระบบราก ใบของต้นทุเรียนจะเริ่มเปลี่ยนสีจากสีเขียวเป็นสีเหลือง และหากเชื้อลุกลามไปยังโคนก็อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ต้นทุเรียนตายได้
การป้องกันรากเน่าโคนเน่า
- ในการคำนวณเรื่องระยะแปลงปลูก ควรเว้นระยะให้ทั้งสวนมีการระบายน้ำที่ดี ไม่เสี่ยงต่อการท่วมขัง
- ตัดแต่งทรงพุ่มของต้นทุเรียนให้มีความโปร่ง เพื่อให้แสงแดดสามารถส่องได้ถึงโคนต้น
- หมั่นกำจัดวัชพืชในแปลงอยู่เสมอเพื่อลดความชื้น
- แยกเครื่องมือที่ใช้ในต้นที่ติดโรค ออกจากเครื่องมือที่ใช้ดูแลต้นที่ปกติ และควรทำความสะอาดเครื่องมือก่อนใช้ทุกครั้ง
- บำรุงดินด้วยปุ๋ยคอกและปรับสภาพดินให้มีกรดด่าง (pH) อยู่ที่ 5.5-5.6
- ใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มา เพื่อควบคุมเชื้อสาเหตุที่แฝงตัวอยู่ในดิน ทุกๆ 2-3 เดือน
- โรคใบติด
โรคใบติดนี้เป็นโรคที่มักระบาดในช่วงฤดูฝน โดยอาการของโรคนั้นจะแสดงออกผ่านรอยคล้ายถูกน้ำร้อนลวกบนบริเวณใบ โดยไม่มีตำแหน่งที่แน่นอน บ้างขึ้นบริเวณกลางใบ บ้างขึ้นบริเวณโคนใบ จึงควรตรวจสอบใบของต้นทุเรียนอย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากโรคนี้สามารถติดต่อได้อย่างง่ายดาย ผ่านการหล่นของใบที่ติดโรค เมื่อใบที่ติดโรคสัมผัสโดนใบของต้นที่แข็งแรงดี ก็จะทำให้ต้นทุเรียนดังกล่าวติดโรคตามไปด้วยได้
การป้องกันโรคใบติด
- เว้นระยะห่างของต้นทุเรียน ไม่ให้ใบของพุ่มสัมผัสและชิดกัน ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคติดต่อภายในสวน
- ตัดแต่งกิ่ง และเผาทำลายกิ่งและใบที่เป็นโรค และควรหมั่นทำความสะอาดโคนต้นอยู่เสมอ
- ฉีดพ่นด้วยสารเคมี เช่น คาร์เบนดาซิม ไทอะเบนดาโซล หรือคอปเปอร์ออกซีคลอไรด์ ทุก 5-7 วัน
- โรคจุดสนิม
โรคจุดสนิมนี้เกิดจากพืชจำพวกสาหร่ายที่เข้ามาทำความเสียหายกับต้นทุเรียน ผ่านการดูดสารอาหารจากใบ ส่งผลให้ต้นทุเรียนนั้นทรุดโทรม โดยสามารถสังเกตอาการได้จากใบและกิ่ง ในบริเวณใบจะปรากฏจุดสีเทาอ่อนปนเขียวให้เห็น หลังจากนั้นจุดสีเทาเหล่านี้จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลคล้ายสนิมและมีลักษณะเหมือนกำมะหยี่ ส่วนบริเวณกิ่งจะแสดงอาการผ่านเปลือกที่หนาขึ้น จนทำให้เปลือกนั้นแตกในที่สุด
การป้องกันโรคจุดสนิม
- ตัดกิ่งและใบที่เป็นโรคแล้วทำลาย
- ฉีดพ่นสารเคมีกลุ่มคอปเปอร์ออกซิคลอไรด์
- โรคกิ่งแห้ง
โรคกิ่งแห้งเกิดจากเชื้อรา Fusarium solani ซึ่งจะเข้าไปทำลายกิ่ง และทำให้ท่อลำเลี้ยงอาหารและอาหารของทุเรียนถูกทำลาย ส่งผลให้น้ำและอาหารไม่สามารถไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของทุเรียนได้ ใบจะเริ่มเหลือง ร่วง และต้นตายลงในที่สุด โรคกิ่งแห้งนี้สามารถแพร่เชื้อได้ทางอากาศ ดิน และน้ำ โดยมีวิธีการป้องกัน ดังนี้
การป้องกันโรคจุดสนิม
- ตัดแต่งกิ่งและทรงพุ่มให้แดดส่องได้ถึง และควรตัดกิ่งหลังเก็บเกี่ยวอย่างสม่ำเสมอเพื่อช่วยให้พุ่มของต้นทุเรียนไม่แน่นขนัด และแสงแดดส่องถึงโคนต้นได้ดีขึ้นและช่วยลดการระบาดของโรค
- ใช้สารเคมีในการป้องกัน เช่น คาร์เบนดาซิม หรือ ไพราโคลสโตรบิน
- โรคราชมพู
โรคราชมพูนี้เกิดจากเชื้อรา Erythricium salmonicolor (Corticium salmonicolor) ซึ่งจะทำให้บริเวณใบมีสีเหลืองขึ้นเป็นหย่อมๆ คล้ายกับอาการของโรคกิ่งแห้ง แต่โรคราชมพูนี้จะมีเส้นใยสีขาวขึ้นที่บริเวณผิวเปลือกและขยายเป็นวงกว้าง จากนั้นสีขาวที่ขึ้นบริเวณใบก็จะเปลี่ยนสีเป็นสีชมพู และเริ่มลุกลามไปยังต้น และทำต้นทุเรียนตายในท้ายที่สุด
การป้องกันโรคราชมพู
- ตัดกิ่งให้แดดส่องถึง และหมั่นกำจัดกิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์เพื่อต้นทุเรียนสามารถถ่ายเทอากาศได้ดี
- หากเชื้อราเริ่มเกิดบริเวณต้น ให้ถากเปลือกบริเวณที่ราเขามาทำลายต้น แล้วทาด้วยสารประกอบทองแดง เช่น บอร์โดมิกเจอร์ หรือ สารคอปเปอร์ไฮดรอกไซด์
- ใช้สารเคมีป้องกันกำจัดโรค
ขอบคุณข้อมูลจาก
https://www.eto.ku.ac.th/neweto/e-book/plant/r_plant/rplant10.pdf