ชวนดู ! 5 วัชพืช เก็บกินได้ เก็บขายก็คุ้ม

    “วัชพืช” หรือพืชที่ขึ้นมาเองตามธรรมชาติในไร่และสวน อาทิ ผักยาง ผักโขม หญ้าตีนนก หญ้าแพรก และอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าเจ้าพืชเหล่านี้ล้วนแล้วไม่เป็นที่ต้องการ และจำเป็นต้องกำจัดทิ้งเสียทุกครั้งที่มันขึ้นมากวนใจ แต่ก่อนที่จะกำจัดวัชพืชเหล่านี้ทิ้งไป เทคโนโลยีชาวบ้านชวนมาดู 5 วัชพืชที่สามารถเก็บมารับประทานได้ แถมยังเปี่ยมไปด้วยสรรพคุณนานัปการ 

  1. ส้มกบ 

    ส้มกบคือวัชพืชขนาด 2-3 นิ้ว มักเลื้อยปกคลุมหน้าดิน ลักษณะใบเป็นรูปหัวใจ โดยมีสรรพคุณในการให้สารอาหารอันเป็นประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น กรดมาลิก กรดซิตริก แคลเซียม วิตามินซี และแคโรทีน ซึ่งมีฤทธิ์ช่วยในการย่อยอาหาร รักษาโรคนอนไม่หลับ แก้อาการหวัด และรักษาโรคดีซ่าน

วิธีรับประทาน 

    ใบของส้มกบนั้นจะให้รสเปรี้ยว หวาน และเค็ม จึงสามารถนำมาใช้แทนน้ำมะขามเปียกในเมนูต่างๆ ได้ หรือจะนำใบอ่อนและยอดอ่อนมาปรุงอาหารก็ได้เช่นเดียวกัน แต่ไม่ควรรับประทานต่อเนื่อง เนื่องจากกรดออกซาลิกที่อยู่บริเวณใบของต้นส้มกบอาจสร้างพิษให้กับร่างกาย เมื่อบริโภคได้ปริมาณมากหรือติดต่อกันหลายวัน 

  1. วอเตอร์เครส

   วอเตอร์เครส หรือชื่อที่คุ้นหูอย่างสลัดน้ำ เป็นพืชใบเขียวในตระกูลดอกกะหล่ำ มีรูปร่างคล้ายใบบัวบก โดยในวอเตอร์เครสนั้นอุดมไปด้วยวิตามินซี แคลเซียม ธาตุเหล็ก สารต้านอนุมูลอิสระ อีกทั้งยังมีสารช่วยในการยับยั้งและป้องกันการเกิดมะเร็งและสารพิษที่เข้าสู่ร่างกายด้วยเช่นกัน

Advertisement

วิธีรับประทาน 

    สามารถรับประทานได้หลากหลายเมนู ไม่ว่าจะนำไปผัด ต้ม หรือแกง โดยการรับประทานวอเตอร์เครสเพียง 10 ยอดต่อมื้อ ก็จะสามารถทำให้ร่างกายได้รับสารอาหาร ทั้งวิตามินซีและวิตามินเอ ตลอดการสร้างภูมิต้านทานโรคต่างๆ ให้กับร่างกาย 

Advertisement
  1. ธูปฤาษี 

    ธูปฤาษี หรือ ไม้ล้มลุกตระกูลกก มีใบเรียวยาว และออกดอกแน่นติดกันในลักษณะแท่งสีน้ำตาล คล้ายธูป มักขึ้นบริเวณริมน้ำ เช่น ทะเลสาบ หนองน้ำ หรือริมคลอง โดยมีคุณสมบัติในการบำบัดน้ำเสียและรักษาการพังทลายของหน้าดิน อีกทั้งยังมีสรรพคุณในการขับปัสสาวะและเพิ่มน้ำนมให้กับผู้มีครรภ์อีกด้วย 

วิธีรับประทาน

   โดยส่วนมากแล้วจะนิยมนำลำต้นอ่อนสีขาวที่อยู่ใต้ดินของธูปฤาษีมารับประทาน นิยมทำเมนูแกงเผ็ดหรือเมนูที่มีรสจัด และก่อนที่จะนำมาประกอบอาหารควรขัดและลอกเปลือกด้านนอกของลำต้นออกเสียก่อน 

  1. ผักกาดน้ำ

    ผักกาดน้ำ เป็นพืชล้มลุกที่มักขึ้นซ้อนกันเป็นกอขนาดเตี้ย และมีลำต้นสีเขียวอมแดง มีใบเรียวยาวขึ้นสลับกันรอบๆ ลำต้น และมีดอกเล็กๆ ขึ้นบริเวณปลายยอด มีสรรพคุณในการแก้อาการปวดฟัน แก้หนองใน และมีฤทธิ์เป็นยาระบาย 

วิธีรับประทาน 

    ส่วนใหญ่นิยมนำผักกาดน้ำมาแปรรูปเป็นผักดอง แต่ด้วยรสชาติที่ติดเปรี้ยวจึงสามารถนำมาใช้แทนมะนาวหรือมะขามเปียกได้ อย่างไรก็ตาม ไม่ควรที่จะรับประทานผักกาดน้ำมากเกินไป เนื่องจากในผักกาดน้ำมีกรดซาลิกที่เป็นพิษต่อร่างกาย 

  1. ผักเบี้ยใหญ่

   ผักเบี้ยใหญ่ ผักในตระกูลคุณนายตื่นสาย เป็นพืชล้มลุกที่มักขึ้นเพื่อปกคลุมและให้ความชื้นกับดิน มีใบโค้งมนและมีขนาดเล็ก และแม้ว่าผักเบี้ยใหญ่จะมีชื่อว่า “ใหญ่” แต่ต้นกลับไม่ได้ใหญ่ตามชื่อ ผักเบี้ยใหญ่ถือเป็นวัชพืชที่มีขนาดเล็ก หากแต่กลับมากไปด้วยกากใยและวิตามิน รวมทั้งสารต้านอนุมูลอิสระและกรดไขมันโอเมก้า 3 ช่วยในการลดคอเลสเตอรอล ควบคุมความดัน ลดการแข็งตัวของหลอดเลือด สามารถใช้เป็นยาเพื่อรักษาลำไส้อักเสบ แก้ต่อมน้ำเหลืองอักเสบ รักษาไส้ติ่งอักเสบ และป้องกันโรคบิด 

วิธีรับประทาน 

    สามารถนำใบ ลำต้น และดอกมารับประทานสดๆ ได้ หรือสามารถนำมาผัด ทำผักดอง ผสมกับส่วนผสมอื่นๆ หรือทำสลัดก็ได้เช่นเดียวกัน 

 

 

https://www.mitrpholmodernfarm.com/news/2021/03/%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%8A%E0%B8%9E%E0%B8%B7%E0%B8%8A%E0%B8%A1%E0%B8%B5%E0%B8%84%E0%B8%B8%E0%B8%93%E0%B8%84%E0%B9%88%E0%B8%B2-%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%96%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B8%B4%E0%B9%89%E0%B8%87%E0%B9%82%E0%B8%94%E0%B8%A2%E0%B9%84%E0%B8

%A1%E0%B9%88%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%95%E0%B8%B1%E0%B8%A7-%E0%B8%95%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88-1 

https://home.kapook.com/view126323.html