ผู้เขียน | อดุลย์ศักดิ์ ไชยราช |
---|---|
เผยแพร่ |
สังคมมนุษย์กับธรรมชาติ มีความผูกพันกัน เป็นความพึ่งพาอาศัย มนุษย์มีทั้งดูแลและทำลายธรรมชาติ ธรรมชาติเอื้อประโยชน์และอาจจะทำร้ายมนุษย์บ้าง ทั้งสองต่างมีความผูกพัน มีสัมพันธภาพที่ดีและร้ายต่อกันเสมอมา สมัยก่อนมีความเชื่อเกี่ยวกับการกินผักจากธรรมชาติเป็นอาหาร เป็นความเชื่อที่มีเหตุมีผล เช่น ห้ามหญิงตั้งครรภ์กินผักแว่น จะทำให้รกพันคอเด็ก ปวดท้องนาน ที่น่าเป็นเหตุเป็นผลที่แท้จริง เพราะผักแว่นเป็นพืชที่ขึ้นตามแอ่งน้ำขัง นาข้าว ถ้านำมากินโดยไม่ทำความสะอาดอย่างดี กินกันเป็นผักสดจะทำให้ท้องเสีย เพราะมีเชื้อโรค พยาธิหรือไข่พยาธิแฝงอยู่ ติดเข้าไปในท้องคนเรา มีโอกาสเจ็บไข้ได้ป่วย ปวดท้อง แม้แต่คนธรรมดาที่ไม่ใช่หญิงตั้งครรภ์ ก็พึงระวัง
เอ่ยถึง “ผักแว่น” หลายคนคงรู้จัก เช่นเดียวกับหลายคนที่ไม่รู้จัก ในยุคสมัยนี้ยังพอมีให้เห็นอยู่บ้าง ตามท้องไร่ท้องนาที่ค่อนข้างบริสุทธิ์ ที่ว่าค่อนข้างบริสุทธิ์ เพราะว่าทุกพื้นที่ ทุกหนแห่งเดี๋ยวนี้มักจะมีอันตราย มีสารพิษแอบแฝงเจือปนอยู่ไม่มากก็น้อย น้ำบางแห่งในไร่นา ไม่อยากวักมาล้างหน้าล้างมือเลย สงสารก็แต่ปู ปลาซิว กุ้งฝอย หอยที่อยู่แถวนั้น อยู่กันไม่ได้ แต่ผักพืชน้ำทั้งหลายอยู่ได้ ไม่ว่าจะเป็น ผักบุ้ง ผักกระเฉด และผักแว่น เพราะฉะนั้น ถ้าคิดจะเก็บผักแว่นจากบริเวณที่ไม่สะอาดมาบริโภค ก็จะได้รับเชื้อโรคหรือสารพิษบางอย่างเข้าไปด้วย พึงระวังให้มากๆ
ในช่วงฤดูฝน เดือนสิงหาคม กันยายน เขาว่าเป็นช่วงที่ผักแว่นมีรสชาติอร่อยมาก เป็นช่วงระยะการทำนา ริมคันนา กลางนาข้าวที่กำลังจะไถปลูกข้าว และช่วงที่ข้าวอยู่ระยะแตกกอ ผักแว่นจะเจริญงอกงามดี ได้รับความอุดมสมบูรณ์จากธรรมชาติ บรรยากาศที่ดี ผักแว่นที่กำลังแตกใบ ทอดยอด อวบสวยใส น่ากิน หลังจากช่วงนี้ไปก็จะเริ่มแก่ เหนียว ไม่อร่อยแล้ว
บ้านเรานิยมกินผักแว่นเป็นผักสด ผักเคียงกับอาหาร น้ำพริกปลาร้า น้ำพริกปลาปิ้ง น้ำพริกกะปิ ลาบ ก้อย ยำเตา แจ่วปูนา ยำหน่อไม้ ซุบหน่อไม้ หรือนำมาทำน้ำแกงจืดให้เด็กและคนชรากินได้ การขยายพันธุ์ผักแว่น โดยเอาเถาที่มีรากติดไปปลูก แต่โดยธรรมชาติ ผักแว่นจะขยายพันธุ์ด้วยสปอร์ เหมือนกับพืชตระกูลเฟิร์นทั่วไป อยู่ในวงศ์ MARSILEACEAE ชื่อวิทยาศาสตร์ Marsilea crenata Presl. ชื่อสามัญ Water Clover เป็นพืชตระกูลเฟิร์น ชอบขึ้นบริเวณที่ดินชื้นและในน้ำ รากเกาะติดกับพื้นดิน มีไหล และเจริญอยู่ในน้ำได้
ลำต้นอ่อนสีเขียว เมื่อต้นแก่จะสีน้ำตาล ต้นเลื้อยไปตามพื้นดิน ลำต้นค่อนข้างกลม มีขนสีน้ำตาลอ่อนปกคลุม ใบเป็นใบประกอบ มีใบย่อย 4 ใบ รูปร่างใบย่อยมีลักษณะเป็นสามเหลี่ยมหรือเป็นรูปลิ่ม ออกจากตรงกลางตำแหน่งเดียวกัน ใบย่อยทั้งหมดรวมกันเป็นรูปกลม ใบย่อยกว้าง 0.5-1.0 เซนติเมตร ยาว 0.8-1.5 เซนติเมตร โคนใบสอบ ขอบใบเรียบ หรือหยักเล็กน้อย แผ่นใบเรียบ ไม่มีขน ก้านใบยาว 4.5-10.5 เซนติเมตร ใบย่อยไม่มีก้านใบ มีสปอร์โรคาร์ป (sporocarps) เป็นก้อนแข็งสีดำ รูปขอบขนาน หรือรูปคล้ายเมล็ดถั่วเขียว ออกที่โคนก้านใบ ขณะที่อ่อนอยู่สีขาว เมื่อแก่สีน้ำตาลเข้มเกือบดำ
ผักแว่น เป็นพืชผักธรรมชาติ เป็นวัชพืชในนาข้าว คนนิยมกินเป็นผักมานานแล้ว มีประโยชน์ต่อสุขภาพมากมาย โดยเฉพาะเป็นพืชเย็น ช่วยบรรเทาความร้อนในร่างกาย ผักแว่น 100 กรัม ให้พลังงานแก่ร่างกาย 15 กิโลแคลอรี ประกอบด้วย เส้นใย (Fiber) 3.3 กรัม แคลเซียม 48 มิลลิกรัม เหล็ก 25.2 มิลลิกรัม วิตามินเอ 12,166 IU. วิตามินบีหนึ่ง 0.10 มิลลิกรัม วิตามินบีสอง 0.27 มิลลิกรัม ไนอะซิน 3.4 มิลลิกรัม วิตามินซี 3 มิลลิกรัม
สืบค้นและพยายามหาดูว่า ทำไมจึงเรียกผักชนิดนี้ว่า “ผักแว่น” ก็พบว่า ผักชนิดนี้มีอยู่ทั่วทุกภาคของไทย มีชื่อเรียกทางภาคใต้ว่า “ผักลิ้นปี่” ก็พอสันนิษฐานได้ว่า เรียกชื่อตามลักษณะใบ คำว่า “แว่น” ภาษาไทยลักษณะนาม ของสิ่งของที่ได้รับการ หั่น ซอย เฉือน วงกลม และเป็นคำประกอบเครื่องใช้ วัสดุ อุปกรณ์ เช่น แว่นขยาย แว่นตา ภาษาท้องถิ่นภาคเหนือ แว่น คือ กระจกส่องเงา เมื่อพิจารณาดังนี้ จะเห็นว่าลักษณะใบผักแว่น จะเป็นแว่น แผ่นสี่แฉก เวลาลอยน้ำ ก้มมองเห็นโปร่งใส ถ่ายรูปออกมาจะมีวาวแววสะท้อนสวยงามมาก ส่วนทางใต้เรียก ผักลิ้นปี่ ก็ลักษณะใบย่อยรูปลิ่ม คล้ายลิ้นปี่เครื่องเป่าประโคมดนตรีปี่พาทย์นั่นเอง
ผักแว่น ผักตามธรรมชาติ แม้จะเป็นวัชพืชที่คอยแย่งน้ำแย่งอาหารต้นข้าวในนา แต่เป็นผักที่มีประโยชน์ ถ้าช่วยกันดูแลรักษาธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมให้ดี บริสุทธิ์สะอาด ผักแว่นจะเป็นพืชผักอินทรีย์ที่ทรงคุณค่า เป็นอาหารของคนเราได้เป็นอย่างดี มีประโยชน์ต่อมนุษย์มากมาย รักความบริสุทธิ์ รักธรรมชาติ ทำความรู้จักผักแว่นมากกว่านี้ จะรู้สึกรักและหวงแหนไว้เป็นสมบัติธรรมชาติของเราอีกนาน
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกวันพฤหัสที่ 7 กันยายน พ.ศ.2560