พระมหาเย็น บ้านคลองครุ เชื่อมโยงถึงวัดบางปลา ท่าทราย เมืองสาครบุรี

ในกฎหมายตราสามดวง กล่าวถึงชื่อเมืองต่างๆ ถึง 30 หัวเมือง โดยเฉพาะเมืองท่าจีน ระบุว่า มีการแต่งตั้งให้ “พระสมุทรสาครไปปกครองดูแลเมืองท่าจีน จังหวัดสมุทรสาคร ชื่อเดิมน่าจะชื่อ “เมืองท่าจีน” ในรัชสมัยพระบรมไตรโลกนาถ (พ.ศ. 1991-2031)

ต่อมามีหลักฐานบันทึกไว้ว่า เมืองท่าจีน ถูกแยกขึ้นไปรวมเป็นเมืองสาครบุรี ในปี พ.ศ. 2099 ในรัชสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ เมื่อพระเจ้าหงสาวดี ตะเบ็งชะเวตี้ ยกทัพเข้ามารุกรานกรุงศรีอยุธยาในปี พ.ศ. 2092 การศึกคราวนั้น สยามต้องสูญเสียสมเด็จพระศรีสุริโยทัย และไพร่พลไปจำนวนมาก สมเด็จพระมหาจักรพรรดิจึงโปรดเกล้าฯ ให้รวบรวมผู้คนที่มีชุมชนตั้งอยู่แล้ว จัดตั้งเป็นเมืองต่างๆ ขึ้นเป็นปราการป้องกันพระนคร รวมทั้ง “เมืองท่าจีน” ด้วย

แม่น้ำท่าจีน มองจากวัดบางปลา

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 (พ.ศ. 2394-2411) ได้โปรดฯ ให้เปลี่ยนชื่อ “เมืองสาครบุรี” เป็น “เมืองสมุทรสาคร” โปรดเกล้าฯ ให้มีการขุดคลองภาษีเจริญขึ้น โดยมีพระภาษีสมบัติบริบูรณ์ (ยิ้ม พิศลบุตร) เป็นแม่กอง เริ่มขุดจากคลองบางกอกใหญ่ไปออกแม่น้ำท่าจีน ที่ตำบลดอนไก่ดี จังหวัดสมุทรสาคร ระหว่างนั้นก็มีการขุดคลองดำเนินสะดวกควบคู่กันไปด้วย เมื่อคลองทั้ง 2 เสร็จ ทำให้การสัญจรไปมาทางน้ำระหว่างกรุงเทพฯ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม ราชบุรี รวมไปถึงเมืองระหว่างแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำแม่กลอง เป็นไปอย่างสะดวกมากขึ้น

“มรกต งามภักดี” ได้เขียนบันทึกไว้ว่า ชาวมอญจังหวัดสมุทรสาครอพยพเข้าราชอาณาจักรสยามตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา พร้อมสมเด็จพระนเรศวรและพระมหาเถรคันฉ่อง เมื่อปี พ.ศ. 2127 ซึ่งในครั้งนั้นทรงโปรดฯ ให้ปลูกสร้างบ้านเรือนอยู่บ้านมะขามหย่อง บางลี่ และบางขาม โดยเฉพาะบางขามอยู่ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร

“เถระรูปปอดต็อย” ได้รวบรวมประวัติพระเถระผู้ใหญ่ในธรรมยุตินิกายของชาวมอญ ผู้ที่นำพุทธศาสนาแบบธรรมยุตินิกายจากเมืองสยามไปเผยแผ่ที่เมืองมอญ คือ “พระไตรสรณธัช” หรือ พระอาจารย์เย็น ในเอกสารระบุว่า พระอาจารย์เย็นเป็นผู้สถาปนาธรรมยุตินิกายที่เมืองมอญ ท่านได้ถือกำเนิดในหมู่บ้านมอญชื่อ บ้านคลองครุ จังหวัดสมุทรสาคร เมื่อวันพฤหัสบดี ขึ้น 13 ค่ำ เดือน 12 ปี จุลศักราช 1203 ตรงกับพุทธศักราช 2348

พระประธานและภาพปั้นภายในโบสถ์

พระอาจารย์เย็นอุปสมบทที่วัดบวรนิเวศวิหาร โดยมีสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ เป็นพระอุปัชฌาย์ สอบได้เปรียญธรรม 5 ประโยค มีความเชี่ยวชาญภาษามอญและบาลีเป็นอย่างดี ได้รับความไว้วางใจแต่งตั้งให้เป็นครูสอนพระปริยัติธรรมประจำสำนัก ภายหลังได้ลาสิกขาและเข้ารับราชการเป็นมหาดเล็กในสมเด็จพระนเรศวรฤทธิ์ เป็นเวลา 1 ปี แล้วเดินทางไปเมืองหงสาวดี

พระอาจารย์เย็นเบื่อหน่ายในเพศฆราวาส จึงอุปสมบทอีกครั้งหนึ่งที่เมืองหงสาวดี และได้นำพระพุทธศาสนาธรรมยุตินิกายจากเมืองสยามไปเผยแผ่ยังวัดมอญในประเทศพม่า เมื่อปี พ.ศ. 2419 อีกทั้งได้สร้างวัดมอญขึ้นที่นั่นเป็นจำนวนถึง 52 วัด (ปัจจุบันมีวัดธรรมยุตินิกายทั้งสิ้น 102 วัด) และหนึ่งในนั้นชื่อ “วัดมหาเย็น”

ศาลบรรพชนในวัดคลองครุ ตำบลท่าทราย จังหวัดสมุทรสาคร

มีคำบอกเล่าตรงกันหลายแห่งว่า หลังกลับจากเมืองหงสาวดี มหาเย็นได้จาริกไปที่ต่างๆ ทั่วราชอาณาจักรสยาม แต่ไม่ได้อยู่เป็นหลักแหล่ง ณ พื้นที่ใด จนถึงปี พ.ศ. 2450 วัดบวรมงคลได้ว่างเว้นเจ้าอาวาส ไม่อาจหาพระมอญที่มีความรู้และบารมีเพียงพอเหมาะสมได้ คณะสงฆ์และสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมวชิรญาณวโรรส จึงโปรดฯ แต่งตั้งพระมหาเย็น พุทธวํโส เปรียญธรรม 5 ประโยค เป็นพระราชาคณะที่พระไตรสรณธัช ให้เป็นเจ้าอาวาสวัดบวรมงคล รูปที่ 7

ผู้สูงอายุชาวมอญหลายรายในจังหวัดสมุทรสาครต่างยืนยันว่า บิดามารดาของพระอาจารย์เย็น เป็นชาวมอญที่เกิดในเมืองไทย แต่ไม่ทราบว่าอพยพมาจากไหน ได้มาตั้งรกรากอยู่ที่บ้านคลองครุ จังหวัดสมุทรสาคร มีบุตรธิดารวมทั้งสิ้น 10 คน พระอาจารย์เย็นเป็นคนที่ 2 เมื่อนับปีที่เกิดของพระอาจารย์เย็นคือ พ.ศ. 2384 บิดามารดาของท่านน่าจะมีอายุประมาณ 20-25 ปี

อย่างไรก็ดี มีผู้ยืนยันอีกว่าบิดามารดาของท่านเกิดในราชอาณาจักรสยาม แสดงว่าทั้งบิดามารดาของท่านจะต้องอยู่ที่บ้านคลองครุอย่างน้อยก่อนปี พ.ศ. 2362 ซึ่งเป็นช่วงเวลาใกล้เคียงกับการอพยพครั้งใหญ่ของคนมอญในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 คือ ปี พ.ศ. 2358 แต่การอพยพครั้งยิ่งใหญ่นี้ มีผู้คนมอญประมาณ 40,000 คน และอพยพกันเข้ามาหลายเส้นทาง อาจมีการตกหล่น กระจัดกระจาย พลัดหลงกันบ้าง และบางส่วนล่วงเข้าไปในเขตพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร

มีเอกสารฝ่ายศาสนสถาน ของกรมการศาสนา ระบุประวัติวัดในชุมชนมอญดั้งเดิม ที่ตำบลท่าทราย และตำบลบ้านเกาะ จังหวัดสมุทรสาคร คือ “วัดบางปลา” สร้างเมื่อ พ.ศ. 2320 และ “วัดเกาะ” สร้างเมื่อ พ.ศ. 2318 สอดคล้องกับเอกสารของกรมศิลปากรระบุว่า อุโบสถวัดเกาะมีรูปแบบสถาปัตยกรรม ศิลปะการตกแต่ง รวมทั้งพระพุทธรูปทรงเครื่องยืนในอุโบสถ เป็นศิลปะแบบมอญและอยุธยาตอนปลาย

ต่อมาชุมชนมอญตำบลบ้านเกาะ และตำบลท่าทราย มีความแออัดจึงได้ขยายพื้นที่ทำกินออกไป ทางตำบลอำแพง ตำบลเจ็ดริ้ว ในเขตอำเภอบ้านแพ้ว รวมไปถึงตำบลยกระบัตร ตลอดทั้งสองฝั่งคลองดำเนินสะดวกที่เพิ่งขุดเสร็จในปี พ.ศ. 2415

สุภรณ์ โอเจริญ” กล่าวไว้ในงานเขียน “มอญในเมืองไทย” ว่า แหล่งใหญ่ของมอญในเมืองไทยอยู่ที่ปทุมธานีนั้น ตรงตามผลการสำรวจ แต่กล่าวถึงแหล่งที่สำคัญรองๆ ลงมา คือ ลุ่มน้ำแม่กลอง อำเภอบ้านโป่ง อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี และในจังหวัดกาญจนบุรี รวมทั้งที่ปากลัดหรือพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ตลอดจนบริเวณอื่นๆ

อย่างไรก็ดี นายแพทย์สุเอ็ด คชเสนี และคณะ ได้สำรวจผู้คนชาวมอญ ตั้งแต่ พ.ศ. 2512-2514 จำนวน 18 จังหวัด 37 อำเภอ 112 ตำบล 403 หมู่บ้าน 13,960 ครัวเรือน ได้จำนวนคนมอญทั่วประเทศทั้งสิ้น 94,229 คน โดยเฉพาะในจังหวัดสมุทรสาคร มีจำนวนประชากรมอญมากถึง 20,312 คน นับเป็นอันดับที่ 2 ของประเทศ