สืบสานวัฒนธรรม “ทอผ้าไหม”ชัยนาท จากรุ่นสู่รุ่น ราคาสูงสุดต่อผืนหลักเเสน นำรายได้เข้าชุมชน

หากจะพูดถึงการทอผ้าไหมแล้ว ผ้าไหมคุณภาพที่มีมูลค่าสูงมีการผลิตอย่างไร ลองตั้งคำถามถึงกำลังผู้ผลิต หากเป็นเพียงชาวบ้านในหมู่บ้านสามารถทอผ้าไหมเเละตัดเย็บได้วันละหลายร้อยผืนได้จริงหรือ หลากหลายคำถามเกิดขึ้นเมื่อเราได้มีโอกาสไปเยือนถิ่นผลิตผ้าไหม ลวดลายบรรจง งดงาม ปรากฎผ่านผ้าไหมผืนยาวทำให้นึกถึงกระบวนการทอผ้าไหมที่ให้ความรู้สึกว่า “คนทอต้องฝีมือประณีตเเละมีใจรักในงานที่ทำอย่างเเน่นอน”

คุณยาย “ซ่อง จบศรี” วัย 88 ปี ชาวบ้าน ต.กุดจอก อ.หนองมะโมง จ.ชัยนาท หมู่บ้านที่ทอผ้าไหมขายเป็นอาชีพ เริ่มต้นเล่าให้ “ประชาชาติธุรกิจออนไลน์” ฟังว่า ทำอาชีพทอผ้าไหมขายตั้งแต่สมัยเป็นสาว เนื่องจากครอบครัวและคนในหมู่บ้านทำอาชีพนี้มาตั้งเเต่จำความได้ จนแต่งงานมีลูกก็สอนลูกให้ทอผ้าไหมขาย เมื่อเขาทอหมอนขายได้ ก็เป็นอีกช่องทางที่สามารถเพิ่มรายได้ให้เเก่ครอบครัว ซึ่งผ้าไหมเเต่ละผืนใช้เวลาทอประมาณ 1-2 เดือน (ขึ้นอยู่กับลายผ้าที่ลูกค้าต้องการ) ส่วนเรื่องราคาค่อนข้างสูงเเต่ละผืนมีราคาราว 10,000-100,000 บาทเลยทีเดียว

คุณยายซ่อง เล่าย้อนอดีตให้ฟังเพื่อฉายภาพให้เห็นอาชีพทอผ้าไหม กิจกรรมทางเศรษฐกิจชุมชนที่มีมาอย่างยาวนานว่า ในสมัยก่อนผู้คนในหมู่บ้านเเทบทุกหลังคาเรือนทอผ้าไหมขาย ด้วยเป็นอาชีพที่สืบต่อกันมาตั้งเเต่สมัยบรรพบุรุษ เวลาล่วงเลยผ่านไปผู้สืบทอดการทอผ้าไหมเริ่มลดลง เเต่ความต้องการผ้าไหมของลูกค้ายังคงมีเข้ามาเสมอทำให้อาชีพนี้ยังคงมีอยู่ ลูกค้าบางรายสั่งจองเป็นเดือน ยิ่งถ้าต้องการลายที่สวยงามและเป็นลายสมัยก่อนค่อนข้างทอยาก ต้องสั่งทำก่อนล่วงหน้าหลายเดือนและราคาค่อนข้างสูง

“ผ้าไหมในหมู่บ้านนี้มีคนมาสั่งทำตลอด ยายก็พยายามที่จะทอผ้าไหมให้เสร็จเพื่อเป็นการจัดการกับออเดอร์ให้เเล้วเสร็จไป อาชีพทอผ้าไหมขายมีรายได้ดีมาตลอด ทำให้ยังคงอาชีพนี้และยังคงเป็นที่ต้องการของคนรุ่นหลังอยู่เสมอ”คุณยายวัย 88 ปี กล่าว

หลังจากที่เราได้ฟังคุณยายซ่องเล่าถึงที่มาที่ไปของการทอผ้าไหมของ ชาวบ้าน ต.กุดจอก จ.ชัยนาทแล้ว มาถึงขั้นตอนที่เรียกความตื่นเต้นจากเรา เเละผู้เข้าชมได้เป็นอย่างดีนั่นคือ กระบวนการกว่าจะมาเป็นผ้าไหม ซึ่งชาวบ้านพาชม ตั้งแต่ขั้นตอนเเรกเริ่มจากการเลี้ยงไหม เมื่อตัวเล็กจะยังเป็นหนอนมีลายสีขาว เรียกว่า “หนอนไหม” ซึ่งกินใบหม่อนเป็นอาหาร

สำหรับตัวไหมจะมีส่วนงานนำมาส่งให้ โดยส่งเป็นถาดตั้งแต่ยังตัวเล็กๆ ซึ่งเมื่อรับมาเเล้วชาวบ้านจะต้องเลี้ยงจนตัวไหมโตขึ้น ประมาณ 15-20 วัน เมื่อตัวไหมโตเต็มที่จะเริ่มปล่อยใยหุ้มที่จะกลายเป็นดักเเด้ เพื่อฟักตัวเป็นผีเสื้อ ชาวบ้านจะนำตัวไหมที่กลายเป็นดักเเด้มาต้มเพื่อสาว (ดึง) ใยออกมาทำ

กระบวนการต่อไปหลังจากได้เส้นไหมคือการนำมาฟอกสีให้ได้เป็นสีขาว ด้วยการนำน้้าด่างที่ได้จากการใช้ต้นไม้พื้นเมือง เช่น ผักขม (หรือผักหมในภาษาอีสาน) ก้านกล้วย ใบกล้วย งวงตาล ไม้เพกา (ต้นลิ้นฟ้า) ไม้ขี้เหล็กอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ นำมาเผาให้เป็นถ่านเถ้า แล้วนำถ่านเถ้านี้เเช่น้้ากลายเป็น “น้้าด่าง”
เมื่อได้น้้าด่างใสดีแล้วจึงนำไหมที่จะฟอกไปเเช่ จากนั้นนำไหมไปต้มแล้วล้างด้วยน้้าเย็น ผึ่งให้แห้ง ถ้ายังเห็นว่าไหมยังขาวไม่ได้ที่ให้นำไปเเช่ในน้้าด่างแล้วต้มอีกครั้ง เพื่อนำมาย้อมในขั้นต่อไปให้ได้สีตามที่ต้องการ ก่อนจะนำไปทอเป็นผ้าไหม

มาถึงขั้นตอนการย้อมสีผ้า สีที่ชาวบ้านใช้ย้อมเป็นสีที่สกัดจากธรรมชาติ อาทิ สีเหลืองได้มากจากขมิ้น สีเด็ดที่ชาวบ้านนิยมคือสีเเดงน้ำตาล ทำจาก “ครั่ง” เป็นแมลงที่มีสีแดง สร้างรังบนต้นจามจุรี หรือฉำฉา เมื่อได้สีที่ต้องการก็นำมาย้อมเพื่อให้เกิดสีสันตามต้องการ

ทั้งนี้ หากเราฟอกเส้นไหมจนเป็นสีขาวครีมข้างต้นแล้ว จะสามารถนำไปย้อมสีที่ต้องการได้ง่ายขึ้นและสีที่ได้จะไม่ผิดเพี้ยนไปจากที่ต้องการมากนัก

เมื่อชาวบ้านได้สีของไหมตามที่ต้องการแล้วก็นำเส้นไหมเหล่านี้ไปทอมือ ตามลวดลายที่ลูกค้าต้องการ ซึ่งชาวบ้านจะทอส่วนล่างที่เป็นลวดลาย เเล้วค่อยนำมาเย็บต่อกับผ้าสีพื้นที่เตรียมเอาไว้ ให้ได้ความยาวตามที่ต้องการ

เมื่อเเล้วเสร็จจะได้ผ้าไหมที่มีลวดลายสวย งดงามและเป็นสินค้าที่มีคุณค่าและมูลค่า ได้คุณภาพ สร้างรายได้ให้แก่ประชนชาชนในหมู่บ้านได้เป็นอย่างมาก

นับเป็นอีกหนึ่งภูมิปัญญาที่มีมาเเต่ช้านานผ่านความประณีตจากรุ่นสู่รุ่น เป็นอีกหนึ่งอาชีพที่สามารถหาเลี้ยงปากท้องครอบครัว สร้างรายได้ให้ครอบครัวและเศรษฐกิจชุมชน

ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์