กุยช่าย ผักกลิ่นฉุน แต่ อุดมด้วยประโยชน์ เตะปี๊บดัง ด้วยแรงกุยช่าย

กุยช่าย คือชื่อที่เขียนและออกเสียงตามพจนานุกรมไทย แต่ถ้าเป็นคนแต้จิ๋ว เขาจะเรียกว่า กูไฉ่ และหากเป็นหนุ่ม (เหลือ) น้อย เตะปี๊บไม่ค่อยดังก็ต้องร้อง กูใช่ แล้วเลย คือ ได้เจอกับผักบำรุงพลังเข้าแล้วนั่นเอง

หากพูดถึงผักไทยๆ บ้านเรามักจะเป็นผักที่เป็นยอด อย่าง สะเดา ดอกแค กระถิน ส่วนผักที่ปลูกเป็นส่วนมากมักจะแพร่หลายมาจากเมืองจีน เช่น คะน้า กวางตุ้ง กุยช่าย สำหรับ กุยช่าย ซึ่งเราจะคุ้นเคยและรู้จักกันดี และยังสามารถดัดแปลงนำมากินคู่กับผัดไทย จนสุดท้ายก็กลายมาเป็นผักของไทยไปซะเลย

แต่ไม่ว่าผักอะไรก็ล้วนแต่มีประโยชน์ เพราะประเภทผักต่างๆ เหล่านั้นล้วนแล้วแต่อุดมไปด้วยสารพัดวิตามิน และแร่ธาตุที่จำเป็นต่อร่างกาย และเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ (สารต้านมะเร็ง) จากธรรมชาติชั้นดี ที่ไม่ต้องสรรหาวิตามินเสริมที่ไหนๆ ซึ่งนอกจากวิตามินและแร่ธาตุที่มากมายแล้ว ผักบางชนิดยังมีประโยชน์จากกากใย หรือเส้นใยอาหารอีกด้วย และยิ่งถ้าเป็นผักที่มีสีเขียวเข้มจะมีธาตุเหล็กมากโดยเฉพาะ กุยช่าย ที่มีองค์ประกอบที่เป็นยากลายๆ ด้วย แต่ก็ควรระมัดระวังเกี่ยวกับผักอยู่บ้างก็ตรงที่ ยาฆ่าแมลง ปุ๋ยตกค้าง และไข่พยาธิ วิธีการที่ถูกต้องคือ ควรตัดส่วนเกิน คลี่ใบล้างผ่านน้ำไหล ใช้มือถูเบาๆ จะเป็นอีกวิธีที่สามารถกำจัดสารเคมีตกค้างได้ดีประมาณหนึ่ง

เตะปี๊บดัง ด้วยแรงกุยช่าย

ในบรรดาผักสมุนไพรที่มีฤทธิ์เด่นๆ เห็นชัดก็มี กุยช่ายนี่แหล่ะ! ที่เห็นผลทันตา ให้ลองกินกุยช่ายสดๆ คู่กับผัดไทยดูบ้าง จะรู้สึกว่ากระฉับกระเฉงขึ้นมาทันตา เลือดลมสูบฉีด แต่เสียอย่างเดียว คือปากอาจจะเหม็นด้วยกลิ่นอันรุนแรงของกุยช่ายบ้าง ถึงขนาดว่าเข้าบทพระนางกับเขาไม่ได้ซะงั้น ที่เป็นเช่นนี้ก็อาจเป็นเพราะกุยช่ายนั้นมีสารพวกกำมะถัน เลยทำให้มีกลิ่นแรงไปหน่อย แต่ก็สามารถฆ่าเชื้อโรคได้บางชนิดเช่นกัน

ที่สำคัญ กุยช่าย ยังมีสารพวกไกลโคไซด์ ที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาท และช่วยขยายหลอดเลือดได้อีกด้วย กุยช่าย นอกจากจะมีสรรพคุณทางสมุนไพรแล้วยังอุดมด้วยสารอาหารต่างๆ ที่มีประโยชน์และคุณค่าทางโภชนาการต่อร่างกายอีกมากมาย

กุยช่ายขาว กรอบและหวานมากกว่ากุยช่ายเขียว

หมอยาจีนเขาจะใช้ใบกุยช่ายที่ส่วนมากจะให้เอามาต้มกินน้ำแกง หรือเอามาผัดก็ได้ ซึ่งจะช่วยรักษาโรคเกี่ยวกับเม็ดเลือดและประสาท โรคติดเชื้อ และรักษาปัสสาวะเป็นเลือด รวมทั้งสามารถช่วยให้คนที่อ่อนเปลี้ยเพลียแรงง่าย เหนื่อยง่าย คนป่วย คนอายุมาก หรือคนที่มีอาการกามตายด้านให้กลับคืนสู่สภาพปกติได้ อีกทั้งยังช่วยขับประจำเดือน ขับลม หรือถ้าบวมช้ำภายนอกมีเลือดคลั่ง ก็ให้เอาใบกุยช่ายมาตำ แล้วนำมาประคบ

Advertisement

สำหรับคนเป็นริดสีดวงทวาร เขาให้ต้มใบกุยช่ายกับน้ำร้อนใส่อ่าง แล้วนั่งคร่อมให้ไอระเหยโดนหัวริดสีดวงทวารจะยุบได้ แต่อย่าลืมเผลอแหย่อะไรลงไปในน้ำร้อนล่ะ จะพาลหดหมดนั่น

คลื่นไส้กินใบกุยช่ายก็หายได้ หากเป็นแผลให้เอาใบไปตำแล้วพอกฆ่าเชื้อ และหากเลือดกำเดาไหลให้ขยำๆ ใบกุยช่าย แล้วเอามาอุดจมูกจะช่วยให้เลือดหยุดไหล

Advertisement
ผักกลิ่นฉุน แต่อุดมด้วยประโยชน์จริงๆ

กุยช่าย มีกลิ่นฉุนของน้ำมันหอมระเหย คล้ายกลิ่นของพวกกระเทียม เนื่องจากมีสารประกอบพวกกำมะถัน จึงมีสรรพคุณช่วยทางด้านสมรรถภาพทางเพศ ซึ่งสรรพคุณทางยาจีนเชื่อกันว่า จะช่วยรักษาอาการไร้สมรรถภาพทางเพศ ที่มีอาการหลั่งอสุจิเร็ว หลั่งอสุจิแบบไม่รู้ตัว ได้โดยไม่ต้องพึ่งพายาแก้โรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศที่นิยมใช้ในปัจจุบัน

สำหรับคุณค่าทางด้านอาหาร กุยช่ายนั้นให้กากใยสูงมาก ถึงขนาดย่อยยากเลย และในใบกุยช่ายยังมีสารพวกฟอสฟอรัส แคลเซียม เหล็ก แต่กินกุยช่ายมากไปก็ไม่ดี

นอกจากรสชาติที่หอม หวาน อร่อยแล้ว กุยช่ายยังมีสารอาหารที่ดีมีประโยชน์มากมาย ได้แก่

วิตามินเอ ช่วยในการมองเห็น ซึ่งวิตามินเอเป็นส่วนประกอบของสารอาหารจอตา เซลล์เยื่อบุต่างๆ และสร้างภูมิคุ้มกันไม่ให้เจ็บป่วย

ธาตุเหล็ก ช่วยในการสร้างเม็ดเลือดแดงและเป็นส่วนประกอบของฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดง ซึ่งทำหน้าที่ในการนำออกซิเจนจากปอดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย และช่วยขจัดคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากร่างกาย และที่สำคัญยังมีเบตาแคโรทีนที่ร่างกายเปลี่ยนเป็นวิตามินเอ ช่วยในการป้องกันมะเร็งอีกด้วย

มีการทดลองพบว่า น้ำจากใบกุยช่ายทำลายเม็ดโลหิตแดง ทำให้โลหิตจางลง ดังนั้นควรกินแต่พอประมาณ อย่าสวาปามครั้งเดียวในปริมาณมากๆ เป็นกะละมังแล้วกัน เพราะอาจจะทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะได้ ซึ่งแทนที่จะเตะปี๊บดัง กลับจะต้องเอาปี๊บครอบหัวแทนซะงั้น

 

ของว่างกินเล่น

เมนู กุยช่ายแผ่น (ทอด หรือนึ่ง)

สูตรนี้จะประกอบไปด้วยสารอาหาร ได้แก่ ไขมัน คาร์โบไฮเดรต โปรตีน แคลเซียม ฟอสฟอรัส เหล็ก วิตามินเอ ไนอะซิน วิตามินซี

ส่วนผสม

  1. กุยช่ายหั่นเป็นท่อนเล็กๆ 3 ขีด
  2. แป้งข้าวเจ้า 1.5 ถ้วย
  3. แป้งมัน 1.5 ถ้วย
  4. แป้งข้าวเหนียว 2 ช้อนโต๊ะ
  5. เกลือ 1 ช้อนชา
  6. น้ำตาลทราย 1 ช้อนโต๊ะ
  7. น้ำมันพืช 3 ช้อนโต๊ะ
  8. น้ำเปล่า 2.5 ถ้วย

น้ำจิ้ม

  1. กระเทียม 1 ช้อนโต๊ะ
  2. พริกขี้หนู 5-6  เม็ด
  3. ซีอิ้วดำ ¼  ถ้วย
  4. น้ำส้มสายชู 2 ช้อนโต๊ะ
  5. น้ำตาลทราย 1.5-2 ช้อนโต๊ะ
  6. น้ำต้มสุก 2 ช้อนโต๊

วิธีทำ

  1. ผสมแป้งข้าวเจ้า แป้งมัน แป้งข้าวเหนียว เกลือ น้ำตาลทราย คนให้เข้ากัน ใส่น้ำเปล่า น้ำมัน คนจนแป้งเข้ากันดีไม่เป็นเม็ด ใส่กุยช่าย พักไว้สัก 10 นาที
  2. เอากระทะตั้งไฟ (ชนิดที่ทอดแล้วไม้ติด) ใส่น้ำมัน 3 ช้อนโต๊ะ

คนแป้งให้เข้ากันดี พอกระทะร้อน ตักแป้งและกุยช่าย 2-3 ทัพพี เขี่ยแป้งให้ทั่วกระทะ ทอดไฟกลางๆ จนสุก เขี่ยริมแป้ง พับเข้าหาตรงกลาง 2-3 นิ้ว พับริมตรงข้ามอีกด้าน ทอดจนขนมเหลือง จึงกลับขนมอีกด้านให้เหลืองทั่ว พอทอดเสร็จให้ตักขึ้นวางบนเขียงแล้วหั่นเป็นชิ้นๆ เรียงใส่จานกินพร้อมน้ำจิ้ม

(ถ้าไม่ชอบกินน้ำมันก็สามารถเอาใส่ลังถึงแล้วเอาไปนึ่งได้ โดยแผ่แป้งให้แบนๆ)

  1. น้ำจิ้ม โขลกกระเทียม พริกขี้หนู ให้ละเอียด ผสมกับซีอิ้วดำ น้ำส้มสายชู น้ำตาลทราย น้ำต้มสุก คนให้เข้ากัน

กุยช่าย ผักใบเขียวอีกชนิดหนึ่งที่คนหันมาใส่ใจ โดยเฉพาะคนดูแลรักษาสุขภาพจะนิยมมาก เพราะการกินผักชนิดต่างๆ นั้นป้องกันโรคได้อย่างดี คนส่วนใหญ่มักนิยมกินกุยช่ายแบบสดๆ กับผัดไทย หรือนำมาทำอาหารก็หอมน่ากิน เช่น ดอกกุยช่ายผัดตับหมู กุ้ง ก็หอมหวานอร่อย ไข่เจียวใบกุยช่ายก็ได้ หรือจะเป็นหมี่ซั่วผัดใบกุยช่ายที่เข้ากันได้ดี และยังนำมาดัดแปลงทำเป็นขนมอร่อยๆ อย่าง ขนมกุยช่าย

และหากท่านมีโอกาสผ่านไปทางอีสานบ้านเฮา ที่ขึ้นชื่อในเรื่อง ส้มผัก (ผักดอง) ส้มผักแป้น (ใบกุยช่ายดอง) เป็นอีกเมนูที่คนภาคอื่นๆ อาจจะไม่เคยกิน หรือเคยกินแต่ไม่ชอบเพราะกลิ่นแรงมากทีเดียว แต่สำหรับชาวอีสานต้องขอบอกว่า ส้มผักแป้น อร่อยอย่าบอกใครเชียว แค่มีข้าวเหนียวสักปั้น จิ้มแจ่วบองสักคำ ตามด้วยส้มผักแป้นสักหน่อย เท่านี้ก็แซ่บแล้ว

เมื่อทราบคุณประโยชน์ของกุยช่ายกันขนาดนี้แล้ว ใครที่ยังลังเล กลัวกลิ่นฉุนๆ อยู่ละก็ ให้รีบๆ เปลี่ยนใจหันมาลองกินกุยช่ายดูบ้างก็ดีนะ เพื่อสุขภาพที่ดีของตัวเราและคนที่เรารักนะคะ

เมนูนี้ห้ามพลาด ร้านข้าวต้มยามดึก
แม้จะเป็นผักที่มีกลิ่นฉุน นำมาทำอาหารก็หอมน่ากิน
คนไทยนำมาดัดแปลง กินคู่กับผัดไทย

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อวันจันทร์ที่ 18 กันยายน พ.ศ.2560


สำหรับแฟนๆ นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน หากต้องการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านรายปักษ์ ส่งตรงถึงบ้าน รวดเร็วทันใจอ่านได้ในทุกๆ 15 วัน สามารถสมัครสมาชิกได้ที่ คลิกลิ้ง https://shorturl.asia/0zJwQ 📲- Line: @matichonbook หรือ สำนักพิมพ์มติชน เลขที่ 12 ถนนเทศบาลนฤมาล หมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 ติดต่อฝ่ายขาย 02-589-0020 ต่อ 3354