ต้นข่อย เคยเป็นสมุด ปลาไหลสุดกลัว ชอบมุดทั่ว…ในปากคน

ลำต้น

ชื่อวิทยาศาสตร์ Streblus asper Lour.

ชื่อวงศ์ MORACEAE

ชื่ออื่นๆ ส้มพอ กักไม้ฝอย ตองขะแหน่ (กะเหรี่ยง) สะนาย (เขมร)

ชื่อสามัญ Siamese rough bush, Tooth Brush tree.

สมุดข่อย
สมุดข่อย

ผมเป็นคนโบราณ ชอบอยู่ในวัดทุกวัด เพราะเขารู้จักในนาม “สมุดข่อย” เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางที่สูง 5-15 เมตร  แม้ตัวผมคดงอ ลำต้นเป็นปุ่มปม เป็นร่องพู ดูแล้วไม่สวยงาม แต่ก็มีช่วงที่เปลือกต้นเรียบ ใครมาเฉาะหรือเจาะผิวก็จะปล่อยน้ำยางขาวออกมา ถ้าลอกเปลือกนอกสีเทาออก จะเห็นเปลือกในสีเหลืองอ่อน แต่บางครั้งผิวเปลือกผมก็แตกเป็นสะเก็ดด้วยนะ

ใบข่อย
ใบข่อย

รูปทรงต้นเรือนยอดเป็นพุ่มทรงกระบอก หรือเรือนยอดเป็นรูปไข่ ใบดกเขียว ก้านใบแข็ง นูน เส้นใบขนาน ปลายใบแหลม แต่ขอบใบแก่เป็นจักรฟันเลื่อย กว้าง 2-4 เซนติเมตร ยาว 4-8 เซนติเมตร เมื่อแก่จัดสีใบจะเขียวเข้ม ผิวใบด้านบนสาก ระคายเคืองคล้ายกระดาษทราย บุคลิกภาพลักษณะนี้เองที่เป็นอุปกรณ์อาวุธของผู้คนที่พิศวาสปลาไหล เพราะสามารถจับปลาไหลด้วยใบข่อยใบเดียวได้ อย่าว่าแต่ปลาไหลใส่สเก็ตเลย ปลาไหลใส่กะละมัง ผมก็จะรูดเมือกออกให้หมดหยุดลื่นไหลคามือทั้งฝูงเชียวหละ อันนี้แหละ ปลาไหลกลัวผมนัก

ดอกข่อย
ดอกข่อย

ผมมีดอกสีเหลืองอมเขียวเกือบขาว ก้านดอกสั้น แต่ถ้าเป็นดอกเพศเมียสีจะออกเป็นคู่สีเขียว และก้านดอกยาว ดอกออกเป็นกระจุกตามซอกใบ พอพัฒนาเป็นผลก็มีสีเหลืองส้ม รสหวาน เมล็ดเท่าเมล็ดพริกไทย มีเพียง 1 เมล็ด  ช่วงออกดอกประมาณเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม และติดผลเดือนตุลาคมถึงมกราคม นำเมล็ดของผมไปเพาะ ก็ปลูกทั้งกลางแดดและในร่มได้ พบผมตามที่ราบทั่วไปและป่าเบญจพรรณ และหลายคนก็ชอบปลูกตามบ้าน บางคนชอบเอาผมลงกระถาง แล้วผูกมัดผม อ้างว่า ทำ “ไม้แคระ-ไม้ดัด”

เรื่องสรรพคุณเนี่ย ผมภูมิใจตัวเองที่มีชื่อในตำรายาแผนโบราณ แต่ปัจจุบันนี้ก็ยังนิยมทุกรุ่นทุกวัย เพราะเปลือกต้นก็แก้ปวดฟัน เปลือกรากก็ต้มเป็นยาบำรุงหัวใจ ราก ตำใส่แผล รักษารำมะนาด หุงเป็นน้ำมันทาแก้ริดสีดวง ใบสด ย่างไฟพอเหลือง กรอบ ชงดื่มเป็นยาระบายอ่อนๆ ขับลมในลำไส้ จุดเด่นของผมคือกิ่งอ่อน ที่คนชอบใช้เป็นแปรงสีฟัน ผมมีสิทธิ์ทะลุทะลวงในปากกับเหงือกและฟันของใครก็ได้ ดูชื่อภาษาอังกฤษซิ ตรงกับสรรพคุณเลย

แต่ผมงงมากที่ชื่อผมกลับไปดังเป็นชื่อ “ส้มโอท่าข่อย” นี่ซิแปลกใจจริงจริ๊ง!