ทัวร์ “สนามชัยเขต” พื้นที่ต้นแบบเกษตรอินทรีย์

แม้รายงานผลการสำรวจสุขภาพประชาชนไทยล่าสุด ครั้งที่ 5 ในปี 2557 ด้วยการตรวจร่างกายของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ จะยืนยันว่า คนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป รับประทานผัก-ผลไม้เพียงพอตามเกณฑ์มาตรฐานสากล คือ 400 กรัม ต่อคน ต่อวัน คิดเป็นร้อยละ 25.9 

และดีขึ้นกว่าช่วงการสำรวจครั้งที่ 4 ในปี 2552 ที่มีเพียงร้อยละ 16.9 เท่านั้น

แต่ นพ.ปัญญา ไข่มุก กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารแผน คณะที่ 5 ได้เน้นย้ำว่า “ผัก” เป็นยาอายุวัฒนะ และร่างกายมนุษย์เป็นเซลล์ เพื่อป้องกันไม่ให้เซลล์ตายเร็วกว่าธรรมดา หรือเปลี่ยนแปลงไปเป็นเนื้อร้ายหรือมะเร็ง สารในผักที่ชื่อว่าแอนตี้ออกซิแดนต์จะช่วยต้านอนุมูลอิสระ ป้องกันไม่ให้เซลล์ตาย และป้องกันไม่ให้เสื่อมเร็วกว่าธรรมดา หรือเปลี่ยนไปเป็นมะเร็งได้

“เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว เราจึงเชียร์ให้คนหันมารับประทานผักมากขึ้น” นพ.ปัญญา ย้ำชัด

ซึ่งการดำเนินงานภายใต้แผนอาหารเพื่อสุขภาวะ ในกลุ่มแผนงานความมั่นคงทางอาหารและความปลอดภัยในระบบอาหารนั้น สสส.ได้ให้การสนับสนุนเกษตรอินทรีย์ ที่ส่งเสริมการเชื่อมโยงของระบบอาหาร ตั้งแต่การผลิตไปจนถึงการกระจายสู่ผู้บริโภค ช่วยเหลือเรื่องทุน องค์ความรู้ รวมถึงประสบการณ์ เพื่อให้กลุ่มเกษตรอินทรีย์ดำเนินงานได้อย่างไม่ติดขัด

โดย “กลุ่มเกษตรอินทรีย์สนามชัยเขต” นับเป็นพื้นที่ที่มีความเข้มแข็งและมีความมั่นคงทางอาหารในระบบเกษตรอินทรีย์ มีจุดเด่นด้านการส่งเสริมการผลิตและระบบการบริหารจัดการผลผลิต

ทั้งยังเป็นต้นแบบเกษตรอินทรีย์ครบวงจรของพื้นที่โซนภาคตะวันออกด้วย

กาญจนา เข็มลาย หรือ จุ่น วัย 51 ปี เกษตรกรอินทรีย์ 1 ในสมาชิกกลุ่มเกษตรอินทรีย์สนามชัยเขต เผยว่า ตนเองเกิดและเติบโตที่นี่ เพียงแต่มีครอบครัวที่กรุงเทพฯ โดยจุดเปลี่ยนของชีวิตมาจากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ ปี พ.ศ. 2554 ประสบปัญหาไม่มีอาหารรับประทาน แม้จะมีงานทำ หรือมีเงินใช้ก็ตาม จึงคิดกลับบ้านมาในปี พ.ศ. 2555 เริ่มต้นชีวิตการเป็นเกษตรกรเต็มตัว

“เราปลูกพืชตามที่อยากกินหรือเท่าที่เก็บเมล็ดพันธุ์ได้ ตอนกิ่งได้ ปลูกจนเต็มพื้นที่ บางทีเพื่อนมีผักที่เราอยากได้ก็ขอเมล็ดพันธุ์ ขอกิ่งมา” กาญจนาบอกเล่า พร้อมเอ่ยถึงการทำเกษตรอินทรีย์ด้วยว่า การทำเกษตรอินทรีย์มิใช่เพียงการขายผักปลอดภัย หรือขายผักสดเท่านั้น แต่เป็นการเปลี่ยนวิถีไปขายผักสด ขายเมล็ดพันธุ์ กิ่งตอน กิ่งพันธุ์ กิ่งเสียบยอด ทุกอย่างที่เกี่ยวกับเรื่องเกษตรสามารถนำมาทำได้หมด

ด้าน พลูเพ็ชร สีเหลืองอ่อน หรือ ต้อย ผู้ประสาน งานและกรรมการรับรองฟาร์มฝ่ายส่งเสริม กลุ่มเกษตรอินทรีย์สนามชัยเขต วัย 54 ปี กล่าวว่า นอกจากการปลูกพืชที่สอดคล้องกับระบบนิเวศแล้ว สิ่งหนึ่งที่กลุ่มดำเนินการอยู่คือทำพันธุกรรมพืชท้องถิ่นที่จำเป็นต้องเก็บรักษา ด้วยการปลูกและขยายต่อ

“เราเน้นให้เกษตรกรที่ปลูกในแปลงตัวเองทำหน้าที่จัดเก็บเมล็ดพันธุ์ โดยเป็นเมล็ดพันธุ์ที่สามารถนำไปปลูกขยายต่อได้ ส่งเสริมให้เกษตรกรรายย่อยเป็นผู้ผลิต ปกป้องเมล็ดพันธุ์ ขยายเมล็ดพันธุ์ ซึ่งการเป็นเจ้าของเมล็ดพันธุ์หมายถึงความมั่นคงของอาหารในอนาคต”

การทำเกษตรอินทรีย์ไม่ได้ทำแค่ลดการใช้ปุ๋ยยา แล้วขายผลผลิตให้ได้ราคาดี แต่การทำเกษตรอินทรีย์ยังช่วยฟื้นฟูระบบนิเวศอันมีผลต่อสิ่งแวดล้อม ต่อเพื่อนซึ่งเป็นผู้บริโภค ขณะเดียวกัน อาหารที่ปลอดภัย ผู้ผลิตก็คือผู้บริโภค เสมือนทำหน้าที่ส่งต่ออาหารเหล่านี้ไปพร้อมๆ กัน

ถัดจากกลุ่มเกษตรอินทรีย์สนามชัยเขตไปไม่ไกลนัก ยังพบกับ “ริน” ผู้นำธุรกิจขนมหวานใน จังหวัดฉะเชิงเทรา ที่จับมือกับโครงการส่งเสริมการผลิตและบริโภคผลิตภัณฑ์อาหารโอท็อปเพื่อสุขภาพ ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจาก สสส.สำนัก 5 ในการให้ผู้บริโภคตระหนักเรื่องการลดบริโภคหวาน มัน เค็ม และเพิ่มผัก-ผลไม้ ด้วยการพัฒนา “ขนมกระยาสารท สูตรหวานน้อย” ที่ลดความหวานลงไปถึง 25%

“ลูกค้ารู้สึกชอบ แม้ทางร้านจะลดความหวานในขนมลง แต่รสชาติไม่ได้เปลี่ยนไปมาก ทำให้เขารับประทานได้โดยไม่กระทบต่อสุขภาพ” ตัวแทนร้านรินกล่าวพร้อมรอยยิ้มกว้าง

ลองปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค แล้วจะรู้ว่าโรคห่างไกลเรามากขึ้น มากขึ้น

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน