“304 เกษตรอินทรีย์กินได้” แต่ในอนาคตไม่แน่!

เมื่อวันจันทร์ที่ 28 สิงหาคมที่ผ่านมา มีงาน “เมนูผักพื้นบ้าน จากแม่ครัวบ้านๆ และเชฟเมืองกรุง” ที่สำนักงานกลุ่มเกษตรอินทรีย์สนามชัยเขต และเครือข่าย 304 กินได้ บ้านยางแดง อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา หัวใจหลักของงานครั้งนี้คือการเสนอสูตรอาหารพื้นบ้านของกลุ่มเครือข่ายในช่วงเช้า และร่วมเรียนรู้กับเชฟรุ่นใหม่จากเมืองหลวงในช่วงบ่าย โดยกลุ่มเชฟจะทดลองนำผักอินทรีย์ปลอดสารพิษนานาชนิด ตลอดจนไก่บ้าน ไข่ไก่ กบ ปลา ปูนา ฯลฯ ที่เครือข่ายหามาให้ปรุงเป็นอาหารแนวใหม่ (fusion food)

ผมได้ไปดูงานนี้ทั้งวันครับ นับว่าไม่เสียเที่ยวที่ดั้นด้นไปจริงๆ

โครงการรณรงค์ระยะยาวที่มีนามอันเป็นปริศนาว่า “304 กินได้” นี้ มีที่มาจากหมายเลขทางหลวง สาย 304 ซึ่งกำลังจะเป็นเส้นทางที่ผ่านไปสู่โรงไฟฟ้าทั้งขนาด 47.5 เมกะวัตต์ ที่สร้างเสร็จแล้ว และโรงไฟฟ้าถ่านหินสเกลใหญ่ ขนาด 600 เมกะวัตต์ ที่กำลังทำเรื่องขออนุมัติก่อสร้าง โดยทางภาครัฐมีแผนจัดวางให้พื้นที่แถบนี้เป็นเขตโรงไฟฟ้าที่ผลิตไฟป้อนนิคมอุตสาหกรรมในเขตภาคตะวันออก และอ้างว่าจะทำให้ราคาไฟฟ้าต่อหน่วยที่ประชาชนใช้มีราคาถูกลง อย่างไรก็ดี ทางเครือข่ายชุมชนที่วิตกกังวลเรื่องสารพิษปนเปื้อนในลำน้ำสาธารณะและผืนดิน ก็ได้ยื่นเรื่องประท้วง กับทั้งส่งตัวแทนเข้าพบและให้ข้อมูลต่อคณะกรรมการพิจารณาผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการฯ มาแล้วถึงสามครั้ง ว่าได้พบการปนเปื้อนของสารปรอท ทั้งในคนและปลา ที่จังหวัดปราจีนบุรี

ประเด็นก็คือ พื้นที่แถบนี้ยังมีความอุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งปลูกพืชผักปลอดสารพิษ (organics) แหล่งสำคัญ ที่ส่งผลผลิตกว่า 70 รายการ ปริมาณเฉลี่ยกว่า 10 ตัน ต่อสัปดาห์ ป้อนคนกรุงเทพฯ และปริมณฑล ผ่านร้านเลมอน ฟาร์ม และตลาดเขียวทั่วเมืองหลวง ทั้งยังส่งข้าวสารและผักผลไม้อินทรีย์ออกไปยังตลาดต่างประเทศด้วย

นี่ก็คือที่มาของ 304 กินได้ ซึ่งจงใจตั้งชื่อยั่วล้อกับโครงการโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ อันจะส่งผลให้เกิดสภาวะ “กินไม่ได้” ขึ้นในอนาคต

 

งานในช่วงเช้าคือการยืนยันตัวตนของกลุ่มหมู่บ้านเครือข่าย ซึ่งครอบคลุมพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทราและปราจีนบุรี ผ่านสำรับ “ของกิน” ที่เลือกแล้วว่าอร่อยถูกปากถูกฤดูกาล

ตามประสาคนทำกับข้าวกินเองอยู่บ้าง ผมย่อมตกตะลึงกับมวลมหาพืชผักอินทรีย์ที่จัดสรรไว้เป็นกองกลางให้เหล่าเชฟเมืองกรุงได้ใช้ปรุงอาหาร มีของดีๆ อย่าง ผักก้านตรง ซึ่งรสชาติหวานมาก (ผมคิดว่า ระดับความหวานของผักก้านตรงเหนือกว่าผักหวานนะครับ) มีถั่วฝักยาวสดกรอบกิ๊ก, ก้านคูน, ผักกูด, ยอดบวบ, น้ำเต้า, ผักหวานบ้าน, ฟักทอง, โหระพา, แมงลัก, หน่อข่าอ่อน, ถั่วพู และพริกสดสารพัดชนิด ซึ่งเมื่อนึกถึงว่า เราสามารถจับจ่ายซื้อหาผักดีๆ สวยๆ เหล่านี้ได้โดยไม่ต้องพะวงเรื่องการปนเปื้อนสารเคมี มันก็คือสวรรค์ของคนทำกับข้าวจริงๆ

ที่ผมชอบ และซื้อหามาสองถุง คือ “รุ่ย” ฝักอ่อนของไม้ป่าชายเลน ที่คนแถบอำเภอบ้านโพธิ์รู้จัก เอามาขูดเปลือก ต้มหลายๆ น้ำ เพื่อกำจัดรสฝาด เฝื่อน จนได้ฝักรุ่ยที่มีรสมัน หอมกลิ่นดินทะเลอ่อนๆ เอามาทำแกงบวดกะทิ หรือต้มจืด แกงเผ็ด แกงเลียง ได้อร่อยอย่างไม่น่าเชื่อ

พอใกล้เที่ยง ผมก็เริ่มขยับไปตามเต๊นท์ของเครือข่าย ก็คือตาม “กลิ่น” นั่นแหละครับ และสิ่งที่ผมพบเจอก็คือ

แกงเลียงผักรวม (บ้านยางแดง) แกงแบบน้ำใสมากๆ รสหวานผักมันเด่นชัดจนนึกไม่ออกแล้วว่าเคยกินแกงเลียงรสชาติแบบนี้ครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่

แกงไก่ลูกกล้วย (บ้านบางพะเนียง) ใช้กล้วยน้ำว้าดิบ แกงน้ำกะทิค่อนข้างข้น สีอ่อน แต่รสที่ปรุงไว้จัดก็ตัดกับกล้วยดิบฝาดมันได้ดี

ยำตะไคร้ (บ้านดงบัง) เป็นยำตะไคร้ที่ผมชอบ เพราะว่าไม่หวาน เครื่องปรุงไม่มากเกินไป เน้นที่ตะไคร้อินทรีย์สดๆ หอมๆ เป็นหลัก

อ่อมปูนา (เขาไม้แก้ว) จำเป็นต้องพูดถึงนัยสำคัญของสำรับนี้นะครับ คือการที่นาผืนไหนยังมีปูนาให้จับมากิน ก็แสดงว่าไม่ได้ “ฉีดยา” ปูจึงยังรอดให้จับมาฉีกกระดอง ก้าม ตำสดๆ ในครก คั้นน้ำข้นๆ เอามาแกง เติมไข่ปูเพิ่มความมันให้ผักสดหลายๆ อย่างที่ใส่จนน้ำแกงหวาน คุมกลิ่นและรสด้วยผักชีลาว น่าแปลก ที่กินแล้วชวนให้รู้สึกถึงกลิ่นมะแขว่น ทั้งที่ไม่ได้ใส่

แกงไก่หน่อไม้เปรี้ยว และน้ำยาไก่ใส่ฟักทอง (บ้านน้อยนาดี) ผมชอบน้ำยาไก่ของเขามากครับ ค่าที่ว่ามันเป็นน้ำยากะทิที่ไม่ข้นมากนัก แต่ถึงเครื่องแกง ใส่ไก่บ้านสับ ซึ่งทำให้มีเนื้อสัมผัสที่แปลกลิ้น ฟักทองมัน เนื้อหนึบ นุ่ม แถมการใส่ปลาร้าลงไปคุมรสและกลิ่นเค็ม หอม ก็เป็นทีเด็ดที่เหนือคำบรรยายจริงๆ

แกงหัวลูกจากไก่บ้าน (บ้านโพธิ์) โอกาสจะได้กินหัวลูกจากอ่อน พืชชายเลนสารพัดประโยชน์นี้มีไม่บ่อยนักนะครับ เนื้อสัมผัสมันนุ่มละมุนกว่ายอดมะพร้าวมาก รสขมจางๆ ติดปลายลิ้น แกงด้วยวิธีผัด คั่วพริกแกงกับหัวกะทิในไฟอ่อนค่อนข้างนาน ใส่เพียงเกลือป่นปรุงรสเค็ม ทำให้มีกลิ่น รส และความข้นละม้ายคล้ายแกงพะแนง และจงใจปรุงเผ็ดเพียงอ่อนๆ เพื่อให้รับรสหัวลูกจากได้เต็มที่

ไข่ตุ๋นพริกแกงทรงเครื่อง (บ้านหนองแก้ว) เขาเข้าใจเอาพริกแกงและผักหลายอย่างหั่นซอย ปรุงในไข่ที่ตีจนขึ้นฟู แล้วเอาไปตุ๋นในลังถึง กลายเป็นไข่ตุ๋นรสเผ็ด แถมได้กินผักที่สุกด้วยการนึ่ง เก็บน้ำหวานๆ ไปไว้ในเนื้อไข่ตุ๋นได้อย่างลงตัว

ที่จริง ยังมีอีกหลายกลุ่มบ้านนะครับ แต่ผมกินไม่ครบ เพราะลำพังน้ำยาและขนมจีนเส้นหลากสีอันลือชื่อของสนามชัยเขต ที่จัดไว้เลี้ยงผู้มาเที่ยวงาน ก็ช่วงชิงพื้นที่ในกระเพาะไปแยะแล้วครับ

คงไม่เกินไปนัก ถ้าผมจะบอกว่า โอชะของผักอินทรีย์สด ใหม่ ปราศจากของปรุงแต่ง แถมทำด้วยรสมือท้องถิ่นในช่วงเที่ยงวันนั้น ได้โอบอุ้มลิ้นที่ลิ้มรสนั้นไว้อย่างดี ในความรู้สึกโล่ง สบายปาก อิ่มท้อง สะอาดนั้น แทบไม่เหลืออาการคอแห้ง (กระหายน้ำ) นี่นับเป็นกุสุมรสแห่งสำรับที่ควรค่าแก่การรักษาเอาไว้จริงๆ

การต่อสู้เพื่อยืนยันที่จะมีชีวิตปลอดภัย เกิดขึ้นในทุกที่ในเมืองหลวง ภาระนั้นอาจขึ้นอยู่แค่เพียงความใส่ใจในการสังเกตรายละเอียดของสิ่งที่กิน หากสำหรับกลุ่มผู้ผลิต อย่างเครือข่าย 304 กินได้ ปัญหาที่พวกเขาเผชิญนั้นดูหนักหนาสาหัส เพียงเพื่อจะมีชีวิตที่ดี ในตำแหน่งแห่งหนที่มีบริบทพื้นที่เหมาะสมแก่การเป็น “โรงครัวปลอดภัย” ของเพื่อนบ้าน

บางที การได้กินอาหารของพวกเขาสักหนึ่งมื้อ อาจเปลี่ยนแปลงความคิดของใครบางคนไปตลอดกาลก็ได้