ผักเหมียง เด็ดใบสดๆ กินเป็นผักเคียง บำรุงสายตา รักษาฝ้า ปลูกแซมในสวนยาง ยิ่งดี

หนูเป็นสาวใต้ลูกน้ำเค็ม สาวชนบทพื้นบ้านที่ชอบอยู่ในป่าธรรมชาติรอบๆ หมู่บ้าน แต่เด่นดังเพราะเคยมีเรื่องราวของหนูถูกนำไปเขียนไว้ในหนังสือประกอบงานสมัชชาเกษตรกรรมทางเลือก ครั้งที่ 2 ในงานมหกรรมเกษตรและอาหารปลอดสารพิษ จัดที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เกือบ 20 ปีมาแล้ว โดยเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก  ได้ให้สมญานามว่า “ผักเหมียง…ราชินีแห่งผักพื้นบ้านภาคใต้” แม้ว่าได้ชื่อเป็นราชินีแห่งผักพื้นบ้าน แต่หนูก็ไม่ได้ใฝ่ฝันที่จะเข้าเป็นสาวเมืองกรุง

อาจเป็นเพราะว่าชื่อของหนูเรียกเพี้ยนๆ คล้ายๆ กันแต่ละจังหวัดภาคใต้ และเวลาออกเสียงเป็นภาษาใต้ สำเนียงหนังตะลุง คนกรุงมักจะต้องถามว่า “ผักอะไรนะ?” “ชื่ออะไรนะ?”

หนูรำคาญมาก เขาชอบพูดกันว่าชื่อแปลกดี แล้วยังออกเสียงยากอีก ถ้าจะเรียกชื่อหนูว่า “หนูเหมียง” ก็ฟังไม่เพราะ เรียก “ผักเหลียง” ก็ฟังแล้วบ้านน๊อกบ้านนอก คนในเมืองจึงเรียกหนูว่า “ใบเหลียง” หนูว่าน่ารักดี

ผักเหลียง

ความจริงหนูมีถิ่นกำเนิดในเอเชียคาบสมุทรมลายู แต่กระจายขึ้นมาอยู่ทางภาคใต้ ที่ กระบี่ พังงา ระนอง สุราษฎร์ธานี ชุมพร และหนูก็มีหลายสายพันธุ์ ในเมืองไทยตระกูลของหนูก็เป็น Var. Tenerum เป็นพืชผักป่าธรรมชาติที่ชาวบ้านชอบเด็ดยอดมากินเป็นผักสด ผักเหนาะ โดยเฉพาะเวลาเขาทำน้ำพริกกะปิ ผักเคียงขนมจีนน้ำยาแกงใต้  รวมถึงเป็นผักที่ผสมกับ “ข้าวยำ” ด้วย แต่เมนูยอดฮิตก็จะเป็นยอดผักลวก ใบเหลียงผัดไข่ อันนี้คนกรุงชอบนัก  แต่คนใต้ชอบแกงเลียง แกงกะทิ ผักเคียงแกงไตปลา

กิ่งผักเหลียง

เรื่องแปลกของหนูอยู่ที่ว่า ถ้านำเมล็ดไปเพาะกลับไม่งอก หรืองอกยากมาก แม้จะฝังดินเป็นเดือนๆ อาจจะได้ผลไม่เกิน 10% ดังนั้น เขาจึงขุดต้นอ่อนที่งอกจากไหลรากที่โคนต้นนำไปเพาะชำหรือลงดินปลูกได้เลย หนูโตขึ้นก็สูงได้ถึง 3-4 เมตร เป็นไม้เนื้อเหนียว ดังนั้น หากโน้มยอดลงมาถึงดินก็ไม่หักหรือฉีกขาด ต้นหนูมีรากแก้วจึงทนแล้งได้ดี ส่วนรากแขนงก็มีต้นอ่อนขึ้นที่จะขยายพันธุ์ปลูกต่อได้ แต่บางคนชอบวิธีตอนกิ่ง หรือปักชำ จะได้ผลเร็ว

มีคนชอบเอาหนูไปปลูกในสวนยาง สวนปาล์ม หนูชอบมาก แต่ถ้าหนูอยู่ในที่โล่งแจ้งใบหนูจะไม่เป็นสีเขียวสด ยอดอ่อนก็ไม่สวยไม่น่าเคี้ยว หนูจึงชอบอยู่ในที่ร่ม บ่มผิวใบให้เขียวสด น่าเคี้ยว น่ากิน ถ้าอายุหนู 5-6 ปี หนูก็จะออกดอก ติดผล กินได้อีกนะคะ รสชาติหวาน มัน ประโยชน์จากใบอ่อนของหนู บำรุงสายตา รักษาฝ้าได้ แก้กระหายน้ำได้ดี

ถ้าอยากเคี้ยวหนูก็ดูใบอ่อนสดๆ หรือปรุงซดน้ำแกงเลียง แล้ว “หนูเหลียง” ก็จะยอมเป็น

“ผักเหนาะเหนาะ” ให้เคี้ยวเลย…

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2560