ไม่ใช่แค่ชีวิต แต่คือจิตวิญญาณ ‘ภูมิใจการ์เด้น’ สวนลิ้นจี่ 100 ปีที่บางขุนเทียน

ภาพจำเกี่ยวกับเมืองหลวงชื่อว่ากรุงเทพมหานครอาจเป็นสีสัน ความทันสมัย ผู้คนและรถราขวักไขว่ ราวกับทุกวินาทีที่ผ่านพ้นไปช่างรวดเร็วเกินกว่าจะไขว่คว้าความหมายของชีวิต

สังคม วัฒนธรรม และวิถีของผู้คนเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วไม่อาจหยุดยั้ง เช่นเดียวกับเรือกสวนย่านบางขุนเทียน ฝั่งธนบุรีที่ในอดีตเคยเป็นแหล่งเพาะปลูกผลไม้หลากหลายชนิด หนึ่งในนั้น คือ ‘ลิ้นจี่’ ซึ่งในทุกวันนี้แทบไม่หลงเหลือ มีเพียงชื่อ ‘คุ้งลิ้นจี่’ ริมคลอง ภาพถ่ายเก่าสีขาวดำซีดจาง และคำบอกเล่าของคนเฒ่าคนแก่เป็นสักขีพยานการ (เคย) มีอยู่ของสวนลิ้นจี่ที่ครั้งหนึ่งนับเป็นผลผลิตขึ้นชื่อของชุมชนเมื่อกว่าครึ่งศตวรรษที่แล้ว

ทว่า ลูกหลานชาวสวนตัวจริงอย่าง พรทิพย์ เทียนทรัพย์ ไม่เคยหลงลืม ในทางกลับกัน ยังเป็นความทรงจำอันแจ่มชัด พร้อมถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อการอนุรักษ์อย่างเข้าใจโลกยุคใหม่

พรทิพย์ เทียนทรัพย์ เจ้าของสวน ‘ภูมิใจการ์เด้น’

‘ภูมิใจ การ์เด้น’ จึงถือกำเนิดขึ้นบนที่ดินของครอบครัวซึ่งเป็นตระกูลเก่าแก่ของบางขุนเทียน เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้วิถีชาวสวนที่อบอวลด้วยบรรยากาศอบอุ่น ร่มรื่นเขียวขจีด้วยไม้ใหญ่แผ่กิ่งก้านสาขา น้ำคลองใสสะอาดที่เอ่อล้นริมฝั่ง อากาศบริสุทธิ์เย็นสบาย

ไม่ใช่แหล่งท่องเที่ยวแบบฉาบฉวย หากแต่เป็นขุมทรัพย์ยากประเมินค่าที่น่าเดินทางมาเยี่ยมเยือนสักครั้ง

เปิดตำนาน ‘ลิ้นจี่ บางขุนเทียน’ ขึ้นทะเบียน ‘จีไอ’

ย้อนเวลากลับไปเมื่อกว่า 50 ปีก่อน พื้นที่แถบบางขุนเทียนก่อนแบ่งเป็นเขตจอมทองและเขตบางบอน ถือเป็นอำเภอที่ปลูกลิ้นจี่ซึ่งมีชื่อเสียงเลื่องลือมากที่สุด สองฝั่งของคุ้งน้ำที่อยู่เลยเข้าไปจากวัดบางขุนเทียนนอก บางขุนเทียนกลาง และบางขุนเทียนใน มากมายไปด้วยสวนลิ้นจี่ รศ. สมใจ นิ่มเล็ก ราชบัณฑิตชาวบางขุนเทียน เคยเขียนบทความเล่าบรรยากาศในยุคนั้นไว้ว่า มีเสียงการ ‘ชักตะขาบ’ เครื่องมือไล่สัตว์ทำจากไม้ ดังระงมทั้งกลางวันและกลางคืน

จุดเด่นของลิ้นจี่บางขุนเทียน คือ รสชาติซึ่งแตกต่างจากที่อื่น ผิวสีแดงคล้ำออกไหม้ รสหวานเม็ดเล็ก เรียกว่า ‘เม็ดตาย’ เมื่อแกะเปลือกออกจะเผยให้เห็นเยื่อบางๆสีชมพูห่อหุ้มเนื้อที่ไม่ฉ่ำน้ำไว้อีกชั้นหนึ่ง ลิ้นจี่ที่นี่มีหลายพันธุ์ ที่ขายดีที่สุดคือพันธุ์ ‘ใบยาว’ เพราะอร่อยกว่าพันธุ์อื่นๆ เช่น พันธุ์ใบอ้อ, ใบเขียวหวาน, กะโหลกยักษ์, กะโหลกในเตา, กะโหลกใบขิง, กะโหลกไฟไหม้, กระโถนท้องพระโรง, แห้ว, ตลับนาก เป็นต้น

ซ้าย-ลิ้นจี่บางขุนเทียน ผลิตผลขึ้นชื่อที่สุดของย่านนี้ในอดีต ขวา-ปีนพะองขึ้นต้นลิ้นจี่โบราณ

ลิ้นจี่เป็นผลไม้ที่ชอบความหนาวเย็น ปีไหนยิ่งหนาว ก็ยิ่งออกลูกเยอะ พร้อมให้เก็บเกี่ยวในช่วงเดือนมีนาคม ถึงเมษายน ชาวสวนใช้ ‘พะอง’ ซึ่งทำจากไม้ไผ่ลำยาวปีนขึ้นไปสอยด้วยไม้ง่าม นำมามัดรวมเป็นช่อ ช่อละประมาณ 100 ลูก ราคาตามตกลง ไม่ได้ขายเป็นกิโลกรัมเหมือนปัจจุบัน ส่วนผลที่ร่วงหล่นตามพื้น ถูกเก็บใส่กระทงใบตองขายถูกๆ นับเป็นภาพชีวิตที่เรียบง่ายแต่เปี่ยมเสน่ห์

น่าเสียดายที่สภาพอากาศซึ่งเปลี่ยนแปลง ทำให้ลิ้นจี่ย่านบางขุนเทียนไม่ออกผลสะพรั่งเหมือนแต่ก่อน และนี่เองคือเหตุผลที่การปลูกลิ้นจี่ในย่านนี้ค่อยๆหมดไป จึงเป็นที่มาของความพยายามอนุรักษ์ลิ้นจี่โบราณและพลิกฟื้นภูมิปัญญาขึ้นมาอีกครั้ง โดยคุณพรทิพย์ เล่าว่า ที่สวนแห่งนี้ยังดูแลลิ้นจี่อายุกว่า 100 ปีไว้ได้เป็นอย่างดี ไม่เพียงเท่านั้น ล่าสุดยังขึ้นทะเบียนลิ้นจี่ตาม โครงการส่งเสริมหนึ่งจังหวัดหนึ่งสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI ตามคำแนะนำของรองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพานิชย์ และคณะที่เคยเดินทางมาเยี่ยมชมสวนอีกด้วย

พันธุ์ลิ้นจี่บางขุนเทียนซึ่งทางสวนมีแบ่งจำหน่ายด้วย

สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ คือเครื่องหมายที่ใช้กับผลิตผลจากแหล่งเฉพาะเจาะจง เปรียบเสมือนแบรนด์ท้องถิ่นที่บ่งบอกคุณภาพและแหล่งที่มา การขึ้นทะเบียนช่วยคุ้มครองให้สินค้าเป็นสิทธิ์เฉพาะของชุมชน ช่วยเพิ่มมูลค่ารักษามาตรฐานภูมิปัญญา สร้างความเข้มแข็งสามัคคี อีกทั้งสนับสนุนการท่องเที่ยวชุมชน

“อยากทานลิ้นจี่บางขุนเทียน ต้องมาช่วยกันลุ้นให้หนาว เพราะลิ้นจี่จะออกผล ต้องหนาวจัด ปีไหนหนาวๆ เคยเก็บได้ 2 ตัน ขายกิโลละ 200 บาท ที่นี่เก็บลิ้นจี่โบราณ 100 ปีไว้ และยังมีพันธุ์ขายต้นละ 300 บาท” คุณพรทิพย์เล่าด้วยรอยยิ้มแห่งความภูมิใจ สมกับชื่อภูมิใจ การ์เด้นซึ่งไม่ได้มีแค่ลิ้นจี่ แต่เขียวขจีด้วยพืชนานาพรรณ รวมแล้วถึงราว 300 ชนิด ในพื้นที่ 7 ไร่

ไม่ได้มีไว้โชว์ แต่เป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตชาวสวนที่ชวนรื่นรมย์อย่างยิ่ง แม้เจ้าตัวทำธุรกิจเป็นงานหลัก แต่เมื่อถึงเวลาพัก จะนุ่งผ้าถุงลงสวน ดูแลต้นไม้ เก็บผัก สมุนไพรและผลไม้ตามฤดูกาล ปรุงอาหารในครัวกลางสวน โพสต์ภาพและคลิปลงเฟซบุ๊กส่วนตัว จนเพื่อนๆรบเร้าขอเดินทางมาเยี่ยมชมและชิมถึงที่ และนี่ก็คือจุดเริ่มต้นของการจัดทริปท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่น่าสนใจอย่างยิ่ง

สาวๆนุ่งซิ่นลงเรือล่องคลองตรง หรือคลองบางขุนเทียนจากท่าน้ำวัดบางขุนเทียนกลางมายังภูมิใจการ์เด้น

ล่องเรือ กินก๋วยเตี๋ยว เที่ยวท้องร่อง เปิดมุมมอง ‘วิถีชาวสวน’

เสียงเรือเล็กเข้าจอดเทียบท่าที่สวนภูมิใจ การ์เด้น แต่เช้าพร้อมบรรทุกคนเต็มลำเรือ ฝ่ายหญิงพร้อมใจสวมใส่ชุดสวยงามตามแนวคิด ‘นุ่งซิ่นก็สวยได้’ เพื่อแปลงกายเป็นชาวสวน 1 วันเต็ม เรือที่ว่านี้ล่องมาจากท่าน้ำวัดบางขุนเทียนกลาง ผ่านบ้านเรือนสองฝั่งที่หันหน้าสู่ คลองตรง หรือที่ทางการเรียกขานในปัจจุบันว่าคลองบางขุนเทียน

คุณพรทิพย์ ที่ง่วนอยู่ในครัว ออกมาต้อนรับพร้อมเสริ์ฟมื้อแรกรองท้องแขกเหรื่อด้วย ก๋วยเตี๋ยวเรือ แท้ๆ ทั้งลำ ไม่ใช่ก๋วยเตี๋ยวเรือที่ถูกยกขึ้นบกตามห้างสรรพสินค้า ผิวกรำแดด และท่วงท่าที่คล่องแคล่วในการปรุงและหยิบจับวัตถุดิบของชายวัยกว่า 60 ปีบ่งบอกประสบการณ์ยาวนานในอาชีพ

ลิ้มรสชาติแสนอร่อยในอาคารไม้โปร่งสบายที่สร้างจากวัสดุพื้นถิ่น ตั้งชื่อ ‘ศาลาภูมิใจ’ แล้วเลือกงอบกับตระกร้าเตรียมลุย

ตวัดช้อนเครื่องปรุงอย่างคล่องแคล่ว บ่งชี้ความชำนาญด้านก๋วยเตี๋ยวเรือนานนับสิบปี แถมมีมุขตลกตลอดการขาย
ศาลาภูมิใจ ในสวนภูมิใจการ์เด้น

คุณพรทิพย์ เล่าถึงต้นไม้ชนิดต่างๆในสวน สอนการเก็บผลผลิตอย่างถูกวิธี แม้แต่พืชใกล้ตัวอย่างพริกขี้หนู ซึ่งต้องทะนุถนอม ค่อยๆประคองแล้วเด็ด อย่ากระชาก เพราะจะทำให้ต้นเสียหาย ดูเป็นเรื่องง่ายๆ ที่หลายคนไม่คุ้นเคย เพราะชินกับการซื้อหาจากตลาดหรือซุปเปอร์มาร์เกตติดแอร์เย็นฉ่ำ

ในศาลาภูมิใจ มีภาพถ่ายครอบครัวซึ่งเป็นตระกูลเก่าแก่ย่านบางขุนเทียน โดยคุณพรทิพย์มีศักดิ์เป็นหลานน้าของ พลอากาศตรีอาวุธ เงินชูกลิ่น อดีตอธิบดีกรมศิลปากร

ถ่ายรูปอย่างสนุกสนานในท้องร่อง กองฟืน เก็บกระถินรวมเป็นกำใหญ่ ชี้ชมดอกไม้ริมทาง บ้างก็สีสันสะดุดตา บ้างก็งดงามอ่อนหวานตามอย่างดอกไม้ไทยๆ แล้วเดินเท้าต่อไปยังอีกหนึ่งไฮไลต์ คือสวน ‘หนวดฤาษี’ ที่กลายเป็นจุดถ่ายภาพยอดฮิต ด้วยความสวยแปลกตา ยังมีชิงช้าห้อยโยงจากไม้ใหญ่ให้นั่งเล่นเพลินใจจนไม่น่าเชื่อว่าพื้นที่บริเวณนี้เคยเต็มไปด้วยขยะมูลฝอยที่ถูกนำมาทิ้งกลาดเกลื่อน เป็นจุดเสื่อมโทรมจนน่าใจหาย กระทั่งคุณพรทิพย์ตัดสินใจซื้อที่ดินดังกล่าว พลิกฟื้นรวมกับสวนเดิมของครอบครัว

เขยิบเข้าไปจากโซนหนวดฤาษี เป็นที่เก็บรักษา และดูแลพันธุ์ไม้ที่กำลังเติบโต รวมถึงเพาะปลูกสมุนไพร อาทิ เปลาะหอม มีหน่อใต้ดินคล้ายข่า และกระชาย ใช้ปรุงอาหารรสชาติน่าลิ้มลอง

คุณพรทิพย์ และลูกชายทั้ง 2 คนในโซน ‘หนวดฤาษี’ ซึ่งกลายเป็นจุดถ่ายภาพสุดฮิต
ซ้าย-น้องเอวา เรียนรู้เรื่องราวของพืชผักชนิดต่างๆอย่างเพลิดเพลินแล้วลองเก็บมะนาวด้วยตนเอง ขวา-นุ่งซิ่น สวมงอบก็สวย (มาก) ได้ เก็บดอกไม้ชิลล์ๆ

สุขล้ำ อร่อยล้วน เวิร์คชอบ ‘สำรับชาวสวน’ สุดเพลิน

อีกหนึ่งกิจกรรมที่ต่อยอดมาจากการเยี่ยมชมสวนก็คือเวิร์คชอปปรุงอาหารสูตรโบร่ำโบราณตำรับ วัตถุดิบไม่ต้องหาจากแหล่งอื่นไกล ส่วนใหญ่ก็เก็บติดมือติดไม้มาจากในสวน รวมถึงวัตถุดิบท้องถิ่นในพื้นที่ใกล้เคียง อย่างปลาทู ของทะเลที่ในอดีตเคยมีแม่ค้าพายเรือนำมาขายถึงย่านนี้ เพราะเคยมีตลาดนัดทางน้ำ ก่อนเขยิบโยกย้ายไปทางวัดจอมทองหรือวัดราชโอรส รวมถึงตลาดน้ำที่เคยเฟื่องฟูสุดขีดก่อนร่วงโรยอย่างตลาดน้ำวัดไทร

ตัวอย่างเมนูเก๋ไก๋ ได้แก่ ปลาทูต้มกะทิสายบัว น้ำพริกมะอึก ที่สามารถเด็ดมะอึกสดๆสีเหลืองอร่ามจากขั้วหมาดๆ รับประทานคู่กับผักหนามดองแบบโฮมเมดที่ภูมิใจ การ์เด้นปลูกเอง ดองเอง แกงส้มมะละกอ ปลิดผลจากต้นริมคลอง เติมปลาสลิดทอดเพิ่มความพิเศษ พริกกะเกลือ ทำจากมะพร้าวขูดคั่วหอม คลุกข้าวสวยร้อนๆ ข้าวมันส้มตำ ตำรับไม่ซ้ำใคร

ซ้าย-ลูกชายคุณพรทิพย์ เจ้าของสวนช่วยคุณแม่ดอง ‘ผักหนาม’ อย่างตั้งใจ ขวา-ฝึกทำเมนู ‘พริกกับเกลือ’ อย่างสนุกสนาน

“ข้าวมันส้มตำของชาวสวนแถบนี้ใส่กล้วยดิบกับลูกยอด้วย คุณทวดบอกว่า แก้ท้องอืด จุกเสียดท้อง” คุณพรทิพย์เล่า

ปลาทูต้มกะทิสายบัว เมนูชาวสวนชวนน้ำลายสอ

ดูทุกอย่างที่ดำเนินไปช่างราบรื่น ถามว่ามีปัญหาหรืออุปสรรคบ้างหรือไม่ ?

เจ้าตัวบอกว่า เพิ่งโดนขโมยตัดสายไฟหลายจุด และยังมีปัญหาการช็อตปลาในคลอง ทิ้งขยะไม่เป็นที่เป็นทางในย่านชุมชน ซึ่งต้องพยายามปลูกจิตสำนึกความรักในท้องถิ่นรวมถึงมรดกที่บรรพบุรุษสั่งสมและส่งต่อ
ที่น่าห่วงคือ กลุ่มคนที่เพิ่งย้ายเข้ามาอยู่ใหม่ อาจยังไม่เข้าใจความรู้สึกร่วมเหล่านี้

กรุงเทพฯ ไม่ใช่เพียงมหานครที่ไม่เคยหลับ แต่ยังเป็นเมืองหลวงที่เต็มไปด้วยความหลากหลาย ผสมผสานระหว่างความล้ำสมัยพร้อมก้าวสู่อนาคต และรากเหง้าจากบรรพชนที่สะท้อนผ่านวิถีชีวิตดั้งเดิม หล่อหลอมเป็นจิตวิญาณของผู้คนจนถึงทุกวันนี้

ภูมิใจ การ์เด้น แขวงจอมทอง เขตจอมทอง กรุงเทพฯ
ทางเรือ ล่องตามคลองบางขุนเทียน ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า คลองตรง
ทางรถยนต์ เข้าซอยพระราม 28 แยก 18 เกือบสุดซอย ทางเข้าสวนอยู่ขวามือ สังเกตป้ายมีสัญลักษณ์รูปชาวสวนสวมงอบ
ติดต่อชมสวนล่วงหน้า-สอบถามรายละเอียด โทร. 081 733 9812 เฟซบุ๊ก Poomjai Garden (คลิกที่นี่)

 

 

ที่มา : มติชนออนไลน์