ฆ้องพม่า : คอลัมน์ อาเซียน

นับถอยหลังสู่ปีใหม่ หลายๆ คนคงนึกถึงงานเลี้ยงฉลอง สิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้ในงานรื่นเริงต่างๆ คือ ดนตรี สัปดาห์นี้พาไปทำความรู้จักเครื่องดนตรีที่เพื่อนบ้านอาเซียนมีคล้ายๆ กัน

ประเดิมด้วยเครื่องดนตรีประเภทตี ทำจากโลหะที่มาพร้อมเสียงทุ้มก้องกังวาน ใช่แล้วนี่คือ “ฆ้อง” ว่ากันว่าฆ้องมีถิ่นกำเนิดในแถบชวาและแพร่หลายไปทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตัวฆ้องมักทำจากแผ่นโลหะตรงกลางเป็นปุ่มนูน และใช้ไม้หรือเหล็กตีเพื่อให้เกิดเสียง

ในพม่าเรียก ฆ้อง ว่า มอง มีด้วยกันหลายชนิด สำหรับฆ้องเดี่ยว มีฆ้องทองเหลืองจี นอง, วา มอง, แดแดะ มอง เมื่อนำฆ้องเดี่ยว 21 ใบไล่ระดับเสียงมาประกอบกันเป็นวงกลมจะได้เครื่องดนตรีอีกชนิดที่เรียกว่า ซี ไว ใกล้เคียงกับฆ้องวงของไทย ส่วน มอนซิ่น หรือฆ้องราง เป็นชุดฆ้อง 18-19 ใบ แต่ละใบวางลงในกรอบไม้และจัดเรียงเป็นแถวไม่เกิน 5 แถว

พม่ายังมีฆ้องอีกชนิดที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว คือ จี ซี หรือระฆังพม่า เป็นแผ่นทองเหลืองเรียบ รูปทรงสามเหลี่ยมคว่ำคล้ายเจดีย์ ปลายทั้งสองด้านงอนขึ้น นิยมใช้ประกอบพิธีกรรมในวัด และบ่อยครั้งที่เห็นพระสงฆ์ตีจี ซี ระหว่างเดินบิณฑบาตตอนเช้า