ผู้เขียน | จิตติมา ผลเสวก เรื่อง วิชัย จันทวาโร ภาพ |
---|---|
เผยแพร่ |
เดินไปเดินมาอยู่ที่สถานีรถไฟเทพา จังหวัดสงขลา พลันคิดถึงชีวิตวัยเด็กของตัวเองขึ้นมา มองตรงไปยังที่ว่างมีต้นฉำฉาใหญ่แผ่กิ่งก้านให้ร่มเงา ไกลออกไปอีกนั้นเป็นที่ตั้งบ้านเรือนผู้คน มีคนเดินไปมานานๆ ครั้ง ในสายแดดระยิบฉันเห็นภาพตัวเองเดินออกจากบ้านผ่านที่ว่างตรงมายังสถานีรถไฟ เห็นจอหนังกลางแปลงที่มักมาเปิดวิกฉายตรงลานโล่งระหว่างสถานีรถไฟกับชุมชนบ้านพักกรมทางหลวง ฉันเห็นตัวเองกับพี่ๆ หอบเสื่อมาจับจองที่นั่งหน้าจอ กลิ่นขนมของกินที่มักมาตั้งแผงขายตามวิกกลางแปลงอวลอยู่ในความรู้สึก
แล้วภาพเหล่านั้นก็ค่อยๆ อ่อนจางรางเลือนไปกับวันเวลา และสถานีรถไฟสงขลาก็ไม่มีอีกต่อไปแล้ว ฉันกลับมาสู่ภาพปัจจุบันที่กำลังเดินช้าๆ อยู่ที่สถานีรถไฟเทพา ที่ซึ่งยังมีกลิ่นอายการเดินทางแบบไม่เร่งรีบ เสียงเคาะระฆังเป็นสัญญาณบอกถึงการมาถึงของรถไฟ และบอกถึงเวลาจากไปเช่นกัน
แม้ว่าฉันจะเกิดที่จังหวัดสงขลา ทว่าฉันกลับรู้จักสงขลาน้อยมาก ด้วยว่าพ่อย้ายเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ ตั้งแต่ฉันยังเล็กๆ ช่วงวัยรุ่นที่ริเดินทางท่องไปในที่ต่างๆ ฉันก็ชมชอบการขึ้นเหนือ ไต่ไปตามดงดอยมากกว่า ตื่นใจกับอากาศหนาวเย็นหมอกเหมยดอกไม้สวย วิถีชีวิตชนเผ่าตามหมู่บ้าน ส่วนสงขลาเป็นวันเวลาของการกลับคืนบ้านเกิดเพื่อเยี่ยมญาติ
ฉันจึงไม่รู้จักลึกซึ้งกับสถานที่หลายแห่งในสงขลา อย่างที่ไม่รู้จักและไม่เคยมาอำเภอเทพา กระทั่งแว่วว่าจะมีโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเข้ามาสร้างที่เทพานี่เอง ฉันจึงได้เข้ามารู้จักกับเทพา หาอ่านประวัติจากอินเตอร์เน็ตตามแบบมนุษย์ดิจิตอลในยุคนี้ พบว่าสมัยก่อนเมื่อราวปี พ.ศ. 2444 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ปรับปรุงบ้านเมือง การปกครองหัวเมืองต่างๆ และได้ทรงจัดตั้งมณฑลเทศาภิบาลขึ้น เทพาได้ยกขึ้นเป็นอำเภอเทพาขึ้นกับจังหวัดสงขลา สมัยนั้นการสัญจรอาศัยเรือเป็นหลัก จึงตั้งที่ว่าการอำเภอขึ้นที่บ้านพระพุทธ ซึ่งมีแม่น้ำเทพากับทะเลหลวงด้านตะวันออก เหมาะต่อการเดินทาง
ครั้นบ้านเมืองเจริญขึ้นการสัญจรเปลี่ยนมาใช้ทางบก ถนนหนทางสะดวกสบายขึ้น ที่ว่าการอำเภอเทพาจึงย้ายมาตั้งที่บ้านท่าพรุใกล้กับสถานีรถไฟท่าม่วง ซึ่งต่อมาการรถไฟฯ ได้เปลี่ยนชื่อเป็นสถานีเทพา ตราบทุกวันนี้
ฉันสังเกตเห็นมาหลายแห่งแล้วว่า ตลาดมักจะอยู่ใกล้สถานีรถไฟ บ้านเกิดฉันที่บ่อยางหรืออำเภอเมืองสงขลาปัจจุบันก็มีตลาดขนาดใหญ่อยู่ใกล้สถานีรถไฟ หรือสมัยที่ครอบครัวเราย้ายเข้าบางกอกแรกๆ เราเช่าบ้านอยู่แถวสถานีบางกอกน้อย ที่นั่นก็มีตลาดขนาดใหญ่ตั้งอยู่ใกล้สถานีรถไฟ สันนิษฐานว่าแม่ค้าพ่อค้าจากที่ต่างๆ คงนำข้าวของโดยสารรถไฟมาวางขาย จนกลายเป็นตลาดประจำไปในที่สุด หรืออาจเป็นด้วยว่าตามสถานีรถไฟมีผู้โดยสารไปมาตลอด บางคนมาใกล้บางคนมาไกล ต้องการซื้อหาของกินและของฝากกลับบ้าน เมื่อมีคนซื้อจึงมีคนขายเกิดขึ้นเป็นตลาดนับแต่นั้นมา
ตลาดสถานีรถไฟเทพาไม่ได้ปลูกสร้างถาวร เป็นเพิงเล็กๆ มุงหลังคาสังกะสีเรียงรายสองข้างถนน มีต้นไม้ใหญ่ให้ร่มเงา แสงที่ฉายผ่านร่มไม้ได้ระบายเงาให้ทางเดินมีลวดลายสวยงาม ภาพและกลิ่นบางอย่างทำให้ฉันนึกถึงตลาดเล็กๆ ชานเมืองย่างกุ้ง ประเทศพม่า
เทพามีชาวมุสลิมอาศัยอยู่เป็นส่วนใหญ่ ตลาดนี้ส่วนใหญ่แม่ค้าพ่อขายเป็นชาวมุสลิม จึงอย่าได้หวังว่าจะเห็นแผงขายเนื้อหมู มีแต่แผงขายไก่ เนื้อวัว และเนื้อแพะ ส่วนผักผลไม้ไร้พรมแดนศาสนาจึงมีให้เลือกไม่ต่างกัน ลูกเนียง มันขี้หนู ผักเหรียง สะตอก็ยังพอมี ประดาเหล่านี้เป็นพืชผักยอดนิยมของทางใต้ ส่วนปลาทะเลนั้นไม่ต้องพูดถึง มากมายก่ายกองเห็นแล้วอยากมีครัวทำกับข้าวกินเอง
ทุกครั้งที่เข้าตลาดไม่ว่าจะที่ไหน สิ่งที่กวักมือเรียกฉันเสมอคือ แผงขายขนมและของกินพื้นถิ่น ขนมทางใต้คล้ายๆ กัน มีขนมครกมันเค็มจิ้มน้ำตาลกิน ข้าวเหนียวหน้าต่างๆ และที่พิเศษมีเฉพาะพื้นที่ทะเลคือ ขนมคนที ใช้แป้งข้าวเจ้านวดให้เข้ากับสีที่ได้จากใบคนที จนได้แป้งสีดำนึ่งสุกคลุกมะพร้าวโรยด้วยน้ำเชื่อมที่ทำจากน้ำตาลโตนด
ที่ว่าเป็นขนมพิเศษพบตามชุมชนชายทะเล ก็เพราะต้นคนทีเกิดอยู่ตามชายทะเล นอกจากเอามาเป็นส่วนผสมของขนม ดอกสีม่วงเล็กๆ นั้นยังสวยงามน่ามอง
นอกจากตลาดเล็กๆ ที่ชวนเดิน สถานีรถไฟเทพายังมีของกินที่เป็นเอกลักษณ์ ผู้คนนิยมชมชอบกันมานับสิบปี กระทั่งอำเภอยกขึ้นมาเป็นอาหารโอท็อปกันเลยทีเดียว นั่นคือ ข้าวราดแกงเขียวหวานกับไก่ทอดไร้หนัง เป็นของกินเดินขายตอนรถไฟเทียบสถานี แม่ค้าจะมีถาดหิ้วเหมือนๆ กัน ใส่ไก่ทอด หม้อแกง กระทงใบตองกับช้อน อีกมือหิ้วหม้อข้าว
ถ้าถามว่า เจ้าไหนอร่อย คนแถวนั้นเขาจะตอบว่า อร่อยเหมือนกันทุกเจ้า
บางคนที่เคยได้ยินชื่อเสียงไก่ทอดเทพาอาจจะนึกว่ามีไก่ทอดอย่างเดียวที่เลื่องชื่อ หารู้ไม่ว่าต้องมีข้าวราดแกงเขียวหวานอีกด้วย จึงจะได้รสแห่งเทพาแท้จริง
เสียงพนักงานรถไฟเคาะระฆังเสียงใส ส่งสัญญาณว่ารถไฟขบวนต่อไปใกล้มาถึงแล้ว ผู้โดยสารเตรียมตัวหยิบข้าวของมาวางเพื่อความสะดวกรวดเร็วในการขึ้นรถไฟ เมื่อรถไฟเทียบชานชาลาแม่ค้าหิ้วถาดหิ้วหม้อข้าวเดินไปเสนอขายตามหน้าต่าง ร้องถามว่า “กินข้าวมั้ย กินข้าวมั้ย” เมื่อมีคนซื้อก็จะวางของลงหยิบกระทงมาตักข้าวราดแกงวางไก่ทอดลงไปชิ้นหนึ่ง เสียบช้อนในกระทงแล้วยื่นไปทางหน้าต่าง
ไม่นานรถไฟก็แล่นจากไป คนขายของถอยกลับมาหาที่นั่ง บางคนเตรียมเติมสินค้าที่พร่อง ความเคลื่อนไหวเหล่านี้คงวนเวียนไปมาซ้ำเดิมนานเนิ่นหลายสิบปี แม่ค้าที่บอกว่าขายข้าวแกงไก่ทอดเทพามากว่ายี่สิบปี ก็คงย่ำเดินไปมาตั้งแต่สาวจวบชรา เป็นชีวิตธรรมดาของคนเทพาที่เขาคงไม่คิดอยากเปลี่ยนแปลง ฉันคิดว่าอย่างนั้นนะ…