เกษตรกรปลื้ม มีรายได้เสริม ยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

เป็นที่ประจักษ์ชัดว่าผลพวงจากโครงการอันเนื่องมาจากพระดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรที่มีกว่า 4,000 โครงการนั้น มีส่วนสำคัญที่ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตของราษฎรไทยดีขึ้น เพราะมีอาชีพที่มั่นคงยั่งยืน อีกทั้งครอบครัวมีความสุข ได้อยู่กันพร้อมหน้าพร้อมตา

องค์กรหนึ่งที่มีบทบาทในการดำเนินงานตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริก็คือ มูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ และสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ ที่มี ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล นั่งเก้าอี้ประธานกรรมการสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระฯ ซึ่งได้เข้าไปช่วยเหลือชาวบ้านเรื่องการทำมาหากินในหลายพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นที่น่าน อุดรธานี ขอนแก่น กาฬสินธุ์ เพชรบุรี อุทัยธานี ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส

 สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

ทั้งนี้ ในการทำงานของสถาบันปิดทองหลังพระฯ นั้นมุ่งดำเนินงานตามพระราชดำริและหลักการทรงงานของพระองค์ท่าน นั่นคือ เน้นการพัฒนาชุมชนตามหลักการองค์ความรู้ ใน 6 มิติ ได้แก่ ดิน น้ำ เกษตร พลังงานทดแทน ป่า และสิ่งแวดล้อม โดยจะปรับน้ำหนักของแต่ละเรื่องตามสภาพภูมิสังคมและสภาพปัญหาของชุมชนในแต่ละพื้นที่ให้ชุมชนมีส่วนร่วมในกระบวนการวิเคราะห์ปัญหาและพัฒนามากที่สุด และให้ชุมชนเป็นเจ้าของโครงการเพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

ในส่วนของภาคเกษตรนั้น พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงให้ความสำคัญมาก  ทรงเน้นใช้หลักการพัฒนาการเกษตรที่ส่งเสริมให้เกษตรกรสามารถพึ่งตนเองได้ โดยเฉพาะในด้านอาหารก่อนเป็นอันดับแรก เช่น ข้าว พืชผัก ผลไม้ ฯลฯ อันเป็นการพัฒนาตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งมีขั้นตอน 3 ขั้น คือ ขั้นที่ 1 ครัวเรือนพึ่งตนเองได้ ขั้นที่ 2 ชุมชนร่วมกลุ่มพึ่งตนเองได้ และ ขั้นที่ 3 เริ่มออกไปสู่ภายนอกชุมชนเพื่อเชื่อมโยงแหล่งทุนองค์ความรู้และเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อพัฒนาท้องถิ่นของตนเอง

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงแนะนำว่าพื้นที่เท่าที่มีอยู่ ทรัพยากร คนในครัวเรือนหรือแรงงาน ซึ่งมีอยู่ไม่กี่คนต้องมานั่งคิดว่าจะจัดสรรปันส่วนพืชเศรษฐกิจ พืชหลักมีอะไร พืชเสริมมีอะไร แหล่งน้ำมีเท่าไรจึงสามารถปลูกพืชที่จะให้ผลผลิตต่อปีได้ ผลผลิตบางอย่างเก็บกินรายวันได้ และที่สำคัญพระองค์เน้นมากคือ ต้องจดวิเคราะห์แล้วว่าจะปลูกอะไร ที่ผ่านมาปลูกอะไรแล้วได้กำไร ปลูกอะไรขาดทุน

เกษตรกรปลูกพืชผักสวนครัว ให้มีรายได้เพิ่มจากพืชหลัก

พร้อมกันนี้ยังทรงแนะนำอีกว่า ถ้าขายคนเดียวจะไปไม่รอด ต้องรวมตัวกัน หลายครัวเรือนมารวมกลุ่มดูแลกัน ในเรื่องการผลิต การขาย การรวมกลุ่มจะสามารถแบ่งงานกันว่าใครถนัดเรื่องอะไรก็ทำตรงนั้น ถนัดการผลิตก็เป็นฝ่ายผลิต ใครถนัดเรื่องขายก็ออกไปหาตลาดไปทำความรู้จักจริงๆ ว่าตลาดต้องการผลผลิตแบบไหน

ด้วยเหตุนี้เองที่ผ่านมา ทางชาวบ้านในแต่ละพื้นที่ที่ปิดทองเข้าไปจึงได้รวมกลุ่มกันจัดตั้งเป็นกองทุน เป็นกลุ่มต่างๆ พร้อมกันนั้นได้ร่วมมือกับสถาบันการศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งนอกจากจะทำให้ฐานะความเป็นอยู่ของชาวบ้านดีขึ้นแล้ว ยังทำให้คนในชุมชนมีความรัก มีความสามัคคี เสียสละ และมีความรับผิดชอบต่อส่วนรวมมากขึ้น

คุณบุญมี มาหนองค้า เลี้ยงวัวขุนเป็นอาชีพเสริม

รายได้เสริมหลังทำนา

อย่างที่ คุณบุญโฮม พันพรม ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 3 บ้านโคกล่าม ตำบลกุดหมากไฟ อำเภอหนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานี เล่าว่า นับตั้งแต่สถาบันปิดทองฯ เข้ามาตั้งสำนักงานในตำบลกุดหมากไฟเมื่อ 7 ปีที่แล้ว ทำให้คนในชุมชนมีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นเพราะได้เข้ามาช่วยเหลือ ทำให้ชาวบ้านมีน้ำใช้ในการเกษตร และให้คำแนะนำในการปลูกพืช โดยบางส่วนก็แจกเมล็ดพันธุ์ให้ บางส่วนก็ให้ยืม และยังส่งเสริมเรื่องการผลิตและการใช้ปุ๋ยอินทรีย์

นอกจากนี้ ยังมีรายได้เสริมจากการปลูกพืชระยะสั้นหลังเก็บเกี่ยวข้าว อย่างเช่น ข้าวโพด ผักสวนครัว และหอมแดง ขณะเดียวกัน ก็เลี้ยงวัวและควายด้วย ส่วนแม่บ้านยังรวมตัวกันแปรรูปกล้วย ซึ่งทางสถาบันปิดทองฯ ได้เชิญให้มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานีมาให้คำแนะนำ

ชาวบ้านปลูกมะเขือเทศช่วงหลังเกี่ยวข้าวเสร็จ

ด้าน คุณหมวย ดอนศรีโคตร ประธานกลุ่มผลิตภัณฑ์แปรรูปกล้วย ตำบลกุดหมากไฟ ให้ข้อมูลว่า มีสมาชิก 8 คน ก่อนหน้านี้ทำน้ำข้าวกล้อง แต่เจอปัญหาเก็บไว้ได้ไม่นานแค่ 5 วันเท่านั้น จึงหันมาแปรรูปกล้วย ทำเป็นกล้วยทอดรสชาติต่างๆ อย่างเช่น รสปาปริก้า รสบาร์บีคิว รสชีส รสสไปซี่ รสต้มยำ รสสาหร่าย รสหวาน และรสจืด ซึ่งผลตอบรับดีมาก โดยส่งขายตามโรงเรียนในพื้นที่ ตามร้านค้าที่อยู่ในหมู่บ้าน และอาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานีที่มาส่งเสริมสั่งไปขายบ้าง โดยใส่ถุงขายถุงละ 10 บาท แต่ถ้าเป็นถุงซิปอย่างดีน้ำหนัก 80 กรัม ขาย 30 บาท ประธานกลุ่มผลิตภัณฑ์แปรรูปกล้วยฯ กล่าวถึงสาเหตุที่กลุ่มนำกล้วยมาแปรรูปว่า เนื่องจากในหมู่บ้านปลูกกล้วยกันมาก มีทั้งกล้วยน้ำว้า กล้วยไข่ และกล้วยหอม จึงอยากนำผลผลิตของชาวบ้านมาแปรรูป วันหนึ่งสามารถทอดได้ 10 กว่ากิโลกรัม โดยรับซื้อตั้งแต่หวีละ 5 บาท 15 บาท และ 20 บาท แล้วแต่ขนาด ส่วนกล้วยหอมรับซื้อหวีละ 20-30 บาท ซึ่งจะมีชาวบ้านนำกล้วยมาขายให้ทุกวันประมาณวันละ 50-60 หวี

ข้าวโพดหวานเป็นพืชอีกชนิดทำรายได้ดี

ประธานกลุ่มผลิตภัณฑ์แปรรูปกล้วยกล่าวด้วยว่า เดิมนั้นทางกลุ่มทอดกล้วยเสร็จก็นำน้ำตาลที่เคี่ยวไว้แล้ว โรยเข้าไป แต่ทางอาจารย์ราชภัฏอุดรธานีแนะนำว่า พอทอดน้ำมันเสร็จแล้วคลุกกับน้ำเชื่อมจากนั้นนำกล้วยลงไปทอดในกระทะน้ำมันที่ไม่ร้อนจัดอีกรอบ จะทำให้กล้วยหวานทั้งแผ่น อย่างไรก็ตาม จากที่ขายมาสักพักเด็กๆ นักเรียนไม่ชอบรสหวานและรสธรรมชาติ ส่วนใหญ่จะชอบรสชีสและรสบาร์บีคิว

“นอกจากจะทำกล้วยทอดรสชาติต่างๆ แล้ว อาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ยังแนะนำว่าควรจะทำข้าวแต๋นด้วย ซึ่งจะได้กำไรดีกว่าแปรรูปกล้วย เพราะมีทั้งต้นทุนในเรื่องน้ำมันและกล้วย แต่ถ้าเป็นข้าวแต๋นจะได้ใช้วัตถุดิบที่ไม่ต้องซื้อมา พร้อมกันนี้ก็กำลังเริ่มทำกล้วยตากด้วย โดยตากในโรงตากพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งหากหมุนเวียนทำผลิตภัณฑ์ต่างๆ จะทำให้กลุ่มมีงานทำตลอด เพราะบางช่วงกล้วยอาจจะมีไม่เยอะ ก็จะได้ไปทำอย่างอื่น” คุณหมวย กล่าวและว่า ในส่วนของการทำน้ำข้าวกล้อง หากมีใครสั่งมาทางกลุ่มก็ยังทำอยู่ เป็นการทำตามคำสั่งซื้อของลูกค้าเท่านั้น ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของลูกค้าเพราะรสชาติไม่หวานมาก หอมทั้งข้าวหอมมะลิ ถั่วและงาที่ใช้เป็นวัตถุดิบ

คณะอาจารย์ มข. อบรมการทำกล้วยฉาบให้แก่กลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์บ้านทุ่งโป่ง

 อาจารย์ มข. ร่วมให้ความรู้

ในการดำเนินงานของสถาบันปิดทองฯ นั้น หลักการอย่างหนึ่งคือ ชักชวนหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วม โดยเฉพาะสถาบันการศึกษา เพราะมีองค์ความรู้อยู่แล้ว สำหรับในพื้นที่ขอนแก่นนั้น มข. เป็นหน่วยงานหนึ่งที่เข้ามาร่วมกับสถาบันปิดทองฯ ในหลากหลายโครงการ

ผศ.ดร.สมสมร แก้วบริสุทธิ์ คณะเกษตรศาสตร์ มข. แจกแจงให้ฟังว่า คณะเกษตรฯ ได้ร่วมกับสถาบันปิดทองฯ ดำเนินงานโครงการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มผลผลิตและเพิ่มรายได้ จำนวน 8 โครงการในพื้นที่ทุ่งโป่ง อำเภออุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น หนึ่งโครงการในนั้นคือ การแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรที่ทางสถาบันปิดทองฯ ส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูก อย่างเช่น กล้วยน้ำว้า มันเทศ และฟักทองตกเกรดที่ไม่สามารถส่งขายให้ห้างแม็คโครได้

ในช่วงต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมามาสอนการทำกล้วยฉาบ มันฉาบ และฟักทองฉาบให้กับกลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์ของบ้านทุ่งโป่ง ที่มีสมาชิก 15 คน ซึ่งก่อนหน้านี้ก็ได้จัดอบรมการทำขนมดอกจอกทอด ข้าวพองทอด และการทำแจ่วบอง จนมีสมาชิกทำแจ่วบองขายในหมู่บ้านและพื้นที่ใกล้เคียง

คุณบุญโฮม พันพรม

ผศ.ดร.สมสมร กล่าวอีกว่า การจะอบรมเรื่องอะไรนั้น จะระดมความคิดของชาวบ้านก่อนว่าในชุมชนมีทรัพยากรกรหรือวัตถุดิบอะไรบ้าง และจะมีช่วงไหนอย่างไร เพื่อให้กลุ่มแม่บ้านมีรายได้เสริมจากอาชีพหลักในการทำนาทำไร่ และเป็นการใช้เวลาให้คุ้มค่า โดยเริ่มต้นขายในชุมชนก่อน ที่สำคัญเป็นการซื้อผลผลิตในหมู่บ้าน

“เดิมนั้นชาวบ้านเคยฉาบกล้วยขายกันอยู่แล้ว แต่ทำออกมาเป็นเกล็ดน้ำตาล จึงได้แนะเทคนิคการฉาบให้ โดยการนำกล้วย ฟักทองและมันที่ทอดเสร็จแล้ว ไปราดน้ำเชื่อมที่เตรียมไว้ จากนั้นนำไปทอดน้ำมันซ้ำอีกรอบ จะทำให้ได้กล้วยฉาบที่หวานกำลังดีและแวววาว พร้อมแนะนำให้ทำหลายรสชาติ อย่างเช่น รสปาปริก้า รสเนยหวาน เพื่อให้ถูกปากลูกค้าหลากหลายกลุ่ม รวมทั้งปรับเปลี่ยนแพ็กเกจจิ้งเพื่อให้เก็บได้นานขึ้นและดูดี” ผศ.ดร.สมสมร กล่าวและว่า ในระยะเริ่มแรกนี้ชาวบ้านทำขายกันเองในหมู่บ้านก็แพ็กเป็นถุงขายถุงละ 10 บาท แต่ถ้าเป็นถุงที่มีซิปจะราคาแพงขึ้น แต่ก็เก็บได้นานขึ้นและคงความกรอบดี สามารถนำไปขายตลาดในเมืองได้

ผศ.ดร.สมสมร แก้วบริสุทธิ์

 ชุมชนรวมตัวทำแจ่วบองขาย

คุณนาตยา ทองโคตร ประธานกลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์บ้านทุ่งโป่ง กล่าวว่า หลังจากทางอาจารย์สมสมรได้มาสอนวิธีการทำขนมดอกจอกทอดและแจ่วบองก็มีสมาชิกนำสูตรไปทำขาย โดยติดสติ๊กเกอร์กลุ่มแม่บ้าน ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีเพราะก่อนหน้านี้พอหมดช่วงทำไร่ทำนากลุ่มแม่บ้านไม่ได้ทำอะไร แต่ตอนนี้ก็มารวมตัวกันทำอาชีพแสริม ทำให้มีรายได้เพิ่ม

“ทางกลุ่มแม่บ้านเองไม่ได้เก่งเรื่องการขายของ รวมทั้งเรื่องการทำบัญชี ทางอาจารย์ มข. ก็มาสอนการทำบัญชีให้ ส่วนทางปิดทองฯ มาช่วยเรื่องหาตลาดให้ โดยในระยะแรกขายในหมู่บ้านของตัวเองและในหมู่บ้านใกล้เคียง ซึ่งตอนนี้กล้วยน้ำว้าออกเยอะมากจึงนำมาแปรรูป ครั้งหนึ่งทอดได้ 300 ถุง ขายส่ง 12 ถุง 100 บาท”

ขณะเดียวกัน คุณพิกุล โชคลา สมาชิกกลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์บ้านทุ่งโป่ง เล่าว่า ในส่วนของกลุ่มแม่บ้านห้วยยางหมู่ที่ 6 มีสมาชิก 6 คน พอเข้าอบรมการทำแจ่วบองเมื่อปลายเดือนพฤษภาคม จากนั้นลองทำขายในหมู่บ้าน ซึ่งทำสั่งครั้งละ 100-200 กระปุก โดยขายส่ง 12 กระปุก 100 บาท ขายปลีกกระปุกละ 10 บาท คิดแล้วได้กำไรกระปุกละ 4 บาท เพราะค่ากระปุกแพง ตกกระปุกละ 2.50 บาท

คุณพิกุล กล่าวด้วยว่า การอบรมการแปรรูปได้ประโยชน์มาก โดยเฉพาะการทำแจ่วบองเพราะคนในชุมชนกินกันเป็นประจำอยู่แล้ว โดยมีทั้งแบบสุกและแบบดิบแล้วแต่ลูกค้าจะสั่ง นอกจากนี้ ทางกลุ่มยังได้ปรับรสชาติให้เป็นที่ถูกปากของคนในชุมชนด้วย อย่างเช่น เพิ่มน้ำกระเทียมดองเพื่อให้มีรสชาติออกหวานหน่อย แต่ละครั้งสามารถทำได้ประมาณ 50 กระปุก

“ที่ผ่านมาทำแจ่วบองไปแล้ว 8 ครั้ง ได้เงินมาทั้งหมด 2,850 บาท นำไปปันผลให้สมาชิก 6 คน รวม 2,150 บาท เหลือเป็นกองทุน 700 บาท ดังนั้น ทางกลุ่มจึงได้ทำเรื่องงบประมาณจากทาง อบต.ทุ่งโป่ง จำนวน 5,000 บาท เพื่อนำไปซื้ออุปกรณ์ เพราะตอนนี้ใช้วิธีนำอุปกรณ์ของแต่ละบ้านมาใช้กัน ไม่มีเงินสนับสนุนจากหน่วยงานรัฐมาช่วยเพราะเป็นกลุ่มเล็กๆ ที่เพิ่งตั้งขึ้นมาใหม่” คุณพิกุล กล่าว

หนองเลิงเปือย

 ส่งเสริมเลี้ยงสัตว์หลายประเภท

สำหรับการสนับสนุนให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มนอกเหนือจากการปลูกพืชเศรษฐกิจ อย่างข้าว อ้อย มันสำปะหลัง และยางพารา โดยโครงการการปลูกพืชหลังนาแล้ว ทางสถาบันปิดทองฯ ยังได้ส่งเสริมการเลี้ยงวัว เลี้ยงไก่ เลี้ยงปลา เลี้ยงกุ้ง และเลี้ยงหมูด้วย

อย่าง คุณบุญมี มาหนองค้า อายุ 58 ปี เกษตรกรบ้านโนนสะอาด หมู่ที่ 1 ตำบลทุ่งโป่ง อำเภออุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น ซึ่งได้เข้าร่วมโครงการส่งเสริมการเลี้ยงโคหลุมที่สถาบันปิดทองฯ ร่วมกับ มข. เพื่อให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนวิธีเลี้ยงวัว จากเดิมเลี้ยงแบบปล่อยตามธรรมชาติ เปลี่ยนเป็นการสร้างคอกให้อยู่ ขณะเดียวกัน ก็แนะนำให้ปลูกหญ้าเนเปียร์ไว้ให้โคกินตลอดทั้งปี

คุณบุญมี เล่าว่า เมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา ได้รับวัวพันธุ์บราห์มัน 2 ตัวเป็นวัวขุนมาเลี้ยง รวมกับวัวลูกผสมที่เลี้ยงไว้อยู่เดิม 6 ตัว ซึ่งถือเป็นอาชีพเสริมในการปลูกพืชไร่อย่างมันสำปะหลัง ดังนั้น จึงได้ซื้อเครื่องสับหญ้าและเครื่องสับมันสำปะหลังมาใช้เลี้ยงวัวรวมทั้งหมด 9 ตัว จากเดิมที่เลี้ยงแบบปล่อยให้กินหญ้าเองตามป่าตามทุ่ง แต่ตอนนี้ทางโครงการแนะนำให้สร้างคอกเพื่อให้วัวอยู่เป็นหลักแหล่ง จึงได้สร้างคอกใหม่ไปประมาณ 5,100 บาท และปรับปรุงคอกเก่าที่มีอยู่แล้ว พร้อมกันนั้นได้ปลูกหญ้าเนเปียร์ไว้ 2 ไร่ และนำมันสำปะหลังทั้งต้นและหัวมาเป็นอาหารของวัว

คุณบุญมี กล่าวว่า การเลี้ยงวัวแบบให้อยู่ในคอกมีจุดดีตรงที่ปีหนึ่งสามารถเลี้ยงได้ 2 รุ่น คือพอเลี้ยงได้ 6-8 เดือนก็สามารถขายได้เลย และยังมีเวลาที่ไปทำอย่างอื่นได้ ไม่ต้องคอยเฝ้าหรือพะวงในการไปเก็บวัวเข้าบ้าน ลดภาระได้หลายอย่าง ขณะที่การเลี้ยงวัวแบบปล่อยตามธรรมชาติต้องใช้เวลาเลี้ยง 1-2 ปีถึงจะขายได้ ซึ่งทางอาจารย์ มข. ยืนยันว่าหากเลี้ยงแบบให้อยู่ในคอก ถ้ามีการควบคุมโรคสัตว์ให้ดีและดูแลตามขั้นตอน จะสามารถทำกำไรได้ตัวละ 5,000 บาท

จากคำบอกเล่าของชาวบ้านในพื้นที่ต่างๆ ที่ได้นำเสนอมานี้ ล้วนตอบตรงกันว่า สถาบันปิดทองฯ ได้เข้าช่วยเกษตรกรในการทำมาหากิน ไม่ว่าจะเป็นอาชีพหลักหรืออาชีพเสริม จนทำให้พวกเขามีรายได้เพิ่มขึ้น โดยยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรรัชกาลที่ 9 สามารถนำมาดำเนินการได้ในทุกยุคทุกสมัย และใช่จะเกิดประโยชน์ต่อส่วนตนเท่านั้น ยังรวมไปถึงประโยชน์ของส่วนรวมด้วย