‘บาติก’ อินโดนีเซีย มรดกทางวัฒนธรรมของ ‘มนุษยชาติ’

ปลายปากกาเขียนเทียน จันติ้ง (Canting หรือ Tjanting) จุ่มน้ำเทียน เขียนลวดลายอันละเอียดประณีตลงบนผืนผ้า เกิดเป็น ผ้าบาติก ลวดลายงดงามทรงคุณค่าที่บ่งบอกถึงศาสนา วัฒนธรรม ภูมิปัญญา และวิถีชีวิตความเป็นอยู่ ฯลฯ ของศิลปินผู้สร้างสรรค์ผลงาน

การทำผ้าบาติกในระยะแรกนิยมทำกันเฉพาะในหมู่ชนชั้นสูง หรือทำเฉพาะในราชสำนัก แต่ก็มีผู้ให้ความเห็นขัดแย้งว่า“น่าจะเป็นศิลปะพื้นบ้านที่ใช้กันเป็นสามัญทั่วไป”

แต่กระนั้นก็ยังไม่มีผู้ใดสามารถระบุถึงที่มาที่ไปของแหล่งกำเนิดของผ้าบาติกที่แท้จริงได้ โดยนักวิชาการส่วนใหญ่คาดว่า ผ้าบาติกเกิดขึ้นในแถบกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ที่สำคัญ ลวดลายที่ปรากฏอยู่บนผืนผ้าสามารถสื่อความหมายถึงสถานะและตำแหน่งของผู้ที่สวมใส่ได้ จึงมีการกำหนดให้ ลวดลาย Udan liris เป็นลวดลายที่สงวนไว้สำหรับพระมหากษัตริย์หรือเชื้อพระวงศ์เท่านั้น

ขณะที่ลวดลาย Udan liris มีลักษณะของความอุดมสมบูรณ์ ความหวัง ความเจริญรุ่งเรือง ความกล้าหาญ และความมุ่งมั่นที่จะปกครองประเทศชาติ ซึ่งสิ่งสำคัญที่สุดคือ “ประชาชนธรรมดาไม่สามารถสวมใส่ลวดลายนี้ได้”

ที่กล่าวมานี้เป็นเพราะ หอศิลป์ บ้านจิมทอมป์สัน กำลังจัดนิทรรศการ POLA-Patterns of Meaning (โพลา-ลวดลายแห่งความหมาย) เปิดมุมมองต่อประเทศอินโดนีเซีย กับหลาก “สัญญะ” บนผืนผ้าบาติก

นิทรรศการสื่อผสมที่นำเสนอเรื่องราวของประเทศอินโดนีเซียในหลากหลายมิติ ทั้งประวัติศาสตร์ อัตลักษณ์ของความเป็นชาติ การเมือง เศรษฐกิจ สังคม ชนชั้น และบริบทการเปลี่ยนแปลงตามกาลเวลา ผ่านความหมายที่แฝงอยู่ในลวดลายของ 22 ผืนผ้าบาติกโบราณที่หาชมได้ยาก

ผู้สนใจสามารถเข้าชมฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย โดยนิทรรศการจัดแสดงถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2561 ตั้งแต่เวลา 09.00-20.00 น. ทุกวัน ไม่เว้นวันหยุดราชการ สอบถามข้อมูลและรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เฟซบุ๊ก “The Jim Thompson Art Center” และเว็บไซต์ www.jimthompsonartcenter.org

นิทรรศการ โพลา-ลวดลายแห่งความหมาย

‘บาติก’ นำพาสู่ความขัดแย้ง

ในปี พ.ศ.2543 รัฐบาลมาเลเซียรณรงค์ให้ชาวมาเลเซียสวมใส่เสื้อผ้าที่ตัดเย็บจากผ้าบาติก โดยการรณรงค์ดังกล่าวได้สร้างความไม่พอใจให้ชาวอินโดนีเซีย พร้อมกล่าวหาว่า มาเลเซียพยายามที่จะขโมยสมบัติประจำชาติของอินโดนีเซีย รัฐบาลอินโดนีเซียได้ทำการเคลื่อนไหว เพื่อเรียกร้องให้สหประชาชาติ หรือยูเนสโก (UNESCO) ขึ้นทะเบียนผ้าบาติกอินโดนีเซียเป็นหนึ่งในมรดกโลก

กระทั่งปี พ.ศ.2552 ยูเนสโกได้ประกาศให้ผ้าบาติกอินโดนีเซียเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ ชาวอินโดนีเซียจึงรู้สึกเหมือนศาลโลกตัดสินให้พวกเขาเป็นเจ้าของผ้าบาติกแต่เพียงผู้เดียว ในขณะที่ชาวมาเลเซียรู้สึกคล้ายศาลตัดสินไม่เป็นธรรม เพราะมาเลเซียเองก็อ้างว่าเป็นเจ้าของผ้าบาติกนี้เช่นกัน

แต่อย่างไรก็ดี โดยหลักการแล้วนั้น ยูเนสโกประกาศให้ผ้าบาติกอินโดนีเซียเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ ไม่ได้ประกาศให้เป็นสมบัติเฉพาะของประเทศใดประเทศหนึ่ง

 

เส้นทางของ’บาติก’
และบทบาทของผู้หญิงในอุตสาหกรรม

เส้นทางการพัฒนาผ้าบาติกในประเทศอินโดนีเซีย นอกจากจะสะท้อนความหมายในแง่การส่งผ่านและการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมแล้ว ในอีกแง่หนึ่ง ยังมีส่วนช่วยสนับสนุนและมีส่วนสัมพันธ์กับนโยบายทางการเมืองและเศรษฐกิจของประเทศ

ปัจจุบันการผลิตผ้าบาติกในท้องตลาดเป็นไปเพื่อตอบสนองความต้องการตามกระแสนิยม และยังมีการผลิตแบบราคาถูก เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้สวมใส่ที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก

จนเกิดคำถามที่ว่า แท้จริงแล้ว เมื่อเราพูดถึงผ้าบาติก เรากำลังพูดถึงผ้าที่มีเทคนิคของการเขียนลายด้วยเทียนและการย้อมสีบนผ้าทอ หรือเรากำลังพูดถึงลวดลายต่างๆ กันแน่‚

เรสตู รัตนานิงตียัส ศิลปินผ้าบาติกชาวอินโดนีเซีย กล่าวว่า ยังคงใช้กระบวนการผลิตผ้าบาติกแบบดั้งเดิม ตั้งแต่การต้มสีย้อมธรรมชาติ การสร้างลวดลาย กระทั่งการเขียนเทียนลงบนผืนผ้าด้วยจันติ้ง โดยลวดลายที่ปรากฏอยู่ในผลงานเกิดจากแรงบันดาลใจเรื่องสถานภาพของผู้หญิงในอุตสาหกรรมผลิตผ้าบาติก

เนื่องด้วยผู้สร้างสรรค์ผลงานผ้าบาติกส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงที่มีตำแหน่งเป็น บก มะเซฮ์ ในหมู่บ้านละเวยัน เมืองสุราการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นหมู่บ้านเล็กๆ ที่เป็นศูนย์กลางผ้าบาติกสำคัญในประเทศอินโดนีเซีย

ผลงานโดย เรสตู รัตนานิงตียัส

บก มะเซฮ์ เป็นตำแหน่งหรือฐานะที่มอบให้กับผู้หญิงจำนวนหนึ่งในหมู่บ้านที่ได้รับการยอมรับว่าประสบความสำเร็จในการประกอบและพัฒนาธุรกิจ จึงเห็นได้ว่า ผู้หญิง มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในพื้นที่ ซึ่งดูขัดแย้งกับแนวคิดของสังคมในเรื่องความสัมพันธ์ทางเพศสภาวะในเชิงชีวิตภายในครัวเรือนและในที่สาธารณะ

โดยชุมชนส่วนใหญ่ในประเทศอินโดนีเซียยังคงจำกัดพื้นที่ในการแสดงความคิดเห็นสำหรับผู้หญิง ผลงานนี้จึงพยายามจะทำความเข้าใจแนวคิดเหล่านี้ และกระตุ้นให้คนทั่วไปตั้งคำถามถึงรูปแบบของความสัมพันธ์ทางเพศสภาวะในวิถีปฏิบัติทางวัฒนธรรมที่มีแนวโน้มจะวางผู้หญิงในบทบาทของผู้ตาม

เมื่อความดั้งเดิมถูกทำลาย จึงต้องสร้างใหม่เพื่อต่อยอด
ขณะที่ เอลวิน ประดิปตา ศิลปินผ้าบาติกชาวอินโดนีเซีย แสดงความคิดเห็นถึงผลงานว่า เกิดจากการรวบรวมผลงานที่ผ่านมา โดยการเสนอเป็นลวดลายผ้าบาติกที่ร่วมสมัย มีเนื้อหาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมเป็นสินค้า และประวัติศาสตร์ของเมืองบันดุง

“บันดุง” ไม่ใช่เมืองศูนย์กลางการผลิตผ้าบาติกที่สร้างสรรค์ลวดลายอันมีรูปแบบเป็นเอกลักษณ์มาแต่อดีต ทำให้หลายคนมองว่า ผ้าบาติกแบบบันดุงเหล่านี้ดูช่างเสแสร้ง และถูกคิดขึ้นเพื่อถมช่องว่างทางอัตลักษณ์ หรือเพียงแค่เพื่อจำหน่ายให้แก่นักท่องเที่ยวเท่านั้น ยิ่งส่งผลให้ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา คุณค่าทางประเพณีดั้งเดิมที่เคยฝังลึกลงไปในผ้าบาติกสูญเสียความสำคัญไป

“ผ้าบาติกกลายเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ ที่จำหน่ายเป็นสินค้าที่ระลึกให้กับนักท่องเที่ยว คุณค่าเชิงวัฒนธรรมและสิ่งที่เคยสอดแทรกลงไปในผืนผ้ากลับค่อยๆ จางหายลงไปทุกวัน

“ผ้าบาติกถูกมองเป็นเพียงสินค้าชนิดหนึ่ง ที่มีหน้าตาเฉพาะและผลิตขึ้นด้วยเทคนิคบางประการเท่านั้น” เอลวินกล่าว

ด้าน นินธิโย อดิปูร์โนโม ตัวแทนกลุ่มศิลปินผ้าบาติกชาวอินโดนีเซีย“จาฮายา เนเกอรี” กล่าวว่า ความแตกต่างอย่างมีนัยยะสำคัญระหว่าง “ลวดลายตกแต่ง” และ “ลวดลายในผ้าบาติก”

ตามที่เข้าใจคือ ลวดลายตกแต่งเป็นลวดลายที่ไม่ได้อ้างอิงถึงเรื่องราวใดๆ ว่างเปล่า ไร้ซึ่งความหมาย พบเห็นกันจนชินตาในประเทศอินโดนีเซีย อาทิ ลวดลายผ้าบาติกขนาดยักษ์ ทำจากเหล็กดัดที่ตกแต่งหน้าอาคารโรงแรมต่างๆ ถังขยะหุ้มผ้าบาติกหลากหลายรูปแบบ ของที่ระลึกทำจากผ้าบาติก และข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันต่างๆ ที่ออกแบบผลิตขึ้นจากผ้าบาติก ฯลฯ

ผลงานโดย จาฮายา เนเกอรี

แต่กระนั้น การออกแบบลวดลายต่างๆ จะต้องขึ้นกับบริบททางวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ที่เชื่อมโยงวัตถุเข้ากับการประดับตกแต่งนั้นๆ โดยการมีลวดลายที่สมบูรณ์พร้อมในตัวมันเอง ทั้งในเชิงรูปทรงและความหมาย โดย “ความหมาย” ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงความหมายที่ลวดลายนั้นๆ ต้องการจะสื่อเท่านั้น แต่ยังรวมถึงความหมายที่ฝังอยู่ในการออกแบบลวดลาย ซึ่งกำกับให้เกิดการปฏิบัติทางสังคม

กลุ่มศิลปิน “จาฮายา เนอเกอรี” ไม่เพียงเล่นแต่กับวัสดุเก็บตกเท่านั้น กลับยังนำผ้าบาติกที่มีอยู่ตามท้องถิ่นมาออกแบบใหม่ให้มีเอกลักษณ์ และปรับให้เข้ากับรสนิยมของผู้ผลิต เกิดเป็นลวดลายที่มีความหมายใหม่ มีคุณค่าทางวัฒนธรรม และมีอัตลักษณ์ที่แท้จริง

กลับสู่จุดเริ่มต้น

ขณะที่ เอซ เฮาส์ คอลเล็กทีฟ กลุ่มศิลปินผ้าบาติกชาวอินโดนีเซีย แสดงความคิดเห็นถึงผลงานว่า ในอุตสาหกรรมผ้าบาติกถูกผลิตขึ้นเป็นจำนวนมาก เป็นผืนผ้าที่ไม่ได้ผ่านกระบวนการผลิตตามประเพณีดั้งเดิมที่ผลิตขึ้นจากวัสดุและสีย้อมจากธรรมชาติ การผลิตผ้าบาติกเลียนแบบในลักษณะนี้มีกรรมวิธีการผลิตที่ง่ายดาย อีกทั้งสามารถผลิตได้ครั้งละจำนวนมาก

แน่นอนว่า สิ่งนี้ส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อการผลิตผ้าบาติก ประการแรกคือ ผ้าบาติกมีชื่อเสียงจากลวดลายและรูปลักษณ์ ไม่ได้มีชื่อเสียงจากกรรมวิธีการผลิตแบบดั้งเดิม เทคนิค หรือวัสดุที่ใช้อีกต่อไป

และประการที่สองคือ การใช้เครื่องจักรในการผลิตผ้าบาติกแบบสมัยใหม่จะเข้ามาแทนที่กระบวนการผลิตแบบดั้งเดิมที่ต้องอาศัยแรงงานคนจำนวนไม่น้อย ส่งผลให้กลุ่มแรงงานเหล่านั้นไม่มีอาชีพและสูญเสียรายได้

อย่าให้ลวดลายแห่งความประณีตบรรจงเหล่านี้ เป็นเพียงอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่นำไปสู่ความขัดแย้ง และแฝงหาผลประโยชน์ ซ้ำถูกกลืนกินด้วยกาลเวลา และเทคโนโลยีจนสูญสิ้น “มรดกของมนุษยชาติ” มิใช่หน้าที่ของใครเพียงคนเดียวต้องดูแลรักษาไม่

ผลงานโดย เอซ เฮาส์ คอลเล็กทีฟ
ผลงานโดย เอซ เฮาส์ คอลเล็กทีฟ