ผักเสี้ยวดอกแดง แกงใส่ปลาย่างอร่อย คุณสมบัติเป็นยารักษาโรค

หลายคนที่เคยพบผักเสี้ยว แล้วสับสนงุนงงว่ามันเป็นผักอะไร

ผักอะไร กินได้หรือ เห็นชาวบ้านเอามาวางขายในตลาดสดท้องถิ่น จับดูใบอ่อนที่วางขายแล้วสากๆ มือ แต่สีเขียวอ่อนสดใสน่ากิน เขาเด็ดมาเป็นยอดเล็กๆ มีใบยอดละ 3-4 ใบ รูปทรงใบสวยเหมือนปีกผีเสื้อ โคนใบและปลายเว้าลึกมองเห็นลวดลายเส้นใบชัดเจน ยิ่งตอนรับแสงสว่างจะแลดูอ่อนช้อย โปร่งสว่าง น่าเชยชม และก็จะสับสนเมื่อเห็นยอดอ่อนของต้นไม้อีกอย่างคือ ชงโค ใบยอดเพิ่งแตกยอดใหม่ เหมือนกันมาก เพียงแต่ชงโคจะใบใหญ่หนาแข็ง นำมาปลูกเป็นต้นไม้ประดับเอาร่มเงาในสวนหย่อมขนาดใหญ่ใกล้สระน้ำเป็นพืชชนิดเดียวกัน

ผักเสี้ยว มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Bauhinia  Purpurea  Linn. อยู่ในวงศ์ LEGUMINOSAE มีชื่อเรียกอื่นๆ เช่น เสี้ยวดอกแดง เสี้ยวหวาน เป็นต้น ลักษณะของผักเสี้ยวหรือเสี้ยวดอกแดง เดิมทีรู้ว่าเป็นไม้ต่างประเทศ นำเข้ามาปลูกเป็นไม้ประดับ มีลำต้นชูกิ่งขึ้นสูงหลายเมตรแต่ถ้าตัดแต่งให้เป็นพุ่มเอาไว้เด็ดยอดอ่อนสูงประมาณ 1 เมตรเศษๆ กำลังเป็นพุ่มพอเหมาะ แต่ถ้าปล่อยให้ต้นสูงจะเด็ดยอดอ่อนกินลำบากหน่อย ใบสีเขียวเข้มแต่ใบอ่อนยอดอ่อนจะมีสีเขียวอ่อนสว่าง โคนใบ ปลายเว้าเข้าหากัน ใบกว้างประมาณ 2-3 นิ้ว ยาว 3-4 นิ้ว ขอบใบเรียบ ดอกออกเป็นช่อมีกลีบดอกสีชมพูอมม่วงคล้ายกล้วยไม้ จะมีดอกตลอดปี เกสรตัวผู้มี 5 อัน เกสรตัวเมีย 1 อัน ฝักคล้ายฝักถั่ว ยาวประมาณ 4 นิ้ว สามารถขยายพันธุ์ได้โดยนำเมล็ดไปเพาะ ตอนกิ่งหรือใช้วิธีปักชำก็ได้ มีการนำมาปลูกกันไว้ริมรั้วไว้เก็บมาทำอาหาร บางบ้านปล่อยให้สูงมากๆ ที่จริงแล้วต้นผักเสี้ยวจะสูงได้ถึง 7-10 เมตรทีเดียว ถ้าปล่อยให้สูงยาวมากๆ ลำบากที่ต้องตัดฟันต้นลงมาเอายอดเพียงเล็กน้อย แต่ถ้าจะปลูกเอาต้นสูงก็ไม่ว่ากัน

ส่วนที่เก็บไปทำอาหารคือยอดอ่อนใบอ่อน ซึ่งจะแตกยอดอ่อนตามกิ่ง ถ้ามีการโน้มหัก หรือตัดแต่งกิ่ง ยอดอ่อนจะแตกออกมามาก ถ้ามีการบำรุงรักษาดูแลให้น้ำให้ปุ๋ยดี สามารถเก็บยอดอ่อนได้ทุกสัปดาห์ บางต้นเก็บยอดได้ 3 วันครั้ง จะเก็บยอดได้มากน้อยขึ้นอยู่กับขนาดทรงพุ่มและการดูแลให้น้ำให้ปุ๋ยอินทรีย์ แต่ขอแนะนำไม่ควรใช้ปุ๋ยเคมี สารเคมีใดๆ เพราะว่าโดยธรรมชาติแล้ว นอกจากหนอนใยผักเล็กๆ น้อยๆ ศัตรูพืชอื่นๆ แทบไม่มีเลย ปลอดภัยดีด้วย และอีกประการหากมีการเร่งปุ๋ย ใส่ปุ๋ยเคมี ถ้าเผลอใส่ที่โคนต้นจะทำให้เกิดโรครากเน่าโคนเน่าได้ง่าย อายุต้นผักเสี้ยวจะสั้นลง ใบยอดอ่อนที่ได้จะอวบน้ำ นำมาทำอาหารไม่อร่อย ผักเสี้ยวเป็นไม้ประเภทผลัดใบ ในช่วงปลายฤดูหนาวหรือที่เรียกกันว่าฤดูแล้ง ต้นเสี้ยวจะทิ้งใบหนาและจะออกใบอ่อน ช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ หรืออาจจะล่าไปถึงมีนาคม ถ้าหากหนาวนาน แต่ถ้าได้รับน้ำดีจะมีผลัดใบบ้าง แต่ไม่หมดต้น ก็สามารถบังคับให้ออกยอดใบใหม่ได้ ขึ้นอยู่กับวิธีการ แต่ก็ไม่ควรใช้วิธีบังคับ กดดัน ปล่อยผักเสี้ยวเจริญเติบโตไปอย่างธรรมชาติจะดีกว่า

ผักเสี้ยวเป็นผักที่ชาวเหนือนิยมกินมาก จะนำยอดใบอ่อนมาทำกับข้าว เช่น แกงผักเสี้ยวใส่ปลาย่าง แกงกับเนื้อ และนิยมแกงรวมกับผักชะอม ผักเชียงดา รสชาติอร่อยมาก นำมาเป็นผักลวกจิ้มน้ำพริก จะสัมผัสกับรสชาติ รู้สึกได้ถึงความหวาน และเชื่อว่าเป็นอาหารบำรุงร่างกายได้ดี เจริญอาหารฝีมือแกงผักเสี้ยวของชาวเหนือสุดยอดที่สุดเลย

มีคำถามกันในหมู่คนรู้จักว่า ทำไมถึงเรียกว่า “ผักเสี้ยว” ฟังชื่อแล้วน่าจะมีที่มาลึกซึ้งเหมือนคำประพันธ์ของไทย ก็เพราะผักเสี้ยวมีมาจากอินเดียมาไทยนานแล้ว คงมีหลายสายพันธุ์ บ้างก็ต้นสูงใหญ่เป็นชงโค ต้นเล็กแต่ดอกสีขาวอมชมพูเป็นเสี้ยวดอกขาว สัญลักษณ์ต้นไม้ประจำจังหวัดน่าน บ้างก็ออกดอกสีชมพูถึงม่วงเป็นเสี้ยวดอกแดง หรือที่ชาวบ้านนำมากินกันเป็น “ผักเสี้ยว” ที่กล่าวถึงอยู่ในขณะนี้ มีเรื่องเล่าขานมาว่า มีมัคนายกวัดหนึ่งสมัยเก่าก่อนโน้น เด็ดเอาใบไม้นี้มา 3 เสี้ยว ตำผสมน้ำที่นึ่งข้าวนำมากรอกปากให้เด็กป่วยเพียง 2 ช้อน เด็กหายป่วย และมีคนนำไปนึ่งจิ้มน้ำพริกกินอร่อย รสชาติหวานหอม เลยตั้งชื่อใบไม้ชนิดนี้ว่า “ผักเสี้ยว” ซึ่งคำว่าผักคือ ใบพืชต่างๆ ที่กินได้ของชาวเหนือนั่นเอง

ผักเสี้ยว เป็นพืชที่มีความสำคัญเป็นสมุนไพรรักษาคนได้ ใบแก่ ราก จะมีรสเฝื่อน แก้ไอ ใบอ่อนกินบำรุงร่างกาย ดอกมีรสเฝื่อนผสมสมุนไพรอื่นๆ รักษาไข้ ดับพิษไข้ เป็นยาระบาย รากนำมาต้มน้ำดื่มขับลมหรือโขลกผสมน้ำดื่มรักษาไข้ เป็นยาระบาย ดอก-แก่นรักษาโรคบิด หมอพื้นเมืองใช้กับหญิงอยู่ไฟ ใช้ถากเปลือกและรากทุบแช่น้ำข้าวสารเจ้า นำมาลูบหัวและขมับ หรือดื่มแก้ลมมะเฮ็งคต ในด้านคุณค่าทางอาหาร ผักเสี้ยว 100 กรัม หรือ 1 ขีด ให้พลังงานถึง 47 กิโลแคลอรี ประกอบด้วยสารอาหารคาร์โบไฮเดรต 8.2 กรัม โปรตีน 34 กรัม ไขมัน 1.1 กรัม เส้นใย 1.8 กรัม แคลเซียม 46 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 31 มิลลิกรัม เหล็ก 0.3 มิลลิกรัม วิตามิน A, B1, B2, C และไนอะซิน ซึ่งเป็นสารที่มีประโยชน์แก่ร่างกายคนเรา

แม้จะมีชื่อว่า “ผักเสี้ยว” แต่คุณสมบัติต่างๆ ทั้งด้านโภชนาการ ด้านเป็นยารักษาโรค ด้านเป็นไม้ประดับที่สวยงาม และต่อไปจะเป็นพืชพื้นบ้านที่นิยม จะมีปลูกกันเป็นแปลงใหญ่ หรือจะใช้เป็นพืชเพิ่มสีเขียวให้กับชุมชนบ้านเมือง ถึงแม้จะไม่ใช่ไม้ใหญ่มากพอจะสร้างเป็นป่าทดแทนป่าไม้ที่สูญสิ้นไปกับการบ่อนทำลายของมนุษย์ได้ ต้นเสี้ยว ผักเสี้ยว เสี้ยวดอกแดง ก็คงจะอาสาเป็นไม้สีเขียวประดับสังคมไทยต่อไป ประโยชน์คงไม่มีแค่เพียงเศษเสี้ยวแต่จะเป็นหลายๆ เสี้ยวที่เต็มร้อย แม้จะเป็นแค่เสี้ยวหนึ่งของหัวใจ แต่ก็เป็นเสี้ยวใจที่งดงาม

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2561