ตลาดโบราณ 270 ปี บ้านตะปอนใหญ่ จันทบุรี เสน่ห์ตลาดพื้นบ้านแท้ๆ

ตลาดโบราณ 270 ปี ของดีบ้านตะปอนใหญ่ อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี

ตลาดแห่งนี้ ตั้งอยู่ในบริเวณวัดตะปอนใหญ่ เป็นตลาดชุมชนพื้นบ้านแท้ๆ ไม่ใช่ตลาดนัดทั่วๆ ไป เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่าง บ้าน วัด โรงเรียน โดยน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ ตลาดมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวโดดเด่น เน้นขายเฉพาะพืชผัก ขนม อาหารพื้นบ้าน ให้แม่ค้าพ่อค้าในชุมชนจริงๆ มาขายเอง ใช้ชุดแต่งกายแบบไทยๆ ใช้วัสดุธรรมชาติบรรจุอาหาร ไม่ใช้โฟม มีลานวัฒนธรรมที่ส่งเสริม อนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญาพื้นบ้าน และเป็นตลาดที่เต็มไปด้วยบรรยากาศของความสุข ทุกเพศ ทุกวัย เต็มไปด้วยรอยยิ้มและมิตรภาพความเอื้อเฟื้อต่อกัน ตลาดแห่งนี้เพิ่งเปิดเมื่อเดือนสิงหาคมนี้รวมระยะเวลาผ่านไป 4 เดือนเต็ม จัดเป็นตลาดฮิตติดดาวแห่งหนึ่งสำหรับผู้คนในท้องถิ่นและนักท่องเที่ยวผู้มาเยือน ล่าสุดปลายเดือนธันวาคมจังหวัดจันทบุรีเลือกให้เป็นตลาดประชารัฐ ตลาดวัฒนธรรม “ชุมชนคุณธรรมวัดตะปอนใหญ่” ตลาดตั้งอยู่ในบริเวณวัดตะปอนใหญ่ อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี

 

สานพลัง บ้าน วัด โรงเรียน เปิดตลาดพื้นบ้านโบราณ 270 ปี

คุณวีระพล ปุราณะ ประชาสัมพันธ์ และ คุณไว กิจปรีชา รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลตะปอนน้อย กรรมการตลาดโบราณ 270 ปี ของดีบ้านตะปอนใหญ่ เล่าให้ฟังว่า ด้วยชุมชนบ้านตะปอนใหญ่เป็นชุมชนคุณธรรมน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ขับเคลื่อนด้วยพลัง บรว. (บ้าน วัด โรงเรียน) ของจังหวัดจันทบุรี ได้รับจัดสรรงบประมาณ 8,000 บาท ปี 2560 จึงมีการประชุมร่วมกันระหว่าง ท่านพ่อพระครูสาราภินันท์ เจ้าอาวาสวัดตะปอนใหญ่และเจ้าคณะตำบลตะปอน ผู้นำหมู่บ้าน 3 หมู่บ้าน กำนันตำบลตะปอน อบต.ตะปอนใหญ่ โรงเรียนวัดตะปอนใหญ่ (เศวตวิทยาคาร) เห็นว่าชุมชนวัดตะปอนใหญ่มีอายุมากกว่า 270 ปี มีมรดกวัฒนธรรมภูมิปัญญาและมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ เคยเป็นเส้นทางเดินทัพพระเจ้าตากไปยังเมืองตราด ควรจัดตั้ง ตลาดโบราณ 270 ปี ของดีบ้านตะปอนใหญ่ น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ ให้ชาวบ้านนำสินค้า อาหารพื้นเมืองมาจำหน่าย ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ยึดหลักคุณธรรมขายสินค้าคุณภาพ ราคายุติธรรม และมีข้อกำหนดให้แต่งกายย้อนยุคหรือไทยประยุกต์ ใช้วัสดุธรรมชาติแทนใช้โฟมบรรจุอาหารเป็นเอกลักษณ์ของตลาด เปิดขายทุกวันเสาร์ตั้งแต่เวลา 14.00-18.00 น. และกำหนดให้ร้านค้าขายของซ้ำกันไม่เกิน 2 ร้าน และไม่หยุดติดต่อกันเกิน 2 ครั้ง ไม่เช่นนั้นจะถูกตัดสิทธิ์ ทั้งนี้ ทางวัดจะสนับสนุนค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่น การสร้างร้านค้าทำป้ายชื่อ อปพร.ช่วยจัดระบบจราจร ค่าไฟฟ้า เครื่องเสียงประชาสัมพันธ์ เพียงแต่ทุกร้านช่วยกันกำจัดขยะและดูแลความสะอาด

“เปิดตลาด วันที่ 19 สิงหาคม ถึงธันวาคม 2560 ระยะเวลา 4 เดือนเต็ม ร้านค้าเริ่มต้นจาก 38 ร้าน เพิ่มขึ้น 50-80 ร้าน ปัจจุบัน 128 ร้านค้า พื้นที่สองฟากถนนที่จัดไว้เต็มต้องขยายออกไปด้านกำแพงวัด จำนวนผู้ซื้อสินค้าเริ่มจาก 200 คน เพิ่มขึ้นเฉลี่ยวันละ 400-500 คน เวลาเปิดตลาดบ่าย 2 โมง แต่ผู้คนเริ่มทะยอยมาจับจ่ายซื้อของกันตั้งแต่เที่ยงกว่าๆ ด้วยความเป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนตลาดนัดทั่วๆ ไปทำให้ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น ระยะหลังเป็นนักท่องเที่ยวด้วย เป็นความสำเร็จเกินคาด เดิมคิดว่าจะมีคนมาขายน้อยเพราะส่วนใหญ่เป็นชาวบ้านที่ทำสวนผลไม้ ไม่ค่อยมีเวลา แต่ช่วงเปิดตลาดเป็นช่วงที่ว่างจากการเก็บเกี่ยวผลไม้ บางร้านมากันเป็นครอบครัว ทำของขายหลายอย่าง ทำให้เห็นช่องทางมีรายได้เพิ่มขึ้นวันละ 300-700 บาท” คุณไว กล่าวเพิ่มเติม

 

อาหาร ขนม ผักพื้นบ้านนานาชนิด  ของอร่อย หายาก ปลอดสารพิษ ไม่แพง

บริเวณตลาดโบราณ 270 ปี มีการออกแบบตลาดแบ่งเป็นส่วนๆ เหมาะกับทุกเพศทุกวัย อาทิ ร้านค้า 2 ฟากถนน และขยายออกไปบริเวณริมรั้วของวัด เดินได้ต่อเนื่องและเดินกลับให้เลือกดูสินค้าได้ครบถ้วนไม่ไกลนัก ราว 200-300 เมตร เหมาะกับการจับจ่ายซื้อของ จัดบริเวณที่นั่งพักรับประทานอาหารหรือพูดคุยกันใต้ร่มไม้ใหญ่บริเวณวัดร่มเย็นมุมนี้เหมาะสำหรับผู้สูงอายุมาก ซื้ออาหาร ขนมมานั่งพักรับประทานและอาจเจอะเจอกัลยาณมิตรวัยเดียวกัน นั่งคุยกันลืมเวลาไปเลยทีเดียว บริเวณลานสาธิตมีอาหารขนมพื้นบ้านที่มีภูมิปัญญาพื้นบ้านทำให้ผู้สนใจชมและชิมฟรี ทางเข้าบริเวณตลาดมีแลนด์มาร์คให้ถ่ายภาพเป็นที่ระลึก บรรยากาศงานครึกครื้น เสียงประชาสัมพันธ์แนะนำอาหารขนมที่มาจำหน่ายเป็นระยะๆ เคล้าเสียงเพลงย้อนยุค เมื่อนำรถไปมีบริเวณลานวัดให้จอดรถได้อย่างกว้างขวางปลอดภัยและเดินไปตลาดใกล้มาก

ผักมีทั้งที่เก็บหามาจากหัวไร่ ปลายนา และป่าชายเลน เช่น ผักบอน ใบขลู่ ดอกไก่เตี้ย เต่าเกียด ผักปรง ผักแว่นทะเล ผักคุ้ง และพืชผักที่ปลูกแบบบ้านๆ ไม่ใช้สารเคมี เช่น กล้วย ผักบุ้ง มะระขี้นก ดอกแค แตงกวา มะเขือพวง พริกขี้หนู ใบชะมวง มีขายตั้งแต่ราคากำละ 5-10 บาท อาหารและขนมมีทั้งที่ปรุงมาจากพืชผัก และของทะเลพื้นบ้านสดๆ เช่น ผักบอนเผาจิ้มน้ำพริก แกงส้มผักบอน แกงส้มใบสันดาน แกงส้มผักเกียด แกงชะมวง หมูชะมวงย่าง หอยพอก-กุ้งเหยียดย่าง ปลากระบอก-ปลาหมอแดดเดียว กุ้งแห้ง มะขามดอง ขนมมัดไต้ มันสำปะหลังย่าง มันกวน ขนมควยลิง กระยาสารท และข้าวเกรียบว่าวที่ทำเองและนำมาย่างขาย ราคาของแต่ละอย่างมีตั้งแต่ 20-40 บาท ที่สำคัญอย่าลืมอุดหนุนร้านค้าของวัดจำหน่ายน้ำและเสื้อเป็นกองทุนไว้บริหารจัดการตลาดแห่งนี้

ผู้ใหญ่สมบัติ ประทุม สาธิตการตำข้าวเม่า

คุณสมบัติ ประทุม อายุ 49 ปี ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 2 ตำบลตะปอน อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี ผู้นำหมู่บ้านร่วมก่อตั้งตลาดโบราณ 270 ปี เล่าว่า การหาพ่อค้าแม่ค้ามาขายขนมอาหาร นอกจากความสมัครใจของชาวบ้านที่ต้องการหารายได้เพิ่มแล้ว คณะกรรมการตลาดต้องช่วยกันสร้างสีสันของตลาด ด้วยการเสาะหาขนมสูตรโบราณ ที่อร่อยขึ้นชื่อของหมู่บ้านมาจำหน่ายด้วย ขนมถ้วยฟู ขนมตาล ขนมตะไล ที่มีสูตรคุณยายรุ่นอายุ 80-105 ปี ได้ถ่ายทอดสูตรให้ลูกหลานทำมาขายเป็นที่เลื่องลือมากเพราะสูตรโบราณทำแล้วอร่อย แป้งนุ่มไม่เหมือนขนมตามตลาดทั่วไป ขนมเบื้องที่ยังเป็นของโบราณเจ้าของสูตรมาทำเอง นอกจากนั้น มีของพื้นบ้านที่หายไปเพราะหายากไม่มีคนปลูกและไม่มีคนทำมาขาย เช่น บอนเผาจิ้มน้ำพริกเกลือ แกงส้มบอน แก้งส้มใบสันดาน

“ขนมสูตรโบราณลูกหลานไม่ได้มุ่งหวังจะมาทำขายเพราะมีสวนผลไม้ใหญ่โต แต่เราต้องการสีสันอยากให้มีของดีๆ มาขายในตลาดเรา ต้องอ้อนวอนกันนาน แต่เมื่อมาทำแล้วเขากลับสนุกเรียกลูกหลานมาช่วยทำในวันหยุด ทำให้ครอบครัวอบอุ่น จริงๆ แล้วตลาดมีของดีพื้นบ้านทั้งหมด ไฮไลต์แทบทุกอย่าง อย่างผักที่นำมาขายขึ้นอยู่ในทุ่งนา ชายเขา ที่ปกติหายากและมีไม่กี่คนที่ต้องลำบากเดินไปเก็บมาขาย ผักเหล่านี้สด ปลอดสารพิษ และมีคุณค่าทางโภชนาการ ช่วยรักษา ป้องกันโรคต่างๆ เช่น ดอกไก่เตี้ย กระดอม ใบขลู่ ปรง ผักหนาม ใบตับเกียด ใบสันดาน และขายราคากำละ 5-10 บาท ชาวบ้านขยันๆ เก็บมาขายได้วันละ 1,000-1,200 บาท หรือเก็บแบบสบายๆ วันละ 500-600 บาท เป็นรายได้ที่ไม่ต้องหักต้นทุน” ผู้ใหญ่สมบัติ กล่าว

คุณลำยอง ปิตากุล อายุ 65 ปี บ้านอยู่หมู่ที่ 2 ตำบลตะปอน อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี เล่าว่า มีอาชีพทำสวน ได้ปลูกผักรับประทานเองเหลือจึงนำมาขาย เช่น มะระขี้นก ผักบุ้ง และเก็บผักตามท้องนาและป่ามาขายด้วย เช่น ใบขลู่ ผักปรง ฝักอ่อนและดอกไก่เตี้ย ที่พิเศษคือ แกงส้มมือบอนขายถุงละ 20 บาท เป็นอาหารพื้นเมืองแท้ๆ ส่วนใหญ่ทุกครัวเรือนจะแกงรับประทานกันมานานต่อๆ กันมา แต่ปัจจุบันหารับประทานยาก

คุณลำยอง ปิตากุน

ชุมชนมีความสุข  เพิ่มรายได้…แนวทางการจัดการ

คุณบวร ยอดยิ่ง อายุ 53 ปี บ้านอยู่หมู่ที่ 1 ตำบลเกวียนหัก เล่าว่า นำพืชผักที่ปลูกแล้วเหลือจากรับประทานภายในบ้านมาขาย เช่น แตงกวา มะเขือพวง ใบชะมวง ส่วนลูกสาว “น้ำฝน” และลูกเขยทำงานประกอบธุรกิจส่วนตัวมีเวลาว่างวันเสาร์ จะทำเครื่องดื่มต่างๆ มาขาย เช่น น้ำเก๊กฮวย น้ำลำไย น้ำอัญชัญ รวมๆ กันแล้ว 3 คน มีรายได้ประมาณ 800-900 บาท ต่อครั้ง ส่วน คุณเฉลา สิตาธรรม หมู่ที่ 1 ตำบลเกวียนหัก เล่าว่า ทำสวนผลไม้เล็กๆ 4 ไร่ มีเวลาว่างจึงชวนลูกสาว ณัฐวดี  สิตาธรรม เพิ่งจบปริญญาตรีสาขาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ มาลองหาประสบการณ์การค้าขายในตลาด มีทั้งของที่ญาติๆ ฝากมาขายและที่รับมาขาย อย่างกุ้งแห้ง ขนมมัดไต้ และที่ทำขายเอง เช่น มะเขือย่างจิ้มน้ำพริกเกลือกุ้งแห้งสูตรโบราณ แกงนกไก่นา แกงเป็ด ขิงดอง ขายดี มีรายได้ครั้งละ 200-300 บาท

คุณเฉลา สิตาธรรม และลูกสาว

คุณนิรุต บำรุงสรวง กำนันตำบลตะปอน กล่าวถึงแนวทางการพัฒนาตลาดโบราณ 270 ปี ของดีบ้านตะปอนใหญ่ว่า ด้วยความคิดของท่านพ่อพระครูสาราภินันท์ ที่ต้องการให้มีตลาดให้ชาวบ้านได้มาขายของมีรายได้ เริ่มต้นมีเงินงบประมาณภาครัฐ 8,000 บาท สร้างร้านค้าให้ชาวบ้านมาขายของฟรี ไม่มีค่าใช้จ่ายใด บรรดาพ่อค้าแม่ค้าได้มีการบริจาคเงินให้ตามกำลังเดือนละ 30-100 บาท แต่การก่อสร้างร้านค้ามีค่าใช้จ่ายรวมทั้งการบริหารจัดการเดือนละร่วม 10,000 บาท ได้ยืมเงินวัดมาสำรองก่อนแล้วหลายหมื่นบาท คณะกรรมการตกลงกันว่าตั้งแต่เดือนมกราคม 2561 จะเริ่มเก็บเงินเป็นรายเดือน เดือนละ 120 บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายและคืนทางวัด ซึ่งต่อไปมีแผนที่จะขยายตลาดออกไปที่ตำบลเกวียนหักที่อยู่พื้นที่ติดกับตลาดนี้ จะมีพ่อค้าแม่ค้ามาค้าขายกันมากขึ้น

“ตอนนี้ตลาดได้รับความนิยมมากเพราะเป็นตลาดของชาวบ้านแท้ๆ มีอาหาร พืชผักของหายากมาขายราคาไม่แพง และเมื่อทางจังหวัดเลือกให้เป็นตลาดประชารัฐ ตลาดวัฒนธรรม มีการประชาสัมพันธ์ทางสื่อต่างๆ โดยเฉพาะสื่อโซเชียลมีเดีย ทำให้ตลาดเป็นที่รู้จัก มีนักท่องเที่ยวต่างจังหวัดมาเที่ยวซื้อของกันมากขึ้น เดิมทีหลายคนเกรงกันว่าฤดูกาลผลไม้ชาวบ้านจะไม่มีเวลามาขายของกัน แต่ถ้าคิดมุมกลับช่วงผลไม้ตลาดน่าจะคึกคักมากขึ้น ชาวบ้านสามารถนำผลไม้ที่มีคุณภาพมาขายได้โดยไม่ผ่านคนกลาง ลูกค้าสามารถซื้อได้ในราคาถูกกว่าตลาดทั่วไปและเป็นของสดจากสวน” กำนันนิรุต กล่าว

ขนมสูตรโบราณ

“สิ่งที่ได้จากการทำตลาดคือชุมชนมีความรัก ความสามัคคี และได้สืบสานอนุรักษ์ของพื้นบ้าน จะเห็นภาพคนแก่อายุ 70-80 ปี มาเดินซื้อของและนั่งคุยกัน หรือบางคนไปสาธิตทำขนมจีน หุงข้าวกระทะ ตำข้าวเม่า เด็กๆ ในหมู่บ้านมาเที่ยวเล่นในลานวัด ช่วยพ่อแม่ทำขนมและรู้จักที่จะรับประทานขนมพื้นบ้าน ลูกบ้านที่เป็นชาวสวนหมดหน้าผลไม้ ว่างๆ มีผักปลูกไว้รับประทานเองเหลือนำมาขาย บางคนทำขนมทำกับข้าวมาขาย มีรายได้เพิ่มขึ้นคนละ 200-300 บาท ถ้าไปเก็บผักหัวไร่ ปลายนา ขายไม่มีการลงทุนอะไร ขายได้วันละ 1,000-1,200 บาท” ผู้ใหญ่สมบัติ กล่าว

ด้าน คุณพรเพ็ญ กิจวิบูลย์ ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดตะปอนใหญ่ เล่าถึงเด็กนักเรียนในระดับประถมศึกษาได้เรียนรู้ทำกิจกรรมจากตลาดโบราณแห่งนี้ว่า มีร้านค้าของโรงเรียนที่จะแบ่งนักเรียนไปหัดขายของและฝึกทำอาหารขายเป็นประจำ นักเรียนทุกคน จำนวน 37 คน ได้ลงมือปฏิบัติ บางคนได้กลับไปช่วยผู้ปกครองที่บ้าน เด็กๆ มีความสุขมากอยากมาโรงเรียนในวันเสาร์ ส่วนนักเรียนส่วนหนึ่งเพิ่งหัดเล่นอังกะลุงเป็น ต่อไปจะจัดให้แสดงในลานกิจกรรมวัฒนธรรม

ล่าสุดเมื่อปลายเดือนธันวาคม 2560 คุณนภสร โศรกศรี วัฒนธรรมจังหวัดจันทบุรี กล่าวว่า ตามมติคณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้ดำเนินโครงการตลาดประชารัฐ ภายใต้ความร่วมมือภาครัฐหลายหน่วยงานบูรณาการกับภาคเอกชน พื้นที่ตำบลตะปอนเป็นชุมชนโบราณอายุ 270 ปี มีความโดดเด่นและหลากหลายของมรดกวัฒนธรรมที่มีคุณค่า มีการถ่ายทอดภูมิปัญญาวิถีชีวิต มีศักยภาพสูงที่จะพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์วัฒนธรรมเป็นช่องทางสร้างอาชีพเพิ่มรายได้ให้กับครัวเรือน ท้องถิ่น จากการท่องเที่ยว สินค้าและบริการเพิ่มขึ้น จังหวัดจันทบุรีจึงเลือกให้เป็นตลาดประชารัฐ ตลาดวัฒนธรรม “ชุมชนคุณธรรมวัดตะปอนใหญ่” โดยจะสนับสนุนการจัดกิจกรรมร่วมกัน ด้วยการขับเคลื่อนด้วยพลัง บรว. (บ้าน วัด โรงเรียน) และหน่วยราชการ

สนใจเดินชมตลาดโบราณ 270 ปี ของดีบ้านตะปอนใหญ่ เปิดทุกวันเสาร์ แม้ตลาดจะเปิดบ่าย 2-6 โมงเย็น แต่เที่ยงเศษๆ ผู้คนพากันทยอยมา และพ่อค้าแม่ค้าเริ่มจำหน่ายแล้ว การเดินทางใช้เส้นทางถนนสุขุมวิทหมายเลข 3 ก่อนถึงอำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี 6-7 กิโลเมตรเท่านั้น ไปไม่ถูกสอบถาม ผู้ใหญ่สมบัติ ประทุม โทร. (084) 704-0469

 

คุณเฉลา สิตาธรรม และลูกสาว