ทำนาโบราณ (วิถี) ระยอง ฟื้นนิเวศสัมพันธ์ เขา ป่า นา สวน

ผืนนาอันกว้างใหญ่เขียวขจีกว่า 8 ไร่ ใจกลางหมู่บ้านซึ่งรายล้อมไปด้วยสวนผลไม้และสวนยางพารา ซึ่งถูกโอบล้อมด้วยทิวเขายายดาท้ายหมู่บ้าน หมู่ที่ 3 ตำบลตะพง อำเภอเมือง จังหวัดระยอง กลับมามีชีวิตชีวา เหมือนเมื่อ 30 ปีก่อน ที่ชาวบ้านในบริเวณนี้ยังทำนาแบบวิถีธรรมชาติ อาศัยน้ำฝนตามฤดูกาล  

แผ่นดินนาข้าวผืนนี้ได้ถูกฟื้นชีวิต ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 มาจนถึงปัจจุบัน ร่วมระยะเวลา 3 ปี โดยแนวคิดของครูใหญ่ หรือผู้อำนวยการโรงเรียนวัดยายดา อาจารย์สกุลศักดิ์ ทิพย์ไชย ร่วมคิดกับชาวบ้านจิตอาสาในพื้นที่ หรือที่เด็กๆ ต่างเรียกขาน ลุงๆ ป้าๆ ผู้มาให้ความรู้ถ่ายทอดวิธีการทำนาแบบดั้งเดิมแบบวิถีคนระยอง ว่า “ครูชุมชน” โดยมีกลุ่มแกนนำครูชุมชน เช่น ลุงฟื้น ลุงอำนาจ ป้าบุหงา ลุงออย ฯลฯ เป็นกำลังสำคัญที่ทำให้โครงการยังทำต่อเนื่องด้วยความสุข

นาข้าวโรงเรียนวัดยายดา เป็นการทำข้าวนาปี โดยในปีแรกๆ เป็นการทำนาดำ มีชาวบ้านมาร่วมทำเพียงไม่กี่คน ได้ข้าวเปลือก 3 ตัน ปีที่ 2 ผสมผสานทั้งนาดำและนาหว่าน ได้ข้าวเปลือก 5 ตัน ส่วนครั้งที่ 3 นี้นาดำทั้งหมด ได้รับความสนใจจากชาวบ้านจำนวนมาก ทำให้ได้ข้าวเปลือก จำนวน 6 ตัน

การทำนาจะใช้เวลาประมาณ 117-120 วัน นับตั้งแต่เพาะกล้า (หว่านกล้า) จนถึงเก็บเกี่ยว ซึ่งจังหวัดระยอง จะสามารถทำนาได้ในช่วงเดือนกรกฎาคมช่วงฤดูกาลที่ฝนตกภาคตะวันออก เด็กๆ จะได้เรียนรู้และลงมือทำทุกขั้นตอน

โดยเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2560 ที่ผ่านมา เป็นวันนัดหมายเกี่ยวข้าว เด็กๆ ได้เรียนรู้ วิธีเกี่ยวข้าวใช้เคียว, การเกี่ยวข้าวแบบโยก, การทำ เขน็ด (ขะ-เหน็ด) จนกระทั่งไปสู่ขั้นตอนของการนวดข้าว และเป็นข้าวสารบรรจุถุง

ในงานมีการเรียนรู้วิธีการ เกี่ยวข้าวใช้เคียว วิธีการกำรวงข้าว การเกี่ยวแบบใช้คมเคียว ตัดกอข้าวแบบ…องศา เด็กได้ ฝึกสมาธิ จดจ่อ ขณะเกี่ยวข้าว สัมผัสธรรมชาติ และเรียนรู้วิถีชีวิตชาวนาในอดีต

เรียนรู้วิธีเกี่ยวข้าวแบบโยก โยกไปพร้อมๆ กัน ตามจังหวะเพลง สร้างความสนุกสนาน ให้ผู้เกี่ยว คลายความเหนื่อยล้า ได้ความสมัครสมานสามัคคี

เรียนรู้วิธีการ ทำ เขน็ด (ขะ-เหน็ด) แบบวิถีชาวระยอง ฟางที่ทำเป็นเชือกมัดฟ่อนข้าว เด็กต่างได้เรียนรู้ การใช้ต้นข้าวพันกันเพื่อรองข้าวที่เกี่ยว นำข้าวที่เกี่ยวมาวางเป็นฟ่อน เป็นการเก็บผลผลิตให้คงอยู่ในสภาพ รวงข้าวทั้งรวง เพื่อรอที่จะไปสู่ขั้นตอนการนวดข้าวต่อไป

สำหรับการเกี่ยวข้าวครั้งนี้ ได้รับความร่วมแรงร่วมใจจากครูชุมชน ผู้ปกครอง และผู้คนในตำบลตะพง และตำบลใกล้เคียง กว่า 200 คน มาช่วยกันลงแขกเกี่ยวข้าว ทุกคนต่างมาด้วยความเต็มใจ ชื่นชมในความสามารถของนักเรียนซึ่งเป็นลูกหลานของคนในชุมชน ให้กำลังใจและชื่นชมในความทุ่มเทของ “ครูชุมชน” ตลอดจนความเสียสละและความคิดสร้างสรรค์ของผู้อำนวยการและครูโรงเรียนวัดยายดา ที่กล้าคิดกล้าทำ พานักเรียนเรียนรู้ด้วยการลงมือปฏิบัติ เรียนรู้ของจริง รู้จริง ด้วยตนเอง

สำหรับปีที่ 3 ของการทำนาทำให้โรงเรียน ซึ่งถือเป็นกิจกรรม โครงการสัมมาชีพในโรงเรียน เพื่อเป็นอาหารกลางวันให้กับนักเรียน และจำหน่ายเป็นผลิตภัณฑ์ข้าวสาร “ข้าวหอมแผ่นดิน โรงเรียนวัดยายดา” นำเงินรายได้จากการจำหน่ายมาใช้ประโยชน์เพื่อการศึกษาของโรงเรียน เป็นการพึ่งตนเอง ด้วยวิถีเกษตรดั้งเดิม สิ่งสำคัญเป็นการทำให้เด็กนักเรียนได้เรียนรู้คุณค่าแท้จริงของอาชีพเกษตรกรรม รู้บุญคุณ “ชาวนา” ผู้เป็นเกษตรกร มีคุณอนันต์ ผลิตข้าวซึ่งเป็นอาหารหลักให้กับคนในชาติอย่างต่อเนื่องตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

กิจกรรมการเรียนรู้นี้ เรียกว่า การเรียนรู้แบบบูรณาการ เขา ป่า นา สวน โมเดล เรียนรู้การทำนาแบบดั้งเดิม ตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 โดยมีน้องๆ ระดับอนุบาล คอยให้กำลังใจ
สำหรับเด็กๆ ทุกคนต่างคุ้นเคยแต่การทำสวนผลไม้ เพราะเป็นอาชีพของผู้ปกครอง เช่น การทำสวน ทุเรียน เงาะ มังคุด ลองกอง ยางพารา ฯลฯ แต่สำหรับการทำนานั้น เด็กๆ กลับไม่เคยได้สัมผัส ทั้งๆ ที่ข้าวสำคัญต่อทุกชีวิต เพราะเป็นอาหารหลัก ฉะนั้น นาข้าวของโรงเรียนจึงเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญ เป็นการเรียนรู้วิชาชีวิตที่กินได้จริง ได้เรียนรู้แทบทุกวิชาอย่างบูรณาการ นาข้าวกลายเป็นสื่อกลางความสัมพันธ์ของคนในชุมชน สร้างความรัก ความสามัคคี เป็นสิ่งเติมเต็มความสมบูรณ์ เรียกคืนความเป็น เขา ป่า นา สวน ให้กลับมาอยู่คู่แผ่นดินระยองได้อย่างภาคภูมิใจ…ฮิ