สวนพอเพียงลุงจุก การปรับตัวบนผืนดินที่เปลี่ยนไป

ลักษณะทางสังคมการหากินหาอยู่ของหมู่บ้านจัดสรรชานพระนครส่วนใหญ่ในปัจจุบัน มักบีบบังคับให้คนต้องซื้ออาหารจากร้าน หรือถ้าจะปรุงรับประทานเอง ก็ต้องซื้อจากตลาดสดตอนเช้าและเย็น หรืออาศัย “รถพุ่มพวง” ที่วิ่งเข้าออกถึงหน้าบ้านตลอดทั้งวันนะครับ วัฒนธรรมการใช้ชีวิตแบบนี้ ดูเผินๆ ก็แทบว่าไม่มีทางเลือกมากนัก บางครั้งก็เหมือนเป็นเรื่องตลกขบขันไปเลย ถ้าจะคิดถึงอาหารที่ค่อนข้างปลอดภัย หรือแม้แต่โอกาสในวิถีทางอื่นๆ ที่ดีกว่า

แต่หากเราลองสังเกตสักหน่อย ไม่แน่นักว่า ทางเลือกอาจมีอยู่ เพียงแต่เราไม่เคยมองเห็นมาก่อน อย่างเช่น กรณีตลาดสดหมู่บ้านสุขสันต์ 5 – 6 ถนนวงแหวนบางแค กรุงเทพฯ ที่ผมอาศัยอยู่ทุกวันนี้นะครับ คืออยู่ๆ ผมก็เริ่มเห็นว่า มีชาวบ้านหลายรายตั้งโต๊ะเล็กๆ ตามมุมตลาดสด ขายพืชผัก ที่ทั้งชนิดและหน้าตาดูไม่เหมือนผักตลาดทั่วๆ ไป เช่นว่ามีดอกอัญชัน บวบเหลี่ยม ผักโขมใบม่วง กะเพรา บางทีก็มีดอกพุด ดอกรัก จำปี และต้นเตยเล็กๆ ที่คนใช้ไหว้พระด้วย ซึ่งถึงจะแอบคิดว่า คงไม่ใช่ “ของตลาด” แน่ๆ แต่ผมก็ไม่เคยออกปากสอบถามพวกเขาถึงที่มาที่ไปเลยสักครั้ง

ที่จริงผมก็รู้อยู่ว่า หมู่บ้านสุขสันต์โครงการต่างๆ นี้ ล้วนสร้างทับลงบนพื้นที่สวนบางแคเก่าริมคลองภาษีเจริญฝั่งใต้ ชนิดที่แค่ชะเง้อข้ามรั้วหมู่บ้านไปก็ยังเห็นร่องคูน้ำและคันสวนเก่า ต้นทองหลาง ชมพู่ม่าเหมี่ยว และมะพร้าวสูงๆ ยืนต้นเป็นทิวแถว แต่โลกสองใบที่เหลื่อมซ้อนกันนี้ก็ดูเหมือนถูกกำแพงก่ออิฐถือปูนทึบตันของหมู่บ้านจัดสรรกั้นแบ่งแยกออกจากกันโดยเด็ดขาด

          ทว่า ไม่ว่ากำแพงที่ไหนก็ย่อมต้องมีประตู รอวันที่เราจะหามันจนพบ และเปิดเข้าไปทำความรู้จักโลกอีกใบนั้น

ท้ายซอย 56 ของหมู่บ้านสุขสันต์ 6 มีประตูบานหนึ่งที่เปิดเชื่อมโลกของชาวหมู่บ้านจัดสรรกับชาวสวนพื้นที่เดิม ทางเดินเล็กๆ สายนี้ ในที่สุดนำไปสู่สวนเกษตรขนาด 8 ไร่ อันเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายสวนไม้ดอกไม้ผลพื้นที่กว่า 200 ไร่ ซึ่งเกษตรกรร่วมหนึ่งร้อยรายยังคงเช่าที่ดินปลูกดอกพุด ดอกรัก กล้วย ฝรั่ง เตย มะม่วง มะพร้าว และผักสวนครัวนานาชนิดกันอยู่

img_20160911_122759

“สวนเกษตรพอเพียงลุงจุก” ยังคงลักษณะสวนฝั่งธนฯ แบบเก่าไว้ครบถ้วนนะครับ คันดินยกสูงระหว่างร่องน้ำนั้นปลูกฝรั่ง กล้วย พุด จำปี บวบเหลี่ยม ตำลึง ขณะชายขอบติดน้ำแน่นไปด้วยกอเตย

“ต้นละ 50 สตางค์ครับ”  ลุงจุกบอกยิ้มๆ และว่า การขายเตยกลายเป็นรายได้หลักของสวนไป “ถ้าตัดขายได้ครั้งละพันสองพันต้นก็พออยู่ได้ล่ะครับ คนซื้อเขามารับถึงสวนนี่เลย”  ทีนี้ผมก็เลยนึกออกว่า ผมเห็นมัดเตยแบบนี้แหละที่ตลาดในหมู่บ้าน ครั้นลองถามลุงจุกดู ก็เลยรู้ว่าเป็นของไปจากสวนแถบนี้ทั้งนั้น รวมทั้งพืชผักอย่างละเล็กละน้อยอื่นๆ ด้วย

img_20160911_122546

“ผักบ้านเรา จะปลูกแบบอินทรีย์มันยากครับ ช่วงแรกๆ ต้องใช้เคมีบ้าง แต่เราจะไม่ใช้ตอนมันเริ่มออกผลผลิตเลยนะ ก็พยายามใช้เชื้อจุลินทรีย์ที่ทางเกษตรฯ เขาเอามาแนะนำ ทีนี้ผักแปลงมันมีความจุกจิกมาก ไหนจะโรคพืช ไหนจะหนอนแมลง ถ้าเราใช้ยาฉีดอีกนี่มันก็จะอันตราย แล้วก็จะไม่คุ้มทุน ก็ต้องเปลี่ยนเป็นผักเถา พวกบวบ อะไรเหล่านี้แทน”

ลุงจุกเล่าในฐานะคนสวนเก่าแถบนี้ว่า สมัยราว 30 ปีก่อน แถวหลักสองนี้ยังปลูกส้มเขียวหวานได้รสชาติดี ตอนหลังดินเริ่มเสื่อม ก็เปลี่ยนเป็นปลูกจำปี เป็นพุด เพราะน้ำในคลองเริ่มไม่เหมือนเดิม ไหนจะโรงงานเล็กๆ ในหมู่บ้านที่ทำเกี่ยวกับเคมีก็ปล่อยของเสียลงมา แถมหกเดือนก่อน น้ำเค็มขึ้นมาอีก “แย่เลย ก่อนนี้มันแค่กร่อยๆ ทีนี้เราก็ต้องกันไว้ก่อนแหละ พยายามกักน้ำฝนไว้ให้มากที่สุด”

ส่วนเรื่องของดิน ผมคิดว่าลุงจุกพูดได้น่าสนใจมาก ในแง่ปัญหาของเกษตรกรรายย่อยสมัยปัจจุบัน

          “ทางเกษตรเขาก็อยากให้เราเอาดินไปตรวจสอบน่ะนะ ว่ามันขาดสารอะไรบ้าง ทีนี้ลองคิดดูสิ ถ้ารู้ว่ามันขาดตัวนั้นตัวนี้ และสารที่ต้องซื้อมาเติม มันแพงมากล่ะ เราจะมีตังค์ซื้อที่ไหน ก็ต้องคิดคำนวณก่อนว่าจะคุ้มไหม ในที่สุดแล้วเราก็ต้องเลือกปลูกพืชที่เราพอปลูกได้ พอมีเงินบำรุงดินไหว ไม่ไปปลูกอะไรที่เกินกว่าดินเรา…”

นอกจากปลูกผัก ลุงจุกเลี้ยงปลาช่อน ปลานิล ปลาฉลาด รวมทั้งปลาดุกที่ทางเกษตรแจกพันธุ์มาให้ มีโรงเห็ดนางฟ้าเล็กๆ ที่หมุนเวียนเอาเชื้อเห็ดหมดอายุมาทำปุ๋ยต่อ ลุงจุกบอกว่า ทำสวนตรงนี้มาตั้งแต่ปี 2549 บนที่ดินเช่า ราคาไร่ละ 2,000 บาทต่อปี เช่นเดียวกับเกษตรกรส่วนใหญ่ในเขตนี้

img_20160911_122739

ผมคิดว่า น่าจะด้วยเงื่อนไขที่ดินเช่านี่เองกระมัง ที่ทำให้เกษตรกรผู้เช่าส่วนใหญ่ยากจะกล้าลงทุนก้อนใหญ่เพื่อฟื้นฟูสภาพดิน เพราะไม่รู้ว่าสัญญาเช่าจะถูกยกเลิกเมื่อใด ซึ่งแน่นอนว่ามันส่งผลเป็นทอดๆ ต่อการวางแผนและกระบวนการผลิต ข้อจำกัดเหล่านี้ เป็นเรื่องที่เกษตรกรจำต้องปรับตัวให้อยู่รอดได้

“ต้องรู้จักวิธีเตรียมดิน ประยุกต์ใช้ทั้งอินทรีย์กับเคมีเข้าด้วยกัน เรียนรู้ไปเรื่อยๆ ของเราตอนนี้ไม่ถึงปลอดสารหรอก แค่ปลอดภัยบ้าง”  ลุงจุกบอกยิ้มๆ

หลังกลับออกมาจาก “ประตูเชื่อมต่อ” บานนั้น ผมก็มองเห็นแผงผักเล็กๆ ตามมุมตลาดชัดขึ้น อาจบางทีชัดกว่าผักบนแผงของแม่ค้าเจ้าประจำรายใหญ่ด้วยซ้ำ

หลายครั้ง ทางเลือกอาจอยู่ใกล้ๆ แค่เอื้อมมือ หากทว่าความเคยชิน ความไม่ใส่ใจ และอาการนึกทึกทักไปเอง ทำให้เราพลาดมันไปอย่างน่าเสียดาย เหมือนว่าบวบแต่ละลูก ผักบุ้งแต่ละยอดบนโต๊ะเล็กๆ เหล่านั้นจะมีเรื่องราวอยู่เบื้องหลัง ทั้งรสชาติหวานขมอันผสมปนเป ให้เลือกรับเลือกฟังต่างๆ กันไป

แน่นอนว่า ผมขอรับฟัง และเป็นกำลังใจให้คนอย่างลุงจุกและเพื่อนๆ ชาวสวนบางแคเก่า ผู้ซึ่งกำลังดิ้นรนปรับตัวครั้งใหญ่ บนผืนแผ่นดินเดิมที่ได้เปลี่ยนแปลงไปจนเกือบจะสิ้นเชิงแล้วในวันนี้

img_20160911_120721