กระบะใส่เหรียญ วิถีชาวบ้าน

เราชาวบ้านมักทำเครื่องไม้เครื่องมือเล็กๆ น้อยๆ เพื่ออำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวัน สิ่งของเหล่านี้ ล้วนเป็นภูมิปัญญาที่สั่งสมและสืบเนื่องกันมาแต่โบราณกาล

เรามีกระบะแยกเหรียญและยังมีกระบะใส่เหรียญด้วย กระบะใส่เหรียญพวกพ่อค้าแม่ค้าและเราชาวบ้านที่ค้าขาย และอาชีพที่ได้เหรียญมาคราวละมากๆ มักทำเป็นกระบะแยกเหรียญออกจากกัน เป็นต้นว่า กระบะเหรียญสลึง กระบะเหรียญ 50 สตางค์ กระบะเหรียญบาท กระบะเหรียญ 5 บาท และกระบะเหรียญ 10 บาท

เมื่อเราได้เหรียญมาก็โยนลงไป เท่ากับได้แยกเหรียญไว้อย่างชัดเจนตั้งแต่แรก เมื่อต้องทอนให้ลูกค้า เราก็หยิบได้ง่าย สมมุติว่ามีคนให้แบงค์ 50 มาซื้อของไป 25 บาท เราก็หยิบ เหรียญ 10 จำนวน 2 เหรียญ ในกระบะเดียวกัน แล้วหยิบเหรียญ 5 จำนวน 1 เหรียญ ในอีกกระบะหนึ่ง รวมเป็น 25 บาท ทอนลูกค้าไป

การใส่เหรียญลงในกระบะอย่างนี้ ทำให้ง่ายต่อการนับทอนและนับเก็บ

กระบะใส่เหรียญเราชาวบ้านทำมาจากวัสดุหลายอย่าง บางคนใช้ไม้ไผ่สานเป็นตะกร้า ขณะที่บางคนใช้เศษไม้ เช่น เศษไม้ฝาบ้าน หรือเศษไม้กระดานบางๆ เอามาวัด ตัด และตอกด้วยตะปูเป็นรูปสี่เหลี่ยมแล้วทำพื้นด้วยวัสดุแผ่นเรียบ การทำกระบะใส่เหรียญเรานิยมทำขนาดเท่ากัน ไม่ว่าจะเป็นกระบะใส่เหรียญอะไรก็ตาม เราทำขนาดเท่ากันหมด เพราะว่าเวลาเก็บสามารถนำกระบะมาซ้อนกันได้สะดวก เมื่อต้องการใช้งาน เราก็เพียงยกมาเรียงกันเท่านั้น

อาชีพที่ต้องใช้กระบะเหรียญ มิใช่เพียงพ่อค้าแม่ขายเท่านั้น แต่ยังมีอาชีพอื่นอีก เช่น อาชีพพนักงานเฝ้าห้องน้ำ เมื่อลูกค้าเข้ามาถ้ามีกระบะเหรียญก็สามารถเก็บเงินได้อย่างเป็นระบบ เวลานับเงินก็นับได้อย่างคล่องแคล่วรวดเร็วสะดวกสบาย

อีกอาชีพหนึ่งที่ต้องใช้กระบะเหรียญ ก็คือ บ่อนการพนัน บ่อนต้องใช้กระบะเหรียญ แต่มักใช้แค่กระบะเหรียญห้าและเหรียญสิบ ส่วนเหรียญอื่นๆ นั้น ไม่ค่อยได้ใช้กัน เพราะว่าค่าของเงินน้อยเกินไป

Advertisement

กระบะใส่เหรียญเห็นได้จากอาชีพพ่อค้าแม่ค้า และอาชีพให้บริการห้องน้ำ และอาจมีอาชีพอื่นๆ อีกหลายอย่าง จุดประสงค์ของการทำกระบะใส่เหรียญไม่มีอะไรอย่างอื่น นอกจากเพื่อความสะดวกสบายและรวดเร็ว

เงินเหรียญเรามีใช้มาแต่ปางใดหนอ ตามประวัติแล้ว การใช้เงินของคนโบราณเรายังไม่มีตราประทับซื้อขายแลกเปลี่ยนอะไรกัน ก็นำสิ่งของมาแลกกัน อย่างสำนวนไทยปัจจุบันก็คือ ยื่นหมูยื่นแมวนั่นเอง

Advertisement

การซื้อขายแลกเปลี่ยนกัน หลังจากมีสิ่งของอะไรก็เอามาแลกกัน ค่อยพัฒนามาเป็นนำของมีค่ามาแลก ของมีค่านั้นก็คือ เงินและทอง

สมัยเก่าก่อนเงินและทองที่นำมาแลกยังเป็นก้อนเป็นแท่ง หรือเป็นรูปแบบใดๆ ก็ตาม จากการขุดค้นทางโบราณคดีพบว่า มีร่องรอยการตัดเงิน ทอง ออกเป็นชิ้นๆ ทำให้สันนิษฐานได้ว่า ชิ้นเงินและทองเหล่านั้น คนโบราณอาจใช้ซื้อขายแลกเปลี่ยนกัน

เรื่องเงินตราไทย เราพบว่า สมัยทวารวดี คนในดินแดนแหลมทองของไทย ได้ผลิตเหรียญใช้กันแล้ว เหรียญที่พบเช่น เหรียญจารึก คำว่า “ศรีทวารวตี ศวรปุณย” แปลว่า พระเจ้าศรีทวารวดี ผู้มีบุญอันประเสริฐ เหรียญทวารวดีนั้น อาจใช้แลกเปลี่ยนซื้อขาย หรือเพื่อใช้ทำพิธีอันศักดิ์สิทธิ์อย่างเดียว เรื่องนี้ยังไม่ชัดเจนนัก เอาเป็นว่าคนสมัยนั้นในแหลมทองมีเหรียญใช้ก็แล้วกัน

ต่อมาสมัยสุโขทัย เราติดต่อค้าขายกับต่างชาติมากขึ้น จึงผลิตคิดค้นเงินตราขึ้นมาใช้ ได้แก่ เงินพดด้วง และใช้เบี้ยหอยแทนเงินปลีกย่อย

สมัยเรียนชั้นประถม ผู้เขียนจำได้ว่า ระหว่างที่พระร่วงแห่งกรุงสุโขทัยเสด็จออกมาทอดพระเนตรช้างอยู่บนเกย พระองค์ทอดพระเนตรเห็นมะกะโทกวาดพื้นอยู่ จึงตรัสถามนายช้างว่า เป็นใครมาจากไหน เมื่อทรงทราบความจริง ทรงโปรดฯ ให้นายช้างเลี้ยงดูไว้ให้ดี เมื่อทรงคายพระสลา (หมาก) ออกมา แล้วก็บ้วนพระโอษฐ์ลงเหนือแผ่นดิน เมื่อดินกระจายออกก็ทอดพระเนตรเห็นเบี้ยๆ หนึ่ง จึงตรัสให้มะกะโทเก็บเอาเบี้ยนั้นไว้

มะกะโทกราบบังคมแล้วจึงเก็บเบี้ยนั้นตามรับสั่ง ด้วยปัญญาอันเฉียบแหลมของมะกะโท เบี้ยนั้นเองทำให้มะกะโทได้ดิบได้ดีต่อมา

เรื่องมะกะโทเป็นหลักฐานหนึ่งที่บอกให้เรารู้ว่า เราชาวสยามมีเบี้ยใช้ในสมัยสุโขทัย

สำหรับเหรียญตราในประเทศไทย เราเริ่มมีอย่างเป็นทางการในรัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เพราะประเทศสยามสู่อารยประเทศ ครั้นถึงสมัยรัชกาลที่ 5 พระองค์ทรงประกาศยกเลิกการใช้เงินพดด้วง แล้วเราก็ใช้เงินเหรียญอย่างแพร่หลายมาแต่บัดนั้น

อาชีพที่ต้องอยู่กับเหรียญมากๆ ก็เลยต้องมีกระบะใส่เหรียญ เพื่อความรวดเร็วสะดวกสบายในการเก็บและการนับ