“วังน้ำเขียว” เป็นได้มากกว่ารีสอร์ต นักธุรกิจเนรมิตไร่เกษตรพอเพียง 50 ไร่

เปิดศักราชปีจอด้วยเรื่องที่ทำให้ผู้อ่านมีรอยยิ้ม กับเรื่องราวของ “ไร่ป่านี้” ซึ่งทีมงานเทคโนโลยีชาวบ้านเก็บตกสิ่งละอันพันละน้อยในช่วงกลางเดือนธันวาคมปีที่แล้ว มาเล่าสู่กันฟัง โดยช่วงสัปดาห์ที่ 2 ของฤดูหนาวส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ได้รับความเมตตาจาก “หลวงพ่อวิชัย เขมิโย” เจ้าอาวาสวัดถ้ำผาจม อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ครูบาอาจาร์ยพระกัมมัฏฐาน ให้ออกเดินทางไปปฏิบัติธรรมพร้อมคณะศิษย์จากกรุงเทพฯ มุ่งหน้าสู่ “ไร่ป่านี้” บนพื้นที่วังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา ท่ามกลางบรรยากาศทุ่งไร่อ้อยและไร่ข้าวโพดสลับกันไป ริมสองข้างทางระหว่างขึ้นวังน้ำเขียว

เรามาถึงจุดหมายปลายทางไร่ป่านี้ด้วยเวลาบ่าย 3 โมงเศษๆ สภาพอากาศหนาวเย็นเหลือเชื่อ พร้อมกับลมที่พัดแรงจนทำให้ทุกคนรู้สึกหนาวไปหมด ยกเว้นครูบาอาจารย์ซึ่งท่านมีพลังสมาธิแข็งแกร่งทำให้ท่านไม่กระทบกับสภาพอากาศที่เย็นยะเยือก ด้วยอุณหภูมิเฉลี่ย 9-10 องศาเซลเซียส

เจ้าของไร่

และเมื่อมาถึงก็ได้มีโอกาสทราบว่าเจ้าของไร่ป่านี้ สละเงินส่วนตัวและเวลาที่เหลือจากธุรกิจในกรุงเทพฯ มาเนรมิตพื้นที่ 50 ไร่ ที่ตำบลวังหมี อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา ให้เป็นพืชไร่ผสมครบวงจร พร้อมกับเดินตามแนวทางพระราชดำริ “เศรษฐกิจพอเพียง” ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในการนำมาใช้กับการปลูกพืชไร่ที่มีเกือบทุกอย่าง อยากรับประทานอะไรที่ไร่ป่านี้มีหมด แม้กระทั่ง “สมอ” ซึ่งเป็นยาสมุนไพรครั้งพุทธกาล และหัวปลีซึ่งมีประโยชน์สำหรับผู้หญิงแรกคลอด

ผลไม้หลักๆ ใน “ไร่ป่านี้” มีตั้งแต่ “พุทรานมสด” ทุเรียน กล้วย เงาะ และ ฯลฯ โดยการเยี่ยมเยียนครั้งนี้ เจ้าของไม่พร้อมจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการ แต่ก็เล่าให้ทีมงานเทคโนโลยีชาวบ้านฟังอย่างเป็นกันเองว่า ที่สวนแห่งนี้ ทำขึ้นด้วยความชอบ และให้ความสำคัญกับระบบเทคโนโลยีการให้น้ำอย่างมาก โดยก่อนจะนำต้นพุทรามาลงในพื้นที่ มีการขุดบ่อน้ำและวางท่อน้ำจนพร้อมก่อน จึงจะนำต้นไม้ต่างๆ มาลง ซึ่งก็ได้ผลดี

พุทรานมสดที่ไร่ป่านี้ มีความกรอบสด หวาน สมกับที่เจ้าของสวนได้ทุ่มเท และมีการนำนมสดผ่านการหมักแล้ว มารดต้นพุทรา โดยฉีดนมสดไปที่โคนต้นเฉลี่ย 15-20 วัน ต่อครั้ง ในช่วงติดผลผลิต
ที่วังน้ำเขียวเป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ ท่ามกลางสภาพอากาศหนาวเย็นกว่าพื้นที่อื่น ซึ่งไม่เพียงจะได้ยินว่ามีแต่รีสอร์ตพักผ่อนหย่อนใจ แต่วังน้ำเขียวกลับเป็นพื้นที่ที่เหมาะกับการเกษตรอย่างมาก

และหากเรากล้าที่จะทำสิ่งใหม่ๆ ก็จะพบว่า ที่วังน้ำเขียวสามารถปลูกทุเรียน เงาะ และพุทรานมสด ที่ให้รสชาติประทับใจกับผู้มาเยือน
เจ้าของไร่ป่านี้ ยังสละพื้นที่ส่วนหนึ่งเป็นที่ปฏิบัติธรรมสำหรับพระสงฆ์ และภายในพื้นที่บ้านเปิดต้อนรับครูบาอาจารย์พระกัมมัฏฐานและญาติมิตรกัลยาณธรรม เพื่อมาชิมผลไม้และพักผ่อนใจด้วยการเจริญภาวนาปฏิบัติกัมมัฏฐาน เรียกว่า อิ่มกาย อิ่มใจ กันถ้วนหน้า

กัลยาณมิตรทางธรรม เล่าว่า ความน่าสนใจยังอยู่ที่ เจ้าของ “ไร่ป่านี้” ก่อนจะประสบความสำเร็จทางธุรกิจและมาสร้างพื้นที่การเกษตรที่วังน้ำเขียว ก็พบเจอกับอุปสรรคล้มลุกคลุกคลาน ครั้งหนึ่งก็เคยคิดสั้น แต่ด้วยแรงแห่งธรรม จึงได้มีโอกาสปฏิบัติสมาธิภาวนา และไม่เคยคิดสั้นอีก โดยทุกวันนี้ปฏิบัติสมาธิวนาไม่ต่ำกว่าวันละ 2 ชั่วโมง ทุกเช้าค่ำ ซึ่งเจ้าของไร่ป่านี้บอกว่า สมาธิยังส่งผลทำให้เขาใจเย็นขึ้นเวลาต้องคุมงานลูกน้อง

งานนี้ได้แง่คิดทางธรรม พร้อมกับแนวคิดในการทำการเกษตร และยิ่งเดินที่ไร่ป่านี้ ก็ยิ่งคิดถึงในหลวงรัชกาลที่ 9 เพราะพื้นที่แห่งนี้ได้เนรมิตผลไม้อันหลากหลายไว้ในพื้นที่เดียวกันตามแนวทางพระราชดำริเกษตรทฤษฎีใหม่ ภายใต้แนวทางที่พระราชทานไว้ให้พสกนิกรได้ดำเนินชีวิตที่เรียกว่า “เศรษฐกิจพอเพียง” นั่นเอง

จะว่าไปแล้วถ้าเราทำเกษตรเพียงอย่างเดียวอาจจะดูตรากตรำและลำบาก ในมุมมองและวิถีชีวิตของคนเมือง แต่หากทำเกษตรด้วยความสนุก ผ่านการปฏิบัติธรรมอันเรียบง่ายและสงบ ชีวิตเกษตรกรในชนบทดูจะเป็นสิ่งที่หลายคนในเมืองหลวงใฝ่ฝัน เพราะฉะนั้น ใครมีที่ดินทำกินในต่างจังหวัดก็อย่าเพิ่งขาย อย่างน้อยมี 1 ไร่ หรือกี่ตารางวา ก็พอที่จะปลูกพืชสวนครัวขายและรับประทานเอง โดยไม่ต้องรอโชคชะตาฟ้าลิขิต

ทีมงานเทคโนโลยีชาวบ้านอยู่ปฏิบัติธรรมกับหลวงพ่อวิชัย เขมิโย พร้อมคณะศิษยานุศิษย์ ในช่วงค่ำคืนและทำวัตรเช้า ซึ่งสภาพอากาศมีแต่จะหนาวเย็นขึ้นเรื่อยๆ ทางเจ้าของไร่เตรียมที่พักไว้ 2 แบบ คือ นอนในบ้านแบบอุ่นๆ กับนอนในเต็นท์แบบหนาวๆ ซึ่งแน่นอนว่า เราเลือกนอนเต็นท์แบบหนาวที่สุด อย่างที่กรุงเทพฯ ไม่มี ปรากฏว่า ค่ำคืนนั้นเผชิญอากาศหนาวแบบต่ำกว่า 10 องศา พร้อมลมกรรโชกแรง ก่อนหน้าลมหนาวจะเยือนกรุงเทพฯ ไม่กี่วัน

วันรุ่งขึ้นทุกคนตื่นมาด้วยคำพูดว่า “หนาวๆๆๆ” แต่เป็นการหนาวที่ดีขึ้น เพราะเริ่มชิน และสามารถอาบน้ำได้แล้ว ไม่ใช่ว่าอากาศร้อนขึ้น แต่เพราะร่างกายเริ่มปรับตัวได้บ้าง พร้อมกับได้รับประทานอาหารเช้าที่อร่อยและอุดมสมบูรณ์จากเจ้าของไร่

เราพักค้างแรมที่ “ไร่ป่านี้” เพียง 1 คืน รุ่งขึ้นต้องเดินทางกลับหลังจากรับประทานอาหารเช้าและอาหารกลางวันเรียบร้อยแล้ว ซึ่งได้พุทรานมสดติดไม้ติดมือกลับมารับประทานที่กรุงเทพฯ กันพอหอมปากหอมคอ

ระหว่างที่เดินทางมาถึงเส้นทางจากเขาใหญ่เพื่อลงไปยังกรุงเทพฯ รถแน่นขนัดเป็นทางยาวหลายกิโลเมตร รถบางคันเลี้ยวกลับ บางคันก็ส่งสัญญาณให้คันต่อๆ ไปว่า อย่าไปๆ ข้างหน้ามีช้างป่า พอได้ยินสัญญาณเท่านั้น คณะศิษยานุศิษย์ซึ่งเป็นสารถีให้ครูบาอาจารย์ รีบเลี้ยวรถกลับทันทีโดยไม่ต้องรอเจอช้างป่าตัวจริง

ส่วนรถบางคันยังขอติดกระแสเข้าคิวรถติด หวังเห็นช้างป่าสักนิด หรืออาจจะอยู่ในจังหวะที่อยากกลับรถแต่ก็กลับไม่ได้เสียแล้ว เพราะกระชั้นชิดกับเหตุการณ์เผชิญหน้ากับ “ช้างป่า”

งานนี้ขากลับมีลุ้นกับ “ช้างป่า” โชคดี โยมอุปัฏฐากหลวงพ่อท่าน ตัดสินใจทันเหตุการณ์ เรียกว่า ทีมงานเทคโนโลยีชาวบ้านก็รอดไปด้วย

ครั้งหน้ามีโอกาสไปชมสวนเกษตร พาอิ่มกาย อิ่มใจ มีเรื่องราวมาเล่าจะเก็บมาฝากกันอีก