เพลงบอก เพลงพื้นบ้าน ตำนานท้องถิ่น

ศิลปะท้องถิ่นของแต่ละภาค ล้วนมาจากวิถีชีวิตความเป็นอยู่ และอาชีพของผู้คน ในท้องถิ่น ในชุมชนนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็น หมอลำ ของทางภาคอีสาน เพลงฉ่อย เพลงเรือ ของภาคกลาง มโนราห์ หนังตะลุง เพลงบอก ของทางภาคใต้ ศิลปะหรือมหรสพแต่ละแขนง ต่างก็เป็นที่นิยมแพร่หลายมาหลายชั่วอายุคน

เพลงบอกเป็นศิลปะประจำถิ่นของภาคใต้ โดยเฉพาะในจังหวัดพัทลุงและนครศรีธรรมราช เป็นที่นิยมชมชอบเป็นพิเศษและมีศิลปินที่มีชื่อเสียงของสองจังหวัดนี้มากมาย จนศิลปินบางท่าน ได้รับเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ เพลงบอกจึงกลายเป็นมรดกทางวัฒนธรรมมาตั้งครั้งโบราณ

เพลงบอก คือบทร้อยกรองประเภทหนึ่ง ที่ร้องกันตามงานบุญประเพณี ทั้งงานบวช งานศพ หรืองานบุญทอดผ้าป่า ทอดกฐิน โดยเฉพาะ ช่วงวันสงกรานต์ จะมีคณะเพลงบอก จะเดินไปตามบ้าน ร้องเพลงบอกยกย่อง ชื่นชมเจ้าของบ้าน แล้วจบลงด้วยการบอกบุญ เรี่ยไรเงินทองเข้าวัด

ในงานเดือนสิบ ซึ่งเป็นงานประจำปีของจังหวัดนครศรีธรรมราช เขาก็ได้จัดการแข่งขันเพลงบอกเป็นประจำทุกปี

เพลงบอกปานบอด

ตอนสมัยเป็นเด็กเคยตามหลังเป็นลูกสร้อยของคณะเพลงบอกไปตามบ้านต่าง ได้กินขนมพื้นบ้านอร่อยๆ ที่เจ้าของบ้านนำออกมาจ่ายแจก ได้ทั้งอิ่มท้องและสนุกสนาน จึงเป็นที่ชื่นชอบเพลงบอกเป็นพิเศษมานับแต่นั้น

เพลงบอกนั้นจะมีแม่เพลง ถ้าจะเรียกให้ก็ ก็คือนักร้องนำในสมัยนี้นั่นเอง โดยจะมีลูกคู่หรือจะเรียกว่าลูกสร้อยประมาณสี่ถึงห้าคน

การร้องเพลงบอก พอที่จะบอกไว้เป็นตัวอย่างได้ว่า

“(แม่เพลงขึ้นต้น) มีนครามหาสถาน

(ลูกคู่) เอ ว่าเห มหาสถาน

(แม่เพลง) นามขนานนครสถิต ประจิมทิศและบูรพา มีทุ่งนาเรียง

(ลูกคู่) มีทุ่งนาเรียง ประจิมทิศและบูรพา ทุ่งนาเรียง”

นายปาน ชีช้าง หรือ ปานบอด เป็นแม่เพลงที่ผู้คนชื่นชอบและมีชื่อเสียงที่สุด แข่งกับใครที่ไหน เป็นต้องชนะคู่แข่งทุกครั้ง เรียกกันว่าเพลงบอกปานบอด เพราะท่านเป็นคนตาบอดสนิททั้งสองข้าง ว่ากันว่า ในสมัยนั้น ไม่มีใครที่เทียบเพลงบอกปานบอดได้เลย ตามที่ได้ค้นคว้าไถ่ถาม คนเก่าๆ เล่าว่าท่าน เพลงบอกปานบอด เกิดในปี พ.ศ. 2433 และเสียชีวิตในปี พ.ศ. 2498

แม้ว่าเพลงบอกปานบอดได้เสียชีวิตไปนานแล้ว แต่ผลงานของท่าน ยังเป็นที่เลื่องลือและยังประโยชน์ต่อวงการศิลปินและศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านภาคใต้ สืบเนื่องมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน

ชีวิตและผลงานของเพลงบอกปานบอด ศิลปินเพลงบอกชั้นครู จึงน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง

ตามประวัติ เพลงบอกปานบอด เป็นคนบ้านนาดอน ตำบลเขาพังไกร อำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช ท่านสนใจ เรื่องกาพย์กลอนมาตั้งแต่ตอนเป็นเด็ก ร้องได้ทั้งกลอนหนังตะลุง มโนราห์ ซึ่งเป็นกลอนสด ท่านเป็นปฏิภาณกวี ว่าได้สดๆ โดยไม่ต้องมีเนื้อหามาให้ท่องจำเหมือนเพลงบอกคณะอื่นๆ อาจจะด้วยเพราะท่านตาบอดมาตั้งแตเด็กนั่นเอง

แต่การร้องเพลงบอกของท่าน คนตาดีๆ ก็ไม่อาจเทียบได้

ศิลปินรุ่นหลังได้เขียนคำยกย่องเพลงบอกปานบอดไว้เป็นทำนองเพลงบอกว่า

“ปานบอดยอดขยันหมั่นศึกษา

จนเชื่องชับเช่นเป็นเจรจา

เลยดีหวาอาจารย์การแสดง”

(เชื่อง ชับ เช่น หมายถึง เก่งมากๆ)

และยังยกย่องต่อว่า

“ทั้งพ่อแม่พี่น้องร่วมท้องเกิด

เห็นดีเลิศก็ยิ่งรักเป็นหนักหนา

ถึงฤดูเดือนสี่ที่ออกนา

ปานอยู่เคหาเลี้ยงน้องชอบร้องเรือ”

จากการที่มีชื่อเสียงในการร้องเพลงบอกนี่เอง เพลงบอกปานบอด เมื่ออายุได้ราวๆ สิบแปดถึงสิบเก้าปี จึงมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วภาคใต้ โดยร้องชนะ เพลงบอกรุ่นพี่ ที่มีชื่อเสียงในสมัยนั้น ซึ่งได้แก่ เพลงบอกรอดหลอ เพลงบอกเนตร ทำให้เพลงบอกปานบอดเป็นที่รู้จักและมี

ชื่อเสียงมากยิ่งขึ้น

การแข่งแต่ละครั้ง ผู้คนจะเข้าชมเข้าฟังอย่างล้นหลาม

ตามคำบอกเล่าของคนเก่าๆ ว่ากันว่า เพลงบอกปานบอด เป็นเพลงบอกสองหิ้ง ซึ่งหมายถึงจะต้องทำพิธีไหว้ครูแต่ละครั้ง ต้องไหว้สองหิ้ง นั่นหมายถึงหิ้งครูเพลงบอกและหิ้งครูหนังตะลุง เพราะเก่งทั้งหนังตะลุงและเพลงบอก ทั้งยังมีชื่อเสียงศิลปะทั้งสองแขนงนี้ด้วย บางคนจึงเรียกเพลงบอกปานบอดว่า ปานสองหิ้ง

เพลงบอกปานบอดถึงแก่กรรมขณะมีอายุได้ 66 ปี (พ.ศ. 2498) แต่ชื่อเสียงของท่านยังคงเป็นที่กล่าวขานมาตราบปัจจุบัน