เสาปักธง คนไทยเราชอบทำบุญ “วันโกน วันพระ” ไม่เคยขาด

รูปแบบการทำบุญนับวันจะพัฒนาไปต่างๆ นานา แต่ที่เห็นและยังเป็นอยู่เหมือนอดีตคือ เสียบเงินไว้กับธง แล้วปักไว้บนเสา เสาธงบางหมู่บ้านใช้ต้นกล้วย ตัดมาสดๆ ตกแต่งใบสวยงาม นำมาตั้งรอไว้บริเวณคนผ่านไปมาได้สะดวก แล้วนำธงเสียบเงินมาวางไว้ใกล้ๆ คนใจบุญเดินเข้ามาก็คว้าก้านธง เสียบเงิน ปักบนต้นกล้วย ต้นกล้วยอ่อนนุ่มปักก้านธงได้สะดวก แต่มีข้อเสียตรงใช้นานไม่ได้ ใช้คราวเดียวต้องทิ้งไปเลย ทำให้เปลืองต้นกล้วย

ส่วนวัดที่อยู่ในเมือง ไม่มีต้นกล้วยก็เกิดปัญหา ต้องหาจากญาติโยม กลายเป็นความไม่สะดวกบางประการไป เมื่อมีปัญหาก็ต้องแก้ไข เราคนไทยมีวิธี

เราชาวบ้านจึงพัฒนาขึ้นมาอีกขั้นหนึ่ง แทนที่จะใช้ต้นกล้วยก็ใช้ท่อน้ำพลาสติก หรือที่เรียกกันว่าท่อ พีวีซี ซื้อมาจากร้านขายวัสดุก่อสร้าง นำมาตัด ยาวประมาณ 2 ศอก เจาะรูเล็กๆ พอก้านธงเสียบเข้าไป นำโฟมมาตัดยัดเข้าไปในท่อให้เต็ม ด้านบนเราชาวบ้านนำไม้อ่อนๆ มาแกะสลักเป็นรูปดอกบัวตูม หรือจะเป็นลวดลายอื่นๆ ก็ตามใจ เสียบไว้ให้แน่นเป็นหัวเสา

เสร็จแล้วทาสีทองให้อร่ามเรือง เราก็จะได้เสาปักธง 1 อัน

เสาปักธงชนิดใหม่ เราใช้กันอย่างแพร่หลาย ไม่ว่าจะเป็นงานบุญ กฐิน ผ้าป่า หรือเทศกาลงานบุญเทศน์มหาชาติ เราชาวบ้านจะนำมาตั้งไว้ แรกๆ สีทองอร่ามเรือง เพราะมีแต่ต้นเสาเปล่าๆ ครั้นญาติโยมเข้ามาในวัดมากเข้า สีเขียว สีม่วง สีเทา ก็ค่อยๆ เพิ่มขึ้น แต่ละก้านธงประดับด้วยเงิน แต่ละงานรวมกันทางวัดได้ค่าน้ำ ค่าไฟ และค่าใช้จ่ายต่างๆ ของพระภิกษุสงฆ์

เท่าที่สังเกตมา งานบุญเทศน์มหาชาติดูจะเป็นงานบุญใหญ่สำหรับคนไทย ธงทิวบนเสาสะพรั่งพราวสวยงามที่สุด

ด้วยเชื่อกันว่า ถ้าใครได้ฟังเทศน์มหาชาติทั้ง 13 กัณฑ์ ภายในวันเดียว เมื่อจากโลกไปจะได้ขึ้นสวรรค์ ทั้ง 13 กัณฑ์นั้น คือ

Advertisement
  1. กัณฑ์ทศพร
  2. กัณฑ์หิมพานต์
  3. กัณฑ์ทานกัณฑ์
  4. กัณฑ์วนประเวศ
  5. กัณฑ์ชูชก
  6. กัณฑ์จุลพน
  7. กัณฑ์มหาพน
  8. กัณฑ์กุมาร
  9. กัณฑ์มัทรี
  10. กัณฑ์สักกบรรพ
  11. กัณฑ์มหาราช
  12. กัณฑ์ฉกษัตริย์
  13. กัณฑ์นครกัณฑ์

ทั้ง 13 กัณฑ์ พระท่านต้องเทศน์ตั้งแต่เช้ามืด เรื่อยไปจนมืดค่ำถึงจะจบ ด้วยความเชื่อว่าถ้าใครมีอุตสาหะฟังได้ครบจะทำให้ได้ขึ้นสวรรค์ พุทธศาสนิกชนจึงหลั่งไหลเข้ามาฟัง และทำบุญกันอย่างคับคั่ง

ความพิเศษของเทศน์มหาชาติคือ พระภิกษุสงฆ์ที่เทศน์ แต่ละรูปมักถนัดในแนวทางของท่านเอง เสียงใหญ่ๆ ก็ต้องเทศน์กัณฑ์มหาราช เสียงหวานๆ เพราะๆ ก็ต้องเทศน์กัณฑ์มัทรี ด้วยความสามารถของพระนักเทศน์ กลายเป็นแม่เหล็กดึงดูดพุทธศาสนิกชนเข้าไปหาเสาธง และเสียบเงินทำบุญได้เป็นอย่างดี

Advertisement

สีขาวตรงข้ามกับสีดำ ทางสายบุญก็ตรงข้ามกับทางสายบาป คนดีก็ตรงข้ามกับคนชั่ว เคยมีเรื่องราวเกิดขึ้นเนืองๆ ว่า มีมือร้ายเข้ามาฉกเงินจากธงไป เรื่องที่เกิดขึ้นเคยทั้งเป็นข่าวและไม่เป็นข่าว และเคยจับได้และจับไม่ได้

สาเหตุที่คนมักขโมยเงินจากธง เพราะว่าหยิบง่าย ไม่ค่อยมีใครสนใจ คนส่วนใหญ่เข้ามาทำบุญ ใครเดินเข้าไปใกล้ก็คิดว่าจะเข้าไปทำบุญ ไม่ได้เข้าไปสร้างบาป เท่ากับเปิดช่องให้กับคนใจบาปในคราบนักบุญขโมยเงินเอาไปได้ง่ายๆ

เสาปักธง เราชาวบ้านไม่ได้ซื้อหา หากแต่ทำขึ้นมาใช้กันเอง อย่างวัดต่างจังหวัด เมื่อต้องการทำก็ระดมคนที่พอมีฝีมือเชิงช่างมาร่วมกันทำ ซื้อท่อจากร้านวัสดุใกล้ๆ บ้านมาช่วยกันตัด เจาะรู ทำหัวเสาให้สวยงาม ทาสี ให้สวยงาม

ส่วนก้านธงนั้น ระดมสุภาพสตรีหน้าตาแฉล้มแช่มช้อยมาช่วยกันทำ หนุ่มๆ หรือเฒ่าๆ ก็ได้ เป็นผู้ผ่าลำไผ่ออกมาเป็นซี่เล็กๆ ช่วยกันเหลาให้เสี้ยนหมดไป จากนั้นสุภาพสตรีใช้กระดาษสีเขียว ขาว แดง ส้ม พันก้านธง ส่วนปลายใช้กาวแต้มเล็กน้อย เป็นอันว่าทั้งเสาปักธงและก้านธงพร้อมใช้งาน

การทำบุญ แท้จริงอยู่ที่ความพอใจ และฐานะของคนทำ หากไม่มีเงินมีทองมาก แบงค์ยี่สิบเก่าๆ สัก 1 ใบ ก็เพียงพอแล้ว ขอเพียงทำด้วยใจบริสุทธิ์เท่านั้น กุศลผลบุญก็จะเกิดกับผู้สร้างอย่างแน่นอน อาทิวาบแรกที่เราอุทิศถวายก็มีความสุขแล้ว

ไม่เชื่อก็ไม่ต้องจ่าย แต่ลองทำดูก็จะรู้เองว่า ความปีติใจจากการทำบุญด้วยใจบริสุทธิ์นั้นเป็นอย่างไร