ผักหวานป่า ของดีจากป่า มีให้กินปีละหน

สมัยก่อนจะพบเห็นต้นผักหวานป่า ตามป่าทั่วๆ ไป ถึงฤดูแล้งก็จะแตกยอดอ่อน ดอกอ่อน ให้ชาวบ้านที่หากินอยู่กับป่า เก็บมาทำอาหารกิน ปีหนึ่งจะมีให้กินสัก 10-20 วัน ก็จะหมด

สันนิษฐานกันว่า สาเหตุที่ผักหวานป่าออกมาระยะหนึ่งสั้นๆ ก็เพราะเข้าสู่ฤดูแล้ง มักจะเกิดไฟป่าเผาไหม้กิ่งก้านต้นผักหวาน ในระยะที่ต้นผักหวานกำลังนอนหลับ หยุดพักการเจริญเติบโต เพราะช่วงแล้งจะยากแก่การหาน้ำเลี้ยงตนเอง จึงอาศัยอาหารและน้ำที่สะสมในต้นประทังชีวิต

พอผ่านแล้งและถูกไฟไหม้ ก็เริ่มที่จะกลับมาเจริญชีวิตตนเองใหม่ แตกยอดอ่อน ดอก และสร้างลูกติดเมล็ดเพื่อจะแพร่พันธุ์ต่อไป ในช่วงนี้แหละที่ต้นผักหวานป่าจะแทงยอดที่ให้รสชาติหวาน หอม กรอบ มัน ปรุงอาหารอร่อยมาก จะต้ม ผัด ลวก ฉาบน้ำมันหรือนำมาแกงใส่ปลาย่าง ใส่เนื้อแห้ง และที่สุดคือ แกงใส่ไข่มดแดง ที่มีออกมามากพร้อมกันเหมือนกับเป็นคู่หูดูโอ งั้นแหละ…สุดยอด

ผักหวานป่าเป็นไม้ยืนต้น มีอายุยืนยาวมาก มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Melientha suavis Pierre มีลักษณะเป็นใบเดี่ยวเรียงสลับกัน ใบอ่อนรูปร่างแคบ รี สีเขียวอมเหลือง ใบแก่เต็มที่สีเขียวเข้ม รูปร่างคล้ายรูปไข่ เนื้อใบกรอบ ขอบใบเรียบ ปลายใบมน ก้านใบสั้น ช่อดอกแตกกิ่งก้านคล้ายช่อมะม่วงหรือลำไย และเกิดตามกิ่งแก่หรือตามลำต้นที่ใบร่วงแล้ว ลำต้นเป็นไม้เนื้อแข็ง กิ่งอ่อนมีสีเขียวเข้มและจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเมื่อแก่

ตามลักษณะที่เล่ามาคงจะมองออกว่า “ผักหวานป่า” ที่พูดถึงมีลำต้นใหญ่แข็งแรง เป็นไม้ยืนต้น ไม่ใช่ผักที่ปลูกตามแปลง เช่น ผักกาด ผักชี เชื่อไหมว่า หลายคนและท่านก็เป็นคนหนึ่งที่เข้าใจเช่นนั้น

มีการเล่าขานและแข่งขันกันว่า ใครจะมีความสามารถเพาะพันธุ์ผักหวานป่าให้ได้มาก และปลูกติดเป็นต้นไม้ยืนต้นได้มากกว่ากัน มีเกษตรกร นักวิชาการเกษตร และผู้เชี่ยวชาญหลายๆ ท่าน ได้ทดลองเพาะขยายพันธุ์หลากหลายวิธี ที่เพาะได้ขยายได้ ก็เผยแพร่ผลงานออกไป แต่เนื่องจากบทพิสูจน์นั้นยังไม่สำเร็จขั้นสูงสุดคือ ได้ต้นผักหวานยืนต้นให้ผลผลิตได้ดีเหมือนต้นดั้งเดิมที่เกิดในป่า

ในหลากหลายวิธีที่มีผู้ทดลองและเผยแพร่ให้ได้รู้กันนั้น มีวิธีหนึ่งซึ่งเป็นเกษตรกรอยู่ที่บ้านวังโป่ง ตำบลวังกะพี้ อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์ เจ้าของสวนพันธุ์ไม้นานาชนิด ที่ชื่อว่า “สวนประดับพันธุ์ไม้” ได้ใช้วิธีปลูกผักหวานแบบธรรมชาติคือ หาเมล็ดแก่ของผักหวานจากต้นในป่า นำมาปลูกโดยปักหลักไม้เป็นสัญลักษณ์ แล้ววางเมล็ดแก่ที่ลอกเปลือกออกแล้ว วางไว้บนดินและคลุมด้วยหญ้าแห้ง รดน้ำ ทำหลักไม้เป็นซุ้มรอบๆ ป้องกันการเหยียบย่ำหรือเผลอไปใช้เครื่องตัดหญ้า ใช้เวลาประมาณ 1 เดือน จะได้ต้นผักหวานที่มีรากแทงลงดินเอง โผล่ยอดออกมาหาแสงและอากาศเอง และด้วยวิธีนี้ได้มีต้นผักหวานความสูงกว่า 3 เมตร อยู่ในพื้นที่ให้ผลผลิต

จะสังเกตได้ว่าวิธีนี้ได้ต้นผักหวานป่าที่เป็นไม้ยืนต้นพร้อมที่จะให้ผลผลิตคือ ยอดอ่อนและผลอ่อน สำหรับเป็นอาหารมนุษย์ต่อไปได้ นี่ก็เป็นเวลานับสิบปีแล้ว ติดต่อ คุณประดับ โทร. (081) 379-2584และอีกหลายรายที่ปลูกผักหวานแบบวิชาการเกษตรโดยการเพาะเมล็ดผักหวานป่าลงบนแปลงขี้เถ้าแกลบดำ เมื่องอกแล้วนำมาลงถุงชำ 3-4 เดือน หรือสูง 15-25 เซนติเมตร ก็ย้ายลงปลูกได้ ด้วยความระมัดระวัง ฉีกถุงอย่าให้ดินแตก ระวังอย่าให้รากกระทบกระเทือนเด็ดขาด มิฉะนั้นไม่รอดสักต้น อีกส่วนหนึ่งตอนกลบหลุมปลูกความเคยชินต้องกดดินให้แน่น นั่นก็เป็นอีกตอนที่ผักหวานกระเทือนและก็ไม่รอดอีก

แต่ก็มีหลายรายใช้วิธีปลูกแบบหลัง แล้วได้ผลต้นผักหวานโตสักเมตรสองเมตรให้เด็ดยอดไปกินไปขายแล้ว แต่ยังตอบโจทย์ที่ว่าจะอยู่รอดเป็นไม้ยืนต้นได้หรือไม่ ยังไม่มีคำตอบ

ผักหวานป่าเป็น 1 ใน 3 ของสายพันธุ์ของผักหวาน ประกอบด้วย ผักหวานบ้าน (รวมทั้งผักหวานจีน) ผักหวานเมา (เสน) และผักหวานป่า ผักหวานป่าแยกเป็น 2 สายพันธุ์ คือ พันธุ์ยอดสีเหลือง กับพันธุ์ยอดสีเขียว

การบริโภคผักหวานต้องทำให้สุก เพราะบริโภคแบบสดจะทำให้เกิดอาการเมา เบื่อ เป็นไข้และอาเจียน ด้วยรสชาติที่อร่อย หวาน กรอบ หอม มัน ผักหวานยังมีคุณค่าทางโภชนาการต่างๆ  เช่น วิตามินเอ วิตามินบี วิตามินซี วิตามินดี และสารเบต้าแคโรทีน และเป็นอาหารช่วยลดความอ้วนได้เพราะมีสารไรโบเฟลวิน หรือวิตามินลดความอ้วน เมื่อกินแล้วจะช่วยเผาผลาญกรดอะมิโนจากโปรตีน คาร์โบไฮเดรตและไขมัน เพื่อให้พลังงานแก่ร่างกาย

วันนี้ ผักหวานป่า กำลังออกจากป่ามาสู่ชุมชน เคยมาแต่ยอด แต่ผลอ่อน เดี๋ยวนี้สร้างสวนปลูกผักหวานป่ากันมากพอสมควร ขายโดยเร่งเก็บผลผลิตให้ออกต้นฤดูและปลายฤดูจะได้ราคาดีมาก ถ้านำมาขายในช่วงฤดูกาลผักหวานป่าออก ราคาก็จะปานกลาง  วันนี้คุณได้ลิ้มลองชิมรสแกงผักหวานใส่ไข่มดแดงแล้วหรือยัง??