ขนมลา ขนมนี้มีตำนาน

หนมลา หรือขนมลา เป็นขนมของทางภาคใต้ที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ โดยเฉพาะที่จังหวัดนครศรีธรรมราช

ขนมลายังเกี่ยวโยงกับตำนานและความเชื่อของคนในท้องถิ่น

ด้วยลักษณะของตัวขนม ที่มีรูปร่างเสมือนผืนผ้าและมีลายที่วิจิตร เหมือนมีเส้นไหมสีทองเส้นเล็กๆ ถักทอเอาไว้ด้วยฝีมือของคนทอผ้าที่ชำนาญ คนภาคใต้จึงเชื่อกันว่า การที่ทำขนมลาแล้วนำไปถวายพระ ก็เปรียบเสมือนว่าได้ส่งผ้าแพรพรรณไปให้กับบรรพบุรุษและผู้ที่ล่วงลับให้ได้มีเครื่องนุ่งห่ม

ขนมลาเป็นหนึ่งในจำนวนขนมห้าชนิดที่นิยมทำกันในช่วงเดือนสิบของทุกปี แล้วจะนำไปถวายพระในวันสารท แต่ละชนิดก็มีความหมายแตกต่างกันออกไป อย่างขนมพองก็เชื่อกันว่าใช้แทนเรือหรือแพ ขนมบ้าก็ใช้แทนลูกสะบ้า เพื่อให้วิญญาณบรรพบุรุษได้ละเล่นจะได้ไม่เหงา ขนมดีซำก็ใช้แทนเงิน เพื่อให้บรรพบุรุษมีเงินทองไว้ใช้จ่าย ขนมไข่ปลาหรือเรียกว่าขนมกง ก็ใช้แทนเครื่องประดับ

คนทางภาคใต้จะมีความเชื่อเช่นนี้มาตั้งแต่สมัยไหนไม่ปรากฏ ซึ่งถือเป็นประเพณีประจำพื้นถิ่นที่สืบต่อกันมาเป็นเวลาช้านาน

ส่วนขนมลาซึ่งมีเส้นสายถักทอที่เป็นแผ่นสลับไปสลับมาจนเหนียวแน่น จึงมีความหมายอีกนัยยะหนึ่งก็คือความสมานสามัคคีในหมู่ญาติพี่น้อง ที่ไม่ว่าอยู่แห่งหนตำบลใด ไกลหรือใกล้ ครั้นเมื่อถึงช่วงเทศกาลวันสารทก็จะมาพบปะกันอย่างพร้อมเพรียง

ในสมัยก่อน การทำขนมลานั้นมีกระบวนการที่พิถีพิถัน แป้งก็ใช้แป้งจากข้าวอย่างดี น้ำตาลก็ต้องเป็นน้ำตาลที่ต้องมาจากต้นจากเท่านั้น ชาวบ้านที่อยู่ในเขตลุ่มน้ำปากพนัง จะนำน้ำตาลจากต้นจาก เพราะที่อำเภอปากพนังมีต้นจากมากมายขึ้นอยู่ตามชายน้ำทั้งสองฝั่ง จึงทำให้เชื่อกันว่า ขนมลาแรกเริ่มเดิมทีนั้นมาจากอำเภอปากพนัง แต่จริงๆ แล้ว คนใต้ในแทบทุกจังหวัดก็ทำขนมลากันในช่วงเทศกาลวันสารท แต่น้ำตาลที่ใช้ก็อาจแตกต่างกันออกไปตามสภาพพื้นที่ ซึ่งบางพื้นที่ก็ได้น้ำตาลจากต้นมะพร้าว บางพื้นที่ก็ได้ความหวานมาจากน้ำผึ้งป่า ซึ่งสมัยก่อนนั้นน้ำผึ้งหาง่ายกว่าสมัยนี้

ปัจจุบันการทำขนมลาโดยใช้ความหวานจากน้ำผึ้งป่าแทบจะไม่มี ชาวบ้านในสมัยนี้จึงต้องใช้น้ำตาลจากน้ำตาลทรายบ้าง น้ำตาลปี๊บบ้าง คือยึดเอาความสะดวกเป็นหลัก

เมื่อขนมลาเป็นที่รู้จักของคนทั่วไปมากขึ้น ขนมลาจึงไม่ทำแต่เฉพาะวันสารทเท่านั้น หากแต่ขนมลาจึงมีตลอดปี และได้ปรับแต่งรูปแบบและสีสันแตกต่างออกไปเพื่อสนองความต้องการของผู้ซื้อขายเป็นของขวัญของฝากให้กับนักท่องเที่ยว ที่มาเที่ยวชมภาคใต้ โดยเฉพาะในเขตวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช มีขนมลาขายกันทุกวัน และทำขนมให้เห็นกันจะๆ

จากการได้พูดคุยกับแม่ค้าที่ขายในบริเวณวัด ว่าขนมลาทำได้อย่างไร แม่ค้าซึ่งมีอายุยังน้อยได้เล่าถึงกรรมวิธีได้อย่างละเอียดละออแต่จะขอบอก ณ ที่นี้ เพียงคร่าวๆ ว่าส่วนผสมของขนมลานั้นจริงๆ แล้ว มีอะไรบ้าง

ส่วนผสมหลักๆ ก็จะมี แป้งข้าวเจ้า น้ำตาล ไข่ไก่ (เอาเฉพาะไข่แดง) น้ำมันพืช และน้ำเปล่า

ส่วนที่จะเพิ่มเติม อาจจะเป็นเกลือ สี ก็แล้วแต่ใครจะเพิ่มเพื่อให้เกิดรสชาติและสีสันเฉพาะตัวของแม่ค้าแต่ละคน

วิธีทำก็คือเคี่ยวน้ำตาลให้ข้นเหนียวแล้วนำมาผสมกับแป้งและไข่ไก่ นวดให้เข้ากันแล้วเติมน้ำเปล่าทีละน้อยทีละน้อย แล้วกวนหรือคน ดูให้เหลว ข้นพอดี แล้วตักใส่กระป๋องซึ่งเจาะรูเล็กๆ ไว้ที่ก้นของกระป๋องนั้น โดยรูจะมีจำนวนมากและขนาดที่เท่าๆ กัน ในสมัยก่อนนั้นเขาจะใช้กะลาแทนกระป๋อง ยกกระป๋องที่มีแป้งขนมโรยลงในกระทะ ที่ทาน้ำมันตั้งไฟ ส่ายไปส่ายมา ก็จะได้เป็นขนมลาที่อร่อยไว้ขายให้กับนักท่องเที่ยวได้แล้ว

แม่ค้าบอกอย่างนั้น

หากท่านใดมีโอกาสไปเที่ยวนครศรีธรรมราช เข้าไปไหว้พระทนต์ธาตุขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสร็จแล้ว ก็อย่าลืมแวะเข้าไปชมในตลาดวัดพระธาตุ

เพราะที่ตลาดนี้ยังมีของดีเมืองคอนอีกมากมายให้ท่านได้เลือกซื้อเลือกชม