หยุดนี้เที่ยว“ตลาดสุขใจ” ของสดจากไร่ เก็บใหม่จากสวน ไม่แพง ขายตรง

สมัยผมเด็กๆ เมื่อราวสี่สิบปีก่อน เวลานั่งรถประจำทางจากราชบุรีเข้ากรุงเทพฯ ตามถนนเพชรเกษม รถจะต้องผ่านสวนสามพราน (Rose garden) ที่อำเภอสามพราน นครปฐม ซึ่งตอนนั้นก็เป็นสถานที่ท่องเที่ยวไม่กี่แห่งที่ผมเคยไปนะครับ มาช่วงหลังๆ สวนสามพรานสำหรับคนวัยผมดูจะเงียบๆ ซบเซาไปบ้าง ค่าที่ว่ามีที่เที่ยวใหม่ๆ ที่คึกคักกว่า อย่างเช่น ตลาดน้ำดอนหวาย พระราหูที่วัดศีรษะทอง หรือแม้กระทั่งวัดไร่ขิงมาแทนที่

1

แต่อย่างไรก็ดี สถานที่หนึ่งๆ ย่อมอาจพลิกฟื้นคืนมามีชีวิตแบบใหม่ๆ ได้เสมอ…กรณีสวนสามพรานนี้ก็เช่นเดียวกัน

ตั้งแต่ราวหกปีก่อน ที่ผู้บริหารสวนสามพรานและเครือข่ายได้ริเริ่ม โครงการ “สามพรานโมเดล” ซึ่งเป็นการร่วมมือกันของสถาบันวิชาการสหกรณ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สสส./สกว. และโรงแรมโรสการ์เดน สวนสามพราน กิจกรรมสำคัญส่วนหนึ่งคือสนับสนุนให้เกษตรกรในอำเภอสามพรานและพื้นที่เครือข่ายลงมือทำเกษตรอินทรีย์อย่างจริงจัง จนกระทั่งผลผลิตของเครือข่ายมีมากพอ จึงมีการเปิดตลาดรองรับเพื่อจำหน่ายแก่ผู้บริโภค อันเป็นที่มาของ “ตลาดสุขใจ” ตั้งแต่เมื่อช่วงเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2553

จนถึงปัจจุบัน ตลาดแห่งนี้เป็นที่รู้จัก และเป็นแหล่งจับจ่ายสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในแถบชานเมืองหลวงด้านตะวันตก โดยมีกลุ่มภาคีเครือข่ายเกษตรกร จำนวนกว่า 200 ราย เข้าร่วมอย่างขันแข็ง

6

Advertisement

สโลแกน “สดจากไร่ เก็บใหม่จากสวน ไม่แพง ขายตรง” ของตลาดสุขใจ ตอบสนองคนที่ต้องการสินค้าเกษตรอินทรีย์อย่างผมได้ดีทีเดียวครับ บ่ายวันอาทิตย์ที่แล้ว ผมลองใช้วิธีเดินทางแบบพื้นๆ ที่สุด คือโดยสารรถ ขสมก. สาย ปอ. 84 จากบางแค ค่าตั๋วแค่ 20 บาท ใช้เวลาราวครึ่งชั่วโมงก็ถึงสวนสามพราน แต่ปรากฏว่าผมไปผิดเวลาไปหน่อย

“…พี่ต้องมาเช้าๆ ครับ ของจะแยะวันเสาร์ตอนเช้า อย่างผักจากป่าละอู เขาจะเอาผักหลายอย่างมาส่งที่โรงแรม แล้วจะมาวางขายที่ตลาดนี่ด้วยครับ” น้องเจ้าของร้านน้ำดื่มบอกผม เขาคงหมายถึงสวนผักอินทรีย์ขนาดใหญ่ของคุณอภิชาติ ศุภจรรยารักษ์ ซึ่งไปทำสวนปลูกผักปลอดสารเคมีที่ป่าละอูมานานหลายปีแล้ว

Advertisement

“ที่นี่เขาสุ่มตรวจการปนเปื้อนสารเคมีโดยเจ้าหน้าที่มูลนิธิสังคมสุขใจทุกอาทิตย์ครับ เจ้าของแผงต้องร่วมจ่ายค่าตรวจด้วย ครั้งละ 100 บาท ถ้าเกิดว่าพบการปนเปื้อนโดยจงใจนี่เขาจะเชิญให้ออกเลยนะครับ” เกณฑ์ก็คือ ถ้าขายภายใต้ฉลากอินทรีย์แล้ว จะต้องปลอดเคมีจริงๆ ต้องไม่มีสารเร่งเนื้อแดง ฟอร์มาลีน บอแร็กซ์ หรือสารฟอกขาวใดๆ ทั้งสิ้น

เป้าหมายหลักอันหนึ่งของสามพรานโมเดล นอกจากความพยายามสนับสนุนเชื่อมโยงเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ในพื้นที่จำนวนกว่า 130 ครัวเรือน ก็คือ ต้องการให้เกิดการ “ขายตรง” ระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภค ตัดตัวกลางรับซื้อออกไป ดังนั้น ที่นี่จึงจะไม่มีการ “ซื้อมาขาย” เลย อีกทั้งวัตถุดิบที่ใช้ประกอบอาหารก็จะต้องตรวจสอบที่มาที่ไปได้ทุกอย่าง นอกจากนี้ ยังเปิดโอกาสการมีส่วนร่วม โดยให้เกษตรกรผู้ขายเข้าร่วมเป็นกรรมการตลาดฯ ด้วย

5

แผงขายกว่า 60 แผง ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ ช่วง 10.00-17.00 น. ของตลาดสุขใจในปัจจุบันนับว่ามาก แต่ทางเครือข่ายก็ยังเปิดโอกาสให้ผู้สนใจรายใหม่ๆ อยู่ โดยจะต้องผ่านการเข้าเป็นสมาชิกเครือข่ายฯ ก่อน หรือต้องมีสถานะเป็นวิสาหกิจชุมชนที่ตรวจสอบได้ จากนั้นจะมีเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบคุณภาพถึงสวนหรือฟาร์ม เรียกว่าจะขายที่นี่ได้ ต้อง “อินทรีย์” จริงๆ

ผมเห็นป้ายหน้าแผงบางแผงมีการระบุวัตถุดิบที่ใช้ไว้ชัดเจน บางแผงเป็นอินทรีย์ 100% บางแผงที่ไม่สามารถใช้ได้ทั้งหมด ก็จะมีแจ้งสัดส่วนไว้ ว่าใช้ของจากที่อื่นปนด้วยในอัตราส่วนเท่าใด นับว่าประกันความสบายใจของผู้บริโภค ที่ประมาณกันว่ามีกว่า 1,000 คน ต่อวัน ได้มากทีเดียว

หัวใจของตลาดคือสินค้า ถ้าของดีเสียอย่าง คนก็ด้นดั้นไปจนได้แหละครับ

“ของดี” อย่างน้อย 2 อย่าง ที่ผมได้มาจากตลาดสุขใจในวันนั้นเป็นที่พึงพอใจมากครับ ได้แก่ ไก่ตะเภาทอง ควบคุมการเลี้ยงแบบธรรมชาติโดยอาจารย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ใช้เวลาเลี้ยง 4-5 เดือน ไม่ฉีดวัคซีนหรือสารเร่งโต อีกอย่างคือ หมูหลุม จากตำบลดอนแร่ อำเภอเมืองราชบุรี ที่บำรุงหมูเลี้ยงให้แข็งแรงด้วยอาหารธรรมชาติ เจ็บป่วยก็รักษาด้วยสมุนไพร และทำความสะอาดกำจัดกลิ่นในคอกด้วยน้ำหมักชีวภาพ

4

ต้องบอกว่า หลังจากที่ผมได้กินไก่บ้านดีๆ จากหลายแหล่ง เป็นต้นว่าจากบ้านเพื่อนที่อำเภอบางระกำ พิษณุโลก ก็แทบไม่สามารถกลับไปกินไก่ฟาร์มได้อีก เพราะว่ารสชาติ กลิ่น และเนื้อสัมผัสมันคนละเรื่องกันจริงๆ ครับ

2

ดังนั้น ปัญหาของผู้บริโภคที่ค่อนข้างเจาะจงเลือกวัตถุดิบ ก็คือหาตลาดดีๆ ยากนั่นเองครับ ในแง่นี้ สวนสามพรานจึงนับว่าได้กำหนดสถานภาพ บทบาท รวมทั้งนิยามตัวตนของตนขึ้นมาใหม่ให้เป็นตลาดเกษตรอินทรีย์มาตรฐานสูง สามารถรองรับความต้องการของผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี

ผมหวังว่า เป้าหมายต่อไปของผู้บริหารและคณะกรรมการตลาดสุขใจ ที่ปรารถนาจะขยายขนาดเป็นตลาดกลางเกษตรอินทรีย์ ที่รวบรวมสินค้าคุณภาพสูงจากพื้นที่ภาคตะวันตกและภาคใต้ตอนบนมาจำหน่ายทั้งแบบปลีกและส่ง จะกลายเป็นความจริงได้ในเร็ววันนี้

เพราะนั่นหมายถึงทางเลือกของประชาชนที่จะดูแลสุขภาพโดยการกำหนดคุณภาพอาหารเอง ได้เปิดขึ้นแล้วอีกทางหนึ่ง…