บ้านระเบียงนา ป่าบงเปียง โอ่ หมื่อ โช เปอ

ผมบันทึกลงในปฏิทินของทุกปีว่า ช่วงเดือนสิงหาคมจะเป็นวันที่เท่าใด ก็ต้องหาโอกาสชาร์ตแบตฯ ให้ตัวเองและเพื่อนๆ ที่ชื่นชอบแนวทางเดียวกันให้ได้ กินอาหารที่ไร้สารปรุงแต่งทางเคมีใดๆ นอกจากน้ำปลา ซอส เกลือ นอนในสถานที่ง่ายๆ อิงธรรมชาติให้มากที่สุด สูดอากาศในเขตที่แวดล้อมด้วยป่าดงพงไพร มีกิจกรรมทางด้านการเกษตรที่สนุกสนาน สัมผัสความงามที่หาได้ยากในสถานที่อื่นๆ จะเป็นที่ใดไม่ได้นอกจาก ป่าบงเปียง

ป่าบงเปียง เป็นส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาติอินทนนท์ หมู่ที่ 13 ตำบลช่างเคิ่ง อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ เส้นทางที่รถยนต์ทั่วไปอย่าได้คิดจะขับเข้าไปเด็ดขาด หากเครื่องยนต์ไม่

ดี คนขับไม่พร้อม และไม่ใช่ขับเคลื่อน 4 ล้อ เพราะด้วยสภาพเส้นทางในภูเขาที่ทำไว้เพื่อการสัญจรในช่วงหน้าแล้งเท่านั้น บางช่วงมีหลุม มีก้อนหินระเกะระกะ แม้จะมีระยะทางไม่ไกลนัก แต่ช่วงเวลาประมาณครึ่งชั่วโมงของการโยกโยนอยู่ในรถก็เป็นประสบการณ์ที่หาได้ยากนัก ด้วยว่าปัจจุบันเส้นทางคมนาคมส่วนมากถูกปรับปรุงให้ดีมากขึ้นแล้ว ยิ่งการเดินทางในเดือนสิงหาคม ฝนกำลังโปรยปราย ถนนมีดินโคลนผสมแอ่งน้ำ เครื่องยนต์และพลขับจึงต้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ผู้โดยสารก็ได้ลุ้นได้เสียวตลอดเส้นทาง

ผมเข้าพักประจำที่บ้านระเบียงนา กระท่อมหลังน้อยแฝดสองหลัง อวดตัวเด่นอยู่กลางผืนนาที่ไล่ระดับสมชื่อระเบียงนา ทิวข้าวที่มีฝอยฝนปรอยปราย สลับกับระลอกคลื่นสายลมที่โชยไล้ สร้างพริ้วคลื่นยอดข้าวไสวขจี เสียงน้ำไหลจ๊อกแจ๊กไม่ขาดสาย เมื่อยืนหรือนั่งอยู่ที่ระเบียงกระท่อม มองภาพแบบพานอราม่าได้กว้างไกล ความงามที่ตาเห็น ความสงบที่ธรรมชาติสร้างไว้ให้ เมื่อถึงจุดหนึ่งเราจะดิ่งลึกเข้าถึงห้วงแห่งสุข ไม่ต้องกระไรมากมายเลย เพียงมีปัจจัยสี่ มนุษย์ก็สามารถดำรงชีพอย่างเป็นสุขได้ไม่ยากนัก ที่สำคัญ เป็นความสุขอย่างมั่นยืน สุขที่ได้พบสุข สุขที่ได้กระทำในเรื่องราวที่เป็นสุข

น้องบัติ – สมบัติชัย จิดากรรัตนกุล เด็กหนุ่มผู้เป็นเจ้าของและผู้จัดการแห่งบ้านระเบียงนาที่ป่าบงเปียงแห่งนี้เล่าว่า ที่ป่าบงเปียงแห่งนี้เป็นชุมชนชาวเขาปากาเก่อเญอ (ปะกากะญอ-ตามสำเนียงกลางๆ) อยู่ด้านหลังดอยอินทนนท์ วิถีชีวิตชาวบ้านเดิมๆ ก็ทำไร่หมุนเวียนตามฤดูกาล ไม่ชอบความวุ่นวาย ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายและพอเพียง ด้วยสภาพภูมิประเทศที่เป็นภูเขา มีน้ำในธรรมชาติให้ใช้ได้ทั้งปี บรรพบุรุษก็เลยร่วมใจกันขุดน้ำเหมือง (เขื่อนดิน) มีเพียง มีด พร้า จอบ เสียม เท่านั้น จากรุ่นสู่รุ่นจนเกิดเป็นแปลงนาขั้นบันไดโอบรอบไปทั้ง 3 หมู่บ้าน คือบ้านป่าบงเปียง บ้านตีผา และบ้านป่าตึง  สิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ของที่นี่ก็คือผืนนาขั้นบันไดที่เห็นทะเลหมอกคลอเคลียกับผืนนา บางคนเรียกว่า นานเหนือหมอก ในยามพระอาทิตย์ตกสะท้อนต้นข้าว ก่อให้เกิดแสงเงาของทิวเขาสลับซับซ้อนกันไปอย่างสวยงาม ผู้คนเป็นมิตร มักมีรอยยิ้มและคำทักทายให้กับผู้ไปเยือนเสมอ

หลังจากจบการศึกษาระดับปริญญาตรีแล้วทางบ้านก็มีความคิดอยากให้เผชิญโลกกว้าง ทำงานที่มีเกียรติและมั่นคง อยากให้ใช้ชีวิตแบบคนเมืองบ้าง แต่บัติกลับคิดไกลไปกว่านั้น เนื่องจากสมบัติชัยในชื่อของตัวเองนั้น บ่งบอกถึงเรื่องราวที่บรรพบุรุษมอบให้เป็นสมบัติ นั่นคือวัตถุดิบทางการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมและวิวธรรมชาติที่สวยงามยากจะมีที่ใดเหมือน แล้วเหตุไฉนจึงต้องดั้นด้นไปทำมาหากินในถิ่นอื่น

“ผมกลับบ้านมาบอกพ่อแม่ ว่าผมจะกลับมาอยู่บ้าน”

“แล้วพ่อแม่ว่ายังไง”

“อึ้งไปครับ คงนึกไม่ถึง อุตส่าห์หาเงินส่งเรียนตั้งมากมาย แต่พอจบจะกลับมาอยู่บ้าน ก็ต้องอธิบายพร้อมทำให้ดูอยู่หลายปีครับ กว่าจะเปิดใจยอมรับกัน”

“บัติคิดยังไง”

“พี่ดูสิ พ่อแม่ผมก็แก่ลงทุกวัน พ่อแม่คนอื่นๆ ก็ไม่ต่างกัน ทุกคนล้วนแก่ลง แล้วต่อไปใครจะมาทำนา”

“เน้นเรื่องทำนา”

“ใช่พี่ เพราะนาผืนนี้ไม่ใช่ทำเพียงเมล็ดข้าวให้เราได้กิน แต่นาผืนนี้คือสิ่งที่บรรพบุรุษมอบไว้ให้ด้วยความเหนื่อยยาก พี่คิดดู มีด พร้า จอบ เสียม กว่าจะขุดจะแปลงพื้นที่ให้เป็นผืนนา ต้องใช้แรงกายแรงใจและเวลาขนาดไหน นั่นคือท่านตั้งใจส่งมอบให้คนรุ่นต่อไปดูแลและรักษาไว้”

“นอกจากได้ข้าว ได้ที่เที่ยวให้คนที่ชื่นชอบแล้ว โดยมิติของนาผืนนี้เป็นยังไง”

“ผมพร้อมมาสานต่อครับ ผมจะทำนาให้ได้ดีที่สุด จะสร้างสังคมที่ดี และส่งต่อสิ่งดีๆ สู่ผู้คนและน้องๆ ในรุ่นต่อไป โลกเราเต็มไปด้วยสิ่งปรุงแต่งมากมายแล้วพี่ ผมจึงอยากให้พื้นที่ตรงนี้เป็นอีกหนึ่งแหล่ง ที่มีความเป็นธรรมชาติสูงมาก ที่นี่ไม่มีไฟฟ้า ไม่มีร้านค้าใหญ่ๆ นอกจากร้านค้าชุมชน ไม่ต้องกินน้ำแข็งเพราะอากาศเย็นพอให้น้ำที่ดื่มมีความเย็นที่พอเหมาะ แต่ละวันเราไม่ต้องใช้เงินสักบาท ข้าวเรามีกิน ผักเราปลูกกิน ปลาเราหากินได้ ผลไม้เราก็ปลูกไว้กิน มะละกอต้นหนึ่งกินได้ทั้งเป็นอาหารและผลไม้ ผมไม่ต้องทำอะไรมาก ที่นี่มีน้ำตลอดปี ผมเพียงแค่จัดการพืชผักให้เป็นไปตามฤดูกาล แค่นี้ก็มีกินแล้ว”

“เหมือนเข้าถึงปรัชญาชีวิตตั้งแต่หนุ่มเลย”

“ผมว่าปรัชญาก็คือธรรมชาตินะพี่ สิ่งต่างๆ ล้วนเป็นไปตามธรรมชาติ เราต่างเดินไปตามที่ธรรมชาติบอกเราเท่านั้นก็พอ เช่น ฝนตกลงมาแล้วเราก็ทำนา ปลูกข้าว ปลูกมันฝากแม่ธรณีไว้ ถึงหน้าหนาวก็เก็บเกี่ยว ได้ข้าวเก็บเข้ายุ้งฉาง ได้มันขุดมาทำกิน หากพี่ได้กินมันเผาในช่วงเกี่ยวข้าวพี่จะเข้าใจที่ผมทำครับ”

“เฮ่ย! ชักสนใจแล้วสิบัติ มันเป็นยังไง”

“เราเกี่ยวข้าวที่เหลืองอร่าม ลมหนาวพัดโชยเย็นๆ ให้สะท้านจนขนลุก แดดอุ่นๆ สาดลงมาให้พอได้อบอุ่นร่างกาย พอเหนื่อยเราก็พัก ก่อไฟสักกอง เอามันเผาไว้ พอสุกก็บิกินอุ่นๆ ยื่นให้พ่อ ให้แม่ ให้น้อง ทุกคนได้กินมันอุ่นๆ ที่เราปลูก เราเก็บมาเผา เรากินร่วมกัน ไม่มีอะไรจะยิ่งใหญ่กว่ารอยยิ้มที่คนในครอบครัวส่งถึงกันได้หรอกพี่ ที่เราแบ่งกันกินไม่ใช่แค่มันเผา แต่นี่คือสมบัติของบรรพบุรุษที่มอบให้แก่ผู้คน ที่มอบให้ลูกหลานของเรา แล้วเราจะหนีหน้าไปไหนล่ะ”

“ตั้งแต่บัติจบมา ได้ทำอะไรไปแล้วบ้าง”

“ออกตัวก่อนนะพี่ ผมเองก็โลกสวยไม่น้อยหน้าคนในวัยเดียวกันเช่นกัน ก็เคยคิดแบบวัยรุ่นอยู่บ้าง แต่เมื่อถึงวันหนึ่ง คิดทบทวนอยู่นาน ก็ตอบตัวเองได้ว่าเราคือใคร เราคือปากาเก่อเญอ เราต้องทำให้คนอื่นมองเห็นเราเป็นคนที่อยู่ร่วมกับคนอื่นได้ เราต้องดูแลอัตลักษณ์ที่เรามี ดูแลและบำรุงรักษาสิ่งที่บรรพบุรุษส่งมอบให้ ผมต้องกลับมาทำนา เพราะนาจึงทำให้ผมและพี่น้องในชุมชนมีวันนี้ นักท่องเที่ยวอยากมาสัมผัสนาขั้นบันได หากเราไม่สานต่อการทำนาแล้วใครจะมาหาเรา แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น สิ่งที่เราเคยอยู่มาก็ต้องอยู่ต่อไปให้ได้ นักท่องเที่ยวที่มาหาเราก็รู้ว่าที่นี่ไม่มีไฟฟ้า ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกอื่น ที่นี่มีเพียงธรรมชาติและผู้คนที่เป็นมิตร ดีหน่อยตรงที่มีสัญญาณโทรศัพท์ ทำให้เราติดต่อกับโลกภายนอกได้ไม่ขาดตอน แต่ก็ต้องมีแบตฯ สำรองไว้ชาร์ตไฟด้วย ที่นี่มีแผ่นโซลาร์เซลล์ไว้เพื่อเก็บพลังงานใส่แบตฯ หม้อใหญ่ครับ ไว้ใช้เป็นแหล่งแสงสว่างตอนกลางคืน”

“บัติจำได้ไหม พี่มาที่นี่กี่ครั้งแล้ว แล้วรู้ไหมทำไมถึงมาทุกปี”

“พี่คงหลงรักที่นี่เหมือนผมแล้วมั้งครับ แต่ผมเชื่อว่าพี่ชอบนั่นแหละ หากไม่ชอบจะมาทำไมซ้ำๆ”

“พี่ยังเที่ยวไม่ครบ ยังไม่เคยลุยน้ำตกเลย”

“ที่นี่มีน้ำตกสวยๆ ครับพี่ มีน้ำตกแม่ปาน น้ำตกห้วยทรายเหลือง น้ำตกผาสำรัญ หรือเขาเรียกผาสำราญนั่นแหละพี่ สวยมากและคนน้อย เหมาะที่จะพาหวานใจมาเที่ยวนะพี่”

“วุ้ยยยยย หมดโปรโมชั่นแล้ว เมียไม่ไปหวานด้วยแล้ว”

“พาเพื่อนๆ มาเที่ยวก็ได้พี่ หากมีเวลาจะพาไปแม่แจ่มด้วย ไปไหว้พระ ไปดูผ้าทอ เชื่อว่าวันเดียวเที่ยวไม่หมดหรอกครับ”

“หากเพื่อนๆ จะมา จะติดต่อบัติได้ยังไง”

“โทร.มาเลยพี่ (080) 794-6883 หากยังไม่รับเดี๋ยวผมโทร.กลับครับ เพราะบางทีอาจอยู่ในเขาไม่มีสัญญาณ”

“มีอะไรพิเศษไหม อิอิอิ”

“หากถือหนังสือเทคโนโลยีชาวบ้านเล่มนี้มาด้วย ผมมีเมนูพิเศษทำให้ชิมอีกต่างหากครับพี่”

“ได้เลย เดี๋ยวพี่จะถือไป 5555 อ้อ! เกือบลืม ถามอีกหน่อย โอ่ หมื่อ โช เปอ แปลว่าอะไร”

“แปลว่า สวัสดีคร้าบบบบบบ ยินดีต้อนรับคร้าบบบบบ”