เข่งใส่ผัก

เครื่องมือของใช้ชาวบ้าน วัสดุที่นำมาใช้มักเป็นของใกล้ตัว ต้องการเมื่อใดก็หยิบจับได้ง่าย

อย่าง เข่งใส่ผัก เรานำไผ่ริมรั้วมาเป็นวัสดุ จากนั้นใช้ฝีมือจักตอก และสานออกมา เรียกว่าถ้ามีไผ่อยู่ริมรั้วแล้ว แค่มีฝีมือก็ผลิตเข่งออกมาใส่ผักได้แล้ว ไม่ต้องไปซื้อหาวัสดุใดๆ เข้ามาเพิ่มเติมอีก

วิธีสานเข่งใส่ผัก เริ่มจากหาไผ่ลำงามๆ มาจักตอก ตอกสานเข่งใส่ผักไม่ต้องจักเป็นเส้นเล็กๆ เหมือนใช้สานเข่งอย่างอื่น แต่จักเป็นตอกเส้นโตๆ เมื่อได้ตอกยืน ตอกเวียน เรียบร้อยแล้ว เราก็เริ่มสานได้

เราชาวบ้านมักมีแบบเข่งไว้ 1 ใบ เมื่อเราเริ่มต้นสานส่วนของก้นแล้ว เราก็เอามาทาบเข้ากับก้นของแบบ ใช้ไม้กลัดไว้ให้มั่นคง แข็งแรง กันขยับเขยื้อนเวลาสาน จากนั้นก็ค่อยๆ ใช้ตอกเวียนสานวนไปทางเดียวกัน จนกระทั่งได้ความสูงของเข่งตามต้องการ

การที่เรามีแบบ ช่วยให้เข่งทุกใบมีขนาดเท่ากัน ทั้งเส้นผ่าศูนย์กลางและความสูง เมื่อสานเสร็จเรามักวางซ้อนๆ กันไว้ เมื่อผู้สั่งซื้อ หรือผู้มารับไปขายมา เราก็ช่วยกันยกขึ้นไปเรียงไว้ รายการต่อไปก็คือคิดค่าแรง

ถูกแพงขึ้นอยู่กับฝีมือ และสถานที่ขนส่ง

เข่งผักชาวบ้านแต่ละที่ แต่ละถิ่นรูปร่างอาจผิดเพี้ยนกันไปในรายละเอียด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับบรรพบุรุษของแต่ละถิ่นว่า สั่งสมการสานกันมาอย่างไร สำหรับเข่งใส่ผักย่านแม่กลอง อย่างย่านที่เรียกกันติดปากว่า “อัมพวาสวนนอก บางกอกสวนใน” คำว่า สวนนอก จากสวนผลไม้แล้ว ยังมีสวนผักด้วย

ชาวสวนผักต้องมีเข่งใส่ผัก เพื่อความสะดวกในการเก็บและขนย้าย

เข่งใส่ผักของแม่กลอง รูปร่างกระชับ ขนาดกะทัดรัด เหมาะสำหรับการขนย้ายโดยการหาบและหาม ไม่เหมือนเข่งบางถิ่นที่ใหญ่โต ถ้าจะเคลื่อนย้ายต้องช่วยกันหามไป ไม่อย่างนั้นต้องนั่งยองๆ แล้วร้องไห้ เนื่องจากผักแต่ละเข่งนั้นหนักมาก

จะไม่ให้หนักได้อย่างไร ในเมื่อต้องมีน้ำพรมเปียกแฉะอยู่เสมอ ถ้าไม่พรมน้ำไว้ ไม่นานก็เหี่ยวเฉา เก็บเกี่ยวไปขายก็ไม่ได้ราคา

เข่งใส่ผัก นอกจากใส่ผักได้สารพัดชนิดแล้ว ว่างงานสวนผักก็นำเข่งมาใส่ของได้ อาจจะใส่มะพร้าวอ่อน ใส่ข้าวโพดที่ยังเป็นฝักๆ อยู่ และอาจนำไปใส่ข้าวของอย่างอื่นได้อีกมากมาย ขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ใช้

ในประเทศเรา คนปลูกผักส่วนใหญ่เป็นคนไทยเชื้อสายจีน เพราะมีความขยันขันแข็งอย่างยิ่งยวด คนปลูกผักต้องหมั่นดูแลผักเป็นอย่างดี มีความละเอียดรอบคอบในการทำงาน เพราะผักต้องการน้ำสม่ำเสมอ ผักเกือบทุกชนิดต้องระวังแมลงอย่างเต็มที่ ถ้าเผลอปล่อยให้แมลงลงแปลงผักเมื่อใด เมื่อนั้นก็สิ้นหวัง

การปลูกผักในปัจจุบัน นอกจากลงแรงหนักแล้ว ยังต้องลงทุนหนักอีกด้วย เพราะค่ายาแพงมาก ผักบางชนิดจำเป็นต้องใช้ยา ถ้าไม่ใช้อาจไม่ได้ผลเก็บเกี่ยวเลย แมลงตัวร้ายไม่รู้มาจากไหน พากันมากัดกินเสียหาย

อย่าง ผักกาด กว่าจะได้ลงเข่งไปขาย เจ้าของสวนต้องเอาใจใส่เป็นอย่างดี รดน้ำ ใส่ปุ๋ย และใช้ยาฆ่าแมลงราคาแพง เพื่อสีสันของผัก การใช้ยาฆ่าแมลงแม้จะเป็นที่รู้กันว่า ทำให้ผู้บริโภคตายผ่อนส่ง แต่อย่างที่บอกคื อผักบางชนิดไม่ฉีดไม่ได้

ด้วยเหตุนี้เอง ทำให้เกษตรกรบางรายหัวใส หันมาใช้ยาฆ่าแมลงที่ไม่ต้องพึ่งสารเคมี ไม่ว่าจะเป็นน้ำส้มควันถ่าน น้ำจากสะเดา แต่ละรายต่างคิดและค้นในรูปแบบต่างๆ กัน บางคนก็ใช้ได้ผลดี ขณะที่บางคนก็บอกว่าเอาแมลงไม่อยู่ก็มี

อาชีพปลูกผักมีคนมองว่า เหมือนนักแทงหวย เพราะว่าผักมีขึ้นและลง

ถ้าผลผลิตออกขายได้ตอนผักขึ้นก็ยิ้มกันไป แต่ถ้าผลผลิตออกมาช่วงราคาตกต่ำก็หน้าเหี่ยวกันไป บางคราวราคาตกมากๆ หน้าอาจจะเหี่ยวมากกว่าผักในเข่งเสียด้วยซ้ำ ผู้เขียนมีเพื่อนปลูกผักอยู่คนหนึ่ง

เพื่อนบอกว่า มีอยู่ปีหนึ่งเช่าที่ดินหลายไร่ปลูกต้นหอม หลังปลูกต้นหอมปรากฏว่าพื้นที่เหลืออยู่ 1 ไร่ ไม่รู้จะทำอะไรดี จึงเอาเมล็ดผักชีไปหว่านทิ้งไว้ ไม่คาดฝันว่า ต้นหอม ที่หมายมั่นปั้นมือกลับเจ๊งไม่เป็นท่า แต่ผักชีที่หว่านแบบทิ้งๆ ขว้างๆ กลับราคาดีมากๆ

ทำให้ปีนั้นลืมตาอ้าปากได้

อาชีพเกษตรกรรมมีเสี่ยงมาก เสี่ยงน้อยต่างๆ กันไป อย่าง อาชีพปลูกผัก กว่าจะได้ผักมาใส่เข่ง กว่าจะได้เงินมาใส่มือต้องลงทุนและแรง แถมเสี่ยงไม่น้อยเหมือนกัน

แต่เมื่อชีวิตไม่สิ้นก็ต้องดิ้นกันไป