ชมโรงโม่หินเพชรสยาม รางวัลเหมืองแร่สีเขียว ปี ’60 ที่บ่อพลอย ตราด

“การดำเนินธุรกิจโรงโม่หิน หรือเหมืองแร่ อย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยเปิดโอกาสให้ชุมชนและสังคมมีส่วนร่วมมากที่สุด” คือที่มาของรางวัล เหมืองแร่สีเขียว (Green Mining Award) ประจำปี 2560 กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กระทรวงอุตสาหกรรม ของโรงโม่หินเพชรสยาม ของบริษัท เพชรสยามศิลาตราด จำกัด เลขที่ 130 หมู่ที่ 8 ตำบลบ่อพลอย อำเภอบ่อไร่ จังหวัดตราด ภายใต้การบริหารของ คุณสุรศักดิ์ อิงประสาร “เสี่ยเพ่ง” ประธานบริหาร

คุณสุรศักดิ์ และ คุณประกายรุ้ง

เสี่ยพลอยพลิกผันทำธุรกิจโรงโม่หินเพชรสยาม งานหินจริงๆ

สุรศักดิ์ อิงประสาร หรือ “เสี่ยเพ่ง” ประธานบริหาร บริษัท เพชรสยามศิลาตราด จำกัด เล่าถึงที่มาของการทำโรงโม่หินเพชรสยาม ของ บริษัท เพชรสยามศิลาตราด จำกัด ว่าเคยทำอาชีพธุรกิจค้าพลอยและทำเหมืองพลอยมาก่อน ที่อำเภอบ่อไร่ จังหวัดตราด และมีธุรกิจอู่ซ่อมรถยนต์ ไม่เคยมีประสบการณ์ทำเหมืองแร่ หรือโรงโม่หินมาก่อน จุดพลิกผันต้องมาทำโรงโม่หินเกิดจาก บริษัท เพชรสยามศิลา จำกัด ที่เป็นหุ้นส่วนอยู่ ได้ขอประทานบัตรพื้นที่ขนาด 169 ไร่เศษไว้เพื่อทำเหมืองแร่หิน ระยะเวลา 25 ปี

เครื่องจักรโรงโม่หิน

ตอนนั้น ปี 2553 เหลืออายุสัมปทานอีก 11 ปี ผู้จัดการและหุ้นส่วนเดิมทำมานาน 14 ปี แต่ประสบภาวะขาดทุน ติดหนี้ บริษัท บริหารสินทรัพย์ (บสย.) จำนวน 370 ล้านบาท ต้องหยุดกิจการไป พรรคพวกเพื่อนฝูงเห็นว่าเป็นคนเดียวที่จะทำโรงโม่หินต่อได้ และอนาคตจังหวัดเกาะกง กัมพูชา มีโครงการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมมีความต้องการหินเพื่อไปใช้ก่อสร้างจำนวนมาก จึงตัดสินใจซื้อบริษัทคืนมาจาก บสย. 24 ล้านบาท และใช้เงินทุนเองอีก 20 ล้านบาท ซื้อหุ้นเดิมของเพื่อนๆ คืน ในราคา 50% รวมแล้วใช้เงินลงทุน จำนวน 40 ล้านกว่าบาท เพื่อเริ่มต้นธุรกิจที่ใช้ชื่อว่า “โรงโม่หินเพชรสยาม”

เมื่อเข้ามาบริหารในตำแหน่งประธานบริหาร บริษัท เพชรสยามศิลาตราด จำกัด ได้ตัดสินใจลงทุนด้านเครื่องจักร เครื่องมือ รถบรรทุกอีกกว่า 100 ล้านบาท เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และปรับระบบการบริหารจัดการที่เคยประสบภาวะขาดทุน การหาตลาดมารองรับ และปีที่ 8 (2559) บริษัทสามารถปลดภาระหนี้สิน จำนวน 154 ล้านบาทได้ และเหมืองแร่ได้รับรางวัลเหมืองแร่สีเขียว จากกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ปี 2560

รางวัลเหมืองแร่สีเขียว ปี 2560
รางวัลที่ได้

“ไม่เคยทำโรงโม่หินมาก่อน ลงทุนซื้อไว้ 40 ล้านบาท เพื่อเก็บไว้ขาย บอกขายไปประมาณ 80 ล้านบาท มีคนจันทบุรีสนใจแต่ต่อรองราคาลงมา 70 ล้านบาท จึงไม่ขายและตัดสินใจทำโรงโม่หินเองตลอด 9 ปี ได้ทุ่มเทกับการบริหารงานกิจการโรงโม่หินอย่างหนัก เพราะเป็นธุรกิจที่ไม่เคยทำมาก่อน แต่ยอมรับว่าเป็นธุรกิจที่ยากไม่ธรรมดา หินจริงๆ ใช้เวลา 4 ปีแรกเรียนรู้กับลูกน้องเก่าของ บริษัท เพชรสยามศิลา และจัดระบบการบริหารจัดการใหม่ ปีที่ 6-7 กิจการเริ่มดีขึ้นมาเรื่อยๆ สามารถปลดสภาพการเป็นลูกหนี้ ธนาคารทั้งหมด 154 ล้านบาท ได้สำเร็จปีที่ 7-8 (2558-2559) และปี 2560 โรงโม่หินเพชรสยาม ได้รับรางวัล Green Mining หรือเหมืองแร่สีเขียว” เสี่ยเพ่ง กล่าวถึงที่มา

เปลี่ยนเครื่องมือของใหม่ทั้งชุด
กลยุทธ์แจกหินฟรีระบายสต๊อก

เสี่ยเพ่ง เล่าว่า พื้นที่ได้รับสัมปทานบัตรการทำเหมืองแร่ จำนวน 167 ไร่ ระยะเวลา 25 ปี (2540-2565) พื้นที่ที่ขอใช้เจาะระเบิดหินเป็นบ่อลึก 10 เมตรเศษ ขนาด 50 ไร่เท่านั้น ยังมีพื้นที่เหลืออีก 80 ไร่ ที่สามารถทำหินได้เป็น 100 ปี เมื่อเข้ามาชำระหนี้และซื้อหุ้นมาดำเนินกิจการเองระยะ 4 ปีแรก (ปี 2553 -2557) เข้ามาเรียนรู้งานเพราะไม่รู้เรื่องกิจการทำโรงโม่หิน หรือมีประสบการณ์มาก่อน เพียงแต่มีความรู้ด้านเครื่องจักรกล เครื่องยนต์ เปรียบเสมือนตาบอดคลำช้างพบปัญหาอุปสรรคมากมาย

จากนั้น ปี 2557 เริ่มเข้าใจงาน 2 สิ่งแรกที่ต้องทำ คืออย่างแรก คือการลงทุนซื้อเครื่องจักรใหม่ และการระบายสต๊อกหิน ด้วยเครื่องจักร รถยนต์บรรทุกรถพ่วงมีสภาพเก่าจึงซื้อใหม่ยกชุด ใช้วงเงินกว่า 100 ล้านบาท จากประสบการณ์และความรู้เรื่องเครื่องยนต์ เครื่องจักรกล และตอนไปเมืองเซินหยางโชคดีได้รู้จักกับตัวแทนบริษัทเครื่องโม่ของจีน ยี่ห้อ Simon จึงซื้อเครื่องจักรที่จีนได้ในราคาถูกกว่าเมืองไทยเกือบ 50% เครื่องจักรซื้อมาจากจีน ราคา 7 ล้านบาท

ทางเข้าโรงโม่หินเพชรสยาม

ขณะที่ราคาเมืองไทย 15 ล้านบาท เมื่อซื้อเครื่องใหม่แล้วได้ซื้ออะไหล่มาเปลี่ยนซ่อมเครื่องเก่า 4-5 เครื่อง ทำงานได้ 80% ทำให้ดูแลเครื่องจักรโรงโม่ทำงานเองได้ไม่เสียบ่อย ทำงานได้ประสิทธิภาพขึ้น ลดค่าใช้จ่าย ไม่ต้องจ้างบริษัทมาดูแลซ่อมเสียค่าใช้จ่ายครั้งละ 700,000 บาท จากนั้นปรับเวลาทำงานจาก 2 กะ 24 ชั่วโมง เหลือเพียงเฉพาะกลางวันกะเดียว แต่ประสิทธิภาพการทำงานเท่ากัน

การระบายสต๊อก ใช้กลยุทธ์แจกหินฟรีและหารายได้จากค่าขนส่ง จากปัญหาบริษัทเดิมทำกองหินสต๊อกไว้จำนวนมากถึง 2 ล้านตัน จึงใช้กลยุทธ์ทางการตลาดแบบวิน-วินกับลูกค้า คือบริจาคหินให้หน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นฟรี ราคาหินตันละ 300 บาท

แต่บริษัทได้ค่าบรรทุก ตันละ 140 บาท มีผู้ขอหินฟรีเที่ยวละ 5-6 ตัน ได้ค่าบรรทุก 5,000-6,000 บาท 1 วัน ต้องบรรทุกรถพ่วง 6 หรือ 9 พ่วง ถึง 3 เที่ยว ต่อวัน ทำให้บริษัทพอมีรายได้จากค่าบรรทุกวันละ 80,000-90,000 บาท เป็นค่าใช้จ่ายการผ่อนรถเดือนละ 1.5 ล้านบาท และช่วยระบายสต๊อกหินออกไปได้ 30,000-40,000 ตัน ที่สำคัญ บริษัท เพชรสยามศิลา ได้ลูกค้าเพิ่มขึ้น เพราะเริ่มเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง

“การลงทุนเครื่องจักรใหม่และการระบายสต๊อกช่วงแรกจะทำไปด้วยกัน เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายและลดเวลาการทำงาน เพราะเครื่องจักรใหม่ทำงาน 1 วัน ได้งานเท่ากับเดิม 7 วัน ขณะเดียวกัน ลดปริมาณการผลิตจากวันละ 2 กะ จำนวน 6,000 ตัน ลดเหลือกะเดียว วันละ 3,000 ตัน ซึ่งช่วยลดจำนวนสต๊อกหินและค่าจ้างแรงงานได้อีกเดือนละ 300,000-400,000 บาท และโชคดีที่จังหวัดตราดได้งบประมาณปี 2561-2562 สร้างและขยายถนน 4 เลน บริเวณถนนสุขุมวิท 3 จากตัวเมืองจังหวัดตราด-บ้านหาดเล็ก อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด เป็นโครงการใหญ่ ต้องใช้หินหลายหมื่นตัน ทำให้บริษัทมีรายได้จากการจำหน่ายหินจำนวนมาก บริษัทใหญ่ 3 แห่ง ที่รับเหมาก่อสร้าง ใช้หินจากโรงโม่ในจังหวัดตราดที่มีเพียง 2 แห่ง เพราะใกล้ที่สุดและมีคุณภาพดี นอกจากนั้น ยังมีลูกค้าที่ค้าวัสดุก่อสร้างในจังหวัดตราด จันทบุรี ที่อยู่ใกล้เคียง เพราะหินที่ผลิตจำหน่ายมี 4 ชนิด หินคลุก หินเกล็ด หินฝุ่น หิน 3 นิ้ว นำไปใช้ทำอิฐบล็อกหรือก่อสร้างหลากหลายชนิด” เสี่ยเพ่ง กล่าว

ตั้งบริษัท ส.ประกายรุ้ง จัดระเบียบควบคุมการเงิน
ไม่ใช่มืออาชีพแต่เหนือชั้น

เสี่ยเพ่ง เล่าถึงการบริหารงานว่า เป็นการเรียนรู้จากประสบการณ์และนำมาใช้ บริษัทไม่มีมืออาชีพ เป็นการบริหารด้วยระบบครอบครัว แบ่งหุ้นส่วนให้คนในครอบครัว 3 หุ้น ทุกคนทำงานมีเงินเดือน รวมทั้งที่ปรึกษาของบริษัท ประธานบริหารมีอำนาจตัดสินใจ จึงสามารถปรับเปลี่ยนได้รวดเร็ว สิ่งสำคัญเมื่อเริ่มจัดระบบบริหารการผลิตและการตลาดไปแล้ว ธุรกิจการเงินของบริษัทเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ยิ่งเป็นธุรกิจใหม่ไม่เคยทำมาก่อนและใช้วงเงินลงทุนสูงเกือบ 200 ล้านบาท การทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย เป็นหัวใจการทำธุรกิจ

ช่วงเวลานี้เองได้วางแผนปรับเปลี่ยนการบริหารงานใหม่ โดยจัดตั้ง บริษัท ส.ประกายรุ้ง จำกัด ให้ คุณประกายรุ้ง เหลืองอ่อน ภรรยาเป็นผู้จัดการเพื่อดูแลเรื่องค่าใช้จ่ายของบริษัททุกๆ ด้าน การบำรุงรักษารถบรรทุก รถพ่วง เครื่องมือหนัก ดูแลพนักงาน 140 คน และที่สำคัญรับหน้าที่ทำบัญชีของ บริษัท เพชรสยามศิลา จำกัด จากบัญชีตัวแดงที่เป็นหนี้ 154 ล้านบาท ภายในระยะเวลา 4 ปี (2557-2559) สามารถชำระหนี้สินทั้งหมดของ บริษัท เพชรสยามศิลาตราด จำกัด ได้

“การดูแลพนักงานลูกจ้างต้องเสริมกำลังใจ เมื่อก่อนเคยให้สวัสดิการเป็นคูปองรายเดือน เดือนละ 1,000 บาท ระยะหลังเปลี่ยนเป็นการให้โบนัสตอบแทนรายปีตามความรับผิดชอบ คนละ 15,000-30,000 บาท ซึ่งนำไปลดภาษีได้ 2-3% หรือการจ้างงานในวันหยุดยาว 3-4 วัน จะให้ผลตอบแทนเพิ่มอีกเท่าตัวจาก 300-400 บาท ต่อวัน เป็น 700 บาท 2 วัน ให้เพิ่ม 2,000 บาท และจ่ายทันทีไม่รอสิ้นเดือน ลูกจ้างที่เคยหยุดงานกลับบ้านจะอยู่ทำงาน แม้จะค่าจ้างสูงแต่ผลผลิตงานได้มากคุ้มค่า” เสี่ยเพ่ง กล่าว

โรงงานโม่หินสีขาว
ทำด้วยหัวใจสีเขียว

เสี่ยเพ่ง เล่าถึงการทำโรงโม่หินเพชรสยาม ว่าทำด้วยหัวใจรักธรรมชาติ ชอบความสะอาด ความเป็นระเบียบ และคำนึงถึงสุขภาพของครอบครัวและพนักงาน รวมทั้งลูกค้า ดังนั้น จึงออกแบบภูมิทัศน์ภายในบริเวณโรงงาน บ้านของตนเองและของพนักงานอยู่ภายในโรงงาน ดังนั้น บรรยากาศภายในโรงงานจะสวยงามร่มรื่นปราศจากมลภาวะเสมือนบ้านพัก สองข้างถนนภายในโรงงานมีต้นไม้ยืนต้นเพื่อเป็นร่มเงา และสร้างบรรยากาศที่ร่มรื่นสวยงาม มีสระน้ำที่เก็บกักน้ำไว้ใช้ ที่นี่ไม่มีน้ำประปาจะใช้น้ำบาดาล

สระน้ำสะอาด

ไฮไลต์คือ การทำเรือนกล้วยไม้พื้นเมือง “เหลืองจันท์” ขนาดใหญ่ที่ลงทุนถึง 2 ล้านบาท เพื่อสะสมพันธุ์กล้วยไม้เหลืองจันท์กล้วยไม้ในท้องถิ่นที่นับวันจะหายากและสวยงาม มีคนงานสวนคอยดูแลและนำกล้วยไม้ชนิดต่างๆ ไปเกาะกิ่งไม้และปลูกรอบๆ โคนต้นไม้ขนาดใหญ่ และระเบียบของบริษัทให้รถราดน้ำบริเวณหน้าเหมืองที่มีรถบรรทุกเข้า-ออก วันละ 2-3 ครั้ง เพื่อไม่มีฝุ่นละออง รถที่เข้ามาบรรทุกหินต้องปฏิบัติตามระเบียบต้องมีผ้าใบคลุมและล้างล้อรถให้สะอาด รวมทั้งบรรทุกน้ำหนักตามที่กฎหมายกำหนดไม่เกิน 30 ตัน

รถราดน้ำ
บริเวณบริการล้างล้อ

ทำโรงโม่หิน ต้องดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งสำคัญตามระเบียบของ พ.ร.บ. โรงงานมีข้อบังคับที่ต้องปฏิบัติอยู่แล้ว ถ้ามีผลกระทบที่ทำให้ชาวบ้านเดือดร้อน จะถูกร้องเรียน ต้องทำให้ชุมชนรักจึงจะอยู่ได้ สิ่งเหล่านี้ถ้าตั้งใจทำไม่ใช่เรื่องยาก หากมีหัวใจที่รักธรรมชาติ เสียสละ ช่วยเหลือสังคม ต้นไม้ที่นำมาปลูกจะเป็นไม้หายากที่ล้อมต้นโตแล้วมาปลูกเพื่อให้โตเร็ว เช่น ไม้พะยูง ประดู่ อินทนิล

ส่วนเรือนกล้วยไม้เหลืองจันท์ต้องการสร้างให้เป็นที่ศึกษาเรียนรู้ เมื่อหมดอายุสัมปทานได้เตรียมขอสัมปทานใหม่ พื้นที่ 220 ไร่ ระยะเวลา 30 ปี วางแผนปิดบ่อพื้นที่สัมปทานเป็นสระน้ำ ขนาด 50 ไร่ ให้กลุ่มชุมชนหมู่บ้านตำบลบ่อพลอยได้มาใช้น้ำ เพราะฤดูแล้งที่อำเภอบ่อไร่มีความแห้งแล้ง ขาดแคลนน้ำอยู่ 2-3 เดือน ส่วนเหมืองใหม่ย้ายไปเปิดหลุมเจาะใหม่ ประมาณวงเงินลงทุน 40-50 ล้านบาท ทำระบบเหมืองปิดการควบคุมมลภาวะจะทำได้ดีมีประสิทธิภาพมากกว่าเหมืองที่เปิดโล่ง

เรือนกล้วยไม้เหลืองจันท์
ดูแลดี

“เมื่อปลายปี 2560 ได้บริจาคที่ดิน 50 ไร่ ใกล้ๆ โรงโม่หินเพชรสยาม สร้างวัดรัตนวนาราม โดยเจ้าประคุณสมเด็จ สมเด็จพระวันรัตน เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหารเป็นผู้นำพรอันประเสริฐสูงสุด เป็นมหากรุณา มหากุศลกับตัวเองและครอบครัวและพนักงานโรงโม่หินเพชรสยาม วัดนี้จะเสร็จในปี 2563 เป็นโอกาสที่ดีสุดของชีวิตที่ได้ทำบุญกุศลที่ยิ่งใหญ่สูงสุดสืบทอดพุทธศาสนาและทดแทนคุณแผ่นดิน” เสี่ยเพ่ง กล่าวตอนท้าย

คุณอดิศักดิ์ อุรเคนทร์ อุตสาหกรรมจังหวัดตราด กล่าวถึงกิจการโรงโม่หินของ บริษัท เพชรสยามศิลา ว่า มีความชัดเจนของเหมืองแร่สีเขียว เมื่อเข้าไปสัมผัสบรรยากาศในโรงโม่ เช่น พื้นที่สีเขียวต้นไม้ร่มรื่นสะอาดตา ปราศจากฝุ่นละอองบ่งบอกถึงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม การเอาใจใส่ต่อสุขภาพของคนงาน จังหวัดตราดมีความภูมิใจที่มีโรงงานเหมืองแร่ได้รับรางวัลเหมืองแร่สีเขียว (Green Mining) แสดงให้เห็นถึงจิตสำนึกของผู้ประกอบการที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม ด้วยความสมัครใจ นอกเหนือจากการปฏิบัติตามข้อบังคับตามกฎหมาย เป็นการยกระดับโรงงานอุตสาหกรรมของไทยในระดับนานาชาติ เป็นโรงงานแห่งแรกและแห่งเดียวในจังหวัดตราดขณะนี้…

นี่คือ คุณสุรศักดิ์ อิงประสาร ประธานบริหาร บริษัท เพชรสยามศิลาตราด จำกัด สร้างโรงโม่หินสีขาว…ด้วยหัวใจสีเขียว เจ้าของรางวัล Green Mining หรือเหมืองแร่สีเขียว จากกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กระทรวงอุตสาหกรรม ปี 2560 สนใจสอบถามรายละเอียด โทร. (081) 861-9237