ที่มา | อุษาคเนย์ไม่ไหลกลับ |
---|---|
ผู้เขียน | จิตติมา ผลเสวก |
เผยแพร่ |
แรกที่เดินเข้าไปในอาณาบริเวณบ้านหลังนั้น ก็สะดุดตากับตัวหนังสือบนหน้าจั่วเรือนหลังเล็ก เขียนไว้ว่า “ต้นไม้คือชัยชนะ”
แม้ว่าชื่อเจ้าของบ้านฝ่ายชาย จะชื่อ ชัยชนะ ศรีภักดี แต่ประโยคที่เขียนไว้นั้น ไม่ได้มาจากชื่อ ทว่ามาจากแนวคิดของเขาที่เชื่อว่าการปลูกต้นไม้คือทางรอดของโลก ที่กำลังรุ่มร้อนอยู่ในเพลานี้ ถ้าจะพูดคำใหญ่ การปลูกต้นไม้นั่นคือการฟื้นฟูดูแลสิ่งแวดล้อม ซึ่งมนุษย์มีส่วนสำคัญในการทำลาย กระทั่งมนุษย์นั่นเองที่กำลังเผชิญกับผลกระทบ ภัยพิบัติต่างๆ ที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง เป็นบทลงทัณฑ์จากธรรมชาติ
ชัยชนะ ศรีภักดี อดีตประธานสหกรณ์ ปัจจุบัน เป็นเกษตรกรเต็มตัว พำนักอยู่ที่ หมู่บ้านโพธิ์ศรี หมู่ที่ 12 อำเภอสอยดาว จังหวัดจันทบุรี ประสบการณ์ทำงานในสหกรณ์มายาวนาน ทำให้เขายืนยันอย่างมั่นใจว่า “ถ้าระบบสหกรณ์เข้มแข็ง จะต้านทุนนิยมได้” ดังนี้ เขาจึงอยากรณรงค์ให้เกิดระบบสหกรณ์อันเข้มแข็งในทุกพื้นที่
ก่อนที่จะหันเหมาสนใจการปลูกต้นไม้และทำธนาคารต้นไม้ เขาเคยผ่านการปลูกพืชเชิงเดี่ยวมาก่อน ไม่ต่างจากเกษตรกรทั่วไป
“พืชเชิงเดี่ยวเลี้ยวกลับสู่วงจรหนี้สิน ที่ผ่านมาเกือบทุกชนิดแรกๆ ราคาดี แห่กันปลูก พอราคาถูก หาพืชตัวใหม่มาอีก ทุกชนิดผ่านมา ผมทำเกือบทุกชนิดเพราะคิดว่าปลูกเพื่อเอาเงิน สุดท้ายได้หนี้เพิ่ม ข้าวโพด มันสำปะหลัง กล้วย ถั่วลิสง งา ฝ้าย สุดท้ายไม่ใช่ มาลงท้ายด้วยการสะสมทรัพย์กับต้นไม้กับแผ่นดิน ด้วยโครงการเมื่อทำไร่แถมต้นไม้ 100 ต้น แล้วค่อยเพิ่มเติมด้วยความหลากหลายต้นไม้หลายชนิด”
เขาเล่าให้ฟังคร่าวๆ ถึงจุดเปลี่ยนชีวิตที่ผ่านมา ระหว่างชวนเดินไปดูสวนยางหลังบ้าน ซึ่งมิได้มีแต่สวนยางเท่านั้นยังมีต้นไม้อื่นๆ ที่ปลูกแทรกไว้ อย่าง ต้นมะฮอกกานี ที่โตจนเกือบโอบไม่รอบ ดีปลีพันเลื้อยต้นไม้ใหญ่ เป็นสวนที่ร่มครึ้มชุ่มชื้นให้ความรู้สึกคล้ายเดินอยู่กลางป่า
เจ้าของสวนที่เราเดินสูดออกซิเจนที่ต้นไม้คายออกมานี่ เรียกสิ่งที่ตัวเองทำอยู่ว่า ธนาคารต้นไม้ เพราะการปลูกสะสมไปแต่ละต้นแต่ละวัน ก็เหมือนหยอดกระปุกออมสินหรือฝากธนาคารนั่นเอง เพียงแต่ไม่ใช่เป็นเม็ดเงิน หากว่าเป็นต้นไม้ที่เติบโตให้ร่มเงา ให้ชีวิต
“เมื่อเรานำความมั่นคง ยั่งยืน กลับมาได้ ความมั่งคั่งก็จะตามมาเอง สิ่งที่มองว่าง่ายที่สุดในการนำความยั่งยืนกลับมาคือ การปลูกต้นไม้ ปลูกไว้ให้โตขึ้นก็นำมาใช้ได้”
เขามองว่า การทำเช่นนี้คือ การแข่งกับทุนนิยมสามานย์ได้
“ถ้ารัฐจริงใจที่จะช่วยประชาชนมันเป็นไปได้อยู่แล้ว รัฐมีเงินให้หมู่บ้านอย่างเดียวมันแก้ปัญหาไม่ได้ ต้องให้ปัญญา ทำยังไงให้ชาวบ้านได้คิดเอง ไม่ใช่เอาความคิดเข้าไปใส่ชาวบ้าน”
เขามองว่า พืชเกษตรอะไรก็ตาม ที่รัฐเข้ามาส่งเสริม แต่ไม่จริงใจที่จะพยุงให้มันอยู่ได้ เกษตรกรจะกลายเป็นผู้รับเคราะห์ เพราะส่วนใหญ่จะล้มเหลวเต็มไปด้วยหนี้สิน เขาจึงมักจะทำอะไรที่สวนทางกับรัฐ และมองว่าสิ่งที่ง่ายที่สุดในการนำไปสู่ความยั่งยืนโดยไม่ต้องลงทุนลงแรงอะไรมากมาย คือการปลูกต้นไม้ ปลูกทุกวันได้เงินทุกวัน ไม้ยืนต้นเติบโตขึ้นทุกวัน จนสามารถใช้ประโยชน์ได้ นั่นคือ คำตอบของการนำไปสู่ความมั่งคั่ง
นอกจากปลูกต้นไม้สะสมทุน เกษตรกรควรหาทางแปรรูปผลผลิตของตัวเอง และหาตลาดรองรับ สร้างให้เกิดเกษตรต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ นั่นคือ เกษตรสามารถทำกระบวนการทุกอย่างได้เองโดยไม่ต้องอาศัยใคร เป็นการพึ่งตัวเองได้อย่างจริงแท้
นอกจากสวนร่มครึ้มในอาณาบริเวณบ้าน ยังมีแปลงอื่นที่อยู่ห่างแค่ขับรถไม่นานนาที เป็นสวนยางโปร่งสวยสายแดดยามเย็นสาดส่องเป็นลำงดงาม ระหว่างทิวยางมีไม้ปลูกแซม อย่าง มะฮอกกานี และอีกหลายอย่าง นอกจากนี้ ยังมีแปลงต้นยางนา แปลงต้นสัก ต้นพะยูง ที่ปลูกไว้อีกมาก แม้ว่าไม้ใหญ่โตช้า อาจจะปลูกไว้แต่ตัวเองไม่ทันใช้ ทว่าลูกหลานก็ได้ใช้ประโยชน์ต่อ
แม้ว่าจะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ที่ได้มาพบปะกับผู้ชายชื่อ ชัยชนะ และในช่วงเวลาไม่นานที่ได้เดินชมประดาต้นไม้ที่เขาปลูกสะสมเอาไว้ ทว่าความรู้ที่ได้รับในเวลาน้อยนิดกลับไม่น้อยเลยทีเดียว คล้ายๆ กับเขาได้เพาะปลูกบางอย่างลงในความคิด ลงในจิตใจ ทั้งเมื่อได้เดินไประหว่างแถวแนวต้นไม้ สัมผัสกับกลิ่นของดิน ต้นไม้ใบไม้ ก็ยิ่งสัมผัสถึงความจริงแท้ของชีวิต
ทำให้เข้าใจในบัดดลนั้นว่า ความหมายของ…ต้นไม้คือชัยชนะ คืออะไร