ผักหญ้าในหน้าฝน

หน้าฝนแบบนี้ คนเมืองคงจะไม่ชอบใจนัก เพราะทำให้รถติด เดินทางไปไหนมาไหนไม่สะดวก แต่สำหรับคนชนบทแล้ว หน้าฝนคือชีวิต คือความอุดมสมบูรณ์ มีกุ้ง หอย ปู ปลา เต็มท่า เต็มหนอง ผักพื้นถิ่นต่างแตกยอดชูช่อสดเขียว ทั้งหน่อไม้ เห็ดชนิดต่างๆ พร้อมให้เก็บไปปรุงเป็นอาหาร หล่อเลี้ยงชีวิตให้ดำเนินได้ต่อไป

นอกจากพืชหลัก คือข้าวแล้ว หลายครัวเรือนยังต้องเตรียมที่เพื่อลงต้นกล้าของพืชผักชนิดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ถั่ว บวบ มะเขือ และพืชพรรณอื่น ตามที่ตัวเองมีเมล็ดพันธุ์

หน้าฝนในชนบทจึงเขียวขจีมีชีวิตชีวา

แต่ยังมีพืชผักอีกหลายชนิดที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ สามารถเก็บมาต้มยำทำกินได้โดยไม่ต้องลงแรงปลูกและซื้อหา

เพียงแค่เป็นคนขยัน รู้จักกิน รู้จักใช้ประโยชน์จากพืชผักเหล่านั้น

ลำเท็ง เด็ดยอดอ่อนมาทำแกงเลียงส้มระกำใส่ปลาทูนึ่ง หรือทำแกงเลียงใส่เมล็ดมะม่วงหิมพานต์ ใส่กุ้งแห้ง

Advertisement

ขอบอกว่า ซดคล่องคอกว่าซุปเห็ด ซุปข้าวโพด ของฝรั่งมังค่า มากมายนัก

Advertisement

ลำเท็ง หรือบางแห่งบางที่ เรียกว่า ลำเพ็ง เป็นเฟิร์นชนิดหนึ่ง ยอดอ่อนๆ จะมีสีส้มออกแดง ใบแก่จะมีสีเขียวเข้ม ลำต้นเป็นเถาวัลย์ ชอบเกาะตามต้นไม้ใหญ่ หรือพุ่มไม้อื่นๆ ยิ่งหน้าฝนแบบนี้ จะแตกยอดชูช่อสีสดใส ตอนเอามาทำแกงเลียง สีของน้ำแกงเลียงก็จะออกเป็นสีแดงๆ น่ากิน

สรรพคุณของลำเท็งยังมีมากมาย ว่ากันว่ากินแล้วทำให้ผิวสวย แก้พิษไข้ แก้ร้อนใน รากรักษาแผลสด

ผักกูด ผักกูดก็เป็นผักที่อยู่ในตระกูลเฟิร์นชนิดหนึ่งที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ ชอบขึ้นตามที่ชุ่มน้ำ ยิ่งหน้าฝนแบบนี้จะชูยอดอวบอิ่มน่าเด็ดยิ่งนัก

แต่อย่าไปเด็ดยอดอ่อนของผักกูดเข็บมาทำอาหารเป็นอันขาด เพราะผักกูดเข็บจะขมมาก

ความแตกต่างสังเกตง่ายๆ คือ ผักกูดที่กินได้จะมีสีเขียวเข้มเป็นมัน ส่วนผักกูดเข็บ ใบจะคายๆ มีสีเขียวอ่อนๆ หม่นๆ

ตอนเป็นเด็กเคยเด็ดยอดผักกูดเข็บมาผัดน้ำมัน เลยโดนแม่ด่าซะกระบุงโกย

ปัจจุบัน ผักกูดหายากขึ้นเพราะคนนิยมนำมาทำกับข้าวกันเยอะ หลายคนจึงปลูกไว้ในสวนของตัวเอง ผักกูดจึงกลายเป็นผักที่มีเจ้าของและเป็นผักเศรษฐกิจซะงั้น

จะให้เดินเก็บแบบสบายใจๆ เหมือนสมัยก่อน ไม่ได้ซะแล้ว

ผักกูดนำมาลวกกะทิ ผัดน้ำมันหอย ลวกจิ้มน้ำพริก หรือนำมาแกงส้มกับหมูสามชั้นย่าง อื้อหือ อร่อย

สรรพคุณทางยาก็มี ให้ไปหาอ่านเอาเอง นะ นะ

หน้าฝนอย่างนี้ ตามชนบทบ้านนอกยังมีผักอื่นๆ ที่ขึ้นอยู่ในธรรมชาติ ตามสภาพพื้นถิ่นนั้นๆ อย่างภาคอีสานก็มี เช่น ผักอีฮีน ผักขะแยง ใบย่านาง ฝักเพกา มะระขี้นก

ทั้งเหนือ กลาง อีสาน และภาคใต้ ผักพื้นถิ่นยังอีกมากมาย แม้อาจจะไม่อุดมสมบูรณ์เท่าสมัยก่อน แต่ถ้าหากรู้จักหาอยู่หากิน ก็ไม่อด และไม่ต้องซื้อหาให้เปลืองตังค์

แต่เสียดาย ที่เด็กสมัยปัจจุบันกินกันไม่ค่อยเป็น

แล้วจะโทษใครดี

เผยแพร่ครั้งแรกวันอังคารที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ.2561