พ่อผาย สร้อยสระกลาง สุดยอดเกษตรกรอมตะ ณ ถิ่นที่ราบสูง ผู้ยึดงานและความสุขเป็นที่ตั้ง

พ่อผาย สร้อยสระกลางชาวอำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ เดิมทำการเกษตรเชิงเดี่ยวโดยการปลูกข้าวโพด และได้กู้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เป็นจำนวนเงิน 40,000 บาท รวมกับเงินออมของตนเองอีก 10,000 บาท ไปลงทุนจ้างลูกจ้าง จำนวน 5 คน ไปโค่นต้นไม้ ถางปา เพื่อปลูกข้าวโพด เมื่อเวลาผ่านไป 1 ปี ข้าวโพดราคาดี แต่ผลผลิตได้เพียงเล็กน้อยเพราะเกิดภัยแล้ง ทำให้เงินที่ได้มาไม่พอจ่ายดอกเบี้ย ปีที่ 2 เมื่อรู้ว่าตนเองคิดผิดจึงนั่งสมาธิอยู่ 10 วัน เพื่อตั้งมั่นหาทางออกและกลับมาตั้งหลักที่บ้าน
ต่อมาจึงได้ตั้งใจว่าจะไม่ออกไปหาเงิน จะให้เงินมาหาเอง ไม่เอาเงินเป็นตัวตั้ง แต่จะเอางานและความสุขเป็นตัวตั้ง จึงตัดสินใจขายที่ 5 ไร่ ที่มีอยู่ใช้หนี้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จนหมด และตั้งต้นทำเกษตรผสมผสานและได้ดำเนินชีวิตและอาชีพตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยเริ่มต้นจากความต้องการออมน้ำบนพื้นดินของตนเองเพื่อให้มีข้าว นก ปลา ต้นไม้ ที่หลากหลาย จึงตัดสินใจใช้จอบขุดดินเพื่อปั้นสระด้วยมือเพียงลำพัง โดยใช้เวลา 8 เดือน สระลูกแรกก็เสร็จสิ้นลงเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2528 และเริ่มจากการเลี้ยงปลา 1,000 ตัว เพื่อนำเอาไว้บริโภคและจำหน่าย ทำให้รายจ่ายลดลงอย่างชัดเจน และการลงทุนในการผลิตทรัพย์สินค่อยๆ เพิ่มขึ้น จนมีโค 60 ตัว ที่ดินเพิ่มจาก 15 ไร่ เป็น 95 ไร่ รายรับเพิ่มขึ้นจากบำนาญชีวิตที่สร้างไว้ทั้งพืชและสัตว์ คุณผายมีเหลือกินเหลือใช้ก็นำมาแจกจ่ายให้กับเพื่อนบ้าน และมีเหลือนำไปจำหน่ายเป็นรายได้ให้กับครอบครัวอย่างต่อเนื่อง

2

-รูปแบบกิจกรรมทางการเกษตร

พ่อผาย ได้ดำเนินกิจกรรมการเกษตรโดยมีความโดดเด่นในเรื่อง การเลี้ยงสุกร เป็นการเลี้ยงสุกรหลุม โดยเลี้ยงคอกละ 10 ตัว จำนวน 3 คอก ซึ่งเป็นสุกรที่ได้มาจากเครือข่ายเกษตรกรภายในชุมชน ซึ่งกระบวนการเลี้ยงนั้นเป็นการเลี้ยงแบบธรรมชาติ ช่วยลดต้นทุนในการผลิตและสามารถสร้างรายได้จากการทำปุ๋ยจากมูลสุกร โดยเริ่มจากการสร้างโรงเรือน หาพื้นที่ที่น้ำท่วมไม่ถึง ขุดดินบริเวณที่จะสร้างคอกให้มีความลึก ประมาณ 90 เซนติเมตร ใส่อิฐบล็อกเพื่อกั้นด้านข้างคอกให้สูงประมาณ 1 ฟุต ใส่วัสดุรองพื้นคอกลงในหลุม ประกอบด้วย ขี้เลื่อยหรือแกลบ 100 ส่วน ดิน 10 ส่วน ผสมให้เข้ากันจนครบ 3 ชั้น โดยชั้นบนสุดโรยด้วยแกลบหนา ประมาณ 1 ฝ่ามือ ทิ้งไว้ 7 วัน จึงนำหมูมาเลี้ยงได้ ช่วงแรกให้อาหารสุกรแบบเม็ดอ่อนก่อน หลังจากสุกรหนัก 30-40 กิโลกรัม จึงเริ่มเปลี่ยนเป็นอาหาร โดยการผสมรำ ปลายข้าว พืชหมัก เศษผักที่เหลือในท้องถิ่น และน้ำมาผสมรวมกัน โดยน้ำที่นำมาผสมนั้นจะผสมน้ำหมักสมุนไพรเพื่อให้สุกรมีสุขภาพที่ดี หากสุกรป่วยก็สามารถใช้สมุนไพรในการรักษา เช่น ใบฝรั่ง ใบยางนา เป็นต้น หลังจากนั้นเมื่อสุกรโตเต็มที่ ก็สามารถนำไปจำหน่ายได้ในราคา ตัวละ 5,000-6,000 บาท และสามารถนำลูกสุกรที่ได้จากการผสมพันธุ์ไปจำหน่ายเป็นรายได้ด้วยเช่นกัน

-ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่นำมาปฏิบัติ

พ่อผาย ได้ดำเนินชีวิตและประกอบอาชีพตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง คือ ความพอประมาณ ความมีเหตุผล และการมีภูมิคุ้มกัน โดยเฉพาะใช้หลัก การมีภูมิคุ้มกัน เป็นการเตรียมความพร้อมในการรับมือกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงรอบๆ ตัวเรา ชุมชน และสังคม ของเราเอง เช่น การอนุรักษ์ต้นไม้เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม การใช้ประโยชน์จากต้นไม้ที่ได้ประโยชน์หลากหลาย มีการออมดิน ออมน้ำ ออมทรัพยากร เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

3

แลกเปลี่ยนกับพ่อผายได้ที่ 158 หมู่ที่ 4 ตำบลโคกล่าม อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ 31130โทรศัพท์ (089) 582-7325, (080) 149-5708

ขอบคุณข้อมูล จากหนังสือ การเพิ่มรายได้เกษตรกร ด้วยปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์