คำเดื่อง ภาษี สุดยอดคนเกษตรแห่งแดนอิสาน เจ้าของวลี “คนและสัตว์อยู่ร่วมกันโดยไม่จำเป็นต้องใช้สารเคมี”

คุณคำเดื่อง ภาษีชาวอำเภอแคนดง จังหวัดบุรีรัมย์ เดิมได้ทำการเกษตรเชิงเดี่ยว คือการปลูกปอ ในช่วงแรกราคาผลผลิตดีจึงได้กู้เงินเพื่อลงทุนขยายพื้นที่เพาะปลูกออกไปเรื่อยๆ จนชาวบ้านในชุมชนต่างก็หันมาปลูกปอกันทุกคน เมื่อผลผลิตออกมามาก พืชที่เคยราคาดีก็ตกต่ำจนไม่มีราคา ประสบปัญหาการขาดทุนจึงได้หันมาปลูกอ้อยและมันสำปะหลังโดยการกู้เงินมาลงทุน ทำให้มีหนี้สะสมเพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ เป็นจำนวนมากโดยไม่รู้ตัว ทำให้ท้ายที่สุดคุณคำเดื่องต้องหันไปหาอบายมุข ติดสุรา สูบบุหรี่

หลังจากกู้เงินมาทำการเกษตรจนเป็นหนี้สินมากมาย คุณคำเดื่องได้เรียนรู้ที่จะแก้ปัญหาชีวิตด้วยการมองดูความผิดพลาดของตนเองที่ผ่านมา จึงเริ่มลดปริมาณการใช้ปุ๋ยและพบว่าปริมาณผลผลิตคงเดิมแต่ค่าใช้จ่ายลดลง จึงมีแนวคิดดำเนินชีวิตอย่างพอเพียง โดยยึดแนวทางปรัญาของเศรษฐกิจพอเพียงจนในที่สุดสามารถปลดหนี้ได้ และได้ทดลองทำนาแบบธรรมชาติเป็นเวลา 3 ปี ก็ประสบความสำเร็จจากวิถีทางเกษตรกรรมธรรมชาติ โดยไม่จำเป็นต้องใช้ยาปราบศัตรูพืชหรือปุ๋ยเคมี แต่ซากพืชและฟางคือสิ่งวิเศษที่สุดที่ธรรมชาติให้มารักษาผืนดินที่เสื่อมโทรมโดยไม่ต้องพึ่งสารเคมี เมื่อประสบความสำเร็จตามแนวทางดังกล่าว คุณคำเดื่องได้ถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ให้กับเกษตรกรที่สนใจอย่างต่อเนื่อง

รูปแบบกิจกรรมทางการเกษตร

คุณคำเดื่อง ได้ดำเนินกิจกรรมการเกษตรโดยมีความโดดเด่นในเรื่อง การปลูกข้าว จากวิถีทางเกษตรกรรมธรรมชาติ เขาได้ศึกษาเพิ่มเติมและค้นพบวิถีทางที่คนและสัตว์อยู่ร่วมกันโดยไม่จำเป็นต้องใช้สารเคมี เพราะแมลงศัตรูพืชแต่ละชนิด ธรรมชาติได้จัดสรรให้ทำลายกันเองอยู่แล้ว ซากพืชและฟางคือสิ่งที่ธรรมชาติสร้างมาเพื่อรักษาดินโดยไม่ต้องพึ่งสารเคมี การใช้สารเคมีทำให้ดินเสื่อมสภาพ ยากต่อการรักษาเยียวยา ดังนั้น การปลูกข้าวของคุณคำเดื่องจึงไม่ไถ ไม่ใส่ปุ๋ย ไม่ใช้ยาฆ่าแมลง ไม่กำจัดวัชพืช แต่กลับให้ผลผลิตดีกว่าเดิม ดีขึ้นเรื่อยๆ โดยเริ่มจากการใส่แกลบลงไปก่อน แล้วจึงไถหน้าดินให้ร่วนซุยเพราะเนื้อดินแข็งมาก จากนั้นหว่านถั่วลงไป เมื่อถั่วงอกสูงขึ้นราวๆ 1 ศอก จึงหว่านข้าวทับลงไปโดยไม่ต้องไถอีก เมล็ดข้าวที่หว่านต้องเคลือบด้วยดินเหนียว โดยดินเหนียวแต่ละก้อนจะมีเมล็ดข้าวติดอยู่ 2-3 เมล็ด โดยที่ดิน 1 งาน จะใช้พันธุ์ข้าวประมาณ 6 กิโลกรัม หลังจากฝนตกข้าวก็จะงอกขึ้นเลยต้นถั่ว ให้ปล่อยน้ำเข้านา 2 วัน จนสูงประมาณ 2 เซนติเมตร เพื่อชะลอการเจริญเติบโตของถั่ว จากนั้นไขน้ำออก ต้นข้าวได้รับแสงแดดก็จะขึ้นงาม ในขณะที่หญ้าจะถูกคลุมอยู่ใต้ฟาง ทั้งหญ้า ทั้งถั่ว จะเป็นปุ๋ย หลังจากนั้นไส้เดือนก็จะมาพรวนดิน ข้าวจะขึ้นแข็งแรงพอๆ กับการปักดำและใส่ปุ๋ย ดังนั้น การทำนาแบบธรรมชาติของคุณคำเดื่องได้ผลดีมากจนเพิ่มพื้นที่ทำนาไปเรื่อยๆ ซึ่งผลผลิตข้าวที่ได้ไม่แตกต่างกับที่นาของเกษตรกรที่ใช้สารเคมี แต่การปลูกข้าวแบบธรรมชาติสามารถช่วยลดต้นทุนการผลิตได้มากทำให้มีรายได้จากการจำหน่ายข้าวได้มากกว่า เพิ่มรายได้ ลดรายจ่ายให้กับครอบครัว นอกจากนี้ ยังมีการจัดระบบปลูกพืชผักต่างๆ ผสมกันไป รวมทั้งมีการปลูกไม้บำนาญต่างๆ คุณคำเดื่องใช้น้ำจากลำห้วยกุดน้ำใส ซึ่งปริมาณน้ำมีพอเพียงกับความต้องการตลอดทั้งปี มีดินที่ดี เพราะไม่มีการทำลายดิน นอกจากนี้ ยังได้ติดตามสภาพแวดล้อมในนาข้าวและบริเวณพื้นที่รอบๆ อยู่ตลอดเวลา คุณคำเดื่องดำเนินกิจกรรมการเกษตรโดยยึดปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ทำให้สามารถปลดหนี้ และมีรายได้อย่างเพียงพอ จนกระทั่งได้ตั้งศูนย์ขึ้นมาเพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ที่ตนเองมีให้กับเกษตรกรที่สนใจ รวมทั้งปลุกจิตสำนึกให้มีแนวคิดตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยมีการออมน้ำ ออมดิน ออมต้นไม้ โดยทำให้สภาพแวดล้อมมีความสมบูรณ์ตามธรรมชาติ สามารถพึ่งพากันเองได้

2

 

ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่นำมาปฏิบัติ

คุณคำเดื่อง ได้ดำเนินชีวิตและประกอบอาชีพตามหลักของเศรษฐกิจพอเพียง คือ ความพอประมาณ ความมีเหตุผล และการมีภูมิคุ้มกัน โดยเฉพาะหลัก ความมีเหตุผล โดยการมองในเรื่องของทุนรู้จักการใช้ต้นทุน ทุนธรรมชาติที่มีอยู่หลักๆ คือ ดิน น้ำ ต้นไม้ “ดิน” คือต้นทุนที่สูงที่สุดของการดำเนินชีวิตของสัตว์บนโลก ดินเป็นตัวทำให้ต้นไม้งาม ให้ผลผลิตดี จึงต้องมองว่าจะทำอย่างไรให้ต้นทุนตรงนี้ดี หลังจากดินแล้วก็ต้องมามองเรื่องความหลากหลายทางธรรมชาติ ความหลากหลายนี้เป็นความงามตามธรรมชาติ ทำอย่างไรให้สภาพแวดล้อมดี ธรรมชาติดี เพื่อจะได้อาศัยเกื้อกูลกันต่อไป เช่น การปลูกบ้านหลังใหญ่ ต้องใช้ไม้จำนวนมาก ทำให้ต้องปลูกต้นไม้ให้มากขึ้นตามความต้องการ เพื่อเป็นการเตรียมอนาคตให้ลูกหลานต่อไป ไม่ว่าจะทำอะไรก็ต้องดูถึงเหตุก่อนว่าทำไปเพื่ออะไร และผลที่ได้รับเป็นอย่างไร เป็นไปตามวัตถุประสงค์หรือไม่ ซึ่งแนวคิดนี้มีความสำคัญต่อการดำเนินชีวิตเป็นอย่างยิ่ง ทำให้มีชีวิตที่ดี มีคุณภาพ พึ่งพาตนเอง และยังสามารถทำให้คนในครอบครัวและคนในชุมชนพึ่งพาตนเองได้ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง

3

อยากแลกเปลี่ยนข้อมูล ติดต่อได้ที่ บ้านเลขที่ 40 หมู่ที่ 8 บ้านโนนเขวา ตำบลหัวฝาย อำเภอแคนดง จังหวัดบุรีรัมย์ 31150โทรศัพท์ (081) 876-5906, (089) 949-6554, (086) 005-3748, (085) 777-7533

ขอบคุณข้อมูล จากหนังสือ การเพิ่มรายได้เกษตรกร ด้วยปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

 


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน, มติชนสุดสัปดาห์ และศิลปวัฒนธรรม ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิถุนายน 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่