เกษตรที่สนุกสนานในช่วงหนึ่งของปี

ถนนพหลโยธินที่ทอดยาวจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิไปถึงจังหวัดเชียงราย ถนนนี้ในสมัยนั้น เป็นถนนลาดยาง รถยนต์วิ่งแถวเดียวสวนกันไปมา ตรงสะพานควายจะเป็นตลาด มีร้านค้าหนาแน่น แล้วต่อจากนั้นก็มีแต่ถนน ด้านข้างมีต้นไม้ใหญ่ปลูกข้างทางเรียงเป็นแถว มีลำคลองขนานไปกับถนน

เมื่อผ่านสามแยกลาดพร้าวมาสักพัก ก็จะถึง แถวของร้านค้าที่มีจักรยานจอดเรียงกันเป็นแถว ตรงนี้เรียกว่าสามแยกเกษตร ซึ่งตอนกลางวันจะมีรถวิ่งผ่านไปมาอยู่เรื่อยๆ แต่ตกค่ำแล้ว นานๆ จึงจะมีรถมาสักคัน มีแต่จักรยานขี่ไปมา เหมือนเมืองคาวบอยที่มีแต่ม้า ที่นี่ ห่างจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิประมาณ 15 กิโลเมตร จำได้ไหมครับ ถิ่นเดิมของเรา “เกษตรบางเขน”

ชีวิตนิสิตเกษตร เมื่อระหว่างปี 2507-2511 ซึ่งผ่านมากว่า 50 ปีแล้ว เมื่อถึงปลายเดือนมกราคม ถึงต้นเดือนกุมภาพันธ์ เป็นช่วงวันคล้ายวันสถาปนามหาวิทยาลัย คือวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ในช่วงนั้นเป็นเวลาที่ทางมหาวิทยาลัยได้จัดให้มีงานลีลาศโต้รุ่งกลางทุ่งบางเขน หลังหอประชุมใหญ่ของมหาวิทยาลัย งานนี้มีชื่อเสียง เคยได้ยินมาตั้งแต่ตอนยังเป็นเด็ก พร้อมกับเพลง รำวงเกษตร (เกษตรนี่หล่อจริงๆ…ฯลฯ) และเพลงเกษตรลา (เกษตรจะต้องลา…ฯลฯ) เนื่องจากในสมัยนั้น เรายังฟังวิทยุ และวิทยุ มก. เป็นคลื่นหนึ่งที่คนกรุงเทพฯ รับฟังอย่างแพร่หลาย

เมื่องานลีลาศเลิกในรุ่งเช้า แขกที่มาในงาน ซึ่งแต่งชุดสูทและราตรียาว ก็มาเดินชมตลาดนัดที่นิสิตปี 1 เป็นผู้จำหน่าย เก็บเงินรายได้เข้ารุ่น ซึ่งสมัยนั้น ปี 1 ในหลายสาขาวิชา ซึ่งเป็นนิสิตส่วนใหญ่ของรุ่น ต้องเรียนวิชาเกษตรศิลป์ หรือปลูกผักนั่นเอง โดยมีแปลงส่วนตัวคนละ 5 แปลง และแปลงรวมอีกต่างหาก

พื้นที่ปลูกผักอยู่ในบริเวณจากริมรั้วถนนงามวงศ์วาน ถึงถนนลาดยางที่มาจากหน้ามหาวิทยาลัยผ่านหน้าคณะเศรษฐศาสตร์สหกรณ์ และพื้นที่ปลูกผักนี้ เริ่มตั้งแต่ประตูหนึ่งด้านถนนงามวงศ์วาน ไปถึงประตูสองของถนนเดียวกัน ซึ่งสมัยนั้นมีร้าน Dairy Queen ตั้งอยู่ที่ประตูสองด้วย

กิจกรรมขายผักมีการโฆษณา ประกาศขาย มีทั้งแจกแถม สนุกสนาน ตรงกับเพลงรำวงเกษตรว่า “ถ้าใครรู้จักกินผักฟรีๆ” ผักที่ปลูกในช่วงเวลานั้น เป็นผักที่ปลูกในเทอมที่ 2 ซึ่งเป็นผักที่ต้องการอากาศเย็น ที่จำได้ คือ กะหล่ำปลี และกะหล่ำปม สำหรับในแปลงผักรวม จะเป็นข้าวโพดหวาน

จากงานตลาดนัด ต่อมา ได้จัดให้มีงานเกษตรในช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งต่อมา ได้รับอนุญาตให้มีชื่อว่า “งานเกษตรแห่งชาติ” คือมีการจัดนิทรรศการ ความรู้ ผลงานของนิสิตและอาจารย์ และมีการแถลงผลงานในการประชุมวิชาการซึ่งแยกเป็นสาขาวิชาต่างๆ พวกเรา นิสิตเกษตรก็ได้รับความสนุกสนานในการเตรียมงาน ในด้านต่างๆ รวมทั้งการจำหน่ายเอกสารทางวิชาการด้วย

ผมเองก็เคยรับหนังสือจากอาจารย์ให้มาช่วยจำหน่ายแก่แขกที่มาเดินเที่ยวงาน ซึ่งก็จำหน่ายได้หมด แต่คนที่ซื้อไป เข้าใจว่าเขาไม่ได้สนใจในเนื้อหาของหนังสือ แต่เขาต้องซื้อเพราะเราเดินตามตื๊อ จนเขาทนไม่ไหว โดยเฉพาะที่ผมเป็นคนพูดติดอ่างด้วย เขาคงไม่อยากฟัง จึงซื้อไปอ่านเองดีกว่า สรุปแล้ว ระยะเวลาที่มีงานเกษตรแห่งชาตินี้ หยุดการเรียนไประยะเวลาหนึ่ง แล้วไปชดเชยเอาภายหลัง

นอกจากงานทางด้านวิชาการต่างๆ แล้ว นิสิตก็ได้ออกร้านขายอาหารในชื่อ ของรุ่น หรือภาควิชา หรือคณะตามแต่อัธยาศัย แต่ที่มีกันทั่วถ้วนคือ ร้านอาหารนิสิต ของรุ่น เป็นการหารายได้เข้ารุ่นไปในตัวอีกด้วย ในเรื่องนี้ เมื่อเพื่อนๆ อยู่ปี 4 กันแล้ว พวกเรากลุ่มหนึ่ง แยกมาออกร้านต่างหาก ขายอาหารเครื่องดื่มด้วยความสนุกสนาน

แต่เมื่อเสร็จสิ้นงานต้องขาดทุน แล้วกลับบ้านไปขอเงินมาใช้หนี้สิน เพราะลูกค้าของร้าน ก็คือเจ้าของร้านและเพื่อนๆ ที่มากินกับเจ้าของร้าน ไม่ยอมจ่ายเงิน หรือเจ้าของร้านบอกไม่ต้องจ่าย แถมเมาแล้ว ยังไม่กลับ แอบนอนอยู่ที่หอ หรือที่ร้านอาหารนั่นเลย วันรุ่งขึ้นก็ตั้งวงกันต่ออีก ที่ร้านรักสนุกเหล่านี้ยังมีการเล่นดนตรี กล่อมลูกค้าในร้านให้เพลิดเพลิน นักดนตรีไม่ได้ไปติดต่อมาจากที่ไหน ก็คือเพื่อนๆ ที่ลงทุนทำร้านนั่นเอง

การเล่นดนตรี เสียงจะออกมายังไงๆ นักร้องก็ร้องออกมาจนได้ คนฟังก็ฟัง ชื่นชมกันไปว่าร้องได้ดีเยี่ยม เกษตรในสมัยนั้น เวลาชมดนตรี หรือการละเล่นต่างๆ เมื่อจบเพลงหรือโชว์แล้ว จะตะโกนคำว่า “เอาอีก” ทุกครั้งไป เป็นการให้กำลังใจแก่ผู้แสดง ดนตรีที่เล่ามานี้ เป็นประเภทขบขัน

ในช่วงเวลาตลอดที่มีงาน จะมีบริการแทรกเตอร์ ลากกระบะที่ทำเป็นที่นั่งผู้โดยสาร บริการวิ่งจากบริเวณหน้ามหาวิทยาลัยเข้าไปบริเวณด้านในสุด อยู่หลังหอหญิง จะเป็นบริเวณสวนนอกของภาควิชาพืชสวน ซึ่งสวนนอกนี้จะเป็นสวนกุหลาบดอกโตๆ หลากสี เป็นอีกจุดหนึ่งที่นิสิตพาเพื่อนๆ หรือญาติที่มาเที่ยวงาน ไปชม ในสมัยนั้นเป็นที่ชูหน้าชูตามาก ว่าถ้าใครมาเกษตรก็ต้องไปชมดอกไม้ที่สวนนอกนี้ และถือโอกาสพักผ่อนนั่งเล่นแก้เหนื่อยกันสักพัก

สำหรับการนั่งแทรกเตอร์นี้ เป็นบริการฟรีจากนิสิต จำได้ว่า จากภาควิชาเกษตรกลวิธาน หรือเกษตรวิศวกรรมดั้งเดิมนั่นเอง ซึ่งนิสิตที่เป็นผู้ขับแทรกเตอร์ และนั่งกำกับผู้โดยสารที่กระบะท้ายก็เป็นนิสิตจากภาควิชานั้น

สมัยนั้น ยังไม่ค่อยมีหน่วยงานราชการของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มาตั้งอยู่ เป็นสถานที่เรียนของมหาวิทยาลัยแทบทั้งหมด และอาคารเรียนก็ยังไม่มาก ถนนภายในบริเวณมหาวิทยาลัยก็ยังเป็นแบบลาดยาง หรือแบบเก่าๆ งานเกษตร เป็นงานที่คณะอาจารย์ นักวิชาการ เกษตรกร นิสิตเก่า และนิสิตปัจจุบันได้ร่วมกันจัดให้มีข้อมูล ความรู้ทางวิชาการที่ก้าวหน้าในสมัยนั้น

บรรยากาศของงานค่อนข้างอบอุ่นและเป็นกันเอง ยังไม่มีรถวิ่งมากนัก มีแต่คนเดินเที่ยวชมงาน และรถแทรกเตอร์ที่ขับพาแขกที่ชมงาน มีผู้มาแสดงผลงาน ผู้เข้าประชุมวิชาการ นักเรียน และนิสิตนักศึกษาจากสถาบันต่างๆ มาเที่ยวชม และนั่งรถแทรกเตอร์สนุกสนาน บางคนถือโอกาสมาเยี่ยมพี่ๆ เพื่อนๆ หรือญาติ ที่อยู่เกษตรด้วย

นิสิตเกษตรที่ปกติคร่ำเคร่งกับการเรียน ตอนนี้ก็เดินวันละหลายๆ เที่ยว พาเพื่อน หรือญาติ หรือรุ่นน้องๆ จากภายนอกเที่ยวชมงานกันแทบทุกวัน กลางคืนก็ไปร่วมสนุกกับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่ร้านอาหาร ตามอัธยาศัย นี่คือ เกษตร ในรั้วบางเขนเมื่อประมาณ 50 ปีกว่าๆ ที่ผ่านมา ถ้าเห็นเด็กหนุ่มๆ สาวๆ นุ่งยีน เดินอยู่ในงานเกษตรสมัยนั้น ก็ทักทายได้เลย ว่าเขาคือนิสิตเกษตรคนหนึ่ง

สำหรับตอนกลางคืน ในสมัยนั้น การคมนาคมยังไม่สะดวกเหมือนในปัจจุบัน คนที่มาเที่ยวงาน มาด้วยความลำบาก กว่าจะมาถึงบางเขน ก็รู้สึกเปลี่ยว คนที่มาเที่ยวตอนกลางคืนจะไม่ค่อยมี ส่วนใหญ่แล้วเป็นเพื่อนหรือญาติ หรือผู้คนที่มีบ้านอยู่ใกล้ๆ แถวนั้น สำหรับนักเรียน นิสิต นักศึกษาจากสถาบันต่างๆ จะมาในช่วงกลางวันหรือตอนเย็นๆ หรือในช่วงวันหยุด ตามที่กล่าวแล้ว

ปัจจุบันนี้ ที่เกษตรก็มีงานเกษตรแห่งชาติ ในช่วงวันเวลาดังกล่าว แต่งานเกษตรแห่งชาติไม่ได้จัดที่เกษตรบางเขนแห่งเดียว ต้องหมุนเวียนไปจัดในมหาวิทยาลัยที่มีสอนเกี่ยวกับวิชาการเกษตรแห่งอื่นๆ อย่างไรก็ตาม ปีไหนที่ไม่ได้จัดงานเกษตรแห่งชาติ เกษตรก็ยังมีเกษตรแฟร์ ซึ่งก็คล้ายๆ งานเกษตรแห่งชาตินั่นเอง

ในงานยังมีการจัดนิทรรศการสำหรับผลงานใหม่ๆ ที่ก้าวหน้า และมีกิจกรรม ประชุมวิชาการเพื่อแถลงผลงานวิจัย รวมทั้งการแสดงสินค้าของบริษัทที่อยู่ในวงการเกษตร ในปัจจุบันนี้ งานเกษตรมีชื่อเสียงโด่งดัง และใหญ่กว่าในสมัยก่อน มีสินค้าโดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการเกษตร เช่น เครื่องมือ เครื่องจักร พันธุ์ไม้ หรือต้นไม้ดอกผลจำหน่ายจำนวนมาก

บรรยากาศจะเป็นรูปของการจัดงานแบบมืออาชีพที่แท้จริง ในแต่ละปีจะมีคนมาเที่ยวชมงานและซื้อสินค้าการเกษตรแน่นมาก ถ้าจะเดินให้ทั่วงานน่าจะใช้เวลาเป็นวัน สำหรับผมเองก็หาโอกาสไปเดินเที่ยว พร้อมดูนิทรรศการงานเกษตรแฟร์ หรือเกษตรแห่งชาติ ทุกๆ ปี ในขณะที่เดินอยู่ ภาพของงานเกษตร ในสมัยที่เรียนอยู่ที่นี่ พร้อมอาจารย์ รุ่นพี่ เพื่อนๆ และรุ่นน้องก็โลดแล่นเข้ามาในความคิดคำนึง มันเป็นความหลังที่ประทับใจจากสมองส่วนลึกของคนแก่