“มะตูมแขก” นั้นหรือ คือ Pink Peppercorns?

มีผักยืนต้นชนิดหนึ่ง ซึ่งดูเหมือนคนไทยเพิ่งรู้จักหน้าค่าตา รู้จักเอายอดและใบอ่อนมากินกันเมื่อไม่นานมานี้เอง นั่นก็คือ มะตูมแขก หรือมะตูมซาอุ หรือพริกไทยซาอุ (Brazilian pepper tree) ผมจำได้เลาๆ ว่าเริ่มเห็นมีวางขายเป็นกำๆ เมื่อราว 10 ปีก่อนนี้เอง หลังจากที่เริ่มรู้จักไม่นานนัก

ที่มาที่ไปของมันก็ยังเล่าต่างๆ กันไป บ้างว่านำเข้ามาขายเป็นไม้ประดับตามร้านขายต้นไม้ก่อน บ้างว่าคนงานไทยสมัยไปทำงานซาอุฯ เก็บเอายอดมากินกับแจ่วกับป่น เพราะกลิ่นใกล้เคียงกับยอดมะตูมไทยมาก พออร่อยติดใจก็เลยเอาเม็ดเอากิ่งกลับมาเพาะที่บ้านเกิด เราเลยพบต้นมะตูมแขกนี้ในเขตภาคอีสานเป็นส่วนใหญ่ บางทีผมพบขึ้นอยู่ริมทาง สูงร่วมสามเมตรก็มี

กลิ่นใบที่หอมคล้ายมะตูมไทย เนื้อใบที่กรอบ และรสฝาดมันอร่อย ทำให้ติดอันดับผักสดที่คนอีสานชอบกินอย่างรวดเร็ว ทุกวันนี้มีขายตามร้านผักสดแบบลาวทุกร้านก็ว่าได้ และแม้ผมยังได้เห็นคนซื้อหยิบขึ้นมาถามด้วยความสงสัยบ่อยๆ ว่า นี่คืออะไร แต่ก็ได้ยินคนขายบรรยายสรรพคุณ และเชียร์ให้ซื้อไปกินกับลาบก้อยได้ทุกครั้งไป

มะตูมซาอุ หรือ มะตูมแขก (Brazilian pepper tree) นี้ เป็นพืชยืนต้นขนาดเล็ก สูงราว 5 เมตร นิยมกินยอดอ่อนเป็นผักสด ปลูกขึ้นง่ายในที่ดินร่วนปนทราย ชุ่มน้ำ แดดจัดๆ ปกติจะไม่ค่อยเห็นว่ามีดอกและผล เพราะหากเด็ดยอดบ่อยๆ จะไม่ค่อยติดดอกนะครับ

ถ้าต้นไหนออกดอกและติดผล จะเห็นว่าผลของมันเป็นเม็ดกลมเล็กๆ ลักษณะเป็นช่อพวง สีเขียวอ่อนๆ เมื่อสุกจะเปลี่ยนเป็นสีชมพูแก่จนถึงแดง มีความโพรก ไม่แน่นเหมือนเม็ดพริกไทย

ทำไมผมจึงเปรียบกับเม็ดพริกไทย? ก็เพราะผมเองเพิ่งเห็นเมื่อเร็วๆ นี้ (คนอื่น โดยเฉพาะคนชาติอื่นๆ คงรู้มานานแล้ว) ว่าผลของมะตูมแขกนี้ ที่แท้ก็คือ “พริกไทยชมพู” (Pink Peppercorns) ชนิดหนึ่งนั่นเอง ใครชอบทำอาหารฝรั่งคงจำหน้าตามันได้ว่า เจ้าเม็ดสีแดงๆ ชมพูๆ นี้ รวมอยู่ในขวดพริกไทยผสม (five peppercorns mixture) ที่มีพริกไทยดำ, ขาว, เขียว และออลสไปซ์ แถมตามซุปเปอร์มาร์เก็ตในต่างประเทศยังมีแยกเฉพาะ Pink Peppercorns ขายราคาแพงมากด้วย

พริกไทยชมพูอีกพันธุ์หนึ่ง คือ Peruvian Pink Peppercorns นั้น มีใบเรียงยาวคล้ายใบปรง แต่ลักษณะผลเหมือนกัน

ในหนังสือภาษาต่างประเทศที่ว่าด้วยเรื่องเครื่องเทศ เมื่อกล่าวถึงหมวดพริกไทย (Pepper) จะระบุถึง Pink Peppercorns เสมอ มักบรรยายคร่าวๆ ไว้ทำนองว่า เป็นพืชที่มีต้นกำเนิดที่อเมริกาใต้ เนื้อเม็ดโพรก และแม้ใช้แทนพริกไทยได้ แต่ก็ไม่เผ็ดร้อนเท่า รสออกฉุนหวานเล็กน้อย มักใช้ตกแต่งหน้าตาอาหารในจานมากกว่า หากจะมีที่ใช้ปรุงอาหาร ก็มักปรุงในจานสำรับปลา อาหารญี่ปุ่น และอาหารเมดิเตอร์เรเนียนบางสำรับ อย่างไรก็ดี มีรายงานว่า ไม่ควรรับประทานมากเกินไป เพราะอาจมีผลข้างเคียงได้ โดยขนาดที่แนะนำคือไม่เกิน 12-15 เม็ด ต่ออาหาร 1 จาน

ผมอยากเดาว่า สรรพโทษสรรพคุณนี้ น่าจะเป็นของ Peruvian Pink Peppercorns มากกว่า ดังนั้น หากจะมีสถาบันโภชนาการที่ไหนแยกแยะสารอาหารและผลข้างเคียงในการบริโภคเม็ดมะตูมแขกนี้ออกมาให้คนไทยได้รู้บ้าง ก็จะดีไม่น้อย

นอกจากคนอีสานจะกินยอดอ่อนของมะตูมแขก ผมเพิ่งพบว่า คนภาคใต้แถบพัทลุงกินผลอ่อนของมันเป็นผักเหนาะแกงเผ็ด หรือขนมจีนด้วย ความที่มีรสฉุนซ่าอ่อนๆ เนื้อเม็ดกรอบ จึงเป็นที่นิยมกินกันอย่างรวดเร็ว แต่เมื่อผมลองถามว่า ได้ลองกินลูกสุกตากแห้งกันบ้างหรือไม่ ก็ไม่ปรากฏว่ามีใครเคยกินเลย

ดังนั้น ดูเหมือนว่าตอนนี้ผู้คนแต่ละภาคก็รู้จักกิน Brazilian pepper กันคนละแบบสองแบบ ผมเลยขอเสนอว่า ใครมีต้นอยู่ที่บ้าน แล้วออกลูกแดงๆ ให้ได้เก็บตากแห้งเป็นเม็ดพริกไทยชมพูมากพอควรแล้ว ให้ลองทำกินแบบผมสักครั้งครับ

ผัดพริกแกงเนื้อหมู วัว หรือไก่ก็ได้ แบบที่เคยผัด เป็นต้นว่าผัดกับหัวกะทิ หั่นพริกชี้ฟ้า ใส่ใบมะกรูดฉีกก็ได้ครับ และจากที่เคยใส่เม็ดพริกไทยอ่อนที่ปลิดจากพวงเขียวๆ แน่นๆ ก็ลองใส่เม็ดแห้งหรือเม็ดสดสีชมพูเข้มของพริกไทยชมพู, มะตูมแขก, มะตูมซาอุ, Brazilian pepper นี้ลงไปแทน ผัดเผ็ดจานนี้แม้จะไม่เผ็ดร้อนมากเหมือนเราใช้พริกไทยสดสีเขียว แต่จะหอมอ่อนๆ ไปอีกแบบ ยิ่งถ้าบดเม็ดแห้งหยาบๆ โรยหน้าด้วยละก็ จะยิ่งหอมอร่อยครับ

สำหรับผมเอง มี “ต้นประจำทาง” อยู่ในซอยวัดม่วง (เพชรเกษม 63) เข้าซอยไปนิดเดียว อยู่ซ้ายมือในเขตรั้วตาข่ายกั้นที่ดินรกร้าง ต้นใหญ่พอดูทีเดียว ออกลูกพราวไปหมดแทบตลอดปี ผมก็ปั่นจักรยานไปเก็บไปเด็ดเอาจากต้นนี้แหละครับ มาทำกับข้าวกิน

ลองเพิ่มมูลค่าให้พริกไทยชมพู จากที่ปัจจุบันมันยังอยู่แต่ในวงการวัตถุประดับตกแต่งอาหาร มาเป็นวัตถุดิบหลักในการปรุงอาหารดูสิครับ

มันก็เป็นการช่วยเพิ่มราคาให้พืชต้นใหม่ที่เรากำลังทำความรู้จักมันอีกทางหนึ่งด้วยน่ะครับ