กินอยู่พอเพียงวัยเกษียณ

ใครที่วางแผนชีวิตมาดี ว่าจะใช้เวลาหลังจากเกษียณจากงานแล้วอย่างไร และเตรียมความพร้อมไว้ในระดับหนึ่ง เชื่อว่าจะพบความสุขใจได้ไม่น้อยไปกว่าช่วงที่มีเงินเดือนเยอะๆ และตำแหน่งงานดีๆ มีอำนาจหน้าที่ใหญ่โตเลยแหละ

แม้จะไม่มีเงินเดือนประจำแล้ว แต่ค่าใช้จ่ายในชีวิตนั้นเราสามารถจัดการให้ถูกลงได้ด้วยการทำบัญชีครัวเรือนเสียใหม่ ตัดรายจ่ายที่เคยฟุ่มเฟือยมือเติบออกไป แล้วอยู่กับความเป็นจริงที่ว่าความสามารถในการหาเงินของเราย่อมถดถอยลงตามอายุที่มากขึ้นและสังขารที่เสื่อมโทรมลง

ดังนั้น ที่เคยออกไปกินข้าวนอกบ้านตามภัตตาคารแพงๆ หรือขึ้นเหลาถี่ๆ ก็ลดลงมาเสียบ้าง เหลือไว้แค่ไปพบปะสังสรรค์ตามวาระโอกาสอันควร กินน้อยลงหน่อย สุขภาพก็จะได้ดีขึ้นด้วย

 

ที่เคยติดสุขกับการจับจ่ายช็อปปิ้ง ซื้อข้าวของแบบไม่คิดหน้าคิดหลัง ก็ชั่งใจดูก่อนสักนิดว่า สมควรไหม ไม่ใช่ยังต้องซื้อเสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า ใหม่อยู่ทุกเดือน ทั้งที่ไม่ค่อยมีงานให้ออกไปเดินเฉิดฉายอีกแล้ว

ประหยัดมัธยัสถ์ อดออม ให้เป็นนิสัย แต่อย่าถึงขั้นให้ลูกหลานนินทาเอาได้ว่าตระหนี่ถี่เหนียวจนไม่รู้จักเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ใครเอาเสียเลย

ต้องรู้จักใช้เงินที่เก็บสะสมมายาวนานตลอดชีวิตการทำงานให้มีอำนาจและทรงพลังแบบที่ควรเป็น ซึ่งเรื่องนี้เงื่อนไขในชีวิตและสิ่งแวดล้อมของแต่ละคนไม่เหมือนกัน คงยากที่จะแนะนำแบบเฉพาะเจาะจง

ที่อยากจะบอกก็คือ เงินก้อนพวกนั้นเก็บไว้รักษาตัวเองยามป่วยไข้ หรือในช่วงจังหวะที่มีปัญหาเดือดร้อนจำเป็นต้องใช้แล้วหันหน้าไปพึ่งพาใครไม่ได้เป็นดีที่สุด

ส่วนการใช้ชีวิตประจำวันหายใจไปเรื่อยๆ นั้น ควรจะเป็นรายได้ที่ยังหาใหม่ไปทุกวัน หาได้เท่าไรก็ใช้แค่นั้นให้พอเพียงในการกิน ดื่ม เที่ยว ไม่จำเป็นจริงๆ ก็อย่าไปหยิบเงินสะสมออกมาบำรุงบำเรอตัวเอง

วิธีนี้จะทำให้หลักประกันในชีวิตของเรายังมั่นคง มีหลังพิงให้อุ่นใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเราสามารถใช้ชีวิตอยู่ต่อไปในวัยนี้ได้โดยปราศจากหนี้สินรุงรังแล้ว

นั่นแหละค่ะคือ สวรรค์ของคนเกษียณ แต่ถ้าเหตุการณ์ตาลปัตรไปอีกอย่าง ก็เตรียมตัวรับหายะเอาไว้ได้เลย

…..

เชื่อว่า คนวัย 55-60 คงกลัวหายนะของวัยเกษียณพอๆ กันทุกคน และสถานการณ์ในการดำรงชีพจะค่อยๆ บีบให้เราใส่ใจในสิ่งต่างๆ รอบตัวมากขึ้น

ยิ่งโดยเฉพาะเมื่อเรามี “เวลา” มากขึ้น

ก็เวลาที่เราไม่ต้องออกไปตกนรกบนถนนนั่นแหละค่ะ ที่เราได้กำไรมาในแต่ละวัน

ท่านเอาเวลาที่เป็นกำไรเหล่านั้นไปทำอะไรกันบ้างคะ?

มีใครชอบไปเดินตลาดไหม …ตลาดสดนะไม่ใช่ตลาดตามห้างสรรพสินค้าหรือโมเดิร์นเทรด

ตลาดที่มีพ่อค้าแม่ขาย เป็นผู้ขับเคลื่อนราคาพืชผลวัตถุดิบที่เราจำเป็นต้องกินต้องใช้ทุกวัน

อยากชวนให้ไปเดินเที่ยวชมตลาดกันค่ะ เป็นการสำรวจดัชนีราคาสินค้าในระดับชาวบ้านตามความเป็นจริงแท้ๆ มิใช่ฟังจากข่าวสารของทางราชการ

ช่วงนี้ข้าวของแทบทุกอย่างแพงมาก ที่ตลาดบ้านนอกเมืองปทุมฯ แถวหมู่บ้านเมืองเอก มหาวิทยาลัยรังสิต เรามีตลาดอยู่สองแบบ คือ ตลาดเช้ากับตลาดนัดตอนเย็น

ตลาดเช้า เป็นตลาดสดของชาวบ้านในแถบชุมชนวัดรังสิต ริมคลองเปรมประชากร ตั้งอยู่ริมถนนใต้ซุ้มประตูทางเข้าวัดที่คับแคบอยู่แล้ว เมื่อชาวบ้านมาตั้งแผงขายสินค้าสองฝั่งถนน ทางเข้าวัดก็ยิ่งแคบเข้าไปใหญ่ แต่ก็ไม่มีใครเดือดร้อนโวยวายอะไร พวกเขาอยู่กันมาได้ราวยี่สิบสามสิบปีแล้ว

ตลาดนัด เป็นพื้นที่ขายของสารพัดกลางหมู่บ้านเมืองเอกในตอนเย็นทุกวัน เริ่มตั้งแต่ 4 โมง ไปจนถึงสองสามทุ่ม ในตลาดนี้มีของที่ต้องการใช้ในชีวิตประจำวันขายแทบทุกอย่าง ตั้งแต่ของสดพวกผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์บางชนิด ของกินสำเร็จแล้ว และเสื้อผ้าอาภรณ์ ของใช้จำเป็น ฯลฯ

สองตลาดนี้ดูเหมือนจะมีกลุ่มลูกค้าแยกออกจากกันชัดเจน ตลาดเช้าซึ่งมีชื่อเรียกในหมู่คนที่คุ้นเคยว่า “ตลาดสายหยุด” นั้นเป็นตลาดที่ตอบสนองชาวบ้านทั่วไปที่ไม่ค่อยมีฐานะจริงๆ ตลาดนัดนั้น มีลูกค้าหลักเป็นนักศึกษา ม.รังสิต และลูกบ้านชาวเมืองเอก

ข้าวของที่เอามาขายในตลาดทั้งสอง โดยเฉพาะอาหารปรุงสำเร็จ หน้าตาและรสชาติไม่ได้แตกต่างกันนัก แต่ที่ตลาดนัดมีประเภทและปริมาณของให้เลือกซื้อมากมายกว่าหลายสิบเท่า ขณะที่ตลาดเช้ามีร้านค้าหลักๆ อยู่ไม่กี่แห่งเท่านั้น แต่อาหารที่ตลาดเช้าจะราคาถูกกว่าโดยเฉลี่ย 5 บาท ต่อรายการ

ฉันชอบไปเดินซื้อของที่ตลาดสายหยุด ไม่ใช่แค่ราคาสินค้าถูกกว่าตลาดนัด แต่เป็นเพราะยังมีโอกาสได้เลือกซื้อของพิเศษจากชาวบ้านที่เอามาวางขาย โดยเฉพาะพวกผักพื้นบ้านที่ปลูกกันตามรั้วหรือหลังบ้าน มีมากจนกินไม่ไหว พวกเขาก็จะเอามาขาย จัดกองเล็กๆ วางบนใบตอง ราคาแค่ห้าบาทสิบบาท ทำให้เงินเหรียญที่เป็นเศษสตางค์ดูมีค่าขึ้นมาก

นอกจากนั้น ทุกวันอังคารและวันเสาร์ยังจะมีแม่ค้าเจ้าประจำขนวัตถุดิบที่ใช้ปรุงอาหารอีสานมาวางขายเป็นแผงใหญ่เลย ในนั้นมีทุกอย่างที่ต้องการ เหมือนเธอขนตลาดสดย่อมๆ จากบ้านเกิดฉันมาวางแบกะดินให้เลือกตรงหน้า

กบ เขียด แมลง ดักแด้ หนังเค็ม ปลาร้า ปลาส้ม หม่ำ ไส้กรอก เนื้อแห้ง น้องวัว ไก่บ้านแบบทั้งตัวที่มีครบทั้งหัวทั้งตีน ผักอีเลิด ผักอีฮีน ผักเม็ก ผักแพว ฯลฯ

ถือว่าสิ่งนี้เป็นเสน่ห์ที่นึกไม่ถึงเลยว่าเราจะพบได้ในตลาดขนาดเล็กมากของเมืองใหญ่

…….

วันก่อนลองไปซื้อของสดที่ตลาดนัดตอนเย็นบ้าง

เห็ดออรินจิ 70 บาท

มะเขือยาว 2 ลูก 20 บาท

กะหล่ำปลีกับถั่วฝักยาว 45 บาท

ไข่ไก่ เบอร์ 0 ใบละ 5 บาท 10 ใบ 50 บาท

 

แค่ซื้อผักกับไข่ไก่ หมดไปแล้ว 185 บาท ปริมาณไม่ได้มากมายอะไรเลย นี่ยังไม่รวมค่าแก๊ส ค่าน้ำมันพืช และเครื่องปรุง

ผักสดที่ตลาดนัดเมืองเอกค่อนข้างแพง เพราะใช้ระบบตาชั่งแบบมั่วโมเม เราไม่เคยได้รู้เลยว่าผักแต่ละชนิดกิโลกรัมละเท่าไร พอเราหยิบมาเขาก็เอาไปชั่งแล้วทำปากหมุบหมิบคำนวณราคาแบบคิดเลขในใจ ไม่บอกเลยว่ากี่กรัม กรัมละเท่าไรเว้นแต่เราจะถาม แต่คนซื้อก็เยอะจัดจนไม่มีใครกล้าถามหรอก เดี๋ยวจะหาว่าเรื่องมากจุกจิกอีก เข้าใจว่าเขาปัดเศษเป็นตัวเลขกลมๆ ไปหมดเลย แถมไม่รู้ว่าใครจะโกงตาชั่งบ้างหรือเปล่า

เห็นต้นทุนชีวิตของการต่อลมหายใจแล้ว ต้องทอดถอนใจแทนพนักงานปริญญาตรีเงินเดือน 15,000 ซึ่งยังต้องจ่ายค่าเช่าบ้านและค่ารถอีก จะมีชีวิตรอดได้อย่างไร?

พอกลับถึงบ้านเปิดตู้เย็นดู ยังมีของอีกเพียบ ประมาณว่าเป็นคนติดนิสัยวางแผนชีวิตล่วงหน้าตลอด

ทำวันนี้มักจะเผื่อไว้ให้กินได้อีกเป็นอาทิตย์ เห็นอะไรที่น่าสนใจในตลาดก็ซื้อติดมือมาไว้ก่อน

ปรากฏว่าของที่ซื้อมาใหม่ยังไม่ได้ทำอะไร จำเป็นต้องกินของเก่าที่เก็บเอาไว้ให้หมดก่อน

มื้อนี้…ได้เมนูออกมาเป็นข้าวต้มกับปลาสลิด

ข้าวต้มให้ราคาเต็มที่สัก 5 บาท ปลาสลิดซื้อมาทอดเองของดีหน่อย (ยังเสพติดของแพง) ราคาเฉลี่ย ตัวละ 35 บาท (ปลา 30 ทอด 5 บาท)

มื้อนี้รวมข้าวและกับ ก็ตก 40 บาท

แต่เหมาจ่าย ถือเป็น blunch รวมมื้อเช้ากับเที่ยงเข้าด้วยกัน ส่วนมื้อเย็นหาผักหญ้าผลหมากรากไม้มากินบ้าง

ตั้งงบอาหารเย็นไว้สัก 30 บาท กินน้อยๆ จะได้ไม่อ้วน รวมแล้วเป็น 70 บาท เฉพาะค่าอาหารอย่างเดียว ที่เหลืออีก 30 บาท กันไว้เป็นค่าน้ำ ค่าไฟ ค่ากาแฟ

เฉลี่ยแล้วถ้าไม่ออกไปไหนเลย ต้องจ่ายแน่ๆ วันละประมาณ 100 บาท นี่ยังไม่รวมค่าใช้โทรศัพท์ ค่าเน็ต จิปาถะเลยนะ

อ้อ! ยังต้องมีค่าใช้จ่ายพวกของใช้ส่วนตัวด้วย อย่าลืมเด็ดขาด ส่วนนี้กันเงินรวมๆ ไว้สัก วันละ 100 บาท ก็แล้วกัน อย่าใช้เกินนี้นะ

สรุปแล้วรายจ่ายต่อหัวต่อวัน 200 บาท น่าจะพออยู่ได้ อันนี้ในกรณีบ้านไม่ต้องเช่าและไม่ออกไปไหนเลยนะ

แต่ถ้ายังเป็นมนุษย์สังคมไปโน่นมานี่อยู่เรื่อย ก็ต้องกันค่าน้ำมันรถหรือค่าเดินทางอื่นๆ อีกวันละ 100 บาท รวมสามก้อนใหญ่ที่ต้องใช้แน่นอน ตกเดือนละ 9,000 บาท ไปแล้ววว!!!

แว้กกกกกก…คิดเป็นตัวเลขกลมๆ ที่ 10,000 บาท ต่อเดือน ก็แล้วกัน

สำหรับมนุษย์เงินเดือนที่จะเกษียณเวลานี้ จะมีเงินบำนาญประกันสังคม เป็นเบี้ยเลี้ยงดูแลคนชรา เดือนละ 3,000 บาท โดยประมาณ บวกเงินเบี้ยหวัดผู้สูงอายุเมื่อครบ 60 ปีอีก

อย่างน้อยได้ใช้เป็นค่าอาหารก็ยังดี

ดังนั้น ถ้าเราสมมุติตัวเลขเล่นๆ ว่าจะตายตอนอายุ 80 นะ ชีวิตที่เหลืออีก 20 ปี ของคนวัยเกษียณ

ที่ไม่มีรายได้อื่นใดเลย แต่ต้องใช้จ่ายเดือนละ 10,000 บาท เป็นอย่างน้อย

ท่านจะต้องมีเงินเก็บเบาะๆ ในบัญชีส่วนตัวของท่าน 2,400,000 บาทค่ะ สองล้านสี่แสนบาท… ย้ำ !

นี่ยังไม่รวมค่ารักษาพยาบาลนะคะ

รายจ่ายต่อปีต้องใช้แน่นอนเลย 120,000 บาท หักรายได้รัฐเลี้ยงดูเดือนละ 3,600 บาท ออกไป ยังไงท่านก็จะต้องหาเงินมาใช้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่งให้ได้อีก 6,000-7,000 บาท!

นี่คิดจากฐานตัวเลขดัชนีค่าครองชีพปัจจุบันเท่านั้นนะ ค่าครองขีพในอนาคตยังไม่รู้จะพุ่งแค่ไหน

สังคมผู้สูงอายุในเมืองไทยมาถึงแล้วค่ะ เรากำลังอยู่กับมันทุกวัน และต้องยอมรับความจริงกัน

ถ้าคุณอายุ 30 แต่ยังไม่เคยวางแผนการเงินมาก่อนเลย เตรียมรับหายนะในชีวิตไว้ได้ รับกันเต็มๆ แน่นอน