“กล้วย” ผลไม้ที่มีสารอาหารครบถ้วน กินสุก-ดิบ ให้ประโยชน์ต่างกัน

Unicode

กล้วย เป็นผลไม้ที่มีสารอาหารครบถ้วน ทั้งคาร์โบไฮเดรต เกลือแร่ แคลเซียม แมกนีเซียม ฟอสฟอรัส และเหล็ก วิตามินก็มีครบ ทั้งวิตามินเอ บี อี ซี และยังมีสารต้านอนุมูลอิสระ ชะลอความแก่ ป้องกันมะเร็ง คลายเครียด กล้วย เป็นผลไม้ที่มีโปรตีน จึงเป็นอาหารสุขภาพสำหรับเด็กและคนทุกเพศทุกวัย สำหรับคนที่มีกลิ่นปาก เพียงแต่กินกล้วยสุกหลังตื่นนอนแล้วจึงค่อยแปรงฟัน ทำอย่างนี้ประมาณ 1 สัปดาห์ กลิ่นปากก็จะหายไป

รักษาโรคกระเพาะ

กล้วย เป็นผลไม้ที่เกิดมาเพื่อดูแลท้องไส้โดยเฉพาะ ไม่ว่าท้องเสีย ท้องผูก เป็นโรคกระเพาะ นอกจากนี้ หยวกกล้วย และปลีกล้วย เป็นอาหารที่มีเส้นใย ทำหน้าที่เป็นพนักงานเก็บกวาดขยะของแข็งที่ตกค้างในลำไส้ได้เป็นอย่างดี ในวัฒนธรรมไทยจึงมีตำรับอาหารหลากหลายจากกล้วย ทั้งอาหารหวาน คาว และของว่าง

หมอยาไทยใหญ่เชื่อว่าการกินกล้วยน้ำว้าจะทำให้ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ และให้ความฉ่ำเย็นกับที่อยู่อาศัย ดังนั้น ในการสร้างบ้าน หรือการแยกครอบครัวใหม่ จะต้องมีต้นกล้วยเป็นพืชมงคลที่นำไปปลูกไว้เสมอ

การที่กล้วยเป็นยาเย็น หมอยาไทยใหญ่ หมอยาไทยเลย จึงบอกว่า เมื่อรู้สึกแสบร้อนในกระเพาะอาหาร ซึ่งถือว่าเป็นการกำเริบของธาตุไฟ ให้กินกล้วยจะช่วยได้ ทั้งในแบบของการตากแห้ง ตำผงกินกับน้ำร้อน หรือคลุกกินกับน้ำผึ้ง หรือกินกล้วยสุกธรรมดาก็ได้

4

มีการวิจัยโดยใช้กล้วยรักษาโรคกระเพาะ พบว่า ได้ผลน่าพอใจ เนื่องจากกล้วยไปกระตุ้นให้ผนังกระเพาะสร้างเยื่อเมือกมากขึ้น เยื่อเมือกนี้จะปิดแผลทำให้แผลหายเร็ว ผู้ที่มีปัญหาแผลในกระเพาะจะมีอาการดีขึ้น กระเพาะแข็งแรงขึ้น โอกาสเป็นแผลก็น้อยลง แต่ไม่ไปลดกรดอันจะไปทำลายกลไกธรรมชาติของร่างกาย จนทำให้เกิดความแปรปรวนของธาตุในร่างกาย ดังนั้น กล้วย จึงเป็นทั้งยารักษาและป้องกันโรคกระเพาะในเวลาเดียวกัน

Advertisement

นอกจากนี้ กล้วย ยังช่วยคลายเครียดจากการที่กรดอะมิโนทริปโทเฟนที่มีอยู่ในกล้วยเปลี่ยนเป็นซีโรโทนิน ซึ่งเป็นสารที่ช่วยให้เกิดอาการผ่อนคลาย อารมณ์ผ่องใส และรู้สึกมีความสุข เรารู้กันดีว่าความเครียดเป็นปัจจัยเสริมที่ทำให้เกิดโรคกระเพาะ กล้วยจึงช่วยรักษาโรคกระเพาะอย่างเป็นองค์รวมเลยทีเดียว

ตำรับยาแก้โรคกระเพาะ

Advertisement

ให้นำกล้วยดิบมาฝานเป็นแว่นบางๆ อบให้แห้งที่อุณหภูมิ 50 องศาเซลเซียส หรือตากแดดอ่อนๆ จนกว่าจะแห้ง ห้ามใช้ความร้อนสูงกว่านี้เด็ดขาด เพราะสารที่มีฤทธิ์รักษาโรคกระเพาะในกล้วยจะสูญเสียหรือหมดฤทธิ์ไป จากนั้นนำมาบดเป็นผง รับประทานครั้งละ 1 ช้อนชา ก่อนอาหารวันละ 3 เวลา หรือจะผสมกับน้ำผึ้งด้วยก็ได้

กล้วยดิบ แก้ท้องเสีย

กล้วยดิบ มีสารฝาดสมานที่เรียกว่า แทนนิน ซึ่งช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย ช่วยป้องกันไม่ให้เชื้อโรคเข้าไปทำลายผนังกระเพาะลำไส้ แก้ท้องเสีย กล้วยที่เพิ่งเริ่มสุกเปลือกยังมีสีเขียวอยู่ประปรายนั้น เป็นทั้งยาและอาหารที่ดีมากสำหรับคนท้องเสีย นอกจากแก้ท้องเสียแล้ว ยังช่วยหล่อลื่นลำไส้ เพิ่มกากเวลาถ่าย และมีธาตุโพแทสเซียมสูงมาก  ดังนั้น การใช้กล้วยแก้ท้องเสียเท่ากับให้ธาตุโพแทสเซียมชดเชยกับที่สูญเสียไปเวลามีอาการท้องร่วง ถ้าร่างกายสูญเสียโพแทสเซียมไปมากๆ จะทำให้การเต้นของหัวใจผิดปกติ ในคนชราอาจทำให้หัวใจวาย และเสียชีวิตได้

กล้วยสุก แก้ท้องผูก

กล้วยสุกงอม มีฤทธิ์ช่วยระบาย เนื่องจากมีเพคตินอยู่เป็นจำนวนมาก จึงช่วยเพิ่มกากให้กับลำไส้ เมื่อผนังลำไส้ถูกดันก็จะทำให้รู้สึกอยากขับถ่าย นอกจากนี้ กล้วยยังมีเส้นใยอาหารชนิดหนึ่งที่ร่างกายไม่ย่อย เรียกว่า อินูลิน ซึ่งเป็นอาหารที่เหมาะกับจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ในลำไส้ หรือโปรไบโอติกส์ ซึ่งทำหน้าที่ปรับระบบขับถ่ายให้เป็นปกติ

3

และเนื่องจากกล้วยน้ำว้าสุกมีฤทธิ์ระบายไม่แรงมาก จึงต้องรับประทานเป็นประจำ วันละ 5-6 ลูก ติดต่อกันอย่างน้อย 7 วัน จึงจะเห็นผล โดยสังเกตได้ว่าอุจจาระจะเป็นสีเหลือง ไม่มีกลิ่นเหม็น เนื่องจากการทำงานของโปรไบโอติกส์นั่นเอง อีกทั้งกล้วยยังช่วยหล่อลื่นในการขับถ่าย จึงไม่ต้องออกแรงเบ่งมาก และรู้สึกว่าถ่ายออกหมดไม่เหลือกากตกค้าง

หยวกกล้วย ช่วยขจัดของเสียในลำไส้

หยวกกล้วยอ่อน คือ แกนในต้นกล้วยอ่อน เป็นผักพื้นบ้านที่พบได้ทั่วไปในภาคเหนือ ภาคอีสานเหนือ และใต้ คนโบราณบอกว่า ต้องกินแกงหยวกกล้วยอย่างน้อยปีละหน เพื่อไปพันเอาสิ่งตกค้าง เช่น กระดูก เส้นผม รวมทั้งคุณไสยที่ตกค้างอยู่ในท้องออกมา จากความเชื่อนี้มีเหตุผลทีเดียว คือ เพราะหยวกกล้วยประกอบด้วยเส้นใยอาหารที่ไม่ละลายน้ำเป็นส่วนใหญ่ เส้นใยเหล่านั้นจะช่วยดูดซับสิ่งสกปรก สารพิษตามลำไส้ สิ่งที่ไม่สามารถย่อยได้ และยังช่วยกระตุ้นลำไส้ให้บีบตัวดันของเสียนั้นออกมา ซึ่งหมายถึงการลดโอกาสที่สารพิษเหล่านั้นจะไปก่อให้เกิดมะเร็งในระบบทางเดินอาหารนั่นเอง

น่ารู้

– การกินกล้วยสุก ควรเคี้ยวให้ละเอียด เพราะเนื้อกล้วยมีแป้งอยู่ถึง 20-25% มิเช่นนั้นจะท้องอืดได้

– เด็กเล็กควรเริ่มให้กินกล้วยสุกเมื่อเด็กเริ่มกินข้าวบดได้ คือ อายุราว 3 เดือน โดยขูดเนื้อกล้วยสุก (ไม่เอาไส้กล้วยเพราะจะทำให้เด็กท้องผูก) ให้กินครั้งละน้อยๆ ไม่เกินครึ่งช้อนชา วันละครั้ง เพราะเด็กยังมีน้ำย่อยแป้งไม่พอ อาจเกิดอาการท้องอืดได้ เด็กอายุครบขวบกินกล้วยครั้งละ 1 ลูก วันละครั้ง

– ตุ่มคันจากยุงกัด มดกัด หรือผื่นคันเนื่องจากลมพิษ ใช้เปลือกกล้วยน้ำว้าสุกด้านในทาถูบริเวณนั้นประมาณครึ่งนาที

– ผู้หญิงคลอดลูกใหม่ๆ ในสมัยก่อนจะเอาปลีกล้วยมาต้มให้กิน ช่วยทำให้มีน้ำนม

– ยางกล้วย ช่วยห้ามเลือดและฆ่าเชื้อ ทำให้ไม่เกิดแผลเป็น

– กาบกล้วย สามารถนำมาทำเป็นเชือกกล้วยได้ โดยนำต้นกล้วยมาขูดเป็นเส้นๆ ตากแดดให้แห้ง หากต้องการใช้เป็นเส้นใหญ่ๆ ที่มีความคงทน ให้นำมาถักต่อกัน ม้วนเก็บไว้ใช้งาน

2

ขอบคุณข้อมูล : หนังสือบันทึกของแผ่นดิน เล่มที่ 6 สมุนไพรท้องไส้ในวิถีอาเซียน โดย เภสัชกรหญิง ดร. สุภาภรณ์ ปิติพร สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร โทร. (037) 211-289

เผยแพร่บนระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2559