“วันเหมายัน” ไทยเรียก“ ตะวันอ้อมข้าว ” เป็นช่วงเวลา “ทำขวัญข้าว- บูชาพระแม่โพสพ”

คนอินเดียเรียก “วันเห-มา-ยัน” คนไทยเรียก“ ตะวันอ้อมข้าว ”

22 ธันวาคม 2559 มีปรากฏการณ์หนึ่งซึ่งเกิดขึ้้นทั่วมุมโลก และมาพร้อมกับฤดูหนาวที่กำลังเยื่องย่างเข้ามานี้ นั่นก็คือปรากฏการณ์ที่ดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกเฉียงไปทางใต้มากที่สุด และตกทางทิศตะวันตกเฉียงไปทางใต้มากที่สุด ซึ่งผลให้ช่วงเวลาของกลางวันสั้นและช่วงเวลาของกลางคืนจะยาวนานที่สุดในรอบปี

ปรากฏการณ์นี้เรียกกันว่า  “วันเหมายัน (เห-มา-ยัน)” หรือ “Winter Solstice”  สำหรับในประเทศไทย คนโบราณเรียกปรากฏการณ์เดียวกันว่า “ ตะวันอ้อมข้าว“

เกี่ยวกับคำเรียกชื่อวันที่อ่านยากๆ นี้ ณัฐพล  จันทร์งาม อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาตะวันออก คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร ช่วยอธิบายให้เข้าใจง่ายขึ้นว่า “เหมายัน” มีรากศัพท์มาจากภาษาบาลี โดยคำว่า “เหมา” (อ่านว่า เห-มา) และ “อยน” (อ่านว่า อะ-ยะ-นะ)  โดย “เหมา” แปลว่า หิมะ หรือทอง เพราะหิมะบนภูเขาในประเทศอินเดีย เมื่อมีแสงแดดมากระทบ จะกลายเป็นสีทอง ดังเช่น ภูเขาหิมาลัย ส่วน อยน แปลว่า หนทาง หรือทางเดิน ซึ่งพอรวมความแล้ว สื่อความหมายว่า หนทางแห่งฤดูหนาว

“เหมายัน เป็นช่วงเวลาที่พระอาทิตย์ขึ้นช้าและตกเร็ว กลางคืนจึงยาวนานที่สุด ยิ่งดินแดนที่อยู่ทางตอนเหนือขึ้นไปเท่าไหร่ กลางวันจะยิ่งสั้นมาก แต่สำหรับประเทศไทย ที่ตั้งค่อนลงมาทางใต้ กลางคืนจึงไม่ยาวนานเท่าประเทศทางซีกโลกเหนือ แต่ชาวบ้านก็รับรู้ โดยเรียกว่าตะวันอ้อมข้าว”นายณัฐพล กล่าว

ขณะที่ สายป่าน ปุริวรรณชนะ ผู้เชี่ยวชาญด้านคติชนวิทยา กล่าวว่า เหตุที่ชาวบ้าน เรียกช่วงเวลาดังกล่าวว่า ตะวันอ้อมข้าวนั้น เนื่องมาจากในฤดูหนาว พระอาทิตย์จะทำองศาเฉียงออกไป ชาวบ้านจึงมองว่าแสงอาทิตย์ส่องอ้อมทุ่งข้าว จึงเรียกตะวันอ้อมข้าว สืบมาตั้งแต่สมัยโบราณ ทว่าไม่มีหลักฐานว่าความรับรู้ของชาวบ้านที่มีต่อปรากฏการณ์นี้มีมาตั้งแต่เมื่อไหร่ และใช้คำนี้ครั้งแรกเมื่อใด เนื่องจากเป็นภาษาปาก พูดสืบต่อกันแบบมุขปาฐะ อีกทั้งคนไทยไม่ได้ให้ความสำคัญกับปรากฏการณ์ดังกล่าวมากนัก แม้จะมีอาชีพเพาะปลูกซึ่งเกี่ยวข้องกับปรากฏการณ์ทางธรรมชาติก็ตาม นั่นเป็นเพราะดินแดนแถบนี้มีแดดตลอดทั้งปีอยู่แล้ว

“คนไทยพูดถึงคำว่าตะวันอ้อมข้าวก็จะเป็นที่รู้กันว่าหมายถึงอะไร แต่ไม่ได้ให้ความสำคัญเท่าประเทศในแถบตะวันตก เพราะแถวนี้มีแดดทั้งปี จะเห็นได้ว่า เราไม่มีพิธีกรรมที่เกี่ยวกับปรากฏการณ์นี้  สิ่งที่คนในบ้านเรา รวมถึงผู้คนในเอเชียตะวันนออกเฉียงใต้ให้ความสำคัญคือเรื่องของฟ้าฝน เพราะเป็นสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ จึงมีพิธีกรรมต่างๆ เช่น ถ้าฝนแล้ง ก็แห่นางแมว ถ้าน้ำมากไป ก็ทำพิธีไล่น้ำ”สายป่าน กล่าว

อย่างไรก็ตาม แม้ไม่มีพิธีกรรมเกี่ยวกับปรากฏการณ์ดังกล่าวโดยตรง แต่ก็เป็นเวลาประจวบเหมาะกับช่วง “ข้าวตั้งท้อง” ซึ่งคนไทยมีพิธี “ทำขวัญข้าว” อีกทั้งมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับพระอาทิตย์ผู้เกรงใจข้าวซึ่งกำลังตั้งท้อง จึงส่องแสงอ้อมทุ่งข้าวออกไป

ศาสตราภิชาน ล้อม เพ็งแก้ว ปราชญ์เมืองเพชรบุรี บอกว่า เดือนธันวาคมตรงกับเดือนอ้าย ซึ่งข้าวในท้องนาเริ่มตั้งท้อง จึงมีประเพณีทำขวัญข้าว เป็นการบูชาพระแม่โพสพ ไม่ได้บูชาพระอาทิตย์เนื่องในวันเหมายัน แต่บังเอิญประจวบเหมาะกันพอดี โดยหลังจากนั้น จะมีการเก็บเกี่ยวข้าวกันราวเดือนมีนาคมถึงเมษายน ส่วนนิทานที่เล่ากันทั่วไปนั้น ก็เป็นความพยายามที่จะอธิบายปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เกิดขึ้น เป็นเรื่องของคนที่ชักธรรมชาติมาเข้ากับวิถีชีวิต

ไทยแลนด์และแดนอุษาคเนย์ ไม่มีงานฉลอง แล้วอินเดียซึ่งเป็นที่มาของคำว่า เหมายัน มีประเพณีฉลองหรือไม่ ?

เรื่องนี้ กิตติพงศ์ บุญเกิด  อาจารย์สาขาวิชาภาษาเอเชียใต้ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรมอินเดีย ให้ความรู้ว่า ตามความเชื่อของอินเดียนั้น ฤดูหนาว เป็นฤดูของ “ปรโลก” ซึ่งไม่ถือว่าเป็นมงคล เป็นช่วงเวลาที่กลางคืนยาวนาน  ดังนั้น จึงไม่มีการเฉลิมฉลองใดๆ แต่เมื่อพระอาทิตย์เริ่มย้ายขึ้นเหนือ เข้าสู่ราศีมังกร ที่เรียกว่า “มกรสงกรานติ” ซึ่งในปีหน้าตรงกับวันที่ 15 มกราคม 2559 จะถือเป็นมงคล เพราะพระอาทิตย์ได้พ้นจากจุดต่ำสุดมาแล้ว

“หลังจากช่วงนี้ไป เมื่อเข้าสู่ราศีมังกร ชาวฮินดู จะทำความสะอาดบ้านและห้องครัว มีการเล่นว่าวเฉลิมฉลอง ส่วนเกษตรกร จะเก็บเกี่ยว เพราะข้าวสุกพอดี โดยจะเก็บเกี่ยวเสร็จสิ้นราวปลายเดือนมีนาคม” กิตติพงศ์กล่าว

แม้อินเดียถือว่าไม่เป็นมงคล แต่สำหรับคนจีนแล้ว “เหมายัน” ถือเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ฤดูหนาวที่เป็นมงคลโดยในอดีต คนจีนให้ความสำคัญเสมือนเทศกาลสิ้นปี เรียกว่า เทศกาลตังโจ่ย มีการกินขนมที่ทำจากปากและน้ำเชื่อม หน้าตาคล้ายบัวลอยเพื่อเพิ่มความอบอุ่นให้แก่ร่างกาย อีกทั้งมีการทำบุญเพื่อความเป็นสิริมงคลอีกด้วย