เจียดใส่ผ้า

เจียด ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ให้ความหมายว่า น. ภาชนะชนิดหนึ่ง เป็นเครื่องขุนนางโบราณ สำหรับใส่ของ เช่น ผ้า มักทำด้วยเงิน

เครื่องขุนนางมี เจียด ประกอบยศตั้งแต่เมื่อใด เรื่องนี้ยังไม่มีหลักฐานแน่ชัด แต่ในแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ พระเจ้าแผ่นดินแห่งกรุงศรีอยุธยา ปรากฏเกิดแล้วแน่นอน

สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ พระมหากษัตริย์ราชวงศ์สุวรรณภูมิ ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ.1991 – 2031 ในรัชกาลของพระองค์ เต็มไปด้วยความเจริญรุ่งเรืองด้านการเมือง การปกครอง บ้านเมืองอยู่เย็นเป็นสุข

หลักฐานว่ามีเจียดใช้ อยู่ในทำเนียบศักดินาของขุนนาง

บรรดาศักดิ์ข้าราชการสมัยพระบรมไตรโลกนาถมี เจ้าพระยา พระยา พระ หลวง ขุน หมื่น พัน และทนาย คำว่าเจียดปรากฏอยู่ชัดเจนว่า “ขุนนางศักดินาหมื่น กินเมืองกินเจียดเงินถมยาดำรองตะลุ่ม”

หน้าตาของเจียดมองไปก็คล้ายๆ พานแต่มีฝาปิด

ขนาดของเจียดใหญ่กว่าพาน เนื่องจากเจียดผลิตขึ้นมาเพื่อใส่ข้าวของจำพวกผ้า ผ้าใส่เจียดนั้นไม่ใช่ผ้าธรรมดา แต่เป็นผ้าพระราชทาน หรือไม่ก็ผ้าชั้นดี เพื่อแสดงให้เห็นฐานะของผู้ครอบครอง

ขุนนางต้องศักดินาหมื่นถึงจะได้รับพระราชทานเจียด จึงกล่าวได้ว่าเจียดเป็นของขุนนางชั้นสูง ผู้ครอบครองไม่ใช่เราชาวบ้านธรรมดาๆ ทำให้โอกาสที่เจียดจะไปอยู่บนบ้านของใครไม่ใช่เรื่องง่าย

เจียด ทำมาจากอะไร

คำตอบคือ ทำมาจากเงิน ช่างทำเจียดต้องเป็นช่างฝีมือดี ขึ้นรูปร่างได้สัดส่วน สวยงามแล้ว ต้องลงลวดลาย แต่ละเส้น แต่ละลายไหวเต้นไปตามตกแต่งอย่างวิจิตรบรรจง สมัยเก่าก่อนย่อมเป็นช่างหลวงเท่านั้น

หลังสลักลวดลายแล้ว ต้องถมยาดำลงไปด้วย

ถมยาดำเสร็จแล้ว จักทำให้เจียดดูขรึมขลัง ขณะเดียวกันก็มีความมันวาว เกิดสง่าราศีกับผู้ครอบครองเป็นอย่างยิ่ง

ความมันวาวนั้น มาจากยาดำที่แทรกตัวเข้าไป ด้วยเหตุนี้เอง จึงมีสำนวนไทยกล่าวกันว่า แทรกเป็นยาดำ หรือ แทรกเหมือนยาดำ อันหมายถึง แทรกเข้าไปในที่ต่างๆ หรือเรื่องต่างๆ ได้ทุกที่ ทุกเรื่องราวนั่นเอง

คำว่าแทรกเป็นยาดำ หาได้เป็นคำชมไม่ แต่เป็นคำต่อว่า ประชดประชันจากคนที่เอ่ยออกมา

เนื่องจาก เจียด เป็นของสูง สมัยเก่าก่อนไม่ต้องพูดถึงเรื่องการซื้อหา แต่สมัยนี้ตามร้านขายของเก่าๆ อาจจะพอมีเล็ดรอดขายอยู่บ้าง ราคาน่าจะแพงเอามากๆ เพราะว่าทำด้วยเงิน แถมยังทำด้วยช่างฝีมือดี

บรรพบุรุษใครที่เคยเป็นขุนน้ำขุนนางมาก่อน อาจจะมีเจียดเหลือให้โชว์อยู่ในตู้ สำหรับคนที่ต้องการหามาไว้ในสมัยนี้  น่าจะไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมายแล้ว แต่สถานที่ซื้อหานั้นไม่แน่นักว่าแถวๆ สวนจตุจักรยังพอมีหรือไม่

คำว่า เจียด นอกจากหมายถึงเครื่องประดับยศขุนนางแล้ว ยังมีความหมายว่า ประหยัดอีกด้วย

คนเก่าๆ มักพูดว่า “รู้จักเจียดเงินเจียดทองบ้าง”

ความหมายผู้พูด มิได้ต้องการให้ลูกหลานรู้จักเจียดเงินเจียดทองที่เป็นภาชนะใส่ผ้า แต่ให้รู้จักประหยัดเงินประหยัดทอง พูดง่ายๆ ก็คือ ให้รู้จักจับจ่ายใช้สอยนั่นเอง อย่างที่บรมครูกลอนสุนทรภู่บอกว่า “มีสลึงพึงบรรจบให้ครบบาท อย่าได้ขาดสิ่งของต้องประสงค์ หากมีน้อยใช้น้อยค่อยบรรจง อย่าจ่ายลงให้มากจะยากนาน” อะไรทำนองนั้น

คนที่อยากเห็นหน้าตาของเจียด ว่าสวยงามอย่างไร ปัจจุบันดูได้แน่นอนในวัดพระแก้ว

วัดพระแก้วคนไทยเข้าฟรี เมื่อเข้าไปแล้วตรงไปยังอาคารจัดแสดงเครื่องราชอิสริยยศ คนไทยเสียค่าเข้าชม 10 บาท ภายในนั้นมีทั้งเจียด เครื่องราชอิสริยยศต่างๆ ของพระบรมวงศานุวงศ์ และขุนนางสมัยเก่าก่อน

นับเป็นพิพิธภัณฑ์ขนาดใหญ่ ที่เก็บของในอดีตให้ลูกหลานไทยได้ชมเป็นอย่างดี

คนที่อยากไปดูแต่ไม่มีเงินก็ลอง “เจียด” เงินวันละเล็กละน้อย เพื่อไปดูเจียดใส่ผ้าก็ได้เหมือนกัน