ผลหมากรากเหง้า

เด็กสมัยใหม่ใครกี่คนในยุคนี้ที่จะรู้จัก หมาก อย่าว่าแต่เคยลิ้มชิมรสเลย ด้วยว่ากระทั่งคนรุ่นห้าสิบบวกก็ใช่ว่าจะเคยกินหมาก เพราะการกินหมากบ้านเรากลายเป็นของต้องห้ามไปตั้งแต่ยุคจอมพลผ้าขาวม้าแดง สฤษดิ์ ธนะรัชต์ นัยว่าเพื่อให้เป็นอารยประเทศแบบเมืองฝรั่งเขา

สมัยก่อน ใครๆ ก็นิยมเคี้ยวหมากปากแดง ตั้งแต่ระดับชนชั้นสูงและชาวบ้านร้านตลาดทั่วไป เครื่องวัดฐานะอย่างหนึ่งของคนยุคนั้นคือ เชี่ยนหมาก แขกไปใครมาต้องยกเชี่ยนหมากมารับรอง เป็นหน้าเป็นตาอย่างหนึ่งเลยทีเดียว แต่พอเลิกกินหมากเครื่องเคราที่เกี่ยวกับการกินหมากก็ค่อยๆ หมดความนิยม กลายเป็นของเก่าเก็บที่นักสะสมมีไว้ในตู้โชว์

ตามข้อมูลที่ค้นหาได้มา บอกเราว่า หมาก เป็นพืชลำต้นเดี่ยว ไม่แตกกอ และมีใบเลี้ยงเดี่ยว ไม่มีรากแก้ว หมากมีแต่รากฝอยกระจายรอบโคนต้น ด้วยเหตุนี้หมากจึงทนทานในสภาพน้ำท่วมขังได้นาน เพราะสามารถสร้างรากอากาศได้นี่เอง

สวนหมากที่เมียนมา
แม่น้ำกาโลนท่า

เนื้อต้นหมากเป็นเสี้ยนยาวจับตัวกันแน่น ส่วนกลางลำต้นเป็นเสี้ยนแต่ไม่อัดแน่นเหมือนด้านนอก มีเนื้อไม้อ่อนนุ่มคล้ายฟองน้ำ ทำให้ต้นหมากเหนียวและสามารถโยกโอนเอนได้มาก สมัยก่อนคนเก็บหมากผู้เชี่ยวชาญจะโยกเอนลำต้นหมากจากต้นหนึ่งไปเก็บหมากอีกต้นหนึ่งได้อย่างสบาย แต่ส่วนใหญ่จะใช้ไม้ยาวติดด้ามมีดชักดึงพวงหมากลงมา

ส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์มากที่สุดคือ ผลหมาก ซึ่งจะออกเป็นพวงหรือเรียกว่าทะลาย หนึ่งทะลายจะมีผลอยู่ประมาณ 10-150 ผล ผลอ่อนสีเขียวเข้มเรียกหมากดิบ ผลแก่ผิวเปลือกจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองอมส้มเรียกหมากสุกหรือหมากสง ส่วนที่นำมากินคือ เมล็ด เมื่ออ่อนจะนิ่ม พอสุกเต็มที่เนื้อจะแข็งมีสีเหลืองอ่อนๆ ถึงสีเหลืองเข้มอมแดง

บ้านสวยในสวนหมาก ที่หมู่บ้านกาโลนท่า ทวาย

ภาพจำในวัยเด็กฉันมักเห็นยายหรือแม่เฒ่าในภาษาใต้นั่งตำหมาก กับยนต์หรือที่ตำหมากซึ่งอาจจะเรียกว่า ตะบันหมาก ฉันก็ไม่แน่ใจเสียแล้ว รู้แต่ว่าชอบอาสาตำหมากให้แม่เฒ่า บางทีได้ของกำนัลเป็นเศษสตางค์ที่แม่เฒ่าซุกไว้ในเชี่ยนหมาก บางครั้งได้ขนมก็ที่แม่เฒ่าซุกไว้ในเชี่ยนหมากนั่นแหละ ฉันเคยแอบกินหมากแม่เฒ่าด้วยความใคร่รู้ว่ารสชาติจะอร่อยปานใด เห็นชอบกินกันนัก ปรากฏว่าแสบปากคอฝาดเฝื่อนจนบ้วนทิ้งแทบไม่ทัน

อีกภาพจำเป็นภาพพ่อเคี้ยวหมากแบบไม่ต้องตะบัน เพราะฟันยังดีอยู่ พ่อจะเลือกใบพลูงามๆ ป้ายปูนไม่มากจากนั้นวางหมากลงไป ห่อให้พอดีส่งเข้าปากเคี้ยวหยับๆ น้ำแดงๆ ปริ่มออกมาจากปาก ก็ต้องหยิบกระโถนมาบ้วนน้ำหมากทิ้งเสียบ้าง แต่บางทีก็บ้วนลงพื้นดินหรือพุ่มไม้ตรงหน้า ใบไม้ที่บ้านเราจึงมักเปื้อนสีแดงๆ อยู่เสมอส่วนแม่นั้นฉันไม่เคยเห็นแม่เคี้ยวหมากแม้สักคำเดียว ดูเหมือนว่าแม่จะไม่ข้องเกี่ยวกับอะไรที่อยู่ในหมวดเสพติดได้ เลือดเนื้อแม่สะอาด ทำให้ลูกๆ ที่ดื่มกินน้ำนมจากอกแม่มีชีวิตรอดและแข็งแรงจนโต

สมัยก่อนที่ยังเคี้ยวหมากกันอยู่ บ้านเมืองเรามีสวนหมากให้เห็นอยู่ทั่วไป เพราะหมากสามารถเติบโตในสภาพพื้นที่และภูมิอากาศได้แทบทุกภาค จึงมีสวนหมากทั้งภาคใต้ กลาง และอีสาน โดยเฉพาะทางใต้เหมือนจะมีสวนหมากอยู่มาก โดยเฉพาะสวนแบบเดิมหรือที่เรียกว่าสวนสมรม เพราะปลูกพืชหลายอย่างร่วมกัน บางคนเรียกว่า สวนพ่อเฒ่าแม่เฒ่า ด้วยว่าเป็นสวนที่ผู้เฒ่าผู้แก่ปลูกเอาไว้แต่เดิมนั่นเอง ในสวนสมรมหรือสวนพ่อเฒ่าแม่เฒ่า เรามักจะเห็นต้นหมากสูงเสียดฟ้าขึ้นมาเหนือต้นอื่นๆ โบกใบโอนเอนตามแรงลม

ฉันหวนคิดถึงเรื่องหมากขึ้นมาอีกครั้งหลังไปเยือนทวายล่าสุด ตามเส้นทางถนนเลียบแม่น้ำตะนาวศรีนั้น บนเทือกทิวเขายังมีสวนหมากให้ชม บางสวนแน่นขนัดโอนเอนไปตามสายลมโบกงดงามเพลิดเพลิน คนทวายยังเคี้ยวหมากกันอยู่ ทุกชนชั้นช่วงวัยหาใช่แต่คนสูงวัยเท่านั้น คนสาวหนุ่มยังเคี้ยวหมากกันอยู่ แม้ว่าคนรุ่นใหม่ส่วนมากจะเลิกกินหมากกันบ้างแล้วก็ตาม โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่ออกไปร่ำเรียนและทำงานข้างนอก

นอกจากหมากยังเป็นพืชพันธุ์ที่เคี้ยวได้ หมากยังเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของทวายอีกด้วย ส่วนใหญ่จะส่งไปที่อินเดีย ซึ่งนอกจากใช้ในการเคี้ยวกิน อินเดียยังใช้หมากย้อมผ้าอีกด้วย ในแต่ละปีทวายมีรายได้เป็นเงินนับล้านๆบาทจากการขายผลของหมาก เราจึงเห็นลานตากหมากทั่วไปตามลานบ้านหรือแม้แต่ริมถนนหนทาง
กระทั่ง วัดกาโลนท่า ในหมู่บ้านกาโลนท่า เมืองทวาย หมากก็เป็นพืชพันธุ์สร้างรายได้เข้าวัด ปีที่แล้วฉันยังได้เห็นพระกำลังเกลี่ยหมากตากบนลานวัด

ลานตากหมากริมแม่น้ำกาโลนท่า ทวาย
รับจ้างผ่าหมาก

ปีนี้ที่ไปมาล่าสุดเมื่อต้นเดือนธันวาคม ไม่ได้เห็นหมากบนลานวัด แต่ได้ไปเห็นหมากละลานตาริมฝั่งแม่น้ำกาโลนท่า ใกล้หมู่บ้าน ได้เห็นทั้งการตากหมากและการผ่าหมาก ทำให้นึกถึงคำพูดเปรียบเปรยถึงท่าเตะผ่าหมาก เป็นสิ่งหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าสมัยก่อนหมากผูกพันกับวัฒนธรรมไทยเรามิใช่น้อย

เตรียมตาก
คีบหมาก

ฉันว่าหมากเหมาะสมต่อการเป็นพืชเศรษฐกิจเป็นอย่างยิ่ง เติบโตให้ผลโดยไม่ต้องประคบประหงมกันมาก แม้ว่าราคามีขึ้นลงตามการตลาดไม่ต่างกับผลผลิตเกษตรอื่นๆ ก็ยังนับว่าไม่เสี่ยงมากนัก และการเคี้ยวหมากก็ไม่ได้กระทบต่อสุขภาพมากนัก ฉันคิดว่างั้นนะ ไม่ได้เป็นสิ่งเสพติดร้ายแรง นัยว่าการเคี้ยวหมากยังรักษาฟันกับเหงือกให้แข็งแรงอีกด้วย

ยุคที่รัฐบาลออกกฎห้ามประชาชนกินหมาก น่าจะเป็นช่วงที่บ้านเรามีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 1 ในยุคเชื่อผู้นำชาติพ้นภัย ชาวไทยต้องเลิกกินหมาก เลิกนุ่งโจงกระเบน หันมานุ่งห่ม สวมหมวกแบบฝรั่ง เพื่อตามให้ทันประเทศที่เข้ามามีอิทธิพลครอบงำประเทศในแถบนี้

ไทยเรานั้นภาคภูมิใจเสมอว่า ไม่เคยตกเป็นอาณานิคมของใคร แต่ฉันไม่แน่ใจนัก ในยุคนั้นเราทัดเทียมประเทศฝรั่งทั้งหลายเพียงเพราะเลิกเคี้ยวหมาก เท่านั้นหรือ?