ททท. ตราด พาท่องเที่ยวชุมชนเปิดตลาดตรง เชื่อม กระบี่ พังงา ภูเก็ต

“ท่องเที่ยวชุมชน” ภาพของการท่องเที่ยวชุมชนในระดับภูมิภาค ที่ได้รับการส่งเสริมให้เป็นการท่องเที่ยวรองจากกระแสหลัก ภาพจำของนักท่องเที่ยวแม้แต่คนไทยอาจจะนึกถึงเป็นอันดับท้ายๆ ที่จะเลือกไป ด้วยคิดว่าเป็นการท่องเที่ยวที่ยังไม่ได้มาตรฐาน ไม่สะดวกสบาย ไม่มีอะไรที่โดดเด่นสร้างแรงจูงใจให้กับนักท่องเที่ยวไปเที่ยวเหมือนแหล่งท่องเที่ยวในเมืองหลัก เมืองรองทั่วๆ ไป อาจจะเป็นเพราะการเข้าถึงข้อมูลด้านแหล่งท่องเที่ยวชุมชน การนำเสนออัตลักษณ์ยังไม่ชัดเจน และการตลาดไม่ได้สร้างการรับรู้ให้นักท่องเที่ยวอย่างกว้างขวาง และการเดินทางที่อาจจะไม่สะดวก ใช้ระยะเวลานาน

ขนมอาโป้งและม่อจี๋ ขนมท้องถิ่นภูเก็ต

ททท. ตราด ดันชุมชนเปิดตลาด

กระบี่ พังงา ภูเก็ต สร้างเครือข่ายเชื่อมโยง

คุณวรรณประภา สุขสมบูรณ์ ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานตราด บอกว่า ตามนโยบายของรัฐบาลที่เน้นส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนเพื่อเป็นการกระจายรายได้ไปสู่ชุมชนท่องเที่ยว เมื่อวันที่ 1-4 สิงหาคม ที่ผ่านมา ได้ร่วมกับสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส จัดกิจกรรม Amazing GO Local Trat – Andaman ปลุกกระแสการท่องเที่ยวชุมชนโดยชุมชน โดยนำชุมชนท่องเที่ยวที่มีศักยภาพความพร้อมในจังหวัดตราด จำนวน 11 ชุมชน คือ บ้านสลักคอก (เกาะช้าง) บ้านคันนา บ้านไม้รูด บ้านช้างทูน บ้านห้วยแร้ง บ้านแหลมกลัด บ้านอ่าวใหญ่(เกาะกูด) บ้านท่าระแนะ บ้านแหลมมะขาม บ้านท่าโสม บ้านยายม่อม เดินทางเชื่อมเครือข่ายข้ามภูมิภาคฝั่งทะเลตะวันออกไปฝั่งอันดามันภาคใต้ 3 จังหวัด คือ กระบี่ พังงา ภูเก็ต เพื่อพบปะแลกเปลี่ยนการขายกับลูกค้า (Table Top Sale Amazing GO Local Trat – Andaman) ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หอการค้า สโมสรโรตารี่ และบริษัทนำเที่ยว

คณะที่ลานมังกร หน้าเทศบาลนครภูเก็ต

และได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับแหล่งท่องเที่ยวชุมชนต่างๆ เช่น ชุมชนเกาะกลาง จังหวัดกระบี่ บ้านสามช่องเหนือ จังหวัดพังงา และชุมชนย่านเมืองเก่าภูเก็ต โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับการท่องเที่ยวชุมชน เปิดโลกทรรศน์ให้ชุมชนได้ทำการตลาดพบปะนักท่องเที่ยวโดยตรงโดยไม่ผ่านเอเย่นต์ และได้สร้างประสบการณ์แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับการท่องเที่ยวชุมชนของจังหวัดกระบี่ พังงา ภูเก็ต

“การนำผู้นำท่องเที่ยวชุมชนทั้ง 11 ชุมชน ของจังหวัดตราด ไปพบปะใน 3 จังหวัดฝั่งทะเลอันดามันในครั้งนี้ จะนำมาซึ่งการสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวชุมชนระหว่างจังหวัดตราดกับภูมิภาคฝั่งทะเลอันดามัน ซึ่ง ททท. ตราด ได้ร่วมกับ บริษัท บางกอกแอร์เวย์ส จัดแพ็กเกจช่วงโลว์ซีซั่น กระตุ้นให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวที่สะดวกสบายและรวดเร็ว” คุณวรรณประภา กล่าว

แจกรางวัลตั๋วเครื่องบินบางกอกแอร์เวย์ส

 เที่ยวเกาะกลาง บ้านสามช่องเหนือ ย่านเมืองเก่าภูเก็ต สไตล์ท่องเที่ยวโดยชุมชน

ตามโปรแกรม วันแรกเริ่มที่จังหวัดกระบี่ เพื่อพบปะแลกเปลี่ยนการขายกับลูกค้า (Table Top Sale Amazing GO  Local Trat – Andaman) บรรยากาศเป็นไปด้วยความอบอุ่น มิตรไมตรี ชุมชนท่องเที่ยวทั้ง 11 ชุมชน ได้รับความสนใจซักถามข้อมูลเพื่อจะเดินทางมา วันต่อมา ลงเรือไปเกาะกลาง (จังหวัดกระบี่) บนเกาะนี้ไม่มีรถยนต์ใช้กัน มีแต่รถมอเตอร์ไซค์ นั่งรถซาเล้งไปท่องเที่ยวจุดต่างๆ

จุดแรก กลุ่มเรือหัวโทงชุมชนท่องเที่ยว มีเรื่องเล่าเรือหัวโทงที่เป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น สร้างโดยภูมิปัญญาชาวบ้าน ก่อนกลับมีเรือหัวโทงสินค้า OTOP ที่ระลึกจำหน่ายได้ราคา 300-10,000 บาท แต่ถ้าเป็นพวงกุญแจเล็กๆ 55 บาท นอกจากนี้ ยังมีเครื่องใช้โบราณอย่างตะบันไฟที่มีการออกแบบแพ็กเกจจิ้งกล่องไม้สวยงามใช้ประโยชน์ได้ ขายราคาชุดละ 1,200 บาท

พิพิธภัณฑ์ภูเก็ตนครา

จุดสอง กลุ่มทำผ้าปาเต๊ะ ที่นี่มีเวิร์กช็็็อปให้นักท่องเที่ยวทดลองฝีมือตัวเองบนผืนผ้าขนาดผ้าเช็ดหน้าและนำกลับบ้านได้ ราคาผืนละ 50 บาท และจบลงด้วยการรับประทานอาหารกลางวัน ศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีเกษตรประจำตำบลคลองประสงค์แหล่งปลูกข้าวสังข์หยดที่เป็นข้าวอินทรีย์ 100% ชิมอาหารถิ่นปักษ์ใต้ รสชาติอร่อย เมนูเด็ดคือ แกงส้มปลา ทั้ง 3 จุด ที่ไปมีสินค้า ของที่ระลึกที่ชาวบ้านในชุมชนผลิตขึ้น จำหน่ายให้นักท่องเที่ยวเป็นการกระจายรายได้ให้กับชุมชน

ต่อไปที่ ชุมชนบ้านสามช่องเหนือ จังหวัดพังงา ที่มาของชื่อหมู่บ้านมีคลอง 3 คลอง มาบรรจบกัน การเดินทางต้องข้ามเรือไปเช่นกัน ที่นี่เป็นวิถีประมงของชุมชนมุสลิม ที่ใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านประกอบอาชีพเลี้ยงหอยนางรมที่สร้างรายได้หลักได้ และกลุ่มวิสาหกิจท่องเที่ยวโดยชุมชนบ้านสามช่องเหนือมีสินค้าอาหารทะเลทั่วไปจำหน่าย การสาธิตทำผ้ามัดย้อมจากลูกตะบูน สบู่เหงือกปลาหมอ จำหน่าย และให้นักท่องเที่ยวได้เรียนรู้ลงมือทำผ้ามัดย้อม ได้รับความสนใจมากเป็นพิเศษ บางชุมชนต้องการเรียนรู้และมาปรับใช้ ต่อด้วยแหล่งท่องเที่ยวเสม็ดนางชี (พังงา) ซึ่งอยู่บนยอดเขามองเห็นวิวเกาะกลางทะเลที่ผืนน้ำนิ่งสงบเสมือนภาพวาดขนาดใหญ่ 360 องศา

ย่านชุมชนเมืองเก่าภูเก็ต

ที่นี่องค์การบริหารส่วนตำบลคลองเคียนให้เอกชนเช่าพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว มีร้านกาแฟ พื้นที่กางเต็นท์และห้องพักบริการ สุดท้าย ที่จังหวัดภูเก็ต น่าจะเป็นไฮไลต์ของการเรียนรู้กระบวนการการท่องเที่ยวโดยชุมชนที่สมบูรณ์ เริ่มจาก คุณดอน ลิ้มนันทพิสิฐ ประธานกรรมการชุมชนย่านเมืองเก่าภูเก็ต สรุปที่มาของการสร้างชุมชนท่องเที่ยวย่านเมืองเก่าภูเก็ต ซึ่งเพิ่งเป็นทางการเมื่อปี 2560 ทำให้ธุรกิจกับชุมชนอยู่ด้วยกันได้ โดยชุมชนจะเป็นผู้ขายทัวร์เองไม่ผ่านเอเย่นต์ และกำหนดรูปแบบของเมืองเก่าภูเก็ตเอง เช่น ไม่ให้มีร้านสะดวกซื้อ ให้มีกิจกรรมถนนคนเดินวันอาทิตย์เพียงวันเดียว จึงไม่น่าแปลกใจว่า เราไม่เห็น ร้าน 7-11 ห้างเทสโก้ โลตัส ในย่านเมืองเก่าเลย

คุณวรรณประภา สุขสมบูรณ์

ที่ย่านเมืองเก่าภูเก็ต คณะเราได้ปฏิบัติตัวเป็นนักท่องเที่ยวจริงๆ เริ่มจาก คุณดอน พาเดินสัมผัสย่านเมืองเก่าจับจ่ายสินค้าพื้นเมือง โดยเฉพาะผ้าปาเต๊ะ ที่ซื้อแล้วต้องเช็กราคาว่า ใครจะแน่กว่ากัน ผืนละ 75-100 บาท และไปดูพิพิธภัณฑ์ภูเก็ตที่ใช้อาคารธนาคารชาร์เตอร์และอาคารสถานีตำรวจเป็นสถาปัตยกรรมทรงชิโนโปรตุกีสสวยงามอายุกว่า 100 ปี มาปรับปรุงให้คงสภาพเดิมๆ และมีการนำเสนอประวัติความเป็นมาของเมืองภูเก็ต (ภูเก็ตนครา) และวัฒนธรรมของชาวภูเก็ตดั้งเดิม (เพอรานากันนิทัศน์) มีการนำเสนอในรูปแบบทันสมัย ทำให้ผู้มาเยือนตื่นตาตื่นใจมาก แถมด้วยกิจกรรมสร้างสรรค์เพิ่มสมาชิก ให้นักท่องเที่ยวแอดไลน์เฟซบุ๊กของพิพิธภัณฑ์และมอบพวงกุญแจเป็นของที่ระลึก

เรือหัวโทง

ย้ำจุดยืน ทำท่องเที่ยว สร้างรายได้เสริม

คุณสมนึก หงษ์วิเศษ รองนายก อบต. แหลมกลัด ประธานท่องเที่ยวชุมชนบ้านแหลมกลัด กล่าวว่า กิจกรรมที่ ททท. ตราด จัดครั้งนี้ กระตุ้นให้เกิดความเชื่อมั่นในศักยภาพของชุมชนที่ดำเนินมากว่า 10 ปี และมีความคิดที่จะเสริมสร้างความพร้อมของชุมชนให้สามารถสร้างสรรค์กิจกรรมการท่องเที่ยว ผลิตภัณฑ์ในรูปแบบต่างๆ ของชุมชน ให้มีมาตรฐานรองรับการขยายตัว และการเชื่อมโยงเครือข่าย ส่วนนักท่องเที่ยวน่าจะต้องใช้ระยะเวลาอีกช่วงหนึ่ง ถึงแม้ว่าจะเป็นเมืองชายทะเลเหมือนกัน แต่มีความต่างที่เป็นเสน่ห์ เช่น ภูเก็ต จะเป็นชุมชนเมืองเก่า บริบทคือ เมืองธุรกิจย่านการค้า เดินตามหลักของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเช่นเดียวกัน แต่บริบทต่างจากชุมชนบ้านแหลมกลัด ที่ชาวบ้านมีอาชีพหลักทำประมง การท่องเที่ยวเป็นอาชีพเสริม จึงไม่มุ่งเน้นปริมาณนักท่องเที่ยว ปี 2560 มีนักท่องเที่ยว ประมาณ 4,000 คน เราจะจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวไม่ให้มากไปกว่านี้ เพื่อให้สมดุลกับการใช้ทรัพยากร ไม่จัดกิจกรรมให้นักท่องเที่ยวมากเกินไป กิจกรรมต่างๆ เราจะขายวิถีชีวิตชาวประมงของชุมชน

คุณดอน ลิ้มนันทพิสิฐ

“แหล่งท่องเที่ยวชุมชนจะมีข้อจำกัดเที่ยวไม่ได้ทั้งปี และวิถีชีวิตชุมชน จะยึดอาชีพหลักทำประมงและทำท่องเที่ยวชุมชนโดยชุมชนเป็นอาชีพเสริม ดังนั้น นักท่องเที่ยวต้องติดต่อกับชุมชนล่วงหน้า และอาจจะมีการปรับเปลี่ยนกิจกรรม หรือเส้นทางในแพ็กเกจ หากมีความจำเป็น เพราะชุมชนมีการเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวชุมชนอื่นๆ เพื่อส่งต่อนักท่องเที่ยวอยู่แล้ว ทุกวันนี้การท่องเที่ยวชุมชนมีกิจกรรมออกบู๊ธในงานท่องเที่ยวระดับประเทศ และภูมิภาคทั่วไป ตามอีเว้นท์ต่างๆ ที่หน่วยงาน ททท. อพท. ททก. สนับสนุน ทำให้มีเครือข่ายทั่วไป และใช้สื่อโซเชียลมีเดีย ทั้งเฟซบุ๊ก เว็บไซต์ คลิปวิดีโอ กลุ่มไลน์ รวมทั้งสื่อมวลชน ทำให้นักท่องเที่ยวติดต่อเข้ามาเอง ไม่ต้องผ่านบริษัททัวร์ ประสบการณ์ดูงานครั้งนี้ มีแรงบันดาลใจที่นำไปใช้หลายอย่าง เช่น การทำจุดเช็กอิน แลนด์มาร์กเพิ่มเติม การเตรียมเด็กๆ และเยาวชนมารับช่วงต่อ “ประธานท่องเที่ยวชุมชนบ้านแหลมกลัด กล่าว

เสม็ดนางชีบูติค

 ททท. ตราด ไม่เสียเปล่า ท่องเที่ยวชุมชนเตรียมสานต่อ

คุณอภิชัย อรัญญิก ผอ. การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จังหวัดกระบี่ กล่าวว่า “ภาคใต้ฝั่งอันดามันกับภาคตะวันออกมีความเป็นเมืองชายทะเลเหมือนกัน แต่เส้นทางท่องเที่ยวชายแดนไปกัมพูชามีความต่างที่น่าสนใจ การเชื่อมโยงเครือข่ายทำให้ได้รู้จักและเรียนรู้ซึ่งกันและกัน เพื่อต่อยอดการพัฒนา กระบี่มีชุมชนท่องเที่ยว 15 แห่ง มีความพร้อมบริการนักท่องเที่ยว 11 ชุมชน จึงมีโอกาสที่ได้เรียนรู้กัน การส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนต่อจากการท่องเที่ยวกระแสหลัก จะทำให้มีการกระจายรายได้ในชุมชน เพราะนักท่องเที่ยวที่สนใจจะเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง ซึ่งการพัฒนาต้องค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากการเดินทางที่ค่อนข้างไกล ระยะแรกกลุ่มที่สนใจน่าจะเป็นองค์กรต่างๆ ที่เดินทางเป็นหมู่คณะ เช่น สโมสรโรตารี่ องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล ที่ต้องการไปศึกษาดูงาน ที่จะติดต่อชุมชนขายตรงและใช้บริการของสายการบินบางกอกแอร์เวย์สในราคาพิเศษไป-กลับ ราคา 2,500 บาท/ที่นั่ง”

หมู่บ้านโอท็อป (OTOP) เกาะกลาง

ทางด้าน คุณวาสนา สิงหพันธุ์ ประธานชุมชนท่องเที่ยวบ้านอ่าวใหญ่ เกาะกูด กล่าวภายหลังเสร็จสิ้นภารกิจดูงานครั้งนี้ว่า ในระยะสั้นท่องเที่ยวชุมชนทั้ง 11 แห่ง ที่มาดูงาน จะรวมตัวกันเพื่อคิดสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ที่จะให้เกิดประโยชน์ในพื้นที่แต่ละชุมชน ต่อไปชุมชนที่เข้มแข็งจะเป็นพี่เลี้ยงช่วยชุมชนท่องเที่ยวน้องๆ พัฒนายกระดับมาตรฐานท่องเที่ยวโดยชุมชนของจังหวัดตราด เพื่อสร้างความประทับใจให้กับพันธมิตรเครือข่ายที่มาเยือนและมีการบอกต่อ

อาหารปักษ์ใต้อร่อย

การเปิดโลกทรรศน์ของ ททท. ตราด ผู้นำท่องเที่ยวชุมชนหรือผู้ประกอบการได้เรียนรู้ประสบการณ์ใหม่ๆ รู้จักการทำตลาด ได้สร้างพันธมิตรเครือข่าย เป็นความประทับใจของชุมชนที่จะมีพลังขับเคลื่อนให้มีการพัฒนาต่อยอดการท่องเที่ยวชุมชนจังหวัดตราดอย่างยั่งยืน เพื่อกระจายรายได้ ลดความเลื่อมล้ำ ในสไตล์ท่องเที่ยวชุมชนโดยชุมชน สนใจสอบถามเพิ่มเติม ททท. สำนักงานตราด โทร. (039) 597-259 หรือ e-mail : [email protected]