ป่าและสายน้ำวังหีบ

เสียงหัวเราะลั่นของเด็กๆ ยามวิดน้ำใส่กัน พวกเขาพยายามทรงตัวกลางสายน้ำเชี่ยว ทั้งๆ ที่ตื้นแค่เข่า แต่กระนั้นก็ยังยากจะทรงตัวเพราะความเชี่ยวของสายน้ำ

ขณะที่เมฆฝนลอยผ่านไปอย่างช้าๆ เหนือขุนเขา เสียงน้ำครึกโครมแทรกผ่านหินผา ทุกอย่างคือความสุข คือสวนสนุกของเด็กๆ เพราะไม่มีสวนสนุกใดจะให้ความสุขได้อย่างละเมียดละไมแบบนี้ บางช่วงของต้นน้ำวังหีบคือลานสไลเดอร์ยาวร่วมยี่สิบเมตร เป็นพื้นที่ซึ่งอยู่ในความทรงจำของผู้ใหญ่หลายคนเมื่อครั้งยังเยาว์และมันจะเป็นความสุขของคนรุ่นต่อๆ มา ตราบที่ป่าและสายน้ำยังคงเดิม

ที่วังหีบ คนรุ่นแรกต้องแลกชีวิต เพื่อมีที่ทำกินและป่ายังสมบูรณ์อยู่อย่างนี้ นั่นคือ การคัดค้านเอกชนที่สัมปทานไม้

เด็กๆ เล่นน้ำในคลองวังหีบ

“เราไม่ให้ใครเข้ามาตัดไม้ ตายเป็นตายก็ต้องสู้กัน” ลุงนิด ผาสุข ชายวัยแปดสิบกว่าบอกเล่าด้วยน้ำเสียงเจือหัวเราะ แกและเพื่อนๆ ผ่านเรื่องร้ายคราวนั้นมาได้ เพราะใจสู้ จนกระทั่งวันนี้ แกก็ยังต้องต่อสู้ แต่เป็นการต่อสู้กับรัฐที่ต้องการใช้พื้นที่ตรงนี้สร้างเขื่อน

เมื่อราว 60 ปีมาแล้ว นายนิดและครอบครัวได้เข้ามาหักร้างถางพงเพื่อทำมาหากินตามประสาคนชนบท ในวังหีบแห่งนี้ยังมีความดิบเถื่อนครบทุกประการ ทั้งเสือ หมี สัตว์ใหญ่ทั้งหลาย อาชีพหลักของเขาคือ ทำข้าวไร่ที่ต้องรบรากับฝูงลิง เป็นความยากลำบากของคนยุคก่อน ที่ต่างจากคนยุคนี้โดยสิ้นเชิง เส้นทางที่ใช้ติดต่อกับคนข้างนอก ต้องเดินเท้าและเดินข้ามลำห้วยวังหีบที่ไหลเชี่ยวกรากอย่างยากเย็น

คลองวังหีบ

ต่อมามีคนตามมาหักร้างถางพงเพิ่มขึ้น ในช่วงหลังมีเด็กๆ ที่ต้องเข้าโรงเรียน พวกเขาต้องเดินเท้าระยะทางราวสิบกิโลเมตร ต้องออกจากบ้านตั้งแต่ตี 4 เพื่อให้ได้ทันเวลาเรียน

ชั่วเวลาหกสิบกว่าปี การทำมาหากินของคนที่นี่ยังคงเป็นเกษตรกรรมในพื้นที่เล็กๆ กลางหุบเขา แต่สภาพสิ่งแวดล้อมรอบนอกโดยเฉพาะสังคมเมืองได้เปลี่ยนแปลงไป ความต้องการของเมืองได้เข้ามาเบียดขับความสงบของชนบท จนกระทั่งมาขับไล่คนวังหีบให้ออกจากพื้นที่ เพราะต้องเสียสละให้กับการทำเขื่อน

เริ่มเดินขบวนประท้วง ที่หน้าศาลหลักเมือง วันที่ 20 มกราคม 2562

ต้นไม้ใหญ่จำนวนมากยังคงยืนตระหง่านอยู่ริมน้ำ ทั้งไม้ยางไม้หลังเขียวอื่นๆ เหนือสุดของหุบเขาวังหีบคือน้ำตกหนานปลิว ที่หมายถึงการปลิวกระจายของสายน้ำเป็นฟุ้งฝอย สองฟากของหุบเขาแห่งนี้ขนาบด้วยยอดเขาเหมนและยอดเขารามโรม ที่มีความสูงพันกว่าเมตร จึงเป็นร่องของเมฆฝนพัดผ่านมามากที่สุด จากทะเลตะวันออกไปยังทะเลตะวันตก

กิจกรรมเด็กๆ ศึกษาสายน้ำ

เพราะเขาเป็นนักต่อสู้ จึงเก็บความสมบูรณ์ของป่าและสายน้ำเอาไว้ได้ แม้การเกษตรที่ทำคือ การทำสวนยางพาราและสวนผลไม้ก็เป็นพื้นที่ขนาดเล็ก จำนวนหลังคาเรือนเพียง 70 หลังคาเรือน ในพื้นที่ทำกินประมาณ 500 ไร่ เท่านั้น และทั้งหมดนั้นจะจมอยู่ใต้น้ำ ถ้ามีการสร้างเขื่อน

กระแสเรื่องเขื่อนได้เริ่มขึ้นในราวๆ ปี พ.ศ. 2532 เมื่อมีชาวนาได้ถวายฎีกาเพื่อขอให้มีโครงการชลประทานในลุ่มน้ำวังหีบ ณ เวลานั้น ยังคงมีการทำนา และมีความจำเป็นจริงๆ ในการใช้น้ำ จนมีการสร้างฝายน้ำล้นถึงสองฝายเพื่อกั้นน้ำวังหีบในเวลาต่อมา ที่ไม่ไกลจากพื้นที่ซึ่งกรมชลประทานต้องการจะสร้างเขื่อนในเวลานี้มากนัก และปัจจุบันฝายทั้งสองแห่งนี้ไม่สามารถผันน้ำได้อีกต่อไป เพราะหน้าฝายตื้นเขินหมดแล้ว

นักวิชาการด้านสัตว์เลื้อยคลาน

กรมชลประทาน ได้ฟื้นโครงการนี้ขึ้นมาอีกครั้ง ในปี พ.ศ. 2559 เมื่อมีเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ภาคใต้ การต่อสู้จึงเริ่มต้นอีกครั้ง เพราะวัตถุประสงค์ของการสร้างเขื่อนไม่สมเหตุผลตามที่ควรเป็น (ดังที่กล่าวไว้ ในตอนที่แล้ว) และประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจแม้แต่ครั้งเดียว

จากวันนั้น กระทั่งถึงวันนี้ คือวันที่ 20 มกราคม 2562 การต่อสู้ของพี่น้องวังหีบได้มาถึงที่สุดของการเจรจาตามขั้นตอนทางกฎหมายที่พึงจะต่อสู้ เพราะเมื่อมีการอนุมัติโครงการโดยคณะรัฐมนตรี ในวันที่ 18 ธันวาคม 2561 ทางราชการได้ใช้วิธีการทุกอย่างเพื่อให้ชาวบ้านยินยอม ไม่ว่าจะเป็นการใช้หน่วยงานทหารมาทำงานจิตวิทยาปลอบประโลม หรือการจัดประชุมชี้แจงกึ่งข่มขู่ ด้วยการอ้างว่าเป็นโครงการตามพระราชดำริไม่สามารถคัดค้านได้ ทั้งการแจ้งความจับแกนนำในข้อหาปิดทางสาธารณะ ทั้งที่ยังไม่ได้มีการกระทำดังกล่าว

ศิลปินจากอเมริกา

เหล่านี้คือสิ่งที่ราชการได้กระทำต่อประชาชนโดยไม่ได้สนใจว่าจะมีผลกระทบในเชิงลบต่อสังคมอย่างไรบ้าง ดังนั้น จึงเกิดกระบวนการต่อสู้ของชาวบ้านหลายเครือข่าย ที่ได้ออกมาเดินขบวนเพื่อเรียกร้องให้ยุติโครงการทำลายสิ่งแวดล้อมทั้งหมดที่จะเกิดขึ้นในจังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อเช้าวันที่ 20 นี้ ณ สนามหน้าศาลากลาง จังหวัดนครศรีธรรมราช

เดินไปศาลากลางจังหวัดนครศรีธรรมราช

หนึ่งในนั้น คือชาวชุมชนวังหีบ และการต่อสู้ยังคงดำเนินต่อไปจนกว่าจะชนะ

การต่อสู้ที่ยาวนาน นับวันจะขยายพันธมิตรออกไปเรื่อยๆ ทั้งนักวิชาการด้านป่าไม้ ด้านปลาน้ำจืด ด้านสัตว์เลื้อยคลาน ด้านสมุนไพร ด้านนก นักถ่ายภาพ นักกิจกรรมด้านเด็ก นักดนตรี ศิลปินสาขาต่างๆ ทั่วประเทศ ต่างมุ่งหน้ามาที่วังหีบ และชาวต่างประเทศที่เป็นนักอนุรักษ์ ทุกคนต่างกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า

เดินไปศาลากลาง

“ป่าโบราณและคลองวังหีบ สวยงามมีคุณค่าเกินกว่าที่จะยอมให้มีเขื่อนเกิดขึ้น”

เขื่อนที่ให้ประโยชน์ไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน และทำลายวิถีชีวิต ทำลายทรัพยากรป่าไม้ของโลก