85 ปี 85 ศิษย์เก่าดีเด่นแม่โจ้ อดีตสาวแกร่งรุ่นแรก ได้รับรางวัลงานนี้ด้วย

ก่อนสิ้นปี พ.ศ. 2561 สมาคมศิษย์เก่าแม่โจ้ ได้ร่วมจัดงาน แม่โจ้ 85 ปี จุดประสงค์เพื่อให้บรรดาศิษย์เก่าที่เรียนจบไปแล้ว และบรรดานักศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่ รำลึกถึงสมัยยังเล่าเรียนกันมา เพื่อเป็นงานเลี้ยงสังสรรค์ให้หวนคิดถึงอดีต ความลำบาก สนุก และความยากเย็น กว่าจะผ่านการเรียนและการงานที่สมกับคำร่ำลือถึงว่า “งานหนักไม่เคยฆ่าคน” ที่ลูกแม่โจ้จงจดจำไว้จนวันตาย ว่างั้นเถอะ

เพื่อให้สมกับเป็นสถาบันเกษตรที่เก่าแก่ งานที่สมาคมศิษย์เก่าจัดประสบความสำเร็จในครั้งนี้ ยังมีการโชว์วิสัยทัศน์ให้บรรดาศิษย์เก่าและปัจจุบัน จัดภูมิทัศน์หลากหลายความสวยงาม สื่อจากกรุงเทพฯ ไปทำข่าว กล่าวกันว่า ถ้าจัดในกรุงเทพฯ คิดว่าผู้คนคงล้นหลามเข้ามาชมมากมาย

คำขวัญ

เพราะแม่โจ้มีฝีมือในการประกวดจัดสวนนานาชนิด คว้ารางวัลมามากมาย แม้แต่งานลอยกระทงที่ผูกขาดรางวัลชนะเลิศติดต่อกันถึงปัจจุบัน ต้องให้เครดิตแม่โจ้ที่มีผลงานเป็นที่ยอมรับของสังคม นอกเหนือจากงานผลิตผลและผลิตภัณฑ์มาโชว์ในงานอีกมากมาย ล้วนเป็นฝีมือบรรดานักศึกษาทั้งสิ้น ใครไปเที่ยวงานแม่โจ้ที่ผ่านมา วันที่ 8-16 ธันวาคม 2561 นั้น รับรองไม่ผิดหวัง

แม่โจ้ เป็นสถาบันการเกษตรที่เก่าแก่ของไทย มีประเพณี วัฒนธรรม และธรรมนูญการปกครองให้บรรดาลูกแม่โจ้มีความรักสามัคคีกันจนมาถึงวันนี้ จากบรรดาครูบาอาจารย์และศิษย์รุ่นพี่พร่ำสอนอบรมกันมาจากรุ่นสู่รุ่น สืบทอดกันมาถึง 85 ปี

งานเลี้ยงสังสรรค์

บรรดาลูกแม่โจ้ที่มาในงานต่างภาคภูมิใจในสถาบัน อยากจะขอเล่าสั้นๆ ของความเป็นมาของการได้รับเป็นมหาวิทยาลัยแม่โจ้นั้น มีมาอย่างไร เพื่อให้ผู้อ่านที่สนใจและได้ความรู้ถึงสถาบันแม่โจ้

แม่โจ้ถือกำเนิดมาเมื่อปี พ.ศ. 2477 โดยมี อาจารย์พระช่วงเกษตรศิลปการ (ช่วง โลจายะ) ที่เป็นผู้บุกเบิกมา ตั้งอยู่ตำบลหนองหาร อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ เริ่มแรก การเรียนการสอนเป็นโรงเรียนเกษตรกรรม แล้วเปลี่ยนหลักสูตรเพื่อเพิ่มวิทยฐานะหลักสูตรเป็นโรงเรียนเตรียมเกษตรศาสตร์แม่โจ้

อดีตนักศึกษาหญิง
อดีตนักศึกษาหญิงรุ่น 27

เมื่อเรียนจบหลักสูตรแล้วจะไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เนื่องจากแม่โจ้มีการเปลี่ยนหลักสูตรยกฐานะเป็นวิทยาลัยเกษตรกรรมแม่โจ้ เชียงใหม่ เพิ่มนักศึกษาได้มากขึ้น มีหลักสูตร 3 ปี และ 5 ปี ตามลำดับ แม่โจ้เริ่มขยายวิทยฐานะสูงขึ้น กอปรกับมีพื้นที่หลายพันไร่ มีอาณาเขตกว้างขวางมาก พอจะขยับฐานะถึงขั้นปริญญาตรี

จนกระทั่งมีการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ ราวปี 2517-2518 เพิ่มวิทยฐานะเป็นสถาบันเทคโนโลยีการเกษตรแม่โจ้ หลักสูตรระดับปริญญาตรี โดยมีอธิการบดีคนแรกจากอดีตผู้อำนวยการวิทยาลัยเกษตร คือ ศ.ดร.วิภาต บุญศรี วังซ้าย รวมทั้งต่อมาได้เป็นอธิการบดีของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ด้วย เป็นสิ่งที่บรรดาลูกศิษย์ต่างให้ความเคารพ ได้สร้างอนุสาวรีย์ให้กับพระช่วงเกษตรศิลปการ และ ศ.ดร.วิภาต บุญศรี วังซ้าย ซึ่งเป็นปูชนียบุคคลที่บรรดาลูกแม่โจ้ต้องมาสักการะเป็นประจำทุกปี ในโอกาสวันกำเนิดสถาบันแม่โจ้ และวันสำคัญอื่นๆ เป็นจุดศูนย์รวมของบรรดาลูกศิษย์แม่โจ้ทุกคน ที่ปฏิบัติกันสืบมาถึงวันนี้

โล่เกียรติยศ

“งานรับรางวัลดีเด่นของศิษย์เก่าแม่โจ้ เนื่องในโอกาสสถาบันก้าวสู่ปีที่ 85 ในปี 2562 นั้น สมาคมร่วมกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้พิจารณาและผลงานของศิษย์เก่าที่มีความดีเด่นแตกต่างกันในแต่ละรุ่น แต่ละยุคสมัย ซึ่งรุ่นแรกๆ นั้นคงไม่มีใครอยู่แล้ว โดยคัดเฉพาะศิษย์ปัจจุบัน ทั้งในวัยหนุ่มสาวและวัยอาวุโส ที่จะมาในงานได้ รวม 85 คน บางรุ่นอาจได้รับเกิน 1 คน ผู้มอบรางวัลนั้น ได้แก่ นายอำนวย ยศสุข อดีตรัฐมนตรีช่วยการกระทรวงการคลัง ปัจจุบันเป็นประธานสภาคณะกรรมการ มหาวิทยาลัยแม่โจ้”

ในจำนวน 85 คน มีอดีตนักศึกษาหญิงรุ่นแรกที่ทางศิษย์เก่า รุ่น 27 เสนอชื่อ เป็นชาย 1 หญิง 1 ฝ่ายชาย ได้แก่ นายสายัณห์ ปานพินิจ กับ นางพวงทอง (ปราวิล) เชษฐธง อดีตข้าราชการบำนาญ ส่วนฝ่ายชายทำงานส่วนตัว

ความสนใจที่อดีตนักศึกษาหญิงรุ่นแรกคือ ทางกรมอาชีวศึกษา สมัยยังไม่เปิดรับนักศึกษาหญิง แม้จะเป็นวิทยาลัยเกษตรกรรมแม่โจ้ ที่มีแต่ชายล้วนๆ ดังนั้น กรมอาชีวศึกษาจึงเริ่มเปิดรับสมัครนักศึกษาหญิงที่สังกัดหลักสูตรวิทยาลัยเกษตรกรรมทั่วประเทศ มี 5 แห่งด้วยกัน รวมถึงแม่โจ้ด้วย

ในปีการศึกษา 2505 กรมอาชีวศึกษาเปิดหลักสูตรใหม่ให้เปลี่ยนเป็นมัธยมศึกษาปีที่ 4-6 รวม 3 ปีเท่านั้น (ม.ศ.4) ถ้าเปรียบเทียบปัจจุบันก็คือได้วุฒิการศึกษาประโยควิชาชีพสายเกษตรกรรม หรือเรียกชื่อย่อว่า ปวช. ส่วนนักศึกษาชายได้ศึกษาต่อจนถึง 5 ปี กรมอาชีวศึกษาคงต้องการเป็นรุ่นทดลองมากกว่า ว่าจะมีผู้สนใจมาศึกษาเล่าเรียนกันหรือไม่

นางพวงทอง เชษฐธง รับรางวัลดีเด่น

ผลปรากฏว่า เฉพาะสถาบันแม่โจ้ได้มีนักศึกษาหญิงจากหลายโรงเรียนในเขตภาคเหนือ เชียงใหม่ ลำพูน แพร่ มาสมัครสอบกันมาก มีประมาณ 30 กว่าคน ที่สอบผ่านเข้าเรียนได้ด้วยความสามารถทั้งภาคข้อเขียนและภาคปฏิบัติ ตามกฎเกณฑ์ที่แม่โจ้กำหนดมา
การรับรางวัลมีขึ้นในคืนวันที่ 9 ธันวาคม 2561 ในจำนวนนี้มีอดีตนักศึกษาหญิงรุ่นแรกที่ผ่านการคัดเลือกจากคณะกรรมการของอาจารย์ในมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ทุกคนต้องผ่านประธานรุ่นในแต่ละรุ่นศิษย์เก่าจะมีประธานรุ่นเป็นผู้ส่งเข้าประกวด หลังผ่านความเห็นแล้ว

ได้มีโอกาสคุยกับสาวแกร่งในรุ่น 27 ที่ได้รับรางวัลลงมาแล้ว มีเพื่อนๆ แสดงความยินดีกัน เธอชื่อ นางพวงทอง เชษฐธง ตำแหน่งครั้งสุดท้ายเธอได้รับตำแหน่งเกษตรอำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ด้วยวัย 73 ปี

เธอเล่าให้ฟังว่า  “ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณเพื่อนๆ รุ่น 27 ที่ได้พิจารณาส่งเข้าประกวด ในนามรุ่นผู้หญิงรุ่นแรก ซึ่งยังมีอีกหลายท่านที่เหมาะสมกว่า ยังมีอีกหลายคน โดยประธานรุ่น 27 เห็นว่าเธอเหมาะสม ที่ช่วยเหลือเพื่อนๆ ในรุ่นที่ไว้วางใจ”

เป็นสาวเหนือ

อยากทราบประวัติหลังเรียนจบ 3 ปีที่แม่โจ้แล้วไปมาอย่างไร ถึงได้มาเป็นเกษตรอำเภอเมืองเชียงใหม่ ด้วยความมีไมตรีน้ำใจกับเพื่อนๆ เธอเผลอยิ้ม เล่าถึงอดีตให้ผู้เขียนฟัง
เธอเล่าว่า เป็นชาวอำเภอแม่แตง เรียนจบโรงเรียนดาราวิทยาลัย เชียงใหม่ มารดาเป็นครูสอนหนังสือ บิดาทำงานยาสูบ ที่สถานียาสูบแม่มาลัย บิดาเป็นผู้จัดการฝ่ายไร่

เมื่อเรียนจบแล้วไปทำงานที่เดียวกับพ่อที่จะดูแลน้องๆ อีกหลายคน ครั้นทำงานไปได้เกือบ 2 ปี เพื่อนๆ รุ่นเดียวกันทำงานที่กรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เลยขออนุญาตบิดามาสอบเข้ากรมการข้าว…ต่อมา กรมการข้าว เปลี่ยนมาเป็นกรมส่งเสริมการเกษตร ต้นสังกัดกองป้องกันศัตรูพืช และโยกย้ายไปประจำที่ลำปาง กระทั่งได้แต่งงานกับหนุ่มสหกรณ์ลำปาง หลังแต่งแล้วก็ต้องถูกโยกย้ายมาสังกัดกับสำนักงานเกษตรจังหวัด เพราะกองปราบศัตรูพืชถูกยุบมาเป็นฝ่าย

หลายปีถัดมาหลังกำเนิดบุตรสาวแล้ว ต้องไปประจำสำนักงานเกษตรหลายแห่ง เป็นผู้ช่วยเกษตรอำเภอสารภี อำเภอสันป่าตอง และอำเภอแม่วาง เธอไปรักษาการแทนเกษตรอำเภอแม่วาง เชียงใหม่ ปี 2533 เพราะผลงานดีได้ถูกคัดเลือกไปอบรมโรงเรียนเกษตรอำเภอปี 2534 ที่กาญจนบุรี พระนครศรีอยุธยาและพัทยา จนจบหลักสูตรหลังจากนั้นเธอไปบรรจุเป็นเกษตรอำเภอน้ำปาด จังหวัดอุตรดิตถ์ ครั้งแรก ชีวิตเธอต้องอดทน ต้องทำงานที่น้ำปาด สามีอยู่ลำปาง ลูกสาวอยู่กับญาติที่เชียงใหม่

ด้วยความที่ผ่านสถาบันแม่โจ้ที่ฝึกปรือให้เธอแข็งแกร่ง และปกครองลูกน้องด้วยความเที่ยงธรรม มีวินัย และตงฉิน ด้วยเพราะความจริงใจปกครองลูกน้องให้ซื่อสัตย์ต่อหน้าที่การงาน จนถูกลูกน้องตั้งฉายาว่า “นางสิงห์เหล็ก” มาจากนายกรัฐมนตรีมาร์กาแร็ต แธตเชอร์ จากประเทศอังกฤษ ที่เป็นนายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น

นางพวงทอง เชษฐธง

ตำแหน่งสุดท้าย เธอถูกให้มาอยู่ใกล้บ้านเกิดที่เชียงใหม่ ใกล้กับครอบครัวอย่างอบอุ่น เป็นเกษตรอำเภอเมืองเชียงใหม่ จนเกษียณอายุราชการ ด้วยความตั้งใจดีการทำงานตามนโยบายมีลูกน้องที่เธอพร่ำสอนมา จะมีอนาคตก้าวหน้าทุกคน สร้างชื่อให้กรมส่งเสริมการเกษตร น่าเสียดายสมัยนั้นการศึกษาปิดกั้นต่อนักศึกษาหญิงด้านการเกษตร หลังเกษียณอายุแล้วเธอทำหน้าที่รับใช้เพื่อนร่วมรุ่นอย่างน่าประทับใจรวมทั้งสถาบันด้วย งานชุมนุมรุ่นแม่โจ้ 27 เธอเป็นเสาหลักทำงานได้สำเร็จลุล่วงด้วยดี

งานฉลองแม่โจ้คืนถิ่น 85 จบลงแล้ว แต่อดีตสาวแม่โจ้ยังรับใช้สังคมรุ่นและสถาบันแม่โจ้สืบต่อไป อยากจะเห็นเธอรับรางวัลชีวิตที่ทำความดีมาตลอดจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ที่เคยสร้างชื่อให้กับสถาบันมาอย่างยาวนาน

ขอให้เธอโชคดี สาวแกร่งแห่งแม่โจ้ รุ่น 27 ที่เพื่อนร่วมรุ่นต่างยอมรับความดี ความสามารถมาโดยตลอด