ไปเยี่ยมชม… งาน “ประชารัฐร่วมพัฒนา สุดยอดนวัตกรรมอาชีวศึกษา” (2)

ในเมื่อชีวิตนี้เป็นของเราแต่เพียงผู้เดียว เมื่อไม่มีใครเข้าใจเราก็ช่างปะไร ขอให้เราเข้าใจตัวเราคนเดียวก็น่าจะพอ เพราะชีวิตของเรานั้นต้องก้าวเดินไปข้างหน้าคนเดียวเช่นกัน จำไว้ว่าบางครั้งเมื่อเราพบเจอกับเรื่องราวที่เราไม่ต้องการ อย่าไปพะวงว่าวันที่ร้ายๆ เหล่านั้นจะอยู่กับเราตลอดไป เพราะตราบใดที่โลกยังคงหมุนอยู่ตลอดเวลา ทุกสิ่งทุกอย่างที่ผ่านมาแล้วก็ต้องให้ผ่านไป เขาเรียกกันว่านั่นคือเส้นทางแห่งชีวิต ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นได้เสมอ ไม่มีใครสามารถจะหยั่งรู้ได้ เพราะว่าไม่มีอะไรแน่นอนสำหรับหนึ่งชีวิตกับเวลาที่เหลืออยู่ สิ่งที่จริงแท้แน่นอนในชีวิตของเราคือเรายังมีลมหายใจที่มีอยู่เท่านั้น

เบื้องต้นขอขอบคุณและกราบ สวัสดี แฟนๆ ทุกท่านจากนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านและผู้เขียน หลังจากที่ผมได้นำเสนอเรื่องราวที่เกี่ยวกับผลงานสิ่งประดิษฐ์ประเภทต่างๆ จากฝีมือของเยาวชนอาชีวศึกษา ปรากฏว่าได้รับการตอบรับจากแฟนๆ มีการส่งเสียงไปหาที่โทร. (081) 846-0652 และทางเฟชบุ๊ก ที่ใช้ชื่อ นายสมยศ ศรีสุโร บอกไปอีกว่าขอให้คัดสรรผลงานจากหลากหลายประเภทและหลากหลายสถาบันการศึกษาระดับอาชีวศึกษาทั่วประเทศมานำเสนออีก จะได้เป็นการตอกย้ำว่าเยาวชนที่ได้ศึกษาในสถาบันอาชีวะเหล่านี้ เขามีความสามารถสร้างสรรค์หลากหลายผลงานออกมาได้ชิ้นงานสำเร็จที่เยี่ยมยอดเช่นกัน

เนื่องจากผมได้มีโอกาสไปเยี่ยมชมงาน “ประชารัฐร่วมพัฒนา สุดยอดนวัตกรรมอาชีวศึกษา” การประกวดสิ่งประดิษฐ์ของคนรุ่นใหม่ ระดับชาติ พุทธศักราช 2560 ซึ่งเป็นผลงานเยาวชนนักศึกษาจากอาชีวศึกษาทั่วประเทศ ทุกชิ้นงานล้วนได้ผ่านการประกวดชนะเลิศระดับภาคมาก่อนหน้านี้ จัดโดยสำนักวิจัยและพัฒนาการอาชีวศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ณ ห้อง MCC HALL ห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์ สาขาบางกะปิ กรุงเทพมหานคร

สิ่งประดิษฐ์ของคนรุ่นใหม่รวมทั้งสิ้น จำนวน 240 ผลงาน จากข้อกำหนด 11 ประเภท และมีเป้าหมายเดียวกันคือต้องการให้เป็นผลงานที่เกิดจาก “นักเรียนคิด นักเรียนทำ โดยมีครู-อาจารย์เป็นที่ปรึกษา” เพราะความตั้งใจและมุ่งมั่นที่คิดสร้างสรรค์งานทุกชิ้น จึงเป็นที่น่าสนใจอย่างยิ่ง เหมาะสมกับที่เป็นสิ่งประดิษฐ์ของคนรุ่นใหม่ให้เกิดขึ้นได้อย่างน่าสนใจ และน่าภาคภูมิใจกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาเป็นอย่างยิ่ง

เริ่มจากสิ่งประดิษฐ์ชิ้นแรก เป็นผลงานประเภทสิ่งประดิษฐ์ด้านผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปชื่อ อุปกรณ์เข้าขอบยางมุ้งลวด จากวิทยาลัยเทคนิคพิษณุโลก ทีมงานประกอบด้วย คุณเกียรติณัช ขันทอง คุณนรภัทร ภูมิผล และ คุณเชษฏา เถื่อนเครือวัลย์ แผนกวิชาช่างเชื่อมโลหะ มี คุณชาญชัย วิเศษสุมน คุณเดชณรงค์ รองซุง และ คุณสราณ์สิริ เผ่าฉานเดชอนันต์ เป็นคุณครูที่ปรึกษา

หลังจากที่ทีมงานได้ศึกษาจากปัญหาผู้ประกอบการมุ้งลวดจากหลายๆ ร้านที่ประกอบการ พบว่า การอัดยางมุ้งลวดสำหรับเป็นตัวยึดมุ้งลวดกับโครงอะลูมิเนียมนั้น โดยส่วนมากทุกร้านมักจะใช้ค้อนไม้หรือค้อนยางนำมาเคาะสำหรับการอัดยาง ซึ่งจะทำให้เกิดเสียงดังหรือบางครั้งตรงขอบอะลูมิเนียมจะเป็นรอยบุบหากไม่ระวัง และใช้เวลาค่อนข้างมากในการรีดยางอัดมุ้งลวดในแต่ละครั้งต่อหนึ่งบานกรอบ

ทีมงานได้นำปัญหาต่างๆ เหล่านี้มาร่วมกันออกแบบสร้างสรรค์และสร้างสิ่งประดิษฐ์เพื่อให้เป็นอุปกรณ์เข้าขอบยางมุ้งลวดที่จะให้ผู้ประกอบการด้านนี้หรือบุคคลทั่วไปที่สนใจ สามารถนำอุปกรณ์ชิ้นนี้ไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว สะดวก ปลอดภัยระหว่างการปฏิบัติงาน และงานที่สำเร็จออกมามีความเรียบร้อย สวยงามอีกด้วย

วิทยาลัยเทคนิคพิษณุโลก

สำหรับอุปกรณ์เข้าขอบยางมุ้งลวดมีส่วนประกอบเป็นอุปกรณ์ที่ทำจากแผ่นสแตนเลส สำหรับด้ามจับทำด้วยพลาสติก บริเวณส่วนด้านหน้าสุดมีแผ่นสแตนเลสครึ่งวงกลมสำหรับเป็นตัวใช้ในการอัดมุ้งลวดบริเวณมุมร่องอะลูมิเนียม มีลูกกลิ้งในการอัดขอบยางมุ้งลวดแบบหมุนได้ จำนวน 2 ชุด มีลักษณะคือเป็นมือจับ

เป็นผลงานที่ยอดเยี่ยมมาก สนใจกรุณาติดต่อรายละเอียดได้ที่ วิทยาลัยเทคนิคพิษณุโลก โทร. (055) 203-029 ต่อ 263

ต่อมาผลงานเป็นประเภทสิ่งประดิษฐ์ด้านพัฒนาคุณภาพชีวิต ผลงานจากวิทยาลัยเทคนิคเลย ชื่อ ผ้าคลุมล้อถูกใจ แผนกวิชาเทคนิคการผลิต  ทีมงานประกอบด้วย คุณมงคล วิชาทน คุณเสรีโรจน์ บรรเทาญาติ และ คุณสุรศักดิ์ สมบัติหอม มี คุณสุวัฒน์ พรอินทร์ ว่าที่ ร.ต. ปริญญา ปัญญาศรี และ คุณวิชา แต่งสุวรรณ เป็นคุณครูที่ปรึกษา

สิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้น่าสนใจมากครับ เนื่องจากทีมงานได้ให้เหตุผลเยี่ยมมากที่ว่า เนื่องจากรถยนต์มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอยู่ตลอดเวลา เนื่องจากบางบ้านนั้นมีรถจำนวนหลายคัน การจอดรถคือปัญหาอย่างมาก เพราะไม่เพียงพออย่างแน่นอนที่พบเห็นอย่างมาก ปัญหาที่เห็นชัดมากคือ เจ้าของรถจำเป็นต้องนำมาจอดไว้หน้าบ้านหรือข้างบ้าน ถนน เป็นต้น

และปัญหาที่เกิดขึ้นให้เห็นบ่อยๆ คือ จะมีสุนัขมาฉี่ใส่ล้อ ทำให้ล้อและยางรถยนต์ก็เช่นกันจะมีอาการปูดบวมหรือพองจนเกิดอ่อนตัวในที่สุด  โดยเฉพาะตามขอบของล้อนั้นจะไม่สามารถเก็บลมภายในยางไว้ไม่ได้ตามที่ได้เติมอย่างดีไว้แล้วตามมาตรฐาน เนื่องจากฉี่ของสุนัขนั้นจะเป็นกรด ทำให้เกิดคราบขี้เกลือ และนานวันเข้าจะเกิดสนิมขึ้นภายในวงล้อ

วิทยาลัยเทคนิคเลย

ทีมงานได้มีความคิดที่น่าสนับสนุนอย่างมาก เนื่องจากนำเอาปัญหาที่หลายท่านอาจจะเห็นว่าแค่เล็กน้อยเหลือเกิน มักจะไม่ให้ความสำคัญสำหรับเรื่องเช่นนี้ แต่ทีมงานเห็นว่าไม่ควรมองข้าม ดังนั้น ทีมงานจึงได้ร่วมกันออกแบบสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้ขึ้นมาเพื่อไปแก้ปัญหาเหล่านั้น ไม่เฉพาะป้องกันฉี่สุนัขเท่านั้น รวมไปถึงจากฝุ่นละอองและแสงแดดได้อีกด้วย สามารถเป็นการเพิ่มอายุการใช้งานของยางรถได้อีกด้วย

คุณสมบัติของสิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้ ได้นำวัสดุผ้าร่มที่สามารถกันน้ำและกันแดดได้อย่างดี นำมาออกแบบเพื่อตัดเย็บอย่างดีสำหรับเพื่อให้นำมาคลุมล้อที่มี ขนาด 14-18 นิ้ว ตามที่ต้องการ มีขั้นตอนคือ เมื่อนำออกจากถุงบรรจุภัณฑ์สลัดให้ตึง รูดซิปออกเพื่อลงมือคลุมล้อและรูดซิปปิดเมื่อดูว่าผ้าได้คลุมล้อเรียบร้อยแล้ว หรือเมื่อต้องการถอดออกพร้อมนำเก็บไว้ใช้ในครั้งต่อไปได้อย่างสะดวกและง่ายมาก

ผู้สนใจติดต่อรายละเอียดได้ที่ วิทยาลัยเทคนิคเลย เลขที่ 272 ถนนเจริญรัฐ ตำบลกุกป่อง อำเภอเมือง จังหวัดเลย โทร. (042) 811-591 และ (081) 975-1646

สำหรับชิ้นต่อไปนี้น่าสนใจอย่างมาก น่าทึ่งจริงๆ ที่เยาวชนนักศึกษาจากอาชีวศึกษาได้คิดออกแบบพร้อมสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้ขึ้นมา สุดเยี่ยมยอดมาก เป็นประเภทสิ่งประดิษฐ์ด้านพัฒนาคุณภาพชีวิต ชื่อว่า อุปกรณ์ช่วยล็อคแบบมิดชิด เป็นผลงานจาก วิทยาลัยเทคนิคจุฬาภรณ์ (ลาดขวาง) ประกอบด้วย คุณอมรเทพ ชัยวงษ์ คุณสายชล สวนแจ้ง คุณณัฐวุฒิ อนุไพวรรณ คุณธีรยุทธ กันต่าย คุณพันธการ ทองเจริญ และ คุณอนุชิต ฉันทพจน์ มี คุณประจวบ สุขบันเทิง คุณบุญกูล ศรีสุภาพ คุณสุพจน์ ใจอารีย์ และ คุณอาคม ไกรรักษ์ เป็นคุณครูที่ปรึกษา

จากที่ทีมงานได้มีความคิดว่าการล็อคประตูด้วยแม่กุญแจแบบทั่วไปนั้น แค่ใช้คีมตัดหรือเลื่อย หรืออุปกรณ์ที่ใช้ตัดชนิดอื่นจะสามารถทำลายได้อย่างง่ายมาก แต่สำหรับสิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้สามารถเป็นอุปกรณ์ช่วยล็อคและปกปิดแม่กุญแจได้อย่างมิดชิด นำไปใช้กับประตูทั่วไปและประตูม้วน สามารถที่จะป้องกันการตัดแม่กุญแจจากคีมและเลื่อยได้

วิทยาลัยเทคนิคจุฬาภรณ์ (ลาดขวาง)

วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการประดิษฐ์คือ เหล็กชุบผิว สกรูหัวฝังแบบ M6 หูล็อค และแม่กุญแจ ขั้นตอนการใช้งาน สอดแม่กุญแจเข้ากับอุปกรณ์ช่วยล็อคแบบมิชิด ต่อมาดึงสายโค้งแม่กุญแจออกมา นำไปเกี่ยวเข้ากับหูล็อคของประตูพร้อมกดอุปกรณ์ให้แนบเข้ากับประตู สุดท้ายดันแม่กุญแจกับอุปกรณ์เพื่อล็อคแม่กุญแจ

สนใจ กรุณาติดต่อรายละเอียดได้ที่ วิทยาลัยเทคนิคจุฬาภรณ์ (ลาดขวาง) เลขที่ 12/2 หมู่ที่ 2 ตำบลลาดขวาง อำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา โทร. (038) 577-797

สิ่งประดิษฐ์ชิ้นสุดท้ายนี้ชื่อว่า เปลนอนในรถยนต์สำหรับเด็กทารก เป็นประเภทผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป ผลงานของเยาวชนนักศึกษาจากวิทยาลัยเทคนิคสตูล คุณศิริวิภาภรณ์ กาลวงศ์ คุณจันจิรา อุยโยซากะ และ คุณบุณยกร์ วงศ์ภักดี มี คุณจิรนันท์ เสนี คุณสุนีย์ เขียดสังข์ และ คุณภัชฏาพร พรหมเดช เป็นคุณครูที่ปรึกษา

ที่มาของปัญหาคือ ในการเดินทางด้วยรถยนต์สำหรับคุณแม่ที่ต้องโดยสารไปพร้อมกับทารกนั้น สมควรอย่างยิ่งที่จะต้องมีอุปกรณ์เป็นตัวช่วยอำนวยความสะดวกให้กับคุณแม่ และหากเป็นการเดินทางเป็นระยะเวลานานหรือเมื่อเด็กนอนหลับ คุณแม่ไม่ต้องอุ้มทารกให้เกิดอาการเมื่อยแขน ทารกก็จะสามารถนอนหลับได้อย่างสนิทอีกด้วย

หลังจากเมื่อทีมงานได้สำรวจถึงอุปกรณ์อำนวยความสะดวกดังกล่าวที่มีขายอยู่ทั่วไปหลายชิ้นงาน พบว่า อาจจะไม่ปลอดภัย เช่น เด็กอาจจะตกจากอุปกรณ์ในขณะที่รถหยุดกะทันหัน หรือเมื่อเกิดอุบัติเหตุ ทีมงานจึงได้ร่วมกันศึกษาถึงจุดดี จุดด้อย ว่ามีสิ่งใดบ้างที่สามารถนำมาเพื่อออกแบบให้เกิดสิ่งประดิษฐ์ที่เกิดประโยชน์สูงสุดเมื่อสำเร็จออกมา

จากสภาพปัญหาและจุดด้อยต่างๆ ที่เกิดขึ้นเหล่านั้น ทางทีมงานจึงได้ร่วมกันคิดออกแบบและเน้นแก้ไขจุดด้อยต่างๆ ที่พบ ร่วมกันสร้างสรรค์ให้ได้สิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้ออกมา พยายามให้ได้สิ่งประดิษฐ์สมบูรณ์แบบมากที่สุด โดยเน้นความปลอดภัยของทารกเป็นเบื้องต้น พร้อมกับเน้นเรื่องของวัสดุที่นำมาใช้เพื่อให้เหมาะที่สุดเช่นกัน

วิทยาลัยเทคนิคสตูล

สิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้จึงมีวัสดุประกอบด้วย ผ้าโทเร ฟองน้ำวิทยาศาสตร์ ตัวล็อคก้ามปูสแตนเลส และสายที่ทำขึ้นจากผ้าเช่นกัน วิธีใช้งาน นำเปลนอนในรถยนต์สำหรับทารก คล้องสายกับเบาะพิงด้านหน้า ปรับสายตามขนาดพอเหมาะพร้อมล็อค ต่อมาให้จับสายอีกด้านล็อคกับบริเวณเอวของคุณแม่ หรือคนดูแลทารก สุดท้าย นำทารกลงเปลพร้อมรัดสาย ใช้ง่ายไม่ยุ่งยาก สะดวกและปลอดภัย

สนใจกรุณาติดต่อรายละเอียดได้ที่ วิทยาลัยเทคนิคสตูล ตำบลพิมาน อำเภอเมือง โทร. (074) 711-107 และ (086) 279-4710

สุดท้าย สิ่งประดิษฐ์ทั้ง 4 ผลงาน ที่นำเสนอนั้นจะเห็นว่าเป็นสิ่งประดิษฐ์หลากหลายประเภทที่เยาวชนนักศึกษาอาชีวะ นำสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวทั้งสิ้น ได้พยายามมองค้นหาถึงปัญหาว่ามีอะไรบ้างที่เป็นจุดด้อยที่สามารถนำมาเพื่อแก้ไขให้ได้สิ่งที่ดีกว่า ด้วยการทำงานเป็นทีม ระดมความคิด และมีการออกแบบพร้อมปรึกษากับคุณครูที่ปรึกษา เมื่อทุกอย่างคิดว่าลงตัวจึงนำมาสร้างเป็นชิ้นงานให้สำเร็จออกมา และได้นำไปทดลองกับกลุ่มตัวอย่างเป็นเบื้องต้น เพื่อหาจุดด้อยต่างๆ อีกครั้ง สำหรับนำมาแก้ไขให้ได้ผลงานครั้งสุดท้ายที่สมบูรณ์แบบที่สุด

จะเห็นได้ว่าสิ่งประดิษฐ์ทุกชิ้นงานที่สำเร็จออกมานี้ หากสนใจต้องการนำไปต่อยอดหรือว่ามีสิ่งใดที่จะต้องปรับปรุงเพิ่มได้อีกให้สมบูรณ์แบบยิ่งขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง น่าที่จะสามารถเป็นอีกสิ่งประดิษฐ์ที่ผลิตออกมาในเชิงพาณิชย์ได้เช่นกัน ผู้ใหญ่ทั้งหลายในแผ่นดินนี้ต้องหันมาสนใจและช่วยกันสนับสนุนนะครับ เพราะนี่คือสิ่งประดิษฐ์ของเยาวชน “อาชีวะฝีมือชน คนสร้างชาติ” ที่จะนำไปตอบสนองนโยบายไทยแลนด์ 4.0

ขอบคุณ สวัสดี